1 โครินธ์ 10 ตัวอย่างจากอดีต

1 โครินธ์ 10:1-2
พี่น้องทั้งหลาย ข้าอยากให้ท่านได้รู้ว่า บรรพบุรุษของเราได้อยู่ใต้เมฆ และต่างผ่านทะเลไป
ทุกคนรับบัพติศมาเข้าส่วนกับโมเสสในก้อนเมฆ และทะเล

1 โครินธ์ 10:3-4
ทุกคนได้รับประทานอาหารฝ่ายวิญญาณเดียวกัน
และทุกคนได้ดื่มจากศิลาฝ่ายวิญญาณ
ที่ติดตามพวกเขาไป และศิลานั้นคือพระคริสต์

1 โครินธ์ 10:5-6
แต่พระเจ้าไม่ทรงพอพระทัยคนส่วนมากและพวกเขาก็ได้ล้มตายกันในถิ่นกันดารสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่เรา เพื่อว่าเราจะไม่โหยหาสิ่งที่ชั่วเหมือนพวกเขา
1 โครินธ์ 10:7-8
ดังนั้น จงอย่ากราบไหว้รูปเคารพ เหมือนที่บางคนในพวกเขาทำ เพราะมีคำเขียนว่า“ประชาชนนั่งลงเพื่อกินและดื่ม แล้วลุกขึ้นเล่นมั่วสุมกัน” อย่าทำผิดทางเพศเหมือนที่พวกเขาทำ และล้มตายกันเกลื่อนถึง 23,000 คนภายในวันเดียว

1 โครินธ์ 10:9-10
อย่าให้เราลองดีกับองค์พระผู้เป็นเจ้าเหมือนอย่างที่บางคนทำ
แล้วถูกงูกัดตายไป และอย่าบ่น เหมือนกับบางคนทำแล้วถูกประหารด้วยทูตมรณะ
1 โครินธ์ 10:11-12
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับพวกเขาเพื่อเป็นตัวอย่าง และถูกบันทึกไว้เพื่อเตือนใจพวกเราที่จะเผชิญกับยุคสุดท้าย
ดังนั้น คนที่คิดว่าตัวเองยืนมั่นคงให้ระวังตัวว่า จะไม่ล้มลง

1 โครินธ์ 10:13
ไม่มีการทดสอบใด ๆ จะเกิดกับท่านโดยไม่ได้เกิดกับคนอื่นมาก่อน และพระเจ้าทรงซื่อตรง พระองค์จะไม่ทรงยอมให้ท่านถูกทดสอบเกินกว่าที่ท่านจะทนได้ และเมื่อถูกทดสอบอย่างยากเย็นนั้น พระองค์จะทรงให้มีทางออก ด้วย เพื่อว่าพวกท่านจะสามารถอดทนได้
1 โครินธ์ 10:14-15
ดังนั้น เพื่อนที่รักของข้า จงหนีจากการไหว้รูปเคารพ
ข้ากำลังพูดกับท่านอย่างที่พูดกับคนมีปัญญา​
ขอให้ท่านพิจารณาสิ่งที่ข้าพูดเถิด

1 โครินธ์ 10:16
ถ้วยแห่งพระพรที่เราได้กล่าวขอพรไม่ได้เป็นสิ่งที่เรามีส่วนร่วมกับพระโลหิตของพระคริสต์หรือ? ขนมปังที่เราฉีกออกไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำใหเ้รามีส่วนในพระกายของพระคริสต์หรือ?
1 โครินธ์ 10:17-18
เป็นเพราะมีขนมปังก้อนเดียวเราซึ่งมีหลายคนจึงเป็นหนึ่งในกายเดียวเพราะเราทุกคนต่างกินจากขนมปังก้อนเดียวกัน ดูประชาชนอิสราเอลสิคนที่กินอาหารไหว้รูปเคารพก็มีส่วนร่วมในแท่นบูชานั้นไม่ใช่หรือ?

1 โครินธ์ 10:19-20
ข้ากำลังกล่าวว่า รูปเคารพ หรืออาหารที่นำมาบูชาเคารพ มีความศักดิ์สิทธิ์อย่างนั้นหรือ? ไม่ใช่เช่นนั้น ข้ากำลังหมายความว่า สิ่งที่พวกเขาบูชารูปเคารพนั้น เป็นการบูชาผีมาร ไม่ใช่เป็นการ
ถวายพระเจ้า ดังนั้นข้าจึงไม่ต้องการให้ท่านมีส่วนร่วมกับพวกผีมาร
1 โครินธ์ 10:21-22
ท่านจะดื่มจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้าและถ้วยของมารไม่ได้
เราจะกระตุ้นความหวงแหนขององค์พระผู้เป็นเจ้าหรือ?

เรามีกำลังมากกว่าพระองค์อย่างนั้นหรือ?

1 โครินธ์ 10:23-24
เราทำทุกสิ่งได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งที่ทำนั้นจะเป็นประโยชน์
เราทำทุกสิ่งได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งที่ทำนั้นจะเสริมสร้างเราขึ้น
อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนคนเดียวแต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นด้วย
1 โครินธ์ 10:25-26
ทุกสิ่งที่เขาขายในตลาด เป็นเนื้อที่รับประทานได้ ไม่ต้องมัวซักถามรายละเอียดเพื่อเห็นแก่มโนธรรม เพราะว่า “ทั้งโลกและสารพัดสิ่งในโลกเป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า

1 โครินธ์ 10:27-28
ถ้าคนที่ไม่เชื่อพระเจ้า เชิญท่านไปในงานเลี้ยง และท่านอยากไป ทุกสิ่งที่เขาวางไว้ให้รับประทาน ก็รับประทานได้โดยไม่ต้องถามอะไรเพื่อเห็นแก่มโนธรรมแต่หากเกิดมีใครมาบอกว่า “อาหารนี้ใช้บูชารูปเคารพไปแล้ว” ก็อย่าแตะต้องเพื่อเห็นแก่คนที่บอก และเห็นแก่มโนธรรม
1 โครินธ์ 10:29-30
ข้าหมายถึงมโนธรรมของคนนั้น ไม่ได้หมายถึงของท่าน ทำไมอิสรภาพของข้าจะต้องถูกตัดสินด้วยมโนธรรมของผู้อื่น?
ถ้าข้ารับประทานด้วยใจขอบพระคุณแล้วเหตุใด จึงมีคนกล่าวร้าย ในเมื่อได้ขอบพระคุณไปแล้ว?

1 โครินธ์ 10:31-32
ดังนั้น ไม่ว่าท่านจะดื่ม จะกินสิ่งใดก็จงทำทุกอย่างเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า อย่าเป็นต้นเหตุทำให้พวกยิว กรีก หรือคริสตจักรของพระเจ้าหลงผิดสะดุดไป
1 โครินธ์ 10:33
แม้ข้าเอง ก็พยายามทำทุกสิ่งเพื่อให้ทุกคนพอใจ ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน แต่เห็นแก่คนจำนวนมากเพื่อพวกเขาจะได้รับความรอด

1 โครินธ์ 10:1-2
เรื่องต่อไปในบทนี้ เป็นเรื่องของการไหว้รูปเคารพซึ่งมีตัวอย่างเกิดขึ้นในสมัยของโมเสส ที่ได้นำคนอิสราเอลออกมาจากการเป็นทาสในอียิปต์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นต้นแบบบ่งถึงการที่เราทุกคนได้ออกจากชีวิตบาปเข้ามาสู่ชีวิตใหม่ในพระคริสต์ ท่านเปาโลกำลังบอกว่า ทุกคนที่ออกมาจากอียิปต์
ได้ผ่านประสบการณ์ในการเดินผ่านทะเลบนดินแห้งได้เข้าส่วนในการเกิดมาเป็นชนชาติใหม่ ได้ฝังอดีตในทะเลนั้น ได้ทำลายศัตรูราบคาบในทะเลนั้น

1 โครินธ์ 10:3-4
ทุกคนได้กินมานา และนกคุ่ม เป็นอาหารที่มีคุณค่าครบ ทำให้พวกเขายังไปต่อได้ แต่น่าสังเกตว่าคนสองล้านคนที่เดินทางไปด้วยกัน ที่ควรใช้เวลาเพียงประมาณ 7-8 วัน กลับต้องใช้เวลานานถึง 40 ปี ในช่วงเวลาเหล่านั้น พวกเขามีทั้งอาหารและน้ำให้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ยกเว้นมีบาง
โอกาสที่ทำให้พวกเขาบ่นว่า โมเสสอย่างไม่ไว้หน้าท่านเปาโลมีความเห็นว่า ศิลาที่น้ำไหลมาให้เขาดื่มนั้นคือพระคริสต์ ที่ไปกับพวกเขาตลอดทาง

1 โครินธ์ 10:5-6
และที่ท่านเปาโลได้เอาเรื่องของพวกเขามาเป็นตัวอย่างให้พี่น้องในโครินธ์ก็เพื่อพวกเขาจะไม่ทำบาปอย่างคนอิสราเอลในสมัยก่อนนั้น ในหมู่คนจำนวนมาก แม้จะมีคนที่เชื่อฟังอยู่บ้าง แต่คนส่วนใหญ่ก็เป็นคนประเภทบ่นไม่หยุด กร่างในเรื่องต่าง ๆ หาเรื่องได้ทุกวัน และแถมยังโวยวายกับโมเสสว่าอยากกลับไปกินอาหารในอียิปต์ เบื่ออาหารที่พระเจ้าประทานให้ในถิ่นกันดารจนแทบอาเจียน เรา ไม่เห็นความกตัญญูของคนพวกนี้

