1 เปโตร 3 ความสัมพันธ์ การทนทุกข์และพระพร

ความสัมพันธ์ในครอบครัว-ภรรยา

เช่นเดียวกัน ขอให้ภรรยาเชื่อฟังสามีของตนเพื่อว่า หากสามีคนใดไม่เชื่อพระคำของพระเจ้า แต่การกระทำของภรรยาอาจชนะใจเขาโดยไม่พูดอะไร เมื่อเขาเห็นชีวิตที่บริสุทธิ์ ความยำเกรงพระเจ้าในชีวิตของท่าน
1 เปโตร 3:1-2

โคโลสี 3:18, 1 โครินธ์ 11:3,7:16, 14:34, เอเฟซัส 5:33,ฟีลิปปี 1:27, ปฐมกาล 3:16,มัทธิว 18:15

ข้อนี้ ท่านเปโตรบอกภรรยาว่า พวกเธอควรทำอย่างไรเพื่ออาจจะชนะใจของสามี ในโลกความ เป็นจริงเราจะเห็นว่า บางครอบครัวภรรยาชนะใจได้จริง ๆ โดยไม่ต้องพูดอะไร แต่บางครอบครัว สามีก็ไม่เชื่อต่อไป ยังตกอยู่ในความบาปต่อไป ท่านเปโตรไม่ได้ยินยันว่าจะสำเร็จแต่สิ่งดีที่เกิดขึ้นคือ ตัวภรรยาเอง ได้ทำตามพระทัยของพระเจ้า

การประดับตัวของท่านไม่ควรจะเป็นแค่ภายนอกอย่างเช่น การถักผม การสวมอัญมณีทองคำ หรือเสื้อผ้าสวยล้ำแต่ให้เป็นการประดับด้วยตัวตนจริงที่อยู่ภายใน เป็นความงามที่ไม่มีวันสูญคือหัวใจที่อ่อนโยนและสงบสุภาพ ซึ่งพระเจ้าทรงเห็นว่ามีค่ายิ่งนัก
1 เปโตร 3:3-4

1 ทิโมธี 2:9-10, โรม 12:2, 2:29, 7:22, อิสยาห์ 3:18-24,โคโลสี 3:12,

ท่านเปโตรมีภรรยาด้วย สิ่งที่ท่านกล่าวถึงในตอนนี้ ไ่ม่ได้หมายความว่า แต่งตัวสวยไม่ได้ แต่ให้สิ่งนั้นมาเป็นรองความสวยงามที่เกิดขึ้นจากข้างใน เป็นความงามอย่างสงบ งามอย่างอ่อนโยนในการกระทำ เป็นความงามที่มีค่าในสายพระเนตร พระเจ้าซึ่งแตกต่างจากความงามในสายตาของ
มนุษย์อย่างสิ้นเชิง

สตรีผู้ที่หวังใจในพระเจ้าในอดีตได้ประดับตัวให้งดงามเช่นนี้โดยการที่พวกเธอยอมต่อสามี เหมือนอย่างที่ซาราห์ได้เชื่อฟังอับราฮัมและเรียกเขาว่า นายท่าน ท่านเองก็จะเป็นลูกหลานของเธอโดยการทำสิ่งดีและไม่หวั่นต่อสิ่งใด
1 เปโตร 3:5-6

ทิตัส 2:3-4 ,ปฐมกาล 18:12, โรม 9:7-9

ผู้หญิงคนหนึ่ง เลือกได้ว่าเธอจะชนะใจสามีด้วยวิธีของตัวเอง หรือทำตามอย่างที่พระเจ้าตรัสความสำเร็จที่ได้มาก็ขึ้นอยู่กับพระเจ้าท่านเปโตรขอให้สตรีหันกลับไปดูซาราห์ว่า เธอประดับชีวิตของเธอด้วยใจนิ่งสงบและเชื่อฟัง ให้เกียรติสามีของตน ยกเว้นมีครั้งหนึ่งที่เธอพลาดเรื่องฮาการ์ เมื่อเธอตัดสินใจด้วยตัวเอง (ปฐมกาล16)ผลที่เกิดขึ้นก็ร้ายแรง และยังส่งผลมาจนทุกวันนี้)




