กาลาเทีย 6 แบกภาระไปด้วยกัน

ช่วยรื้อฟื้นคนที่ทำบาป

พี่น้องของข้า หากพบว่าใครคนหนึ่งทำบาป คนที่อยู่ฝ่ายวิญญาณก็ควรจะช่วยให้เขากลับมาในทางของพระเจ้า
ด้วยความอ่อนโยน
โดยระลึกอยู่เสมอว่า ท่านเองก็อาจถูกล่อลวงได้เช่นกัน
กาลาเทีย 6:1

โรม 15:1; 2 เธสะโลนิกา 3:15; 2 ทิโมธี 2:25; ยูดา 1:22-23

เราทุกคนมีโอกาสทำผิดพลาดได้เหมือน ๆ กัน
จะน้อยจะมาก อยู่ที่ว่าเราเดินตามพระวิญญาณ
ของพระเจ้า หรือว่าตามใจปรารถนาของเราเอง
เมื่อเห็นเพื่อนทำผิดอยู่ เราก็ไม่ควรที่จะปล่อยเฉยไว้ แต่ต้่องหาทางที่จะช่วยให้เขากลับมาในทางของพระเจ้า และต้องไม่คิดว่า เราดีกว่าเขา แต่ต้องถ่อมตนรู้ตัวเสมอว่า โอกาสพลาดของเราก็มีเหมือนกัน นั่นเป็นท่าทีที่ถูกต้องในการช่วยเพื่อน

จงช่วยรับภาระของกันและกัน
การทำเช่นนี้เป็นการใช้ชีวิตตาม
กฎของพระคริสต์
กาลาเทีย 6:2

โรม 15:1; 1 เธสะโลนิกา 5:14; ยอห์น 13:34; 1 ยอห์น 4:21

ข้อสองเป็นความต่อจากข้อแรก บางทีเพื่อนที่ทำความผิดนั้น ไม่สามารถสู้ไหวกับภาระบาปที่ตนก่อขึ้น เราจะช่วยเขาอย่างไรได้บ้าง เขายอมให้เราช่วยหรือไม่ อย่างหนึ่งที่ทำได้ให้เพื่อนคืออธิษฐานเผื่อและเดินไปกับเขา คุยกันเพื่อช่วยให้พ้นภาระบาปที่มีอยู่ บางคนตั้งใจทำบาป แต่บางคนทำบาปเพราะความกดดันจากรอบข้าง เพราะความต้องการของเนื้อหนัง หากเรากลับไปอ่านกาลาเทีย 5 เราจะเข้าใจความหมายของท่านเปาโลได้ดีขึ้นกฎของพระคริสต์คือ ทุกอย่างที่พระเยซูทรงสอนทั้งโดยตรงจากพระองค์ และผ่านอัครทูต สรุปได้จากข้อที่ว่า รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง

เพราะหากใครคนหนึ่งคิดว่าเขาเป็นคนสำคัญ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ใช่ ก็เท่ากับเขาหลอกตนเอง
กาลาเทีย 6:3


สุภาษิต 26:12; 1 โครินธ์ 3:18,8:2; โรม 12:3

แค่การคิดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ ก็เป็นความเย่อหยิ่งแล้ว เมื่อคิดว่าเราดีกว่าคนอื่น เราก็จะไม่ช่วยใครที่กำลังตกอยู่ในความบาป และก็จะไม่รับความช่วยเหลือจากใครด้วยเช่นกัน เราต้องเข้าใจว่าเราไม่ใช่คนที่เหนือกว่าใคร มีโอกาสถูกล่อลวงได้เหมือนกันตามที่ข้อหนึ่งได้กล่าวไว้ เราไม่อาจรับโทษบาปจากพระเจ้าแทนกันและกันได้แต่เราทูลขอให้เพื่อนของเราหยุดใช้ชีวิตทำบาปเพื่อช่วยให้เขาไม่ตกในความหายนะได้ และเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องทำ

ให้ทุกคนประเมินการงานของตนเอง และเขาก็จะได้ภูมิใจในตัวเองโดยไม่ต้องเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น เพราะแต่ละคนจะต้องแบกภาระของตนเอง
กาลาเทีย 6:4-5

2 โครินธ์ 13:5, 11:12-13; สดุดี 26:2; 1 โครินธ์ 11:28; เยเรมีย์ 32:19; โรม 14:10-12,2:6-9

ท่านเปาโลให้เรามองดูตัวเองว่า มีชีวิตอย่างไร พระเจ้าทรงเปลี่ยนชีวิตเราจากวันที่เราพบพระองค์ครั้งแรกมาอย่างไรบ้าง พระองค์ทรงเสริมกำลังให้เราได้รับใช้พระองค์อย่างไร พระเจ้าประทานพระวิญญาณให้แก่ผู้เชื่ออย่างไร้ขีดจำกัด (ยอห์น 3:34) เราจึงภูมิใจได้ในพระองค์ ในตัวเองที่ได้รับการเปลี่ยนจากพระเจ้า และนี่เองทำให้เราไม่ต้องเปรียบเทียบตัวเองกับใคร แต่ละคนพระเจ้าทรงใช้แตกต่างกันเพื่อแผ่นดินของพระองค์

ทำดีให้กับพี่น้องในความเชื่อ

คนที่ได้รับคำสั่งสอนจากพระวจนะก็ควรแบ่งสิ่งดี ๆ ให้กับคนที่สอน
กาลาเทีย 6:6

1 ทิโมธี 5:17-18; โรม 15:27; เฉลยธรรมบัญญัติ 12:19

นี่เป็นหลักการของพระเจ้าในการที่จะให้พระวจนะของพระองค์ได้ไปถึงทุกคน ภาพที่ชัดเจนคือคนที่มีหน้าที่เจาะจงมาก ๆ ในการรับใช้ด้าน
การสอนพระคำ ก็ต้องใช้เวลาที่มีอยู่ทุ่มเทใน
การเรียนรู้จักพระเจ้าเพื่อที่จะมาแบ่งให้ผู้ที่ต้อง
ทำมาหากินเป็นหลัก แบ่งให้ผู้ที่มีความรู้น้อย
เพื่อจะได้เติบโตในพระเจ้าไปด้วยกัน การที่ผู้รับคำสอนจะแบ่งสิ่งดี ๆ ให้กับผู้สอนจึงเป็นสิ่งที่สมควร และผู้สอนเองคือผู้รับใช้ในพระดำรัสของพระเจ้า ไม่ใช่ผู้ที่จะเป็นนายเหนือพี่น้องผู้ให้สิ่งดีก็ไม่ใช่เป็นนายเหนือผู้สอน

อย่าถูกหลอกอีกต่อไป ท่านมาล้อเล่นกับพระเจ้าไม่ได้ ทุกคนจะเก็บเกี่ยวสิ่งที่เขาหว่านลงไปเพราะคนที่หว่านเพื่อเนื้อหนัง
ของตน จะรับความเน่าเปื่อยของเนื้อหนัง แต่คนที่หว่านเพื่อพระวิญญาณจะได้เก็บเกี่ยวชีวิตนิรันดร์จากพระวิญญาณ
กาลาเทีย 6:7-8

2 โครินธ์ 9:6; โฮเชยา 10:12; โยบ 4:8; โรม 2:6-10; โรม 8:13; ยากอบ 3:18; 2 เปโตร 2:19

เราทุกคนเก็บเกี่ยวสิ่งที่เราหว่าน ในพระคัมภีร์ข้อนี้กล่าวถึงการหว่านในเรื่องของชีวิตฝ่ายวิญญาณ ท่านเปาโลเอาหลักการของการปลูกพืชมาบอกเราเรื่องชีวิตจริง การใช้ชีวิตของเราในแต่ละวันการหว่านเพื่อเนื้อหนังก็หมายความไปถึงการตอบสนองความต้องการฝ่ายเนื้อหนัง จะได้รับผลของบาปที่ทำลายชีวิต ส่วนการหว่านเพื่อพระวิญญาณก็จะได้รับชีวิตนิรันดร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานให้ไม่เฉพาะชีวิตนิรันดร์ แต่รวมถึงคุณภาพของชีวิตที่ได้เดินไปกับพระวิญญาณ ยอดเยี่ยมที่สุด

เราจึงต้องไม่อ่อนล้าในการทำดี เพราะในเวลาที่เหมาะสม เราจะได้เก็บเกี่ยวผลหากเราไม่ล้มเลิกไปก่อน
ดังนั้น เมื่อใดที่เรามีโอกาส ก็ให้เราทำดีกับคนทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่อยู่ในครอบครัวแห่งความเชื่อ
กาลาเทีย 6:9-10

1 โครินธ์ 15:58; 2 เธสะโลนิกา 3:13; อิสยาห์ 40:30-31; ฮีบรู 10:35-39; 13:6; สุภาษิต 3:27; 1 เธสะโลนิกา 5:15

เป็นข้อความอ่านง่าย เข้าใจง่ายจากท่านเปาโลเราต้องถามว่า การอ่อนล้าหรือการหมดใจ เลิกล้มที่จะทำดีนั้น เกิดจากอะไร มันอาจจะ
เกิดจากการที่คนไม่ได้เห็นความดีที่เราทำ
เราเลยเลยท้อใจล้มเลิกไป แต่หากว่า เรารู้ว่า
นี่เป็นคำสั่งจากพระเจ้า และพระองค์ทรงเห็น
ทุกอย่างที่ทำ ความท้อใจก็ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะพระเจ้าทรงทำการดีนั้นไปกับเรา และทรงอวยพระพรให้ทุกการดี

ข้อความลงท้ายของท่านเปาโล

ดูสิว่า ตอนนี้ข้าเขียนเป็นตัวหนังสือที่ใหญ่โตเพียงไร นี่ข้าเขียนด้วยตัวเอง คนที่ต้องการได้หน้าจากเนื้อหนัง กำลังพยายามกดดันให้ท่านรับสุหนัต
ที่เขาทำอย่างนั้น เพื่อว่าเขาจะไม่ถูกข่มเหงเพราะไม้กางเขนของพระคริสต์
กาลาเทีย 6:11-12

1 โครินธ์ 16:21-23; โรม 16:22; กาลาเทีย 5:11; โคโลสี 2:23; กิจการ 15:1

จากข้อนี้ เราจะเห็นว่า เปาโลมีความหนักใจไม่น้อยที่เขียนหนังสือกาลาเทียนี้ ในส่วนอื่น ๆ ท่านน่าจะเป็นผู้กล่าวคำออกมาให้อีกคนเขียนให้ ท่านย้ำแล้วย้ำอีกถึงการที่จะต้องอยู่ใต้พระคุณ ไม่ใช่ใต้กฎบัญญัติ ซึ่งเรื่องนี้ มันเกิดขึ้นทุกวันในคริสตจักรปัจจุบันด้วย เรามักมีกฎเกณฑ์เพื่อช่วยให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่บางครั้งสิ่งเหล่านั้นก็มากั้นทำให้เราไม่ได้ทำสิ่งที่ควรทำคนที่พยายามให้พี่น้องทำตามกฎบัญญัติ ก็เพื่อเขาจะได้ไม่ถูกคนที่รักกฎบัญญัติมากมาข่มเหงเขา

เพราะแม้กระทั่งคนที่เข้าสุหนัตเองก็ไม่ได้เชื่อฟังบัญญัติ แต่พวกเขาต้องการให้ท่านเข้าสุหนัตเพื่อว่า เขาจะได้คุยโอ่เรื่องที่ท่านเข้าสุหนัตตามคำชวนของเขา
กาลาเทีย 6:13

1 โครินธ์ 5:6; ฟีลิปปี 3:3; โรม 2:17-25

เหล่าครูสอนผิดทั้งหลาย ต้องการให้คริสเตียนชาวกาลาเทียได้เข้าสุหนัต เพื่อจะไปอวดใคร ๆ ว่าพวกเขาทำให้คริสเตียนเดินตามบัญญัติของยิวสำเร็จ ในขณะที่ท่านเปาโลพยายามให้พระคริสต์ก่อเกิดในตัวของคริสเตียน (กาลาเทีย4:19) คนเหล่านี้กลับสนใจแค่เครื่องหมายภายนอก
ผู้ที่พยายามอวดความดีของตนเอง อวดการทำ
ตามบัญญัติ ก็เป็นพวกที่น่าสมเพชนัก พวกเขา
ไม่เข้าใจว่า การบังเกิดใหม่ในพระเจ้าคือการได้รับชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

แรงจูงใจในการรับใช้ของท่านเปาโล

แต่ข้าจะไม่อวดเรื่องใดเลย นอกจากอวดเรื่องไม้กางเขนของพระเยซูคริสต์เจ้า ซึ่งเป็นที่ทำให้โลกถูกตรึงจากข้า และข้าเองจากโลก เพราะว่า จะเข้าสุหนัตหรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร สิ่งที่สำคัญคือ การบังเกิดใหม่ เป็นคนที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นใหม่
กาลาเทีย 6:14-15

โรม 6:6;เยเรมีย์ 9:23-24; กาลาเทีย 2:20; 2 โครินธ์ 5:17; โคโลสี 3:10-11; กาลาเทีย 5:6

เหตุการณ์ที่พระเยซูทรงถูกตรึงที่กางเขน เป็นเรื่องของความอับอาย พระองค์ทรงถูกกระทำเยี่ยงทาส การตรึงนั้น เป็นการลงโทษของโรมสำหรับทาส สำหรับอาชญากรที่ชั่วร้าย ที่ท่านเปาโลจะอวดเรื่องไม้กางเขนเท่านั้นจึงทำให้คนที่ได้ฟังรู้สึกประหลาดใจมาก ๆ ที่ว่าท่านถูกตรึงจากโลกมีความหมายว่า อิทธิพลของโลกที่เคยมีต่อท่านนั้น ไม่อาจมีอำนาจเหนือท่านได้อีก

ขอพระพรเพื่อพี่น้อง

ขอให้ทุกคนที่กระทำตามกฎนี้
และชนอิสราเอลแท้ของพระเจ้า
ได้รับสันติสุขและพระเมตตาของพระเจ้า
ถอดความจากกาลาเทีย 6:16

กาลาเทีย 3:29; ฟีลิปปี 3:3; โรม 9:6-8

กฎดังกล่าวคือ กฎแห่งชีวิตคริสเตียนที่ขึ้นอยู่กับพระคำของพระเจ้า เป็นกฎหรือบัญญัติแห่งความรัก ที่บอกว่า จงรักพระเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตของเจ้าและรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง
ท่านเปาโลจบด้วยการขอให้สันติสุขและพระเมตตาของพระเจ้าอยู่กับพี่น้องผู้เชื่อ และเราทุกคนอยากได้พรแบบนี้เช่นกัน พรแห่งสันติสุขเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมในชีวิต เพราะชีวิตที่วุ่นวายนั้นเหนื่อยที่สุด

จากนี้ไป อย่าให้ใครทำให้ข้าต้องยุ่งยากเลย เพราะข้ามีรอยประทับตราว่าเป็นของพระเยซูเจ้าในร่างของข้าแล้ว
ขอให้พระคุณแห่งพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา อยู่กับวิญญาณจิตของพี่น้องทั้งหลายเถิด อาเมน
กาลาเทีย 6:17-18

2 โครินธ์ 1:5, 4:10; โคโลสี 1:24; กาลาเทีย 5:11-12; 2 ทิโมธี 4:22; โรม 16:20; ฟิเลโมน 1:25

เมื่ออ่านพระคำข้อนี้ หลายคนก็สงสัยว่า รอยประทับตราของท่านเปาโลนั้นคืออะไร เราต้องย้อนกลับไปดูวีรกรรมทั้งหลายของท่านเปาโลในหนังสือกิจการ จะเห็นว่า ท่านถูกจำคุก ถูกโบย เหล่านั้นทำให้เกิดรอยแผลเป็นในร่างของท่าน ไม่ใช่รอยประทับใด ๆ อย่างอื่นที่บางคนคิดว่าเป็นเหมือนรอยสักอะไรทำนองนั้นที่ว่าอย่าให้ต้องยุ่งยากคือ ท่านขอร้องคริสเตียนว่า
อย่าหลงกลครูสอนผิดอีกต่อไป