1 โครินธ์ 10:7-8
ชายอิสราเอลได้ทำผิดทางเพศกับหญิงชาวโมอับที่มาชวนให้พวกเขาเซ่นไหว้พระ โดยพีธีกรรมคือการมั่วเพศนั่นเอง และวันนั้น พระเจ้าทรงพิโรธจัดมาก ท่านเปาโลไม่ต้องการให้พี่น้องโครินธ์ทำผิดต่อพระเจ้าแล้วเจอกับภัยพิบัติที่น่ากลัวในกันดารวิถี 25:9 บันทึกว่า ตายทั้งหมดถึง 24000 คน นั่นคือคนที่ตายจากวิบัติครั้งนั้น แต่อาจรวมถึงวันต่อ ๆ มาด้วย แต่สมัยนี้แปลกผู้เชื่อจำนวนมากไม่ได้กลัวพระเจ้าเลย

1 โครินธ์ 10:9-10
คนอิสราเอลโบราณ พี่น้องชาวโครินธ์ และเราทุกคนที่ได้เข้ามาอยู่ในร่มพระคุณของพระเจ้า มีประสบการณ์เดียวกัน ได้รับการไถ่สู่ชีวิตใหม่เช่นกัน สิ่งที่ท่านเปาโลกำลังบอกเราก็คือ อย่าไปทำตัวอวดดีต่อพระเจ้า บ่นว่า ไม่พอใจโดยไม่ได้ดูว่าตนเองไม่มีดีจะอวด ไม่ได้ทำประโยชน์ให้ใครมีแต่จะเอาข้างเดียวเท่านั้น คนที่บ่น คนที่ชอบลองดีทั้งหลาย มักเป็นคนที่ไม่เป็นโล้เป็นพายทั้งสิ้น

1 โครินธ์ 10:11-12
การที่รู้ว่าตัวเองใกล้ชิดพระเจ้า และยังอยู่ในการป้องกันของพระองค์นั้น ปลอดภัยแน่ แต่คนที่คิดว่าตัวเองมั่นคง เป็นความคิดที่กลายเป็นพึ่งพาความเก่งกาจของตนเอง เป็นคนที่คิดว่า ตนเองเก่ง ไม่มีทางหลงไปจากพระเจ้า นี่เป็นความทะนงที่กำลังพาไปหาความพินาศ ดังนั้น ไม่ว่าเราจะ
อยู่อย่างใกล้่ชิดพระเจ้าขนาดไหนก็ตาม อย่าลืมว่าเราอาจจะพลาดพลั้ง เผลอไป ชั่ววินาทีเดียวก็อาจหมายถึงความพินาศนิรันดร์

1 โครินธ์ 10:13
เพราะการทดสอบความเชื่อจำเป็น เพราะทำให้ทุกคนต้องพิสูจน์ตนเอง ต้องถูกเผา ผู้เชื่อต้องผ่านการทดสอบด้วยวิธีต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงเห็นว่า
เหมาะกับเขา และหลังจากนั้น เมื่อเขาสอบผ่านเขาจะได้รับรางวัลจากพระเจ้า (ยากอบ 1 1 เปโตร………..ดังนั้น เมื่อเราเจอปัญหาใด ๆ ก็ตามให้นึกถึงข้อนี้
ว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ที่จะให้ทางออก และการทดสอบทำให้เรารู้ว่า เนื้อแท้จริงของเราเป็นคนอย่างไร

1 โครินธ์ 10:14-15
ท่านเปาโลพยายามให้พี่น้องได้มีความเข้าใจว่าถึงจะกินเนื้อที่มาจากการไหว้รูปเคารพ ก็ไม่ได้ผิดอะไรถ้าเข้าใจว่า รูปเหล่านั้น ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีค่า แต่การไหว้รูปเคารพที่ท่านกำลังกล่าวต่อไปคือการที่พี่น้องคริสเตียน เข้าไปในวิหารของพระเหล่านั้น และเข้าร่วมในพิธีต่าง ๆ ซึ่งเป็นการผิดต่อพระเจ้าโดยตรง เพราะพระเจ้าทรงห้ามการไหว้รูปเคารพใด ๆ มาตั้งแต่ต้น ท่านขอให้เขาหลีกหนีจากการกระทำนั้น

1 โครินธ์ 10:16
เมื่อเราเข้ามาร่วมพิธี ศีลมหาสนิท เป็นสัญลักษณ์บอกว่า เราผู้เชื่อจะมีส่วนในการทนทุกข์ของพระคริสต์ ถ้วยแห่งพระพรที่มีในพิธีศีลมหาสนิทนั้น เป็น
ถ้วยที่พระเยซูทรงอวยพระพรไว้ในอาหารครั้งสุดท้ายของพระองค์ เป็นพันธสัญญาใหม่ด้วยพระโลหิตของพระองค์เอง เมื่อไรที่เราได้มีส่วนร่วมในการดื่ม เราก็ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์

1 โครินธ์ 10:17-18
ขนมปังที่แต่ละคนกินเป็นส่วนของขนมปังก้อนเดียวกัน สัญลักษณ์ที่สื่อคือ ทุกคนต่างมีส่วนในขนมปังก้อนนั้น ทุกคนมีขนมปังก้อนนั้นอยู่ในตัวเองเหมือนกัน เราจึงเป็นกายเดียว ดังนั้น ท่านเปาโลย้อนกลับไปเพื่ออธิบายความว่าการที่กินอาหารที่ไหว้รูปเคารพ เท่ากับมีส่วนร่วมในรูปเคารพ ในพิธีกรรม ในความเชื่อ ในแท่นบูชานั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นการเข้าไปมีส่วนในความเชื่อที่ผิดต่อพระเจ้า

1 โครินธ์ 10:19-20
รูปเคารพเป็นสิ่งที่มองเห็น เป็นพระที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยมือของตัวเอง แต่หาได้มีอำนาจใด ๆมองไม่เห็น ไม่ได้ยิน พูดไม่ได้… แต่เราต้องเข้าใจว่า เบื้องหลังของความเชื่อในศาสนาใด ๆ มีอิทธิพลของมาร ที่ต้องการให้มนุษย์แสวงหาทางรอดด้วยตัวเอง ไม่ยอมมาตามทางของพระคริสต์มันต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของมนุษย์ไปในเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชีวิตนิรันดร์ ท่านเปาโลเตือนไม่ให้ผู้เชื่อเข้าไปมีส่วนใด ๆ กับรูปเคารพ ผีมาร

1 โครินธ์ 10:21-22
ดังนั้น สิ่งที่เราต้องระวังคือ การไม่เข้าไปมีส่วนในพิธีใด ๆ ของความเชื่ออื่น ๆ ที่ไม่ใช่ความเชื่อตามพระคำของพระเจ้า เราจะไปมีส่วนใด ๆ ไม่ได้เลย
การกินดื่ม การทำพิธีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเชื่อที่แตกต่างจึงเป็นสิ่งที่คริสเตียนมีความชัดเจนและนี่เองอาจเป็นเหตุให้เกิดความบาดหมางใจกันระหว่างคนในครอบครัวที่มีความเชื่ออื่น และมันเป็นส่วนหนึ่งที่พิสูจน์ว่า เราติดตามพระเจ้าจริงไหม

1 โครินธ์ 10:23-24
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายอย่างที่เราทำได้โดยไม่ผิดต่อพระเจ้า บางอย่างเราก็รู้สึกว่า ไม่ผิดอะไรหญิงชายบางคู่อาจเช่าบ้านแบ่งกันจ่ายแล้วบอกว่า
ไม่มีอะไรกัน แต่การทำเช่นนั้นมันหมิ่นเหม่ต่อการทำบาปแถมยังทำให้พี่น้องสะดุดได้ บางคนบอกว่า การดื่ม ไม่น่าจะผิดบัญญัตินะ แต่พี่น้องที่ยังอ่อนในความเชื่อ อาจเห็นว่าเป็นสิ่งผิดมาก ๆดังนั้น แม้สิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่หากมันทำ ให้เพื่อนในความเชื่องุนงง สงสัย สะดุดก็ละดีกว่า

1 โครินธ์ 10:25-26
ในเมื่อทุกสิ่งเป็นของพระเจ้า ดังนั้น เราอาจกินเนื้อที่ถูกบูชามาแล้วโดยไม่รู้หรือรู้ก็ตาม โดยที่เราเชื่อว่า รูปเคารพนั้น ไม่ได้มีฤทธิ์อำนาจใด (แต่เราจะไม่เข้าไปร่วมในพิธีที่แสดงถึงการจำนนต่ออำนาจนั้น) ท่านเปาโลพยายามให้พี่น้องได้แยกออกระหว่างการแสดงความภักดีต่อรูปเคารพ กับการที่เข้าใจว่า มันไม่มีอำนาจ