ความสัมพันธ์ในครอบครัว-สามี

ส่วนด้านของสามีก็เช่นกัน ให้ใช้ชีวิตกับภรรยาด้วยความเข้าใจว่าเธออ่อนแอกว่า และให้เกียรติเธอว่า เป็นผู้ร่วมทางชีวิตแห่งพระคุณ เพื่อว่าการอธิษฐานของท่านจะไม่มีอุปสรรคขัดขวาง
1 เปโตร 3:7

1 โครินธ์ 7:3, 12:23, เอเฟซัส 5:25, โคโลสี 3:19,

การใช้ชีวิตกับภรรยาอยู่กินด้วยกัน ทำมาหากินมีครอบครัวที่ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ใครก็รู้ ครอบครัวดี น่ารัก ความสุขก็มาก ครอบครัวพัง มีแต่การทะเลาะวิวาท ทุกข์ก็เยอะ ในสมัยก่อนนั้น การที่สามีจะให้เกียรติภรรยาเป็นเรื่องยากเพราะพวกเขามองผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชาย คำสอนของท่านเปโตรเรื่องนี้จึงฉีกไปจากสังคมคนนอกทั่วไป ความเข้าใจการให้เกียรติว่าภรรยาเป็นผู้ร่วมทางชีวิตนั้น ทำให้ตัวเขาเองเกิดผลในการอธิษฐานต่อพระเจ้า

เรียกมาให้เป็นพระพร

สุดท้ายนี้
ให้ท่านทั้งหลายอยู่ด้วยกัน
โดยมีใจเดียวกัน
ให้เห็นใจกัน รักกันอย่างพี่น้อง มีใจสงสารกันและถ่อมตนต่อกัน
1 เปโตร 3:8

โรม 12:10, 1 เปโตร 1:22, ยากอบ 3:17

ใจเดียวกันคืออย่างไร? ตอบไม่ยากเลย นั่นคือการมีใจของพระคริสต์ ถ้าทุกคนคิดได้อย่าง พระองค์ ความปรองดองก็เกิดขึ้น อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข สามารถปรับเข้าหากันได้ แม้นิสัยใจคเราไม่เหมือนกันเลย เพราะพระเจ้าทรงสร้างเรามาให้แต่ละคนมีเอกลักษณ์ของตนเองชัดเจนตั้งแต่เล็ก ๆ

อย่าทำร้ายตอบแทนการร้าย หรืออย่าดูหมิ่นตอบแทนการดูหมิ่นในทางตรงกันข้าม จงให้พรแก่เขาเสมอไป เพราะว่าท่านได้รับการเลือกมาให้ทำเช่นนี้ เพื่อว่าท่านจะได้รับพระพรเป็นมรดก
1 เปโตร 3:9

สุภาษิต 7:13, มัทธิว 5:44, มัทธิว 25:34, โรม 12:17,

เหตุใดเราจึงขอพรเพื่อคนที่ร้ายต่อเรา?เหตุใดพระเจ้าทรงให้เราขอพรเพื่อคนที่ดูหมิ่น?แล้วพระเจ้าจะทรงให้พรกับเขาตามที่เราขอตามที่พระองค์ทรงเห็นสมควร ซึ่งอาจไม่ตรงใจเรา เพราะเราเป็นผู้ถูกกระทำ แต่แล้วคำตอบคือ พระเจ้าทรงเลือกให้เราขอพรเพื่อคนที่ร้ายต่อเรา ก็เพื่อเราเองจะได้รับพร เป็นมรดก และถ้าศัตรูของเราได้พร ล้ำเลิศคือได้รู้จักพระเจ้าจริง ๆ ขึ้นมา เขาจะกลายเป็นมิตร ไม่เป็นศัตรูต่อไป