1 โครินธ์ 10:27-28
ท่านเปาโลบอกหลักการกว้าง ๆ ไว้ว่า อะไรควรและอะไรไม่ควร แต่แล้วก็ยังมีปัญหาเพิ่มเติมมาให้ฉุกคิดอีก ถ้าฉันกินสิ่งที่บูชาไปแล้ว แต่มีคนหวังดี
มาบอกว่า นี่มันเนื้อบูชา เพื่อเห็นแก่คนที่มาบอกเราก็ต้องหยุดกินเลยการที่ท่านเปาโลบอกเช่นนี้ ทำให้เรารู้ว่า การใส่ใจผู้อื่นนั้น ช่างละเอียดอ่อน และเป็นการปฏิเสธตัวเองเกือบทุกสถานการณ์

1 โครินธ์ 10:29-30
การที่ท่านเปาโลให้เรายอมก็เพื่อเห็นแก่ความรักที่เรามีต่อคนที่ห่วงใย เราอาจขอบคุณพระเจ้าเราอาจโอเคต่อสิ่งที่ทำ และรู้ด้วยว่า มันไม่ผิดอะไรแต่เมื่อพี่น้องที่ยังคงไม่เข้าใจเต็มร้อยมาเตือนเราก็น่าจะฟังและช่วยให้เขาได้เติบโต ไม่ใช่อ้างสิทธิ์ของตนเองและทำให้เขาสะดุด ซึ่งบางทีมันไม่คุ้มเลย ชีวิตฝ่ายวิญญาณของคน ๆ หนึ่งอาจพินาศไปเพราะเราไม่ใส่ใจหรือไม่แคร์ก็เป็นได้

1 โครินธ์ 10:31-32
การใช้ชีวิตคริสเตียนไม่ใช่เป็นการใช้ชีวิตตามแบบของโลก แต่เป็นการใช้ชีวิตเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าในทุกอย่างที่ทำทุกอย่างที่คิด คอยระวังไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ในที่สุดแล้วก็คือ การตายต่อตนเองเพื่อให้ร่างกายของพระคริสต์ได้เติบโต ยอมตายต่อความพอใจส่วนตัวเพื่อคนอื่นจะได้รอด

1 โครินธ์ 10:33
การที่ทำให้ทุกคนพอใจ ไม่ได้หมายความว่าปฏิเสธความจริงของพระเจ้าเพื่อให้คนพอใจแต่เป็นการเข้าใจว่า แต่ละคนต่างมีความคิดการเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง ท่านเปาโลจึงปฏิบัติตนในแบบที่จะทำให้ท่านเป็นเพื่อนของคนเหล่านั้น เพื่อจะมีโอกาสเป็นพยานเรื่องความรอดของพระเจ้าให้ทุกคนที่ท่านพบได้พระเจ้าทรงพอพระทัยให้เราเป็นผู้ที่มีความเข้าใจคนอื่น ๆ อ่านโรม 14:1-9

พระคำเชื่อมโยง


1 โครินธ์ 9 คนงานของพระเจ้า

1 โครินธ์ 9:1-2
ข้าไม่มีเสรีหรือ? ข้าไม่ใช่อัครทูตหรือ?
ข้าไม่เคยเห็นพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราหรือ?
พวกท่านเป็นผลงานของข้าในองค์พระผู้เป็นเจ้ามิใช่หรือ?
แม้คนอื่นจะไม่มองข้าเป็นอัครทูต แต่ท่านก็มองข้าเป็นอัครทูต เพราะพวกท่านคือตราแห่งอัครทูตของข้าในองค์พระผู้เป็นเจ้า

1 โครินธ์ 9:3-5
กรณีที่มีคนตรวจสอบข้า ข้าขอแก้ต่างว่าเราไม่มีสิทธิ์ที่จะกินและดื่มหรือ? เราไม่มีสิทธิ์ที่จะพาพี่น้องซึ่งเป็นภรรยาที่เชื่อในพระเจ้าออกไปด้วยกันเหมือนเหล่าอัครทูตท่านอื่น และพี่น้องของพระเยซูเจ้า และเคฟาสหรือ?

1 โครินธ์ 9:6-7
มีแค่ข้าและบารนาบัสเท่านั้นหรือที่ต้อง
ทำงานหาเลี้ยงชีพโดยไม่มีสิทธิ์เลิก?
ใครบ้างที่เป็นทหารโดยเลี้ยงตัวเอง? 
ใครบ้างที่ทำสวนองุ่น แล้วไม่ได้กินผลจากสวนนั้น?
ใครบ้างที่ดูแลฝูงแกะโดยไม่ดื่มนมจากฝูงแกะนั้น?

1 โครินธ์ 9:8-9
ข้าพูดอย่างนี้ ตามความคิดของมนุษย์
เท่านั้นหรือ? ธรรมบัญญัติก็เขียนไว้อย่างนี้ด้วยไม่ใช่หรือ?
ในบัญญัติของโมเสส มีบันทึกไว้ว่า “อย่าเอาตะกร้อ ครอบปากวัวขณะที่มันกำลังนวดข้าวอยู่” (ฉธบ 25:4)
พระเจ้าทรงเป็นห่วงวัวหรือ?

1 โครินธ์ 9:10
พระองค์ตรัสอย่างนี้ ก็เพื่อพวกเรามิใช่หรือ? ข้อความนั้นบันทึกไว้สำหรับเรา ใช่แล้ว! แสดงว่าคนที่ไถนาก็ควรที่จะไถด้วยความหวัง และคนที่นวดข้าวก็ควรทำโดยหวังว่า เขาจะได้รับส่วนแบ่ง

1 โครินธ์ 9:11-12
ดังนั้น ถ้าเราหว่านเมล็ดฝ่ายวิญญาณให้แก่พวกท่าน แล้วมากไปหรือที่เราจะเกี่ยวเก็บฝ่ายเนื้อหนังร่างกายจากท่าน?
ถ้าคนอื่นมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากท่าน เราไม่มีสิทธิ์นี้มากกว่าหรือ?

1 โครินธ์ 9:13-14 ท่านรู้ไม่ใช่หรือว่า คนที่ทำงานในพระวิหารก็กินอาหารจากพระวิหาร และคนที่รับใช้ที่แท่นบูชาก็รับส่วนแบ่งจากแท่นบูชานั้น? เช่นกัน องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาว่า คนที่ประกาศข่าวประเสริฐควรได้รับการเลี้ยงชีพจากข่าวประเสริฐนั้น

1 โครินธ์ 9:15-16
แต่ว่าข้ายังไม่ได้ใช้สิทธิ์เหล่านี้เลย และข้าไม่ได้เขียนมาเพื่อจะให้เขาทำอย่างนั้นแก่ข้า เพราะว่าข้ายอมตายดีกว่าที่จะให้ใครมาทำลายเหตุผลที่ข้าอวดอยู่นี้ เพราะว่าถ้าข้าประกาศข่าวประเสริฐ ข้าก็ไม่มีเหตุที่จะโอ้อวดได้ เพราะข้าจำต้องประกาศ และถ้าข้าไม่ประกาศ วิบัติจงเกิดกับข้า

1 โครินธ์ 9:17-18
ถ้าข้าประกาศด้วยความเต็มใจ ข้าจะได้บำเหน็จรางวัล แต่หากไม่เต็มใจ พันธกิจนี้ ก็ยังเป็นความรับผิดชอบของข้า
แล้วอะไรจะมาเป็นรางวัลของข้า? รางวัลคือ ในการประกาศข่าวประเสริฐนั้นข้าทำโดยไม่คิดค่าจ้าง เพื่อจะไม่ต้องใช้สิทธิ์ที่ควรได้จากข่าวประเสริฐอย่างเต็มที่

1 โครินธ์ 9:19-20 ในเมื่อข้าเป็นอิสระ ไม่ได้ขึ้นกับใคร ข้าก็ยังยอมเป็นทาสของทุกคน เพื่อว่าจะได้ชนะใจคนมากยิ่งขึ้น ต่อคนยิว
ข้าก็เป็นเหมือนยิว เพื่อจะได้คนยิวมา ต่อคนที่อยู่ใต้บัญญัติ ข้าก็ทำตัวเหมือนพวกเขา เพื่อจะได้พวกที่อยู่ใต้บัญญัตินั้นมา
(ทั้งที่ข้าไม่ได้อยู่ใต้บัญญัติ)

1 โครินธ์ 9:21ต่อคนที่ไม่มีบัญญัติ ข้าก็เป็นเหมือนคนไม่มีบัญญัติ เพื่อที่จะได้พวกที่ไม่มีบัญญัตินั้นมา (ทั้งที่ข้าไม่ได้ไร้บัญญัติของพระเจ้า แต่อยู่ใต้บัญญัติของพระคริสต์)

1 โครินธ์ 9:22-23
ต่อคนที่อ่อนแอ ข้าก็เป็นเหมือนคนอ่อนแอเพื่อจะชนะใจคนอ่อนแอ ข้ายอมเป็นคนทุกแบบต่อทุกคน เพื่อช่วยบางคนให้รอดเท่าที่จะทำได้ที่ข้าทำอย่างนี้ เพื่อเห็นแก่ข่าวประเสริฐ เพื่อข้าจะได้มีส่วนในข่าวประเสริฐนั้น