เพราะว่าคนใดรักชีวิตและอยากเห็นวันดี ๆ จะต้องรักษาลิ้นจากความชั่ว รักษาปากไม่ให้พูดด้วยอุบาย และเขาจะต้องหันจากความชั่วร้ายทำสิ่งที่ดี เขาจะต้องตามหาสันติและมุ่งมั่นต่อสู้เพื่อจะได้สันตินั้น
1 เปโตร 3:10-11

สดุดี 34:12-16, ยากอบ 1:26, สดุดี 37:27, โรม 12;18,

จากเหตุการณ์บ้านเมืองของเราในเวลานี้ ทำให้เรารู้ว่า สันติสุขในบ้านเมืองไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายเลย การจะมีสันติสุขในครอบครัว ในที่ทำงานเป็นเรื่องที่ต้องตั้งใจ ต้องมีความอดกลั้น และต้องมีความรักจริง ๆ จึงจะมีสันติได้ บางครั้งก็ต้องมองข้าม ให้อภัย ให้พรทั้ง ๆ ที่รู้สึกว่าไม่น่าจะให้สักนิด .. หากย้อนไปอ่านเปโตรบทที่ 3 ตั้งแต่ข้อแรกแล้วชีวิตเราเปลี่ยนจริง ๆ ตามนั้น มันจะเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มาก

เพราะว่าพระเนตรของพระเจ้า
เฝ้าดูผู้ที่เชื่อฟังพระองค์
ทรงฟังคำอธิษฐานของพวกเขา
แต่ทรงต่อต้านทุกคนที่ทำชั่ว
1 เปโตร 3:12

ยอห์น 9:31, สดุดี 34:15-16, สุภาษิต 15:29,

พระคำตอนนี้ตั้งแต่ข้อ 10-12 ท่านเปโตรอ้างอิงมาจากสดุดี 34:12-16 เรามั่นใจได้ว่า พระเจ้าทรงมองคนที่ติดตามและเชื่อฟังพระองค์ และทรงตอบคำอธิษฐาน และทรงต่อต้านคนชั่วแน่นอน เราอย่านึกว่าพระองค์ไม่ทรงเอาพระทัยใส่ ถ้าพระองค์ไม่ต่อต้านจัดการกับคนชั่วส่วนหนึ่ง ป่านนี้โลกคงเป็นจุณ แต่ถ้าพระองค์จะทรงกำจัดคนชั่วทุกคน โลกก็จะไม่เหลือใครเช่นกัน

ใครจะมาทำร้ายท่านได้ หากท่านมุ่งติดตามสิ่งที่ดี ?แต่หากท่านต้องทนทุกข์ เพื่อเห็นแก่ความเที่ยงตรง ท่านก็จะเป็นสุข อย่าไปกลัวการข่มขู่ของเขา หรืออย่ากังวลใจไป
1 เปโตร 3:13-14

สุภาษิต 16:7, โรม 8:28, 3 ยอห์น 1:11, ยากอบ 1:12, 1 เปโตร 2:19-20, อิสยาห์ 8:12-13

ที่จริงแล้ว เมื่อใครคนหนึ่งต้องการติดตามสิ่งที่ดี ถูกต้อง ก็ไม่น่าจะมีใครมาขัดขวาง แต่ในโลกความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่อย่างนั้น คนไม่น้อยที่ทำดีให้กับสังคม กลับถูกทำร้าย คนที่ต่อสู้เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนที่ยากลำบาก อาจจะต้องเสี่ยงชีวิตเพราะไปขัดผลประโยชน์ของบางคน พระเจ้าทรงให้คริสเตียนรู้ว่า ถ้า ตั้งใจติดตามพระองค์ ทำสิ่งที่ดีแล้ว พระองค์ทรงให้พรเขา ทรงให้เขาเป็นสุขได้แม้จะต้องทนทุกข์

ขอให้ใจของท่านยกย่องว่า
พระคริสต์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า เตรียมตัวพร้อมที่จะตอบทุกคนที่ถามว่า เหตุใดท่านจึงมีความหวัง แต่ขอให้ตอบด้วยความสุภาพและนับถือ
1 เปโตร 3:15

สดุดี 119:46, ทิตัส 3:7, ลูกา 21:14-15, 2 ทิโมธี 2:25-26

แทนที่เราจะกลัว เรากลับมอบตัวเองให้กับพระเจ้าอีกครั้ง และมีคำตอบให้กับคนที่ถามว่า เหตุใดจึงเชื่อ เหตุใดจึงเป็นคริสเตียนเหตุใดจึงทำอย่างนั้น อย่างนี้ เราตอบทุกคนได้
อย่างกระจ่างแจ้งถ้าเตรียมพร้อม โดยตอบคำถามด้วยความสุภาพต่อคนที่ถามและความนับถือองค์พระผู้เป็นเจ้า
ดู กิจการ 2:14-39,3:11-26,4:8-12

รักษาจิตสำนึกให้ดีเพื่อว่า
เมื่อท่านถูกใครกล่าวร้ายทั้งที่ท่านทำดี คนนั้นจะอับอายที่เขากล่าวหาท่าน
หากว่านี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า ‘การทนทุกข์เพราะทำความดีนั้นก็ดีกว่าทนทุกข์เพราะทำชั่ว’
1 เปโตร 3:16-17

1 ทิโมธี 1:5, ฮีบรู 13:18, 1 เปโตร 3:21, 2:12,15,3:14,4:19, กิจการ 21:14, 2

สิ่งที่ท่านเปโตรได้เตือนพี่น้องนั้น เป็นสิ่งที่ท่าน ผ่านมาหลายต่อหลายครั้ง ตัวอย่างมีอยู่ในหนังสือกิจการ 5 ท่านประกาศพระนามพระเจ้า แต่พวกผู้ใหญ่ในศาสนายิวก็พยายามปิดปากให้ท่านและพี่น้องหยุดพูดพระนามพระเยซูแต่ท่านเปโตรก็ไม่ได้รู้สึกเสียใจอะไร กลับรู้สึกดีใจ ภูมิใจที่ถูกดูหมิ่นเพราะท่านทำสิ่งที่เป็นน้ำพระทัยของพระเจ้า

การทนทุกข์ของพระคริสต์ และของเรา

เพราะว่า พระคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อบาปครั้งเดียวก็พอแล้ว พระองค์ผู้ทรงธรรม ทำเช่นนี้แก่คนอธรรมเพื่อทำให้พวกเขาได้เข้ามาหาพระเจ้า พระกายของพระองค์สิ้นไปแต่ฝ่ายวิญญาณทรงมีชีวิตอยู่
1 เปโตร 3:18

ฮีบรู 9:26,28, 1 เปโตร 4:6

ครั้งเดียวพอ นั่นคือ การถวายชีวิตของพระเยซูเป็นเครื่องบูชานั้น ไม่ต้องทำซ้ำเหมือนกับเครื่องบูชาอื่น ๆ ไม่ต้องมีความดีของมนุษย์มาเสริมพระเยซูทรงใช้พระโลหิตของพระองค์ไถ่คนบาป ที่ทรงทำเช่นนี้ก็เพื่อคนบาปอย่างเราจะได้มาหาพระเจ้าได้ และพระองค์ได้ทรงคืนพระชนม์ มีพระกายใหม่ที่ไร้ความจำกัดในเวลา สถานที่ ไม่ทรงมีพระกายแบบมนุษย์อีกต่อไป. อ่าน 1 เปโตร 1:19