1 โครินธ์ 9:24-25
ท่านไม่รู้หรือว่า คนที่วิ่งแข่งก็วิ่งกันทุกคน แต่คนที่ได้รางวัลมีเพียงคนเดียว? ดังนั้นจงวิ่งเพื่อชิงรางวัลให้ได้
ผู้ที่เข้าแข่งทุกคน ต่างผ่านการควบคุมตนเองในทุกเรื่องเพื่อจะได้มงกุฎที่ร่วงโรย แต่เราวิ่งเพื่อมงกุฏที่ยั่งยืน

คำอธิบายเพิ่มเติม

1 โครินธ์ 9:1-2
บทที่เก้านี้ แตกต่างออกไปจากบทก่อนหน้าที่พูดเรื่องของบูชา และความมุ่งมั่นที่จะไม่ให้พี่น้องสะดุดด้วยเสรีภาพส่วนตัวต่อจากนี้ไปท่านเปาโลกล่าวถึงวิธีการในการรับใช้พระเจ้าของท่าน ท่านยืนยันว่าท่านคืออัครทูตคนหนึ่ง (ซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 12 ท่านแรก แต่ท่านคือผู้ที่พบพระเยซูบนถนนเข้าเมืองดามัสกัส (กิจการ 9:15 ท่านเป็นผู้ที่พระเยซูทรงส่งออกไปประกาศพระกิตติคุณแก่คนต่างชาติ)

1 โครินธ์ 9:3-5
กรณีที่มีคนมาตรวจสอบ.. ข้ากล่าวแก้ต่าง เป็นคำเชิงกฎหมายที่ท่านนำมาใช้ ท่านกำลังถามว่าในฐานะที่ท่านเป็นอัครทูต ท่านไม่มีสิทธิ์ที่จะกินดื่ม
หรือนำภรรยาไปรับใช้ด้วยกัน โดยใช้ปัจจัยของพี่น้องในคริสตจักรอย่างนั้นหรือ?ส่วนใหญ่ผู้รับใช้มีครอบครัว ดังนั้น จึงมักนำภรรยาไปด้วย แต่ดูเหมือนว่า พี่น้องในคริสตจักรโครินธ์ ไม่ต้องการสนับสนุนท่าน ไม่ต้องการที่จะช่วยในการรับใช้ของท่านเลย

1 โครินธ์ 9:6-7
ผู้รับใช้ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากคริสตจักรมีแต่เปาโลและบารนาบัสที่หาเลี้ยงชีพเอง และยังรับใช้พระเจ้าโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากใคร
ท่านนำเรื่องทหาร เกษตรกร มาเป็นตัวอย่างว่าใครทำงานอะไร ก็ควรจะได้รับค่าจ้างจากงานที่ทำอ่านถึงตรงนี้ เราอาจคิดว่า ท่านเปาโลต้องการ
เงินสนับสนุนจากคริสตจักร ท่านพูดแรงเหลือเกิน ต้องอ่านต่อไปว่า จริง ๆ ท่านคิดอย่างไร

1 โครินธ์ 9:8-9
ท่านไม่ได้พูดเรื่องนี้ตามใจตัวเอง แต่พระคำของพระเจ้าได้สอนมานานแล้วว่า ขณะที่วัวกำลังนวดข้าว ก็อย่าเอาตะกร้อปิดปากไม่ให้มันกินข้าวตกที่
กำลังนวดอยู่ สงสัยจริงว่า มีคำบัญญัติไว้เพราะบางทีเจ้าของนา เจ้าของวัวก็ตระหนี่ และเอาเปรียบคนที่ทำงานให้ และเอาเปรียบแม้กระทั่งวัวของตัว
เอง บัญญัติข้อนี้มีไว้ให้เพื่อเจ้าของงานจะไม่ทำตัวน่าเกลียด และขูดรีดขูดเนื้อคนที่ทำงานให้ตน

1 โครินธ์ 9:10
อย่างที่กล่าวมาว่า พระเจ้าทรงบัญชาไว้ล่วงหน้าเพื่อเจ้าของงาน และเพื่อคนที่ทำงานให้จะได้รับพระพรกันถ้วนหน้า ได้รับส่วนแบ่งจากงานที่ทำการที่ไม่ยอมให้ผู้ร่วมงานได้มีกินมีใช้นั้น นอกจากโหดร้ายแล้ว ยังเป็นการคดโกง ร้ายที่สุดคือกระชากความหวังที่จะมีกินของคนที่ทำงาน ความหวังในชีวิตของทุกคนทำให้สู้ต่อไปได้ การฆ่าความหวังจึงเป็นการทำลายทั้งชีวิต

1 โครินธ์ 9:11-12
เอาล่ะ มาถึงคำถามที่พี่น้องชาวโครินธ์ต้องตอบแล้ว ในเมื่อผู้รับใช้ของพระเจ้าได้เตรียมตัวอย่างดีสอนเพื่อให้ชีวิตฝ่ายวิญญาณได้เติบโตกับพระเจ้าการที่จะได้รับตอบเป็นปัจจัยฝ่ายเนื้อหนัง มันไม่สมควรอย่างนั้นหรือ แล้วคนอื่นยังได้ ทำไมท่านเปาโลกับบารนาบัสเองไม่ได้. อ่านจากข้อความนี้ เราอาจประเมินได้ว่า เป็นเพราะพี่น้องชาวโครินธ์เอง ปฏิเสธ ไม่ยอมสนับสนุนการรับใช้ของท่านเปาโล

1 โครินธ์ 9:13-14
แม้แต่พระเยซูก็ยังตรัสไว้ชัดเจนในเรื่องนี้ ดูจากมัทธิว 10:10 และลูกา 10:7 “คนงานควรได้รับค่าจ้างของตน” และในสังคมโครินธ์ คนที่ทำงาน
ในวิหารใดก็ตาม ก็ยังได้ส่วนแบ่งจากแท่นบูชาพวกเขารู้ ชิน เข้าใจอยู่แล้ว ท่านเปาโลเขียนมาอย่างนี้ ก็ช่วยให้คริสตจักรทั่วโลกได้เข้าใจว่า พวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบต่อผู้รับใช้อย่างไร ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีผู้รับใช้พระเจ้าอีกมากมายที่ต้องทำงานเลี้ยงตัวเอง และรับใช้พระเจ้าอย่างท่านเปาโล

1 โครินธ์ 9:15-16
พบแล้ว ตอนนี้เราเห็นเป้าหมายชัดเจนของท่านเปาโลที่เขียนมาทั้งหมด ท่านแค่ชี้แจงให้เห็นว่า ทัศนคติของพี่น้องชาวโครินธ์เป็นอย่างไร ท่าน
ไม่ได้ต้องการเงินสนับสนุน แถมยังประชดด้วยว่า“ข้าไม่ได้รับเงินจากพวกนาย ที่ข้าประกาศข่าวประเสริฐ ข้ามีเหตุผลของข้าเอง” พี่น้องในโครินธ์ไม่ได้สนับสนุนท่านเปาโล และยังคิดดูหมิ่นท่านด้วยที่ทำงานมือ ความคิดนี้เป็นความคิดแบบกรีกชัดเจนมาก

1 โครินธ์ 9:17-18
ท่านเปาโลกำลังบอกว่า ที่ท่านประกาศ ไม่ใช่เพราะต้องการให้พี่น้องสนับสนุนท่าน เมื่อท่านทำอย่างเต็มใจ พระเจ้าจะทรงให้รางวัลแก่ท่าน หรือถ้าฝืน
ใจทำ อย่างไร ๆ งานนี้ยังเป็นความรับผิดชอบที่พระเจ้าประทานให้ท่านอยู่ดีชีวิตของท่านเปาโลไม่ได้อยู่เพื่อตัวเองต่อไปการที่ท่านทนทุกข์ ทำงานหนักเพื่อคริสตจักรท่านทำโดยไม่ได้รับปัจจัยใด ๆ จากพี่น้องโครินธ์และไม่ใช้สิทธิ์ซึ่งควรได้จากการทำงานเลย

1 โครินธ์ 9:19-20
การยอมเป็นทาสของท่านนั้น คือการยอมต่อความเชื่อที่ยังอ่อนแอของพี่น้องที่ยังไม่เข้าใจ ท่านขอให้มาระโกเข้าสุหนัตเพื่อเห็นแก่คนยิวในเมืองที่มองว่า มาระโกเป็นลูกเขาเป็นลูกครึ่งกรีก (กิจการ 16:3) ท่านทำเพราะรักพี่น้องเพื่อไม่ให้ทำให้เขาสะดุด แต่ท่านก็ไม่ทำสิ่งใดที่ผิดต่อบัญญัติของพระเจ้า ในกาลาเทีย 2:3 มีบางคนพยายามให้คริสเตียนใหม่เข้าสุหนัต เพื่อลดความสำคัญของไม้กางเขน ท่านก็ไม่ยอมให้กับความคิดนั้น และไม่ให้ทิตัสชาวกรีกเข้าสุหนัต

1 โครินธ์ 9:21
นี่ไม่ได้หมายความว่า ท่านเปาโลยอมลดมาตรฐานบัญญัติของพระเจ้า แต่ท่านสอน ใช้ชีวิตกับคนเหล่านั้น ด้วยภาษา วิธีการที่พวกเขาเข้าใจได้ คำว่าคนที่ไม่มีบัญญัตินี้ หมายถึงคนต่างชาติที่ไม่ใช่เป็นคนยิว มีความเชื่อ วัฒนธรรมที่แตกต่างหลายอย่างเช่นการกิน คนต่างชาติก็ไม่มีกฎการกินมากอย่างคนยิว ท่านเปาโลก็จะกินอาหารอย่างที่คนต่างชาติกิน เป็นต้น สำหรับท่าน ท่านยึดบัญญัติแห่งรักของพระคริสต์ ไม่ใช่บัญญัติโมเสส

1 โครินธ์ 9:22-23
คนอ่อนแอในที่นี้ หมายถึงคนที่ยังจุกจิกในบทบัญญัติ อย่างเช่นคนที่ยังมีปัญหาเรื่องว่ากินเนื้อในวิหารได้หรือไม่ ท่านเปาโลก็จะยอมไม่เอาเสรีภาพของท่านที่คิดว่า กินได้ ไปทำให้พี่น้องเหล่านี้สะดุด เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้ปัญญาอย่างมาก โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่มีการบังคับให้ทุกคนคิดแบบเดียวกัน ถ้าไม่คิดแบบฉัน ฉันก็จะเทเธอเสียเป็นต้น เราจะทำอย่างไรกับคนที่เลือกข้างเด็ดขาด ไม่ยอมกับความคิดอื่นเลย?

1 โครินธ์ 9:24-25
ท่านเปาโลเน้นการมีวินัยในการฝึกฝนชีวิตเน้นวิสัยทัศน์ของผู้เข้าแข่งเพื่อได้รางวัล ลงแข่งเพื่อที่จะได้ชัยชนะมา ไม่ใช่แค่เพื่อเอาไว้คุยว่าเคยแข่ง
นักกีฬาทั่วไปได้เหรียญทอง ชื่อเสียง และความชื่นชมยินดีที่มีอยู่ชั่วครู่ ในช่วงเวลาที่ยังมีกำลังแข่ง แต่การแข่งในชีวิตคริสเตียนนั้นแตกต่าง
และชัยชนะที่ท่านกล่าวถึงก็ไม่ใช่รางวัลธรรมดา แต่เป็นมงกุฎที่ยั่งยืนนิรันดร์จากพระเจ้า เป็นรางวัลที่ถาวรเป็นนิรันดร์

พระคำเชื่อมโยง

1* กิจการ 9:15;
1 โครินธ์ 15:8; 3:6; 4:15
2* 2 โครินธ์ 12:12
4* 1 เธสะโลนิกา 2:6,9
5* มัทธิว 13:55; 8:14
6. กิจการ 4:36 7 2 โครินธ์ 10:4; เฉลยธรรมบัญญัติ 20:6; ยอห์น 21:15
9* เฉลยธรรมบัญญัติ 25:4
10* 2 ทิโมธี 2:6

11* โรม 15:27
12* กิจการ 18:3; 20:33; 2 โครินธ์ 11:12
13* เลวีนิติ 6:16,26; 7:6, 31
14* มัทธิว 10:10; โรม 10:15
15* กิจการ 18:3; 20:33; 2 โครินธ์ 11:10
16* โรม 1:14
17* 1 โครินธ์ 3:8, 14;9:18; กาลาเทีย 2:7 18 1 โครินธ์ 10:33
18* 1โครินธ์ 10:33; 7:31; 9:12
19* 1โครินธ์ 9:1; กาลาเทีย 5;13; มัทธิว 18:15

20* กิจการ 16:3; 21:23-26
21* กาลาเทีย 2:3; 3:2; โรม 2:12,14; 1โครินธ์ 7:22
22* โรม 14:1; 15:1; 1โครินธ์ 10:33; โรม 11:14
24* กาลาเทีย 2:2
25* ยากอบ 1:12
26* 2 ทิโมธี 2:5
27* โรม 8:13; 6:18; เยเรมีย์ 6:30





มาระโก 3 ราชกิจที่ฟาริสีเคือง

พระเยซูทรงรักษาโรคในวันสะบาโต
(มัทธิว 12:9–14; ลูกา 6:6–11)
1อีกครั้งที่พระเยซูทรงเข้าไปในศาลาธรรม มีชายมือลีบคนหนึ่งอยู่ที่นั่น
2 มีบางคนมองพระเยซูไม่วางตา
ดูว่าพระองค์จะทรงรักษาคนป่วยในวันสะบาโตหรือไม่
แล้วพวกเขาจะได้กล่าวโทษพระองค์ได้
3 แล้วพระเยซูตรัสกับชายมือลีบว่า
“มายืนข้างหน้านี่เถิด”
4 แล้วพระองค์ตรัสถามพวกเขาว่า
“อะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามบัญญัติสะบาโต?
ให้ทำดี หรือทำชั่ว ให้ช่วยชีวิตหรือทำลายชีวิต?”
แต่พวกเขานิ่งเฉย
5 พระเยซูทรงทั้งโกรธและเสียพระทัย
ทรงมองไปรอบ ๆ เห็นว่าพวกเขาใจแข็งยิ่งนัก
แล้วจึงตรัสกับชายคนนั้นว่า “เหยียดมือออกมาเถิด”
เมื่อเขาเหยียดมือออกมา มือของเขาก็หายเป็นปกติ!
6 เรื่องเกิดขึ้นอย่างนี้ พวกฟาริสีจึงออกไป
และเริ่มต้นวางแผนเพื่อจะฆ่าพระองค์พร้อมกับกลุ่มผู้สนับสนุนเฮโรด


พระเยซูทรงรักษาโรคคนจำนวนมาก
(
มัทธิว 4:23–25; ลูกา 6:17–19)
7 แล้วพระเยซูจึงทรงปลีกตัวไปยังทะเลพร้อมกับศิษย์ โดยมีคนกลุ่มใหญ่ตามไปด้วย
คนพวกนี้มาจากแคว้นกาลิลี แคว้นยูเดีย
8 จากเมืองเยรูซาเล็ม แคว้นดิดูเมอา ซึ่งอยู่อีกฟากของแม่น้ำจอร์แดน
ยังมีคนจากแถบเมืองไทระ และไซดอนด้วย คนจำนวนมากมาหาพระองค์
เมื่อได้ยินข่าวว่าทรงทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่หลายประการ
9 พระเยซูทรงบอกให้ศิษย์เตรียมเรือลำหนึ่งให้พร้อม
เพื่อว่าผู้คนจะได้ไม่เบียดเสียดพระองค์
10 เป็นเพราะพระองค์ได้รักษาคนจำนวนมาก
ทำให้คนที่ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ พากันเบียดเสียดเข้ามาใกล้เพื่อจะแตะพระองค์
11 และเมื่อวิญญาณชั่วเห็นพระองค์ครั้งใด พวกมันจะทรุดตัวลงร้องว่า
“ท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้า!”
12 แต่พระองค์ทรงสั่งห้ามพวกมันไม่ให้ประกาศให้คนรู้ว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ใด

พระเยซูทรงแต่งตั้งอัครทูตสิบสองคน
(มัทธิว 10:1–4; ลูกา 6:12–16)
13 จากนั้น พระเยซูเสด็จขึ้นไปบนภูเขาและทรงเรียกคนที่พระองค์ทรงดำริไว้
พวกเขาก็เข้ามาหาพระองค์
14 ทรงแต่งตั้งสิบสองคนโดยทรงให้เขาเป็นอัครทูต
ที่จะเดินทางไปกับพระองค์ และส่งออกไปเพื่อเทศนา
15 และทรงให้พวกเขามีสิทธิอำนาจที่จะขับผีออกจากผู้คน
16 คนทั้งสิบสองที่ทรงตั้งให้เป็นอัครทูตคือ
ซีโมนซึ่งพระองค์ทรงให้ชื่อว่า เปโตร
17 ยากอบบุตรชายของเศเบดี ยอห์นน้องชายของยากอบ
ทั้ง 2 คนนี้พระองค์ให้ชื่อว่า โบอาเนอเยซึ่งแปลว่า “ลูกชายแห่งฟ้าร้อง”
18 อันดรูว์ ฟีลิป บาร์โธโลมิว มัทธิว โธมัส ยากอบบุตรชายอัลเฟอัส
ธัดเดอัส ซีโมนซึ่งอยู่ในพรรคชาตินิยม
19 และยูดาสอิสคาริโอทผู้ที่ทรยศพระองค์


เรื่องที่เราก็เจอเหมือนกัน
20 จากนั้น พระเยซูเสด็จเข้าไปในบ้าน และครั้งนี้
ผู้คนก็รวมตัวชุมนุมกันที่บ้านนั้น ทำให้พระองค์และศิษย์ใกล้ชิดไม่อาจรับประทานอาหารได้
21 เมื่อคนในครอบครัวของพระองค์รู้เรื่องนี้เข้า
พวกเขาก็มาเพื่อจะจัดการพระองค์ โดยกล่าวว่า “เขาเสียสติไปแล้วนะ”

บ้านที่แตกแยก บ้านที่เข้มแข็ง
22 ส่วนพวกธรรมาจารย์ที่ลงมาจากเยรูซาเล็มต่างพูดกันว่า
“เบเอลเซบูลเข้าสิงเขานี่นา” และยังพูดด้วยว่า
“เขาขับผีออกจากคนได้ก็เพราะเจ้าแห่งผีนั่นแหละ”
23 แล้วพระเยซูทรงเรียกพวกเขาออกมา ตรัสกับเขาเป็นคำอุปมาว่า
“ซาตานจะไล่ซาตานออกไปได้อย่างไร?”
24 หากอาณาจักรหนึ่ง แตกแยกกันแล้ว อาณาจักรนั้นย่อมอยู่ไม่ได้
25 หากครอบครัวหนึ่งแตกแยกกัน ครอบครัวนั้นก็อยู่ไม่ได้
26 และหากซาตานแตกแยกกัน และลุกขึ้นสู้กันเอง
มันก็จะอยู่ไม่ได้ เท่ากับเป็นจุดจบของมันเอง
27 ที่จริงแล้ว ไม่มีใครจะเข้าไปในบ้านของคนที่เข้มแข็ง
และขโมยเอาทรัพย์สมบัติของเขาไปสำเร็จ
ยกเว้นเขาจะมัดคนที่เข้มแข็งนี้ไว้ก่อน
แล้วจึงจะปล้นบ้านของเขาได้

บาปที่จะไม่ได้รับการอภัย
(มัทธิว 12:31–32)
28 เราบอกเจ้าจริง ๆ ว่า ลูกหลานของมนุษย์จะได้รับการยกโทษบาปทุกอย่าง
แม้บาปหมิ่นประมาท ที่เขาเอ่ยออกมาไม่ว่าจะมากมายขนาดไหน
29 แต่ใครก็ตามที่หมิ่นประมาทพระวิญญาณบริสุทธิ์
จะไม่มีวันได้รับการยกโทษบาปนั้น
เขาทำความผิดซึ่งเป็นบาปที่ติดตัวไปตลอดกาล
30 ที่พระเยซูตรัสเช่นนี้ เพราะว่า พวกเขากล่าวว่า
พระองค์มีวิญญาณชั่วสิงอยู่

ใครเป็นมารดาและน้องชายของพระเยซู?
(มัทธิว 12:46–50; ลูกา 8:19–21)
31 แล้วมารดากับน้องชายของพระเยซู
มาและยืนอยู่ข้างนอก พวกเขาให้คนเข้าไปเรียกพระองค์ออกมา
32 และมีคนจำนวนมากนั่งรอบ ๆพระองค์อยู่
“ท่านขอรับ” คนหนึ่งกล่าว
“มารดาและน้องชายของท่านขอพบท่าน พวกเขารออยู่ข้างนอก”
33 แต่พระเยซูตรัสตอบว่า “ใครเป็นมารดาและพี่น้องของเราหรือ?”
34 พระองค์ทรงมองไปรอบ ๆ ดูคนที่นั่งล้อมรอบพระองค์อยู่
“นี่ไง พวกเขาคือมารดาและพี่น้องของเรา!
35 เพราะใครก็ตามที่ทำตามพระทัยของพระเจ้า
คนนั้นแหละคือพี่น้องทั้งชายหญิงและมารดาของเรา

อธิบายเพิ่มเติม

มาระโก 3:1-6 พระเยซูทรงรักษาโรคในวันสะบาโต
นี่เป็นเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ในมัทธิว 12:9 และลูกา 6:6-11 ก่อนหน้าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ ฟาริสีไม่พอใจที่ศิษย์ของพระองค์เก็บข้าวในนา มีการคุยกันอย่างไม่เป็นที่พอใจของฟาริสี พวกเขาไม่พอใจพระเยซูมาก่อนหน้านี้หลายเรื่อง อย่างเรื่องที่ทรงยกโทษให้กับชายง่อยคนหนึ่งก็เช่นกัน สิ่งที่เราจับได้จากพระคำตอนนี้คือ *ฟาริสี และคนอื่น ๆ เดาได้ว่า ยังไง ๆ วันสะบาโตนี้ต้องมีการรักษาโรคเกิดขึ้นแน่ *เราเห็นอารมณ์เสียใจ ทั้งอารมณ์โกรธ ของพระเยซูกับความใจร้ายของฟาริสีที่มีต่อชายมือลีบ การที่พวกเขาขัดขืนพระคุณของพระเจ้าที่มีต่อคนยากลำบาก *เมื่อพระเยซูทรงสั่งให้ชายมือลีบเหยียดมือออก ถ้าเป็นคนทั่วไปย่อมทำไม่ได้ แต่เมื่อพระองค์ทรงสั่ง พระองค์ก็เมตตาให้เขาทำได้ และหายโรคทันที เวลาพระเจ้าทรงสั่งให้เราทำอะไร พระองค์จะทรงเสริมกำลัง ความสามารถให้เราทำสิ่งนั้นได้

มาระโก 3:7-12 พระเยซูทรงรักษาโรคคนจำนวนมาก
ถ้าเราจะดูจากแผนที่จะเห็นว่าคนต้องเดินทางมาไกลหลายสิบกิโลเมตรเพื่อจะมาพบพระเยซู แต่พวกเขาก็พากันมา น่าเสียดายที่เป้าหมายของเขาไม่ได้อยู่ที่ฟังคำสอน คำเตือนจากพระเจ้า แต่เป็นเรื่องต้องการหายโรคเป็นหลัก คิดถึงเวลามีคนเป็นพัน ๆ ตามติดใครคนหนึ่งในโลกโบราณสิ มันเป็นเรื่องที่ต้องพูดต่อกันไป และใคร ๆ ที่รู้เรื่องก็อยากเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ กับตา
น่าแปลก ..​ผู้ที่ประกาศว่า พระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้ากลับกลายเป็นวิญญาณชั่ว พระเยซูทรงกำราบไม่ให้มันพูดอะไร เพราะยังไม่ถึงเวลาของพระองค์ และไม่จำเป็นที่พระองค์จะต้องได้คำยืนยันจากมารในเรื่องนี้

มาระโก 3:13-19พระเยซูทรงแต่งตั้งอัครทูตสิบสองคน
มาระโกได้เล่าถึงการที่พระเยซูทรงเลือกศิษย์ใกล้ชิดทั้งสิบสองคน ซึ่งทั้งสิบสองนี้จะเดินทางไปรับใช้พระเจ้าพร้อมกับพระองค์ตลอดเวลาที่พระองค์ทรงอยู่ในโลกนี้ และหลังจากที่เสด็จสู่สวรรค์ พวกเขาจะทำงานไปพร้อมกับองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือการเทศนา และมีสิทธิอำนาจในการขับผีที่ทรมานผู้คนในที่ ๆ พวกเขาไป เราจะสังเกตได้ว่า เมื่อกล่าวถึงศิษย์ใกล้ชิดทั้งสิบสองมักจะมีเปโตรเป็นคนแรก และยูดาสเป็นคนสุดท้ายเสมอ

มาระโก 3:20-21 เรื่องที่เราก็เจอเหมือนกัน
เราจะเห็นว่า พี่น้องในครอบครัวของพระองค์ไม่เห็นด้วยกับการที่พระเยซูเลิกทำงานเลี้ยงดูครอบครัว และออกมารับใช้พระเจ้าพระบิดาของพระองค์. พวกเขาไม่ได้เข้าใจเลยว่า พระองค์คือผู้ใด ดังนั้นจึงเห็นว่าพระองค์ไม่มีเหตุผลที่จะทำเช่นนี้ อะไรกันอยู่ดี ๆ ก็ออกมาจากงานดี ๆ ที่มั่นคง ออกไปทำงานที่ไม่มีรายได้อะไรเลย แล้วทำไมสามารถรักษาโรคให้ผู้คนได้? แล้วทำไมมีคนติดตามมากมาย? ทำไมกลายเป็นคนที่ผู้คนตามหา? ทำไมต้องออกไปพูดเรื่องของพระเจ้า วันนี้พวกเขาจึงมาเพื่อพยายามจัดการให้พระเยซูกลับไปเป็นอย่างเดิม และพวกเขาลงความเห็นกันว่า พี่ชายคนนี้ เสียสติไปแล้ว!แต่ถึงอย่างไร คนเดียวที่รู้เรื่องดีคือมารีย์ .. มารดาของพระองค์

มาระโก 3:22-27 บ้านที่แตกแยก บ้านที่เข้มแข็ง
ต่อมา พวกธรรมาจารย์ที่มาเพื่อจะจับผิดพระเยซูโดยเฉพาะก็ให้ร้ายทันทีว่า พระเยซูไล่ผีด้วยอำนาจนายผี เรียกว่า เบเอลเซบูล ซึ่งก็หมายถึงซาตานนั่นเอง พระองค์จึงทรงตอบเขาสองประการ อย่างแรกคือ ถ้าแผ่นดินใดแตกแยกกันเองมันจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งก็หมายความว่า พระองค์ไม่ได้เป็นลูกน้องของมาร แล้วมาไล่มารออกจากคน อีกอย่างคือ พระเยซูทรงประกาศว่า ตอนนี้ อย่างไร ๆ มารก็แพ้อยู่แล้ว แม้ว่ามันจะแข็งแรงและจับผู้คนในโลกเก็บเป็นเชลยไว้ในบ้านของมัน แต่พระเยซูเป็นผู้ที่แข็งแรงกว่าและมาช่วยผู้ที่ถูกมารรังควาญให้พ้นภัยจากมัน ใช่แล้ว.. แผ่นดินของพระเจ้ากำลังบุกเข้าไปและทำลายอาณาจักรของมารอยู่

มาระโก 3:28-30 บาปที่จะไม่ได้รับการอภัย
แล้วพระเยซูก็ทรงจัดการกับธรรมาจารย์ที่ไร้ความเชื่อในพระเจ้าจริง ๆ ตรัสว่า หากใครดูหมิ่น สบประมาทองค์พระวิญญาณก็จะไม่ได้รับการยกโทษตลอดไป… นี่หมายความว่าอย่างไร มีคนแปลความหมายแตกต่างออกไป แล้วเราจะแปลความหมายนี้อย่างไรดี …​
*พระวิญญาณ ทรงเป็นผู้ที่ตรัสความจริง … พระองค์ทรงเป็นผู้ต่อต้านงานของซาตาน แต่พวกเขากลับบอกว่า งานของพระองค์เป็นงานของมาร.. การปฏิเสธราชกิจของพระวิญญาณเท่ากับปฏิเสธพระเจ้าด้วย …​
* มีบางท่านกล่าวว่า การที่เราปฏิเสธไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นคนบาป และกลับมาหาพระเจ้า เท่ากับทำให้พระองค์เป็นผู้กล่าวคำมุสา
ผู้คนในชุดนี้ จึงไม่ได้ยอมจำนนต่อพระเจ้า เขาจึงไม่ได้รับการยกบาปจากพระองค์
เราจึงไม่ควรที่จะสบประมาทพระองค์ด้วยวิธีใด ๆ ทั้งสิ้น ..

มาระโก 3: 31-35 ใครเป็นมารดาและน้อง ๆของพระเยซู?
จากเหตุการณ์ข้างบนในข้อ 21 เราไม่ทราบว่า มารีย์มารดาอยู่ในเหตุการณ์นั้นหรือเปล่า แต่มาตอนนี้ มารดามาด้วย และขอพบพระเยซู
พระเยซู ในฐานะที่เป็นพระบุตรของพระเจ้า พระองค์มีพันธกิจพิเศษ รับการทรงเจิมจากพระบิดามาเพื่อช่วยโลกให้รอดบาป พระนามของพระองค์ในภาษาฮีบรูคือ เยชูวา ฮามาชิอัค หรือ ผู้ที่ได้รับการเจิมมาเป็นพระผู้ช่วยให้รอด (ชื่อที่ใช้ว่า เยซูคริสต์ เป็นภาษากรีก) ดังนั้นคนที่เป็นญาติพี่น้องของพระองค์จริง ๆ คือ คนที่ทำตามพระทัยของพระเจ้า น้อง ๆ ของพระองค์ที่มา ถ้าคิดตามสายเลือด ก็แค่มีมารดาเดียวกัน แต่พระองค์ทรงเกิดมาแตกต่างจากพวกเขา ทรงเกิดโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า

พระคำเชื่อมโยง

1* ลูกา 6:6-11
2* ลูกา14:1; 20:20; 13:14
5* เศคาริยาห์ 7:12
6* สดุดี 2:2; มาระโก 12:13; มัทธิว 22:16
7* ลูกา 6:17
8* มาระโก 5:19
10* ลูกา 7:21; มัทธิว 9:21; 14:36

11* ลูกา 4:41; มัทธิว 8:29; 14:33
12* มาระโก 1:25,34
13* ลูกา 9:1
16* ยอห์น 1:42
20* มาระโก 6:31
21* มาระโก 6:3; ยอห์น 7:5; 10:20
22* มัทธิว 9:34; ยอห์น 12:31;14:30; 16
:11

23* มัทธิว 12:25-29
27* อิสยาห์ 49:24, 25
28* ลูกา 12:10
30* มัทธิว 9:34
31* มัทธิว 12:46-50
35* เอเฟซัส 6:6


กิจการ 17 หว่านพระคำในเอเธนส์

อธิบายเพิ่มเติม

กิจการ 17:1-3
พวกเขาผ่านเมืองอัมฟีโปลิส และเมืองอปอลโลเนียไปที่เมืองเธสะโลนิกา ที่เมืองนี้มีศาลาธรรมของยิวอยู่ เป็นที่ ๆ เปาโลตั้งใจ ไปประกาศพระนามของพระเยซูแก่คนยิว เปาโลยืนยันแก่คนยิวว่า พระเยซูคือพระเมสสิยาห์ที่พวกเขารอคอยมานาน เป็นพระองค์เดียวกับที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ โดยไม่ได้พูดเปล่า ๆ แต่เปิดหนังสือม้วนที่พวกยิวศึกษาอยู่ ชี้แจงให้เห็นถึงคำพยากรณ์ที่เกิดขึ้นจริง
เปาโลไม่ได้แค่แจ้งเรื่องของพระเยซู แต่ได้ให้เหตุผล มีการถามตอบ มีการถกกันเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่พระเมสสิยาห์จะต้องทนทุกข์ ( ซึ่งปรากฎชัดในหนังสืออิสยาห์ ) และก็ยังชักชวนพี่น้องให้เชื่อด้วย
กิจการ 17:4-5
การประกาศครั้งนี้มีทั้งคนไม่เชื่อ และก็มีคนเชื่อ ทั้งคนยิวและคนกรีก ทั้งสตรีชนชั้นสูง การประกาศเป็นแบบนี้เสมอ พระกิตติคุณของพระเจ้าเป็นกลิ่นหอมสำหรับคนที่เชื่อ แต่สำหรับบางคนเป็นกลิ่นไปสู่ความตาย ( 2 โครินธ์ 2:16)
แต่แล้ว ก็มีเรื่องที่มักจะเกิดในหมู่ยิวกับเปาโล คือยิวอิจฉา! พวกเขาไปตามอันธพาลจากตลาดมาเพื่อจัดการกับเปาโล สิลาส และทิโมธี ที่รู้คือพวกเขาน่าจะอยู่ในบ้านของยาโสน ดังนั้นจึงพากันไปบุกบ้านของยาโสน เห็นไหมว่า ความอิจฉาของยิวรุนแรงขนาดไหน พวกเขาคงเคยรู้เรื่องวีรกรรมการสอน การประกาศของเปาโลมามาก
กิจการ 17:6-7a
ไม่พบเป้าหมายที่ต้องการ ก็เลยฉุดยาโสนไปจัดการแทน พยายามแต่งเติมให้มีข้อหาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ประจำเมืองซึ่งมาจากโรมจัดการกับยาโสน พวกเขาสามารถเพิ่มข้อกล่าวหาได้ทันทีเลย
กิจการ 17:7b-9
ข้อหาของเขาคือถือว่า ยาโสนร่วมมือกับคนที่ทำผิดคำสั่งของซีซาร์เพราะประกาศว่า มีกษัตริย์อีกองค์เชื่อพระเยซู พวกเขาพอได้ยินข้อกล่าวหาก็ไม่พอใจ แต่เมื่อได้รับเงินประกันตัวยาโสน ก็ยอมตกลงความโดยดี
กิจการ 17:10-11
ในเมื่อเกิดเรื่องที่เป็นอันตรายกับพี่น้อง จึงต้องให้เปาโล สิลาสออกจากเมืองไปยังเมืองเบโรอา พอไปถึงก็มุ่งหน้าเข้าไปที่ศาลาธรรมเลย และพี่น้องที่นี่ใจเปิดมาก พวกเขารับฟังสิ่งที่เปาโลกล่าว แถมยังตรวจสอบกับพระคัมภีร์เดิมด้วยว่า ที่เปาโลกล่าวนั้นจริงหรือไม่ ตรวจสอบกันอย่างตั้งอกตั้งใจ ทุกวัน
กิจการ 17:12-13
ที่นี่เกิดผลมากอีกแล้ว มียิวและชาวกรีกทั้งชายหญิงมาเชื่อพระเจ้า … ยิวที่เธสะโลนิกาได้ข่าวก็ไม่พอใจ ส่งคนไปก่อหวอด ปลุกระดมให้ผู้คนรู้สึกต้องต่อต้านเปาโล
กิจการ 17:14-15
พี่น้องเห็นยิวมาแบบนี้ ก็รีบส่งเปาโลไปเมืองเอเธนส์เพียงผู้เดียว โดยให้สิลาสกับทิโมธีอยู่เพื่อหนุนใจพี่น้องก่อน พวกเขา รู้ว่า ขืนปล่อยให้เรื่องบานปลายคงไม่ดีแน่ ๆ กับพี่น้องคริสเตียนในเมืองนี้ เปาโลเองก็กำชับให้เพื่อนทั้งสองรีบมาร่วมประกาศด้วยกันให้เร็วที่สุด
กิจการ 17:16-17
เปาโลเป็นทุกข์ใจที่เมืองเอเธนส์มากเพราะมีรูปเคารพเต็มเมือง การเห็นผู้คนหมกมุ่นอยู่กับรูปเคารพจำนวนมากมายอย่างนั้น ทำให้ความเป็นทุกข์ ห่วงใย เกิดล้นเต็มในหัวใจ ประมาณกันว่า มีรูปเคารพวางกันในเมืองไม่ต่ำกว่า 30,000 รูปในเอเธนส์
เปาโล ไม่ได้มีการวางแผนที่จะมายังเมืองเอเธนส์มาก่อน แต่พระเจ้าทรงนำให้ท่านได้มาสัมผัสกับความเข้มข้นของเมืองที่เต็มด้วยรูปปั้นที่มนุษย์บูชาว่าเป็นพระเจ้า
ถ้าท่านมาเที่ยวเมืองพม่า เมืองไทย หรือกัมพูชา ก็คงรู้สึกอย่างเดียวกัน บางทีพวกเราเองจะชินกับสิ่งเหล่านี้จนไม่ได้มีความรู้สึกดังกล่าว
แล้วเปาโลจะทำอย่างไรหรือ? ท่านทำโดยเริ่มต้นที่คุยกับทุกคนที่จะคุยได้ ไปพูดเรื่องพระเยซูในศาลาธรรม และในตลาดทุกวัน
กิจการ 17:18
มีความคิดเห็นหลายอย่างเกิดขึ้นเมื่อผู้คนมาฟังเปาโลกล่าว เพราะว่าคนเหล่านี้เป็นนักคิด นักพูดอยู่แล้ว บางคนดูหมิ่นว่า เปาโลมาประกาศพระต่างชาติให้พวกเขาฟัง มีทั้งพวกสโตอิค และเอปิคูเรียน
พวกสโตอิคเป็นกลุ่มที่เชื่อว่าต้องนิ่ง ไม่มีอารมณ์ เชื่อในศักดิ์ศรีความเป็นคน เชื่อว่าทุกสิ่งเป็นพระเจ้า และพระเจ้าอยู่ในทุกสิ่ง ส่วนเอปิคูเรียนคือพวกที่ถือว่า สุดๆ ของชีวิตมนุษย์คือต้องมีความสุขให้ได้มากที่สุด
บางคนรู้สึกว่าเปาโลเป็นคนโง่ มาพูดพล่ามไปเรื่อย แต่บางคนก็มองเห็นว่าสิ่งที่เปาโลพูดนั้นสำคัญ
กิจการ 17:19-21
ในที่สุด ก็พาเปาโลไปในสภาอาเรโอปากัส และอนุญาตให้เปาโลอธิบายเรื่องราวที่ท่านประกาศ
อย่าลืมว่าพวกนี้ เป็นคนที่ชอบพูดชอบคิด แต่ไม่ทำงานหนัก มีเวลามากพอที่จะฟังคำของเปาโล พวกเขาชอบข่าวใหม่ ๆ ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ที่จริงก็ไม่ได้ต่างจากคนที่ติดโซเชียลมีเดียสมัยนี้สักเท่าไร
กิจการ 17:22-23
วิธีการคุยของเปาโลนั้น ทำให้พวกเขาอยากฟังต่อ เพราะอ้างถึงแท่นนมัสการที่เขียนว่า แด่พระเจ้าที่ไม่รู้จัก ในเมื่อไม่รู้จัก เปาโลก็พร้อมที่จะเล่าให้เขาฟังว่า พระนั้น คือผู้ใด คนพวกนี้รู้สึกเหมือนว่าตนเองเป็นคนเคร่งศาสนา และเมื่อเปาโลพูดอย่างนั้น พวกเขาก็รู้สึกดี พร้อมที่จะฟัง
กิจการ 17:24-25
แล้วต่อจากนั้น เปาโลก็เล่าว่าพระเจ้าผู้ทรงเป็นพระผู้สร้างองค์นี้ ไม่ได้อยู่ในวิหารใด ๆ พระองค์เป็นผู้ประทานชีวิต ลมหายใจและทุกสิ่งให้พวกเขา ท่านเน้นถึงพระเจ้าผู้สร้าง ไม่ใช่พระเจ้าที่เป็นรูปปั้นที่พวกเขากำลังกราบไหว้กันอยู่ นี่เป็นเรื่องประหลาดสำหรับพวกเขา เพราะพวกเขาเชื่อพระที่สร้างสรรค์กันขึ้นมาเอง เป็นพระที่มีบุคลิกต่าง ๆที่คิดกันขึ้นมา เช่นเป็นพระแห่งท้องฟ้า พระแห่งพายุ และพระของพวกเขาก็ต่างมีความต้องการมากมาย ที่ทำให้คนต้องคอยปรนนิบัติ ต้องคอยเอาอกเอาใจ
แต่พระเจ้าที่เปาโลประกาศกลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิง !
กิจการ 17:26-27
เปาโลให้เขารู้ว่า พระเจ้าทรงสร้างพวกเขาจากอาดัม และหน้าที่ของพวกเขาคือการที่จะแสวงหาให้พบพระองค์ที่อยู่ใกล้ ๆ เปาโลให้ผู้ฟังเห็นว่า พระเจ้าทรงพอพระทัยที่จะพบกับพวกเขา พระองค์ไม่ใช่พระที่พูดไม่ได้ มองไม่เห็น ไม่ได้ยิน พระองค์ทรงเป็นผู้กำหนดให้พวกเขาอยู่ในเมืองที่เขากำลังอยู่นี้ ในเวลา ในยุคนี้ พระองค์เป็นผู้วางชีวิตของเขาตามพระทัย เขาไม่ได้เกิดมาแบบสุ่มเกิด
กิจการ 17:28
แล้วเปาโลก็ได้ใช้คำของกวีสองคน ประโยคแรกจาก เอพิเมนิเดส ชาวเกาะครีต ประโยคที่ว่าเราเป็นเชื้อสายของพระองค์ก็จากอาราทัสในซิซิเลีย ซึ่งเป็นกวีโบราณที่คนเหล่านี้คุ้นเคย พวกเขายังคงตั้งใจฟัง ไม่มีใครคัดค้านอะไร
การเทศนาของเปาโลครั้งนี้ ผู้เขียนได้บันทึกรายละเอียดของสิ่งที่ท่านพูดโดยที่ไม่เหมือนกับพูดกับยิว ที่ต้องอ้างพระคัมภีร์เดิม แต่นี่ท่านได้ใช้สิ่งที่ชาวเอเธนส์รู้จักมาช่วยโยงให้พวกเขาได้รู้จักพระเจ้าทั้ง ๆ ที่กวีทั้งสองไม่ได้อ้างถึงพระเจ้าองค์พระผู้สร้างเลย .. จะเห็นว่าเปาโลรู้พื้นฐานความคิดของพวกนี้เป็นอย่างดี
กิจการ 17:29-31
และแล้วเปาโลก็เตือนให้เขากลับใจใหม่ และให้รู้ว่า พระเจ้าผู้ทรงสร้างองค์นี้จะทรงพิพากษาโทษมนุษย์ แล้วตอนนี้ท่านก็มาถึงสิ่งที่อยากจะอธิบายมาก ๆ คือเรื่องของพระบุตรพระเจ้าที่ทรงลงมาในโลก และสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่ความบาปของพวกเขา ซึ่งท่านก็พูดตั้งแต่ต้น ตอนที่อยู่ในตลาด คราวนี้ก็ได้มาขมวดเรื่องราวของพระองค์ในสภาอาเรโอปากัส
กิจการ 17:32-34
เรื่องที่เปาโลกล่าวกับพวกเขา แตกต่างจากพระทั้งหลายที่พวกเขาเชื่ออย่างสิ้นเชิง พวกเขาก็สนใจมากจนกระทั่งท่านกล่าวถึงการที่พระเยซูทรงฟื้นคืนชีวิต …​เท่านั้นเองพวกเขาก็เริ่มไม่พอใจ คนในสภาเหล่านี้ มีความเชื่อที่แตกต่างออกไปในเรื่องของชีวิต…………….
แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนที่สนใจอยากฟังอีก และติดตามท่านไป แม้จะมีความคิดเห็นเรื่องที่เปาโลกล่าวแตกต่างกันไป แต่เปาโลก็ได้หว่านพระคำของพระเจ้าลงในเมืองเอเธนส์สมปรารถนาของท่านแล้ว
เห็นความเป็นผู้ที่พร้อมกล่าวพระคำกับคนทุกแบบของท่านแล้ว ก็ต้องบอกว่า ท่านสุดยอดจริง ๆ พระเจ้าทรงเลือกคนที่โลกหาว่าโง่ แต่จริงแล้วฉลาดล้ำ …

พระคำเชื่อมโยง

1* 1 เธสะโลนิกา 1:1
2* ลูกา 4:16; 1 เธสะโลนิกา 2:1-16
3* กิจการ 18:5, 28
4* กิจการ 28:24, 15:22, 27, 32, 40
5* กิจการ 13:45; โรม 16:21
6* กิจการ 16:20
7* 1 เปโตร 2:13
10* กิจการ 9:25; 17:14

11* ยอห์น 5:39
14* มัทธิว 10:23
15* กิจการ 18:5
16* 2 เปโตร 2:8
18* 1 โครินธ์ 15:12
24* กิจการ 14:15; มัทธิว 11:25; กิจการ 7:48-50

25* อิสยาห์ 42:5
26* เฉลยธรรมบัญญัติ 32:8
27* โรม 1:20; เยเรมีย์ 23:23-24
28* ฮีบรู 1:3; ทิตัส 1:12
29* อิสยาห์ 40:18-19
30* โรม 3:25; ทิตัส 2:11-12
31* กิจการ 10:42, 2:24