และโดยทางวิญญาณพระองค์ได้เสด็จไปประกาศแก่บรรดาวิญญาณที่ถูกจำจอง ซึ่งในอดีต ไม่เชื่อฟังพระเจ้า ครั้งที่พระองค์ทรงอดกลั้น รอคอยให้พวกเขากลับใจในสมัยโนอาห์ ขณะที่ท่านกำลังต่อเรือใหญ่ ในเรือนั้นมีไม่กี่คน แค่แปดคนที่ได้รับความช่วยเหลือให้รอดชีวิตจากน้ำ
1 เปโตร 3:19-20

1 เปโตร 4:6, อิสยาห์ 61:1, ฮีบรู 11:7,ปฐมกาล 6:3, 5, เอเฟซัส ​5:26

ภาพจาก wikimedia common. File:Bischheim Temple38.JPG

พระคัมภีร์ตอนนี้อาจเป็นข้อที่เข้าใจยากมาก มีความเห็นจากดร. ไมเคิล ไฮเซอร์ว่า พระวิญญาณของพระเยซูทรงลงไปบอกวิญญาณที่ติดคุกว่า พวกเขายังคงพ่ายแพ้ แม้ว่าพระองค์จะถูกตรึงบนไม้กางเขน แต่แผนการความรอดและการปกครองของพระเจ้านั้นไม่ได้หยุดชะงักไป ยังคงดำเนินต่อไป การสิ้นพระชนม์คือชัยชนะเหนือทุกวิญญาณชั่วที่ต่อต้านพระเจ้า และพระองค์ทรงเป็นคือมาจากความตายแล้ว
สถิตอยู่ขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า เหนืออำนาจ
ร้ายทั้งปวง (Heiser, The Unseen Realm, p. 339)

ความหมายบัพติศมาด้วยน้ำ

และน้ำซึ่งเป็นสัญลักษณ์หมายถึงบัพติศมา บัดนี้ช่วยให้ท่าน รอดเช่นกัน ไม่ใช่เป็นการล้างสิ่งสกปรกออกจากร่าง แต่เป็นการถวายปฏิญาณต่อพระเจ้าเพื่อเราจะมีจิตสำนึกที่ดีต่อพระองค์ ความรอดนั้นมาได้ ด้วยการคืนชีพของพระเยซูคริสต์
1 เปโตร 3:21

กิจการ 16:33, เอเฟซัส 5:26, ทิตัส 3:5, โรม 10:10

น้ำท่วมครั้งโนอาห์ ได้ชำระล้างบาปและความชั่วร้ายออกไป เป็นการเริ่มต้นใหม่ของโลกนี้ การรับบัพติศมาบอกถึงความหมายฝ่ายวิญญาณ ของการจุ่มน้ำ นั่นก็คือ ผู้รับบัพติศมาได้รับการชำระชีวิต จิตสำนึกของเขาได้รับการเปลี่ยนแปลง และเขาได้ประกาศให้รู้ว่าเขาเชื่อพระเยซูแล้ว เป็นหลักฐานที่บอกว่าเขาหันหลังให้กับชีวิตเดิม เขาได้รับความรอด เพราะการสิ้นชีพ-คืนชีพของพระเยซู เป็นการเริ่มต้นใหม่ของเขา

พระองค์เสด็จสู่สวรรค์ และประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้าโดยทั้งทูตสวรรค์ เหล่าผู้ที่มีสิทธิอำนาจ และเทพที่มีฤทธิ์ทั้งหลาย ถูกจัดไว้ให้อยู่ใต้อำนาจของพระองค์
1 เปโตร 3:22

สดุดี 110:1, โรม 3:38, ฮีบรู 1:6

ภาพวาดโดย John Singleton Copley 1775

ในที่สุด พระองค์เสด็จสู่สวรรค์ พระเจ้าทรงยกย่องพระเยซูสูงสุด ทรงอยู่เหนือวิญญาณทั้งสิ้นในจักรวาล ดังนั้นเราจะเห็นว่า แม้พระองค์ ทรงทนทุกข์จนสิ้นพระชนม์ แต่ชัยชนะสุดท้าย กลับเป็นของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว