โรม 3 พ้นผิดได้ ด้วยพระคุณ

โรม 3:1-2
ถ้าอย่างนั้น คนยิวได้เปรียบอย่างไร? หรือการเข้าสุหนัตมีประโยชน์พิเศษอย่างไร?
มีสิ มีประโยชน์มากทุกด้าน อย่างแรกซึ่งสำคัญที่สุดคือ
พระเจ้าทรงมอบความไว้วางใจให้พวกเขารักษาพระดำรัสทั้งสิ้นของพระองค์

โรม 3:3-4
หากบางคนไม่เชื่อพระองค์ ที่เขาไม่เชื่อจะเป็นเหตุให้พระองค์ทรงล้มเลิกพระสัญญาอย่างนั้นหรือ? ไม่เลย พระเจ้าจะทรงซื่อตรงต่อไป แม้ว่าทุกคนกล่าวคำเท็จ ตามที่มีเขียนไว้ว่า “พระองค์จะได้รับการพิสูจน์ว่า  ทรงเป็นฝ่ายถูกเมื่อพระองค์ตรัสและพระองค์ทรงชนะ เมื่อพระองค์ทรงพิพากษา” (สดุดี 51:4)

โรม 3:5-6
บางคนอาจพูดว่า “ในเมื่อความบาปชั่วของเรามีประโยชน์ตรงที่ช่วยให้คนได้เห็นว่า พระเจ้าทรงเที่ยงธรรมขนาดไหน(ตามความเห็นแบบมนุษย์) มันไม่ยุติธรรมที่พระเจ้าจะทรงลงโทษเรา ไม่ใช่หรือ?  ไม่เลย.. หากพระเจ้าไม่ทรงยุติธรรมเต็มร้อย  พระองค์จะทรงพิพากษาโทษโลกได้อย่างไร?


โรม 3:7-8
คนหนึ่งอาจกล่าวว่า “เมื่อข้าโกหกทำให้เห็นพระสิริของพระเจ้ามากขึ้น เพราะการโกหกของข้าทำให้เห็นความจริงของพระเจ้า  แล้วทำไมข้าจึงถูกตัดสินว่าทำบาปเล่า? ทำไมไม่กล่าวว่า “มาทำความชั่วกัน ความดีจะได้เกิดขึ้น”? ตามที่มีบางคนใส่ร้ายว่าเราพูดอย่างนั้น  คนพวกนั้นสมควรที่จะได้รับการลงโทษ 

โรม 3:9
จะว่าอย่างไรดี? เราซึ่งเป็นยิว ดีกว่าคนอื่น
อย่างนั้นหรือ? ไม่เลย!
เราได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ทั้งคนยิวและคนต่างชาติ
ต่างอยู่ใต้อำนาจบาปกันทั้งนั้น

โรม 3:10-12
ดังที่มีพระคัมภีร์เขียนว่า ไม่มีสักคนที่มีความเที่ยงธรรม ไม่มีแม้แต่คนเดียว ไม่มีใครที่เข้าใจ ไม่มีใครที่แสวงหาพระเจ้า ทุกคนหันหลังกลับ ต่างกลายเป็นคนไร้ค่าไม่มีใครที่ทำความดี ไม่มีแม้แต่คนเดียว (สดุดี 14:1-3, 53:1-4)

โรม 3:13-14
ลำคอของพวกเขาเป็นเหมือนหลุมฝังศพที่เปิดอยู่ 
พวกเขาใช้ลิ้นของตนกล่าวคำหลอกลวง
คำของพวกเขาเป็นเหมือนพิษงูร้าย” ปากของพวกเขา
เต็มด้วยการสาปแช่งและความเกลียดชัง(สดุดี 10:7)

โรม 3:15-18
เท้าของพวกเขาพร้อมที่จะทำให้เกิดการนองเลือด เขาก่อให้เกิดหายนะและความทุกข์เข็ญตามทางที่เขาผ่านไป
พวกเขาไม่รู้จักชีวิตที่มีสันติสุข(อิสยาห์ 59:7-8)
ไม่มีความยำเกรงพระเจ้าในสายตาของพวกเขา(สดุดี 36:1)

โรม 3:19-20
เรารู้อยู่ว่า คำสั่งในบทบัญญัติก็มีเพื่อใช้กับคนที่อยู่ใต้บทบัญญัติ เพื่อหยุดคำแก้ตัว และนำทั้งโลกมาอยู่ใต้การพิพากษาของพระเจ้า  เพราะไม่มีใครจะถูกประกาศว่า เป็นคนถูกต้องกับพระเจ้าได้โดยการทำตามบทบัญญัติ เพราะบทบัญญัตินั้นมีเพื่อให้เราตระหนักรู้ว่า ตนทำบาป

โรม 3:21-22
แต่บัดนี้ วิธีการของพระเจ้าที่จะทำให้มนุษย์ได้ถูกต้องกับพระองค์ก็ปรากฏแก่เราแล้ว เป็นวิธีที่ทั้งบทบัญญัติ ผู้เผยพระดำรัสเป็นพยาน พระเจ้าทรงทำให้มนุษย์มีความถูกต้องกับพระเจ้าได้ก็โดยที่พวกเขาเข้ามาเชื่อในพระเยซูคริสต์ นี่เป็นความจริงสำหรับทุกคนที่เชื่อพระคริสต์ เพราะทุกคนไม่ได้แตกต่างกัน      

โรม 3:23-24
เพราะทุกคนทำบาป  และไม่อาจเข้าถึงพระสิริของพระเจ้าได้ (เพราะชีวิตต่ำกว่าระดับมาตรฐานอันทรงเกียรติของพระเจ้า)
เราทุกคนได้รับการประกาศว่า เป็นคนที่ถูกต้องกับพระเจ้า โดยพระคุณของพระองค์ซึ่งประทานให้เราโดย
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้ไถ่บาปนั้น

โรม 3:25
พระเจ้าได้ส่งพระองค์มาสิ้นพระชนม์ เป็นเครื่องบูชาเพื่อชดใช้(ลบ)บาปของมนุษย์ เพื่อมนุษย์จะตอบรับด้วยความเชื่อในพระโลหิตที่ทรงทำเช่นนั้นเพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงถูกต้อง เพราะในอดีต ทรงอดกลั้นพระทัยไม่ลงโทษมนุษย์ที่ทำบาป 

โรม 3:26
ปัจจุบัน พระเจ้าประทานพระเยซูเพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงทำสิ่งที่ชอบธรรม (ถูกต้อง)​พระเจ้าทรงทำเช่นนี้ เพื่อว่าพระองค์จะทรงพิพากษาอย่างยุติธรรม  และพระองค์ทรงถือว่าคนใดที่มีความเชื่อในพระเยซูคริสต์เป็นคนที่ถูกต้องกับพระองค์ (พ้นผิดแล้ว/เป็นคนชอบธรรม)

โรม 3:27
แล้วเราจะเอาอะไรมาอวดเรื่องตัวเราเอง?
ไม่มีเลย  ทำไมเราจึงอวดไม่ได้เล่า?
เป็นเพราะหลักของความเชื่อทำให้เราต้องหยุดการโอ้อวด 
ต่างจากหลักการประพฤตตามบทบัญญัติ
ที่ทำให้เอามาโอ้อวดได้

โรม 3:28-29
เราสรุปได้ว่า คน ๆ หนึ่งจะถูกต้องกับพระเจ้าได้ (พ้นผิดได้) ก็โดยความเชื่อ นอกเหนือไปจากการเชื่อฟังบทบัญญัติ
พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของยิวเท่านั้นหรือ? พระองค์ไม่ทรงเป็นพระเจ้าของคนต่างชาติหรือ?  ใช่สิ พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของคนต่างชาติด้วย

โรม 3:30
เพราะว่า มีพระเจ้าเพียงองค์เดียว พระองค์ทรงทำให้ยิว(คนเข้าสุหนัต)ถูกต้องกับพระองค์ด้วยความเชื่อ และทรงทำให้คนต่างชาติ (คนไม่เข้าสุหนัต)ถูกต้องกับพระองคก็โดยความเชื่อเช่นกัน

โรม 3:31
ถ้าอย่างนั้น เท่ากับเราล้มเลิกบทบัญญัติด้วยการใช้ความเชื่ออย่างนั้นหรือ? เปล่าเลย..จะไม่เป็นเช่นนั้น..
ความเชื่อต่างหากที่ช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างที่บทบัญญัติต้องการ 

อธิบายเพิ่มเติม

โรม 3:1-2
การรักษาพระดำรัสของพระเจ้าไว้ มีความหมายหลายอย่าง เป็นทั้งการส่งต่อเรื่องราวของพระเจ้าด้วยการเล่าด้วยปาก หรือเก็บรักษาสิ่งที่เขียนบันทึกไว้เป็นอย่างดี และยิวก็ได้ทำหน้าที่นี้อย่างสมบูรณ์แบบ พวกเขาเก็บรักษา คัดลอกพระดำรัสของพระเจ้าต่อเนื่องกันมาจากรุ่นสู่รุ่น รักษาให้ข้อความนั้นถูกต้องตามต้นฉบับ พวกเขาเอาจริงจังกับเรื่องนี้ และสามารถเก็บรักษาไว้แม้บ้านเมืองต้องเผชิญกับสงคราม หลายครั้ง เราเห็นได้ชัดในหนังสือม้วนแห่งทะเลตาย

โรม 3:3-4
พระเจ้าตรัสว่า พระองค์ทรงสร้างโลกมา. มนุษย์อ้างว่าไม่ใช่ โลกเกิดเอง  พระองค์ตรัสว่า ทรงสร้างมนุษย์เป็นชายและหญิง มนุษย์อ้างว่า ในโลกมีหลายเพศ เราจะเห็นว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุด  อย่างไร ความจริงก็คือความจริง ยิ่งโลกดำเนินไปนานเท่าไร เรายิ่งพิสูจน์ได้มากขึ้น ๆ ว่า พระเจ้าทรงพระชนม์อยู่ ทรงเป็นพระผู้สร้าง และพระเยซูทรงเป็นจริง ดำเนินในโลกเมื่อสองพันปีก่อน ทรงทำการอัศจรรย์ในวันนี้เหมือนที่ทรงทำในอดีต

โรม 3:5-6
พระคำข้อนี้ ถอดความให้เป็นภาษาที่ง่ายขึ้นอีก นั่นคือ  มีบางคนเห็นว่ายิ่งคนเราบาปเท่าไร พระเจ้าก็ยิ่งดูทรงธรรมมากขึ้นเพียงนั้น นั่นคือยิ่งคนทำชั่ว
พระเจ้ายิ่งดูดีมากเพียงนั้น พวกเขาจึงให้เหตุผลโง่ ๆว่า ถ้ามีประโยชน์อย่างนั้น  พระเจ้าก็ไม่ควรจะลงโทษคน เพราะไม่ยุติธรรม แต่ท่านเปาโลไม่เห็น
ด้วย ท่านมองว่า นี่เป็นคำถามโง่ ๆ ความยุติธรรมของพระเจ้านั้นพระองค์เป็นผู้วางมาตรฐาน  ไม่มีใครจะวางมาตรฐานใหม่ได้

โรม 3:7-8
คำพูดข้างบนนี้เป็นเรื่องเดียวกับสองข้อที่ผ่านมาอ่านครั้งแรกอาจเข้าใจว่า ข้อความที่ฝ่ายตรงข้ามท่านเปาโลพูดนั้นถูกต้อง แต่ที่จริงแล้ว พวกเขาแค่ต้องการเสนอว่า การทำบาปของเขาดีแล้วเพราะทำให้พระเจ้าทรงดูมีศักดิ์ศรีขึ้น (ซึ่งไม่เกี่ยวเลย) ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ควรได้รับการพิพากษาโทษ ท่านเปาโลไม่ได้พยายามแก้ต่างคำที่พวกเขากล่าวมาเพียงแจ้งว่า คนเหล่านั้นควรรับโทษ 

โรม 3:9
คำถามคือ ที่เราเป็นยิวนั้น ดีกว่าคนต่างชาติอื่น ๆอย่างนั้นหรือ?  มีอะไรที่เราสามารถใช้เป็นเครื่องมือต่อรองให้เราไม่ได้รับโทษบาปได้บ้าง ปรากฏว่า แม้จะเป็นยิวที่พระเจ้าทรงเลือกให้เป็นชนชาติที่จะประกาศพระนาม เป็นชาติที่มีความรับผิดชอบพิเศษ แต่ยิวทุกคนก็ตกอยู่ใต้อำนาจบาปเหมือนกับชาวต่างชาติ  ความเข้าใจผิดในหมู่คนยิวก็คือเขาเป็นคนที่พระเจ้าทรงรักเป็นพิเศษ จึงดีกว่าคนอื่น เป็นยิวแล้ว ก็พ้นบาปได้เลย  

โรม 3:10-12
แม้ยิวมีสิทธิพิเศษเป็นชนชาติที่พระเจ้าทรงเลือกแต่พวกเขาก็ยังอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่ได้ถูกต้องกับพระเจ้าตามที่ทรงประสงค์  ท่านเปาโลได้นำเอาหนังสือสดุดีมาย้ำเตือนให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่า เรื่องนี้ เขารู้กันมาตั้งแต่สมัยดาวิดแล้ว ข้อ 10-12 ได้บอกให้เห็นถึงความบกพร่องของมนุษย์ ไม่สามารถเป็นคนที่ถูกต้องกับพระเจ้าได้เลย พวกเขาไม่เข้าใจ ไม่ตามหา ไม่ทำสิ่งที่ดี ถึงแม้เรามีคนที่ทำดี ดีมาก ๆ แต่แล้วพวกเขาก็ยังไม่ถึงมาตรฐานพระเจ้าอยู่ดี 

โรม 3:13-14
ท่านเปาโลทำให้เราเห็นชัดเจนว่า ความบาปที่เกิดขึ้นจากตัวมนุษย์นั้น มันเกิดจากอวัยวะที่บนหน้าตาของเรานี่เอง การระมัดระวังไม่ให้มีหลุมศพแห่งความตายอยู่ในตัวเราเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ ยิ่งกว่านั้น ต้องระวังคำพูดที่สามารถทำลาย.. ซึ่งโลกทุกวันนี้ ใช้คำพูดทำลายได้ง่ายกว่าใช้อาวุธเสียอีกทั้งจิตใจ ความคิด ลำคอ ลิ้น ปากเต็มไปด้วยบาปและการดื้อด้านต่อพระเจ้า ที่ร้ายคือเวลาพูดออกไปนึกว่าตัวเองเก่ง ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น!

โรม 3:15-18
คนที่ไม่มีพระเจ้ามีความคิดว่า ชีวิตคนไม่มีค่าแต่อย่างใด จึงสามารถที่จะทำร้ายผู้อื่นได้อย่างไม่รู้สึกผิด เขาไม่ต้องเกรงกลัวผู้ที่มีอำนาจกว่าเขา เพราะเขาคิดว่า เขาใหญ่สุด ในโลกเราทุกวันนี้ แม้จะมีคนที่เกรงกลัวและไม่กล้าทำร้ายผู้อื่น แต่สงครามที่เรากำลังเผชิญในโลก ทำให้เราเห็นชัดเจนว่า มนุษย์กล้าฆ่า กล้าทำร้ายคนที่อ่อนแอกว่ายิ่งคนที่อ้างเอาพระมาเป็นเหตุผลของการทำร้ายนี่ยิ่งโหดเหี้ยมทารุณนัก

โรม 3:19-20
บทสรุปคำพิพากษาของพระเจ้านั้น พบว่าไม่มีใครสักคนในโลกที่เป็นคนบริสุทธิ์ ถูกต้องกับพระเจ้แบบไม่มีที่ติ กลับกลายเป็นว่า ทุกคนทั้งโลกต่างตระหนักดีว่า เขาแต่ละคนเป็นคนบาปที่ทำบาปทั้งนั้น  ไม่มีใครสักคนที่แก้ตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นคนยิวที่พระเจ้าทรงเลือก หรือคนต่างชาติที่พระเจ้าทรงเรียกมาให้เข้าในแผ่นดินของพระองค์ เรามักเข้าใจว่าบัญญัติมีให้เราทำตาม แต่ประโยชน์ของบัญญัติอีกอย่างคือ แจ้งให้เรารู้ว่า เราบาปอะไรบ้าง  

โรม 3:21-22
ก่อนหน้านี้ ท่านเปาโลกล่าวถึงการพิพากษาของพระเจ้า แล้วท่านก็มาพูดถึงวิธีการที่พระเจ้าทรงช่วยให้มนุษย์ไม่ต้องถูกพิพากษาลงโทษ เป็นวิธีที่ไม่ได้ใช้บทบัญญัติ ไม่ใช้การทำตามศีลหลาย ๆข้อ แต่พระเจ้าทรงทำให้มนุษย์ถูกต้องกับพระองค์เมื่อเขามาเชื่อในพระเยซูคริสต์  ในภาษาของพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ใช้คำว่า ทำให้มนุษย์เป็นคนชอบธรรม .. ซึ่งมีความหมายเดียวกับการเป็นคนที่ถูกต้องกับพระเจ้า 

โรม 3:23-24
เหตุใดเราจึงต้องการเป็นคนที่ถูกต้องกับพระเจ้า?อยู่ไปแบบเดิม ๆ ไม่ได้หรือ? ที่พระเจ้าทรงยื่นความเป็นอิสระจากบาปให้เรา ด้วยวิธีของพระองค์
คือด้วยชีวิตของพระเยซู  เราอาจคิดว่า เราเป็นคนดีเมื่อเทียบกับกับฆาตกร หรือคนที่ทำลายล้างคนเป็นจำนวนมาก เปล่าเลย ดูคนที่สอบตกสิ ไม่ว่าจะ
ตกด้วยสองคะแนนหรือสิบคะแนน เท่ากับเขาสอบตกอยู่ดี เราเองเป็นคนบาปที่ไม่อาจไปเทียบกับพระสิริของพระเจ้าเลย เราจึงต้องการพระเยซู!

โรม 3:25
พระเยซูทรงถูกพระเจ้าพิพากษาลงโทษแทนที่ตัวเราทุกคน  เราสมควรที่ถูกลงโทษด้วยความตายที่ทำให้แยกจากพระเจ้านิรันดร์  นี่แสดงว่า พระเจ้าพระบิดาทรงเที่ยงธรรม ทรงถูกต้องเพราะพระองค์ผู้บริสุทธิ์ ไม่อาจประณีประนอมกับความบาป หรือปล่อยให้บาปลอยนวลไปได้  ในเวลาเดียวกับที่ทรงเว้นโทษคนที่สมควรรับโทษโดยให้พระบุตรพระเจ้ามาทรงรับโทษนั้นแทนโทษบาปที่คนนั้นต้องรับ  

โรม 3:26
นี่คือเหตุผลของการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ถ้าเราอ่านเฉพาะพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม เราอาจไม่เข้าใจชัดเจนถึงการสิ้นพระชนม์ของพระบุตรพระเจ้า เพราะดูเหมือนเป็นความพ่ายแพ้ของพระเจ้าต่อเหล่าฟาริสี ธรรมาจารย์ และโรม แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ .. พระเยซูทรงแสดงว่า พระเจ้าทรงพิพากษาอย่างยุติธรรมแล้ว
ทรงลงโทษบาปของมนุษย์แล้วผ่านพระองค์ 

โรม 3:27
ตรงนี้ ท่านเปาโลกำลังกล่าวถึงยิวทั้งหลายที่ชอบอวดอ้างความดีของตน ความสามารถในการรักษาบทบัญญัติของโมเสส  พวกเขาอวดว่า เป็นคนใกล้ชิดกับพระเจ้า (โรม 2:17) อวดว่าตนเองไม่ล่วงประเวณี ไม่กราบไหว้รูปเคารพไม่ละเมิดบทบัญญัติ ฯลฯ  และคนกลุ่มฟาริสีธรรมาจารย์เองที่เป็นศัตรูของพระเยซู  โดยเอาการที่พระองค์ทรงละเมิดบัญญัติสะบาโต (ตามการตีความของพวกเขา)

โรม 3:28-29
เวลาเราอ่านหนังสือโรมบทที่สามตอนนี้ เราอาจมองเห็นคำพูดที่มีความหมายอันเดียวกัน แต่พูดด้วยมุมมองต่าง ๆ  เป็นความชัดเจนในเรื่องของคนยิว คนต่างชาติ  สุหนัต ไม่เข้าสุหนัต เรื่องบทบัญญัติ กับความเชื่อ  ส่วนใหญ่พระคัมภีร์จะใช้คำว่า เราจะเป็นคนชอบธรรมได้โดยความเชื่อ นั้นมีความหมายเดียวกับว่า เราจะเป็นคนที่พ้นผิดเป็นคนที่พระเจ้าไม่ทรงถือโทษแล้ว  

โรม 3:30
คนทั้งโลก ทุกคน ไม่เว้นใครเลย จะถูกต้องกับพระเจ้าได้ จะได้รับการถือว่าเป็นคนเที่ยงธรรมพ้นผิดได้ ก็โดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์ นี่ทำให้เราเห็นว่า มนุษย์เท่าเทียมกัน ทั้งเป็นเพราะพระเจ้าทรงเป็นพระผู้สร้างพวกเขามา และหนทางที่จะไปหาพระบิดา พระเจ้าองค์นั้น ก็เป็นหนทางอันเดียวกัน คือ ต้องเชื่อในองค์พระเยซูคริสต์!ไม่มีใครได้อภิสิทธิ์เหนือใครเลย นี่เท่ากับหักหน้ายิวอย่างรุนแรง

โรม 3:31
Nelson bible study กล่าวว่าคำว่าบทบัญญัติมีความหมายสามอย่าง 1.บทบัญญัติจากโมเสส 2.พระคัมภีร์เดิมทั้งหมดที่ยิวใช้ 3.บทบัญญัติทางศีลธรรมโดยทั่วไป ถ้าเป็นบัญญัติโมเสส พระเยซูทรงทำให้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ถ้าเป็นพระคัมภีร์เดิมเท่ากับการมาของพระเยซูทำให้คำพยากรณ์ทั้งสิ้นสำเร็จ การยกโทษบาปจากพระเจ้ามาถึงมนุษย์แล้วถ้าเป็นข้อสามมนุษย์ใช้ชีวิตอย่างถูกต้องได้โดยฤทธิ์แห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์! 

พระคำเชื่อมโยง

2* เฉลยธรรมบัญญัติ 4:5-8
3* ฮีบรู 4:2; 2 ทิโมธี 2:13
4* โยบ 40:8 ; ยอห์น 3:33; สดุดี  62:9; 51:4
5* กาลาเทีย 3:15
6* ปฐมกาล 18:25
8* โรม 5:20

9* กาลาเทีย 3:22
10* สดุดี 14:1-3; 53:1-3; ปัญญาจารย์ 7:20
13* สดุดี 5:9; 140:3
14* สดุดี 10:7
15* สุภาษิต 1:16; อิสยาห์ 59:7-8
18* สดุดี 36:1

19* ยอห์น 10:34; โยบ 5:16
20* กาลาเทีย 2:16
21* กิจการ 15:11; ยอห์น 5:46; 1 เปโตร 1:10
22* โคโลสี 3:11
23* กาลาเทีย 3:22
24* เอเฟซัส 2:8; ฮีบรู 9:12;15 

โฮเชยา 1 การแต่งงานที่น่าพิศวง

พระดำรัสเรื่องการพิพากษาและการรื้อฟื้นชุดแรก
1 พระดำรัสของพระยาห์เวห์มายังโฮเชยา ลูกชายของเบเออรี ในรัชกาลอุสซียาห์ โยธาม อาหัส และเฮเซคียาห์ แห่งยูดาห์ และในรัชกาลกษัตริย์เยโรโบอัม โอรสกษัตริย์เยโฮอาช (หรือโยอาช)แห่งอิสราเอล  (793-752 BC.)

สัญญลักษณ์ของคำตัดสินที่จะมาถึง
2  เมื่อองค์พระยาห์เวห์เริ่มตรัสกับโฮเชยานั้น  พระองค์ตรัสดังนี้ “จงไปรับหญิงโสเภณีมาเป็นภรรยา  และมีลูกจากความไม่ซื่อสัตย์ของนาง เพราะแผ่นดินนี้กระทำความผิดประเวณีอย่างโจ่งแจ้งโดยการละทิ้งองค์พระยาห์เวห์”
3 ดังนั้นเขาจึงไปรับโกเมอร์ ลูกสาวของดิบลาอิมมาเป็นภรรยาและเธอได้ตั้งครรภ์ คลอดลูกให้เขาคนหนึ่ง 
4  แล้วพระยาห์เวห์ตรัสกับเขาว่า
“จงเรียกชื่อเด็กชายคนนี้ว่า ยิสเรเอล เพราะอีกไม่นานนัก เราจะลงโทษวงศ์วานเยฮูที่ได้สังหารผู้คนครั้งใหญ่ที่ยิสเรเอล และเราจะทำให้อาณาจักรของวงศ์วานอิสราเอลสิ้นสุดลง
5 ในวันนั้น เราจะหักธนูของอิสราเอลในหุบเขายิสเรเอล”

พระดำรัสเรื่องการพิพากษาและการรื้อฟื้นชุดแรก
ช่วงนี้ของโฮเชยา ถ้าดูในประวัติศาสตร์โลกก็คือ กรีซ เริ่มเรืองอำนาจ เพิ่งตั้งโรมขึ้นมา ปี 753 BC อัสซีเรียเองก็มีอำนาจมากในแถบนั้น
เบื้องหลังของโฮเชยา อยู่ที่ 2 พงศาวดาร 26-32 , 2 พงศ์กษัตริย์  15-20 (บรรดากษัตริย์ของยูดาห์)โฮเชยาอยู่ทางเหนือ แต่กลับพูดถึงกษัตริย์ทางใต้หลายองค์  พูดถึงกษัตริย์ทางเหนือเพียงหนึ่ง เพราะกษัตริย์องค์ต่อ ๆ มา ถูกลอบสังหาร…  

สัญญลักษณ์ของคำตัดสินที่จะมาถึง
อิสราเอล = โกเมอร์  
1:2-5
สิ่งแรกที่พระเจ้าทรงบัญชาโฮเชยาคือ ไปรับหญิงขายตัว มาเป็นภรรยา ดูเหมือนว่า โกเมอร์เป็นผู้หญิงที่ขายบริการในวิหารเทวรูปเพื่อการบูชาเทพเจ้าต่าง ๆ และพระองค์ทรง เปรียบเทียบผู้หญิงที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อสามี  กับอิสราเอล พระองค์ตรัสชัดเจนว่า แผ่นดินได้ทำผิดอย่างเปิดเผย พวกเขาละทิ้งพระเจ้าไป เรื่องของโฮเชยาจะสะท้อนให้เห็นว่า พระเจ้าทรง ทำพันธสัญญากับอิสราเอล เริ่มต้นดี แต่อีกฝ่ายกลับทรยศ  (เอเสเคียล 16 คนเยรูซาเล็มไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าเหมือนกับคนอิสราเอล)
แล้วโฮเชยา (ชื่อความหมายว่า ช่วยกู้ให้รอด มาจากรากศัพท์ว่า ยาชาห์ โยชูวา) ก็มีลูกคนแรกเป็นชายเป็นลูกของโฮเชยา ชื่อ ยิสราเอล แปลว่า พระเจ้าทรงหว่าน   ขณะเดียวกันก็เป็นชื่อเดียวกับเมืองในอิสราเอลทางเหนือ  
เด็กคนนี้เกิดมาเพื่อบอกให้รู้ว่า พระเจ้าจะทรงลงโทษอิสราเอลที่เยฮูทำลายอาหับ และเยเซเบล แต่เขาทำโหดร้ายเกินเหตุ !
( 2พงศ์กษัตริย์ บทที่ 9-10)

สัญลักษณ์ของลูกสองคนหลัง
6 แล้วโกเมอร์ก็ตั้งครรภ์อีกครั้งคลอดลูกสาว และพระยาห์ตรัสกับเขาว่า “จงเรียกเธอว่า โลรุหะมาห์ (แปลว่า ไม่เมตตา) เพราะเราจะไม่เมตตาต่อวงศ์วานอิสราเอลอีกต่อไป เราจะไม่ยกโทษให้พวกเขาอีกเลย
7 แต่เราจะสงสารวงศ์วานยูดาห์ และช่วยพวกเขาโดยไม่ใช้ธนู ดาบ หรือสงคราม หรือโดยม้าและพลม้า

8 หลังจากที่โกเมอร์หย่านมลูกโลรุหะมาห์แล้ว
เธอก็ตั้งครรภ์ และมีลูกชายอีกคน
9 แล้วพระยาห์เวห์ตรัสว่า
จงเรียกเขาว่า โลอัมมี เพราะเจ้าไม่ใช่ประชากรของเรา
และเราไม่เป็นพระเจ้าของเจ้า(หรือ เราไม่เป็นของเจ้า)

สัญลักษณ์ของลูกสองคนหลัง
1:6-9 (อิสราเอลเป็นประชาชนทางเหนือ ยูดาห์เป็นประชาชนทางใต้)
คนที่สองเป็นลูกสาว ชื่อ โลรุหะมาห์ = ไม่เมตตา เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า พระเจ้าจะไม่ทรงเมตตาอิสราเอล แลัวพระเจ้าตรัสว่า จะเมตตายูดาห์

พระเจ้าจะทรงช่วยยูดาห์ อาณาจักรทางใต้ในอนาคต นั่นคือในช่วงปี 701 ก่อนคริสต์ศักราชวันนั้นพระเจ้าทรงทำลายกองทัพอัสซีเรียนอกเมืองอย่างมหัศจรรย์ เป็นจริงตามที่ทรงบอกผ่านโฮเชยา (อ่าน พงศ์กษัตริย์ 19:32-36, อิสยาห์ 37) เยรูซาเล็มเป็นนครใหญ่เดียวที่ไม่ตกเป็นของอัสซีเรียในช่วงเวลานั้น

คนที่สามเป็นลูกชาย ชื่อ โลอัมมี = ไม่ใช่ประชากรของเรา    ทำให้รู้ว่า พระเจ้าจะทรงจบพันธสัญญาที่มีกับพวกเขา ดู เลวีนิติ 26:12 ที่ทรงสัญญากับเขาว่า เราจะดำเนินในหมู่พวกเจ้า และเจ้าจะเป็นประชากรของเรา แต่ชื่อของโลอัมมีเป็นคำตรงข้ามกับพระสัญญานี้ และข้อต่อ ๆ มาจะเห็นว่า หากพวกเขาไม่ฟังพระเจ้าอะไรร้าย ๆ จะเกิดขึ้นบ้าง (เลวีนิติ 26:14-39) 
ชื่อของลูกทั้งสามพระเจ้าทรงตั้งให้ ต่างสื่อความหมายชัดเจนเพื่อเตือนทุกคนที่ได้ยินชื่อเหล่านี้ให้นึกถึงความสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้นระหว่างพระยาห์เวห์และอิสราเอล แต่ละชื่อบ่งบอกให้เตรียมตัวรับการพิพากษา

พระสัญญาว่าจะรื้อฟื้น……..
10 ถึงอย่างนั้น จำนวนของคนอิสราเอลก็มหาศาลราวกับเม็ดทรายชายทะเล ซึ่งไม่อาจจะตวงหรือนับไม่ได้ และในที่ซึ่งพวกเขาถูกกล่าวถึงว่า  ‘เจ้าไม่ใช่ประชากรของเรา’ นั้น พวกเขาจะถูกเรียกว่า
‘เหล่าบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์’ (โรม 9:26)
11 แล้วคนยูดาห์ และคนอิสราเอลจะรวมตัวกันอีก พวกเขาจะแต่งตั้งผู้นำคนหนึ่ง และจะขึ้นไปจากแผ่นดิน
เพราะวันของยิสเรเอลจะเป็นวันที่ยิ่งใหญ่ 
!”

พระสัญญาว่าจะรื้อฟื้น……..
1:10-11
แต่พระเจ้าทรงเมตตาล้นเหลือ จะไม่ทรงปฏิเสธพวกเขาตลอดไป ความหวังใจกลับมา ดูว่าขณะที่ทรงลงโทษ แต่ก็ทรงให้เห็นสิ่งดีที่อยู่ข้างหน้า ซึ่งเกิดขึ้นได้ก็เพราะพระเจ้าเท่านั้น ไม่ใช่เกิดจากมนุษย์ พระองค์เคยบอกกับอับราฮัมอย่างไร จะทรงซื่อตรงต่อพระสัญญานั้น (ปฐมกาล 22:17; 32:12) 
ข้อสิบเป็นคำพยากรณ์ถึงอนาคต ใกล้ๆ กับยุคของเราปัจจุบัน
พระเจ้าทรงให้เขาเห็นว่า พระองค์ทรงปรารถนาจะให้พวกเขากลับเข้ามาเป็นคนในครอบครัวของพระองค์ เป็นบุตรของพระองค์ ผู้เป็นพระเจ้าที่ทรงพระชนม์อยู่ ในวันนั้น อิสราเอลทั้งหลายจะได้เห็นว่า พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวที่ทรงพระชนม์อยู่

พระเจ้าจะทรงรักษาคนของพระองค์ไว้และทำให้พวกเขากลายเป็นชนชาติใหญ่โต จะมีการรวมระหว่างอาณาจักรเหนือและใต้ จะมีกษัตริย์องค์เดียวไม่เป็นสองอีกต่อไป ผู้นำท่านนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากองค์พระเยซูคริสต์! ที่ว่าวันของยิสเรเอลจะเป็นวันที่ยิ่งใหญ่ เพราะที่ยิสราเอล พวกเขาเคยชนะมาแล้วสมัยผู้วินิจฉัย (ผู้วินิจฉัย 7)และในอนาคตจะชนะเช่นกัน (อิสยาห์ 9:4-7; 41:8-16)

พระคำเชื่อมโยง

1* อาโมส 1:1; 2 พงศ์ศาวดาร บทที่ 27, 28, 29:1-32:33; 2 พงศ์กษัตริย์ 13:13; 14:23-29
2* โฮเชยา 3:1; เยเรมีย์ 2:13
4* 2 พงศ์กษัตริย์ 10:11; 15:8-10; 17:6, 23; 18:11
5* 2 พงศ์กษัตริย์ 15:29

6* 2 พงศ์กษัตริย์ 17:6
7* 2 พงศ์กษัตริย์ 19:29-35; เศคาริยาห์ 4:6
10* ปฐมกาล  22:17; 32:12; 1 เปโตร 2:10; โรม 9:26; ยอห์น 1:12
11* อิสยาห์ 11:11-13

หมายเหตุเพิ่มเติม
คำว่า ยิสเรเอล คำฮีบรูว่า יִזְרְעֵאל ยิสเรเอล คำนี้แปลว่า พระเจ้าทรงหว่าน หรือพระเจ้าทรงให้กระจายไป ใช้ทั้งกับบุคคลและสถานที่ เป็นชื่อลูกคนแรกของโฮเชยาและโกเมอร์ เป็นสัญลักษณ์ ถึงการลงโทษของพระเจ้าที่จะทรงกระจายเขาให้ไปเป็นเชลยในเวลาต่อมา

หุบเขายิสเรเอลนั้น คือแผ่นดินอุดมสมบูรณ์ทางเหนือของอิสราเอล เป็นที่ ๆ ปลูกพืชได้ดีและเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ (https://biblehub.com/hebrew/3157.htm) แถบนี้เกิดสงครามบ่อย ๆ ในอิสราเอล เนื่องจากใกล้กับเส้นทางขนส่งสินค้าที่ผ่านไปมา

ส่วนเมืองยิสเรเอลเป็นเมืองของกษัตริย์อาหับกับราชินีเยเซเบล ซึ่งเป็นที่ ๆ ต่อต้านพระเจ้า และผู้เผยพระดำรัสเอลียาห์ (เยฮูได้รับคำสั่งจากเอลีชาให้จัดการกับกษัตริย์อาหับและพระนางเยเซเบล แต่เยฮูได้ทำมากเกินเหตุ อ่าน 1 พงศ์กษัตริย์  21:17-24; 2 พงศ์กษัตริย์ 1 9:7; 10:30) 

ฮักกัย 2 คำเตือน พระสัญญา และแหวนตรา

ทรงเตือนให้เข้มแข็งกี่ครั้ง?
1 ในวันที่ยี่สิบเอ็ดเดือนที่เจ็ด
​​​พระยาห์เวห์ตรัสผ่านทางฮักกัยผู้เผยพระดำรัสว่า
2 “บัดนี้ จงกล่าวแก่

เศรุบบาเบล ผู้ว่าราชการของยูดาห์ ลูกชายเชอัลทิเอล
กล่าวแก่ โยชูวา ลูกชาย เยโฮซาดักมหาปุโรหิต
กล่าวแก่ประชากรที่หลงเหลือว่า
3 มีใครในพวกเจ้าที่ได้เห็นพระนิเวศตอนที่มีความสง่าตระการ? แล้วตอนนี้เจ้าเห็นเป็นอย่างไรเล่า?
เหมือนกับว่าเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายอะไรกับเจ้าใช่ไหม?
4 ถึงอย่างนั้น ขอให้เจ้าเข้มแข็งเถิด เศรุบบาเบลเอ๋ย”
พระยาห์เวห์ทรงประกาศดังนี้
จงเข้มแข็ง โยชูวา ลูกชายเยโฮซาดักมหาปุโรหิต
จงเข้มแข็งเถิด ประชากรแห่งแผ่นดิน”
พระยาห์เวห์องค์จอมทัพทรงประกาศ
5 “นี่เป็นไปตามพันธสัญญาที่เราทำกับเจ้า
เมื่อเจ้าออกมาจากอียิปต์
และวิญญาณของเราประทับอยู่ท่ามกลางพวกเจ้า
อย่ากลัวเลย”


ฮักกัย 2:1-5 วันที่ยี่สิบเอ็ดเดือนที่เจ็ด คือ 17 ตุลาคม ปี 520 ก่อนคริสตศักราช  เป็นวันสุดท้าย(วันที่เจ็ด)ของเทศกาลอยู่เพิง ช่วงเทศกาลนี้ คนยิวจะอยู่ในเพิง หรือพลับพลาเป็นการชั่วคราว เพื่อระลึกถึงช่วงที่พวกเขาต้องอยู่ในเต็นท์ ในเวลาที่เดินทางออกจากอียิปต์   ที่น่าสนใจคือ เป็นวันเดียวกับที่โซโลมอนสร้างพระวิหารเสร็จเมื่อ 440 ปีก่อน (ปี 960 ก่อนคศ. ดู  พงศ์กษัตริย์ 6:38; 8:2)
 
พระเจ้าทรงให้ฮักกัยสื่อพระดำรัสแก่ ทั้งเศรุบบาเบล ผู้ว่ายูดาห์  โยชูวา ปุโรหิต รวมทั้งประชากรในเวลานี้ ในวันนี้เลย  ต้องย้อนไปถึงสมัยที่โซโลมอนสร้างพระวิหาร เป็นวิหารที่สวยงามตระการ พรั่งพร้อมด้วยทองมหาศาล  แต่วิหารที่เขาสร้างหลังจากกลับมาจากบาบิโลนนั้นดูด้อยค่าในสายตาของหลาย ๆ คน..  แต่ดูเหมือนพระเจ้าไม่ทรงสนพระทัยว่าพระวิหารจะสวยงามดังเดิม พระองค์ทรงให้กำลังใจ

พระองค์ตรัสกับทั้งเศรุบบาเบล โยชูวา และประชาชนเป็นคำเดียวกัน เท่ากับซ้ำสามครั้ง ว่า จงเข้มแข็งเถิด   ทำไมพระเจ้าตรัสคำนี้??

โมเสสเองก็ได้รับคำนี้จากพระเจ้าเช่นกัน ในอพยพ 3:12 นั่นคือ เราจะอยู่กับเจ้า อย่ากลัว  พระเจ้าทรงทวนพระสัญญาที่ทรงทำไว้กับโมเสสให้พวกเขาได้ยิน ทรงย้ำเตือนการสถิตอยู่ด้วย  พระเจ้าทรงประสงค์ให้คนอิสราเอลได้นมัสการพระองค์ในแผ่นดินนี้ ดังนั้น เมื่อกลับจากการเป็นทาสในอียิปต์ และเมื่อกลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลน พวกเขายังต้องมีเป้าหมายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

นี่เป็นคำที่พระเจ้าตรัสกับเราด้วย! พวกเรากำลังสร้าง ตกแต่งพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระองค์ในชีวิตของเรา และเพื่อน ๆ ของเรา

ฟ้าและแผ่นดินสั่นสะเทือน 
6 เพราะพระยาห์เวห์องค์จอมทัพตรัสดังนี้
อีกครั้ง อีกไม่นาน
เราจะเขย่าฟ้าสวรรค์ และโลกนี้ รวมทั้งทะเลและแผ่นดิน
 7 เราจะเขย่าชาติต่าง ๆ เพื่อว่าสมบัติของชาติต่าง ๆ นั้น
จะเข้ามา และเราจะทำให้พระนิเวศแห่งนี้
เต็มด้วยความสง่าตระการ”

พระยาห์เวห์องค์จอมทัพตรัสดังนั้น 
8 “แร่เงินและทองเป็นของเรา” พระยาห์เวห์ทรงประกาศ 
 9 “ความสง่าตระการของพระนิเวศในครั้งนี้จะงามยิ่งกว่าความสง่าตระการในครั้งแรก”
พระยาห์เวห์องค์จอมทัพได้ตรัส 
“เราจะให้ความสงบสุขเกิดขึ้นในที่แห่งนี้”
นี่เป็นการประกาศของพระยาห์เวห์องค์จอมทัพ


ฮักกัย 2:6-9
พระเจ้าจะทรงเข่าทั้งฟ้าสวรรค์ทั้งโลก ทั้งทะเล และแผ่นดิน
นี่เป็นการเขย่าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย เป็นการตรัสถึงวันของพระผู้เป็นเจ้า (มัทธิว 24:29) เป็นวันที่พระเจ้าทรงเตรียมสำหรับการที่ชาติต่าง ๆ จะได้เข้ามาอยู่ในการปกครองขององค์พระเยซูคริสต์ และตรงนี้แหละที่พระเกียรติของพระเจ้าจะระบือไปทั่ว
แร่ทั้งสิ้นในโลกเป็นของพระเจ้าและพระวิหารที่พวกเขาคิดว่า ไม่งดงามเท่าพระวิหารโซโลมอนนั้น จะเป็นพระวิหารที่งดงามที่สุด 

ดูกันตรง ๆ พระนิเวศใหม่ที่พวกเขาสร้างไม่ได้งดงามเท่าวิหารโซโลมอน แต่พระเจ้ากำลังตรัสว่า พระนิเวศนี้งามกว่า พระเจ้าทอดพระเนตรไม่เหมือนมนุษย์ มีอะไรที่พระองค์ทรงสื่อให้เราคิดต่อ?

ชีวิตที่สะอาดจะได้งานสะอาด
10 ในวันที่ยี่สิบสี่ เดือนเก้า ปีที่สองแห่งรัชกาลกษัตริย์ดาริอัส  พระดำรัสจากพระยาห์เวห์มายังฮักกัย ผู้เผยพระดำรัสว่า
11 พระยาห์เวห์องค์จอมทัพตรัสว่า จงไปถามปุโรหิตเรื่องพระบัญญัติ
12 หากชายคนหนึ่งมีเนื้อสัตว์จากของถวายมาติดที่รอยพับของเสื้อ และส่วนของเสื้อนั้นไปโดนขนมปัง แกงเนื้อ เหล้าองุ่น น้ำมัน หรืออาหารอื่น ๆ ของเหล่านั้นจะกลายมาเป็นของบริสุทธิ์หรือไม่? ” เหล่าปุโรหิตตอบว่า “ไม่ !”
13 แล้วฮักกัยจึงถามว่า “หากใครคนหนึ่งเป็นมลทินจากการแตะต้องศพ แล้วมาแตะต้องสิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมา  สิ่งนั้นจะเป็นมลทินหรือไม่?” เหล่าปุโรหิตตอบว่า “แน่นอนสิ่งนั้นจะเป็นมลทิน” 
14 แล้วฮักกัยจึงตอบว่า  “องค์พระยาห์เวห์ทรงประกาศดังนี้ ‘ประชากรที่นี่ และชาตินี้ก็เป็นอย่างนั้นในสายตาของเรา ไม่ว่าเขาลงมือทำอะไร ไม่ว่าเขาถวายสิ่งใด ทั้งสิ้นเป็นมลทิน


ฮักกัย 2:10-14 
วันที่ยี่สิบสี่ เดือนเก้า ปีที่สอง คือวันที่ 18 ธันวาคม ปี 520  ก่อนคริสตศักราช  เป็นวันที่พระยาห์เวห์ตรัสให้ฮักกัยไปตั้งคำถามกับปุโรหิตที่รู้เรื่องพระบัญญัติเป็นอย่างดี  โดยคำถามสองข้อนี้ จะเป็นสื่อ
ช่วยให้คนอิสราเอลได้รู้ว่า จะพิจารณาตนเองอย่างไร
ที่พระเจ้าทรงสั่งให้ไปถามปุโรหิต เรื่องพระบัญญัติ เพราะปุโรหิตมีหน้าที่ในการสอนพระบัญญัติให้กับประชาชน พวกเขาควรตอบได้
คำถามของฮักกัยคือ หากมีส่วนใด ๆ ของเนื้อสัตว์มาติดตามเสื้อผ้าของปุโรหิต จากนั้น เสื้อก็ไปโดนสิ่งต่าง ๆ เนื้อจะยังบริสุทธิ์ไหม… คำตอบคือ สิ่งต่าง ๆ จะเป็นมลทินไปหมด
อีกข้อหนึ่งคือ หากคนไปแตะต้องศพ สิ่งที่เขาแตะจะเป็นมลทินไหม คำตอบคือ ทุกอย่างเป็นมลทิลไปหมด
ดังนั้น หากพวกเขาจะทำงาน เขาต้องมีชีวิตที่บริสุทธิ์สะอาดด้วย
เราจะรับใช้พระเจ้าด้วยใจและมือที่สกปรกอยู่ไม่ได้ เพราะเราจะไม่ได้อะไรที่ดีจากงานนั้น

พระเจ้าทรงเตือนให้เขามีชีวิตที่บริสุทธิ์ในการทำงานของพระองค์



 

ใช้วิจารณญาณให้ดี
15  บัดนี้ นับแต่วันนี้เป็นต้นไป จงพิจารณาให้ดีก่อนที่จะวางก้อนหินซ้อนกันในพระนิเวศของพระยาห์เวห์”
16 ดูสิว่า เจ้าอยู่ในสภาพใด เมื่อใครคนหนึ่งมาตักกองข้าวโดยหวังว่าจะได้ยี่สิบถึง แต่แล้วกลับมีแค่สิบถัง เมื่อคนหนึ่งมายังบ่อเก็บเหล้าองุ่น ตวงได้แค่ยี่สิบถึง ทั้ง ๆ ที่ต้องการห้าสิบถัง 
 17 เราเฆี่ยนเจ้าไง ผลงานจากน้ำมือของเจ้า เราทำลายมันด้วยลมร้อน เชื้อรา และลูกเห็บ  แต่เจ้าก็ยังไม่หันมาหาเรา”  พระยาห์เวห์ทรงประกาศ
18 “จากวันนี้ไปจงพิจาณาให้ดี จากวันที่ยี่สิบสี่เดือนเก้า
จากวันที่วางรากฐานของพระนิเวศของพระยาห์เวห์
จงพิจารณาให้ละเอียด
19 ยังมีเมล็ดข้างในยุ้งฉางบ้างหรือไม่? องุ่น มะเดื่อ ทับทิม และต้นมะกอกยังไม่ได้ออกผลหรือ? 
แต่จากวันนี้ไปเราจะอวยพรเจ้า”


ฮักกัย 2:15-19
พระเจ้าทรงเตือนให้คนของพระองค์พิจารณาตนเอง
ก่อนที่จะเริ่มวางรากฐานพระนิเวศ …
คำเตือนของพระองค์นี้ เป็นเหมือนพระพรที่ซ่อนอยู่เพื่อให้คนของพระองค์ได้เปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี
มัทธิว เฮนรี่ เตือนเราว่า เหตุการณ์แบบนี้ก็เหมือนพวกเรา เมื่อเราได้ทำงานใดก็ตาม เราต้องระมัดระวังตัวเอง มิฉะนั้น เราอาจทำให้งานที่เราทำกลายเป็นงานไม่สะอาดด้วยความบาปของเราเอง
เมื่อเราเห็นผลงานของเราว่า มันไม่เป็นอย่างที่คาด สิ่งที่ต้องทำคือการสำรวจตัวเอง เมื่อเราเริ่มทำงานรับใช้เราอาจจะคาดพระพร คนที่มีปัญญาจะเข้าใจความรักของพระเจ้า
พระเจ้าจะทรงสาปแช่งงานของคนชั่วร้าย และทำให้พระพรของคนที่ไม่ระมัดระวังขาดหายไป แต่พระองค์จะทรงทำให้ถ้วยแห่งความทุกข์ยากของคนที่ตั้งใจรับใช้พระองค์ด้วยชีวิตที่ถูกต้องนั้นหวานชื่น

พระเจ้าทรงสัญญาจะอวยพระพร ทั้งที่พวกเขาเห็นความการทำลาย ความขาดแคลน พระองค์ทรงเห็นความตั้งใจของพวกเขาในการที่จะสร้างพระวิหารอีกครั้ง

พระสัญญาต่อเศรุบบาเบล
ที่จะทรงรื้อฟื้นอาณาจักรวงศ์วานดาวิด
20 ในวันที่ยี่สิบสี่ของเดือนนี้
พระดำรัสของพระยาห์เวห์มายังฮักกัย 
21 “จงกล่าวแก่เศรุบบาเบล ผู้ว่าราชการยูดาห์ ว่า
เราจะเขย่าฟ้าสวรรค์ และแผ่นดิน
 22 เราจะคว่ำบัลลังก์ทั้งหลาย และทำลายอำนาจของอาณาจักรชาวต่างชาติ เราจะคว่ำรถม้าศึก พลม้าทั้งหลาย ทั้งม้าศึกและผู้ขับขี่จะล้มลงโดยดาบของพี่น้องของเขาเอง
23ในวันนั้น เราจะรับเจ้า เศรุบบาเบลลูกชายของเชอัลทิเอลผู้รับใช้ของเรา” พระยาห์เวห์ทรงประกาศ “เราจะทำให้เจ้าเป็นดั่งแหวนตราของเรา เพราะเราได้เลือกเจ้าแล้ว พระยาห์เวห์องค์จอมทัพประกาศดังนั้น

น่าสนใจที่เศรุบบาเบล เป็นทั้งผู้รับใช้ ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือก และแหวนตราของพระเจ้า ซึ่งเป็นแหวนตราที่จะไม่ถูกถอดออกไป



ฮักกัย 2:20-23
พระเจ้าตรัสผ่านฮักกัยให้รู้ว่า พระองค์ทรงอำนาจเหนือประชาชาติต่าง ๆ  การเขย่าฟ้าสวรรค์ และแผ่นดินโลกนั้น ไม่มีใครทำได้นอกจากพระเจ้า เพราะเป็นเรื่องของทั้งจักรวาล และโลก  เป็นอนาคตที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่ในสมัยของพวกเขา นี่เป็นการตรัสย้ำที่พระองค์ตรัสมาแล้วในข้อ 6-7

การคว่ำบัลลังก์ทั้งหลาย การทำลายอาณาจักรต่าง ๆ คือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เรากำลังเห็นอยู่ในโลกอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และจะเป็นไปอย่างที่พระเจ้าทรงประสงค์ 

เศรุบบาเบลถูกเรียกว่า ผู้รับใช้ของเรา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พระคัมภีร์เดิมมักจะใช้โยงถึงพระเมสสิยาห์ ตัวอย่างเช่น 1 พงศ์กษัตริย์ 11;34; อิสยาห์ 42:1-9; 50:4-11 ยิ่งกว่านั้น พระเจ้ายังทรงบอกล่วงหน้าว่า
จะมีอาณาจักรของพระเมสสิยาห์เกิดขึ้น

พระเยซูทรงเป็นลูกหลานสืบเชื้อสายของเศรุบบาเบลโดยตรง ทรงเป็นผู้เดียวที่ทรงสร้างพระวิหารนิรันดร์ของพระเจ้า จากประชาชนจากชาติต่าง ๆ ทั่วโลก

เบื้องหลังของพระคำตอนนี้อยู่ในเยเรมีย์ 22:24-30 กษัตริย์ก่อนองค์สุดท้ายของยูดาห์คือ เยโฮยาคีน (อีกนามว่า โคนิยาห์) ถือเป็นแหวนตราในพระหัตถ์ขวาของพระเจ้า แต่พระองค์จะถอดออก และมอบชีวิตของท่านให้กับศัตรู จะไม่มีใครในเชื้อสายของเขาจะได้นั่งบนบัลลังก์ของดาวิด และปกครองในยูดาห์อีก
ดังนั้นเมื่อเศรุบบาเบล ซึ่งเป็นหลาน ได้รับพระดำรัสจากพระเจ้าผ่านฮักกัย นี้คือ การยกเลิกการพิพากษาของพระเจ้าที่ทรงให้ไว้กับปู่ของท่าน

เช่นเดียวกับบาปของเราที่ได้รับการยกเลิก ได้รับการอภัยโดยพระโลหิตของพระเยซูคริสต์ ทั้งหมดนี้เป็นพระคุณให้กับเศรุบบาเบล และพระคุณแก่พวกเรา คนทั้งโลก!

พระเยซูทรงเป็นดั่งแหวนตราแห่งอำนาจในพระหัตถ์ขวาของพระเจ้า(แหวนตราที่กล่าวถึงเป็นสิ่งที่มีค่ามาก  เป็นเหมือนลายเซ็นของคน ๆ หนึ่ง ที่สามารถเซ็นรับรองสิ่งต่าง ๆ)
เพราะสิทธิอำนาจทั้งสิ้นทรงมอบไว้ให้แก่พระองค์แล้ว พระสัญญาของพระเจ้าทุกอย่าง ทุกคำ สำเร็จโดยพระเยซูคริสต์

พระคัมภีร์เชื่อมโยง

1* เอสรา 3:12, 13; เศคาริยาห์ 4:10
4* เศคาริยาห์ 8:9
5* อพยพ 29:45-46; เนหะมีย์ 9:20
6* ฮีบรู 12:26; โยเอล 3:16
7* ปฐมกาล 49:10; อิสยาห์ 60:7
9* ยอห์น 1:14; สดุดี 85:8-9
11* มาลาคี 2:7

13* กันดารวิถี 19:11, 22
14* ทิตัส 1:15
15* ฮักกัย 1:5, 7; 2:18
16* เศคาริยาห์ 8:10
17* เฉลยธรรมบัญญัติ 28:22; ฮักกัย 1:11; อาโมส 4:6-11

18* เศคาริยาห์ 8:9
19* เศคาริยาห์ 8:12; มาลาคี 3:10
21* เศคาริยาห์ 4:6-10; ฮักกัย 2:6-7
22* ดาเนียล 2:44; มีคาห์ 5:10
23* บทเพลงโซโลมอน 8:6; อิสยาห์ 42:1; 43:10

บรรณานุกรม
https://www.blueletterbible.org/commentaries/mhc/.. (Matthew Henry Matthew Henry’s Concise Commentary on the Whole Bible)
https://enduringword.com/bible-commentary/haggai-2/
https://freshread.wordpress.com/2011/01/31/haggai-223-signet-ring/
https://netbible.org/bible/Haggai+1
Gary M.Berg and Andrew E. Hill, eds , “Commentary on the minor prophets“, Baker Publishing Group, 2012.



ฮักกัย 1 สิ่งสำคัญอันดับแรก

เบื้องหลังฮักกัย

หลังจากที่กษัตริย์ไซรัสได้อนุญาตให้ยิวกลับจากบาบิโลนไปยังบ้านเกิดคือ นครเยรูซาเล็ม (ปี 538 กคศ.)พวกเขาก็กลับมาด้วยการที่ได้รับความช่วยเหลือมากมายจากองค์กษัตริย์ มาพร้อมกับเครื่องมือที่จะช่วยให้สร้างพระวิหาร กษัตริย์ไซรัสพอพระทัยที่จะให้พวกเขาได้อธิษฐานต่อพระเจ้าเพื่อท่านด้วย เมื่อพวกเขากลับมา
คนส่วนหนึ่งประมาณ 50,000 คนกลับมา แต่มียิวที่กลายเป็นพ่อค้า คนเหล่านี้ ส่วนใหญ่ตั้งใจอาศัยในบาบิโลน เพราะชีวิตสบายและดีกว่า


เรื่องราวอิสราเอลเริ่มกลับมาจากบาบิโลนอยู่ในเอสราบทที่ 3 พวกเขาเริ่มสร้างพระวิหาร แต่ก็มีอุปสรรคทำให้โครงการสร้างต้องชะงักไป มีคนท้องถิ่นคอยตามราวีไม่ให้สร้าง มีความพยายามจากพวกนี้เพื่อให้ล้มเลิกการสร้าง ทำให้คนอิสราเอลท้อใจ สร้างไปแล้วก็หยุด จนกระทั่งสิบหกปีต่อมาฮักกัยได้รับบัญชาจากพระเจ้ามาหนุนน้ำใจพวกเขา ทำให้ เริ่มสร้างอีก จนเสร็จในปี 516 ก่อนคศ. (เอสรา 6:14-15)
เวลาที่ฮักกัยเข้ามาสื่อพระบัญชาของพระเจ้า เป็นช่วงที่กษัตริย์ดาริอัสครองเปอร์เซียช่วง 521-486 ปีก่อนคริสตศักราช


พระเจ้าทรงใช้ฮักกัยมาเตือนให้พวกเขาได้มีความเชื่อขึ้นอีกครั้ง และทำในสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน 

ชื่อของฮักกัยมีความหมายถึงเทศกาล หรือ ผู้ที่เดินทางไปเทศกาล  ฮักกัยรับใช้พระเจ้า กับโยชูวาทำหนัาที่เป็นปุโรหิต และ เศรุบบาเบลเป็นผู้ว่าราชการแห่งยูดาห์คนแรกเมื่อเชลยกลับมาจากบาบิโลน 
ฮักกัยเป็นผู้เผยพระคำรุ่นเดียวกับเศคาริยาห์ด้วย

เหตุการณ์ตามลำดับเวลา

ปี 538 กคศ
หลังเป็นเชลย กษัตริย์ไซรัส
ให้กลับมา

ปี 536 กคศ
เริ่มสร้าง
พระวิหาร
เศรุบบาเบลนำ
เอสรา 3:10-11

ปี 534 กคศ
หยุดสร้าง
พระวิหาร!

ปี 520 กคศ
ฮักกัยมาเตือน เริ่มสร้างใหม่สมัยกษัตริย์ดาริอัส

ปี 516 กคศ
สร้างพระวิหารสำเร็จ

คำบัญชาให้สร้างพระนิเวศ

ดาริอัสกษัตริย์เปอร์เซียครองปี 522–486 ก่อนคริสตศักราช
1 ในวันที่หนึ่ง เดือนที่หก(สิงหาคม) ปีที่สองแห่งรัชกาลกษัตริย์ดาริอัส  พระดำรัสของพระยาห์เวห์มาถึงเศรุบบาเบลผู้ว่าราชการแห่งยูดาห์ ลูกชายเชอัลทิเอล และโยชูวา ลูกชายของมหาปุโรหิต เยโฮซาดัก

สิ่งสำคัญที่สุดคืออะไร…ทำให้ถูกต้อง
2 “พระยาห์เวห์องค์จอมทัพตรัสดังนี้ว่า ผู้คนเหล่านี้กล่าวว่า ‘ยังไม่ถึงเวลาที่จะสร้างพระนิเวศของพระยาห์เวห์’”
3 พระดำรัสของพระยาห์เวห์ตรัสผ่าน
ผู้เผยพระดำรัสฮักกัยว่า
4 “นี่เป็นเวลาที่พวกเจ้าจะอาศัยในบ้านกรุด้วยไม้ ในขณะที่พระนิเวศยังเป็นซากปรักหักพังอย่างนั้นหรือ?
5 พระยาห์เวห์องค์จอมทัพตรัสว่า
“บัดนี้ ขอให้เจ้าพิจารณาทางของเจ้าให้ละเอียด 
6 เจ้าปลูกมาก แต่เก็บเกี่ยวได้น้อย
เจ้ากิน แต่ก็มีอาหารไม่พอกินจนอิ่ม
เจ้าดื่ม แต่ก็ไม่มีพอที่จะหมดความกระหาย  เจ้าสวมเสื้อผ้า แต่ก็ไม่มีพอที่จะทำให้อุ่นได้ เจ้าได้ค่าแรง แต่ก็เอามาใส่ในกระเป๋าที่มีรู”



ฮักกัย 1:1-6  วันที่หนึ่ง เดือนที่หก(สิงหาคม) ปีที่สอง  ขณะที่พวกเขามีทุกอย่างพร้อมเพื่อทำการสร้างพระวิหาร  แต่ก็ทิ้งค้างเอาไว้ให้กลายเป็นเหมือนอาคารร้าง สกปรก มีแต่เศษวัสดุต่าง ๆ ระเกะระกะ

พระเจ้าทรงถามพวกเขา ..
โดยเริ่มจากถามเศรุบบาเบลผู้ว่าราชการ 
(เขาผู้นี้เป็นคนเชื้อสายของกษัตริย์อิสราเอล)
และโยชูวาลูกชายมหาปุโรหิต  เรื่องบ้านส่วนตัวที่คนอิสราเอลกำลังหมกมุ่นสร้างอยู่
 
การมีบ้านกรุไม้ เป็นการสร้างบ้านแบบพิถีพิถัน และใช้เวลามากกว่า พร้อม ๆ กับแก้ตัวกันว่า ยังไม่ถึงเวลาสร้างพระวิหาร พวกเขาคิดว่าจะสร้างแต่ยังไม่ทำในเวลานี้ ขอทำบ้านตัวเองก่อน
 
จากนั้น พระองค์ทรงให้พวกเขาพิจารณาทาง คือการใช้ชีวิต ผลที่ได้ สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้ละเอียด..  พระองค์ทรงอธิบายเหตุผลว่า เหตุใดชีวิตของพวกเขาจึงไม่ก้าวหน้าทั้ง ๆ ที่ทำงานหนัก
พระเจ้าทรงให้พวกเขาพิจารณาการใช้ชีวิตของตนให้ละเอียดว่า เหตุใดชีวิตจึงไม่ได้รับพระพร

ทำไมทำงานเยอะ แต่ได้ผลน้อย  ทำไมจึงไม่อยู่ในสภาพที่ดี พวกเขาสนใจแต่ตนเอง ส่วนตัว ไม่สนใจการกลับมาหาพระเจ้า นมัสการพระองค์ ไม่สนใจชุมชนโดยรวม 

พระเจ้าทรงสอนเราด้วยจากเหตุการณ์ในอดีตผ่านมาแล้วกว่า 2500 ปี!

พระเจ้าต้องมาก่อนตนเอง
7พระยาห์เวห์องค์จอมทัพตรัสดังนี้
จงพิจารณาทางของเจ้าให้ละเอียด  
8 จงขึ้นไปบนเนินเขาและตัดไม้ลงมาสร้างพระนิเวศ แล้วเราจะพอใจและเราจะได้รับพระเกียรติ” พระยาห์เวห์ตรัสดังนั้น  
“พวกเจ้าคาดหวังมาก แต่ดูเถิด เจ้าได้กลับคืนมาเพียงน้อยนิด เมื่อเจ้านำสิ่งที่เก็บเกี่ยวกลับมา เราก็ให้ลมพัดมันปลิวไป ทำไมหรือ?” พระยาห์เวห์ทรงประกาศ “เป็นเพราะพระนิเวศของเรายังถูกทิ้งเป็นซากปรักหักพังอยู่ ในขณะที่พวกเจ้ายังวุ่นอยู่กับบ้านของตนเอง
 10  เป็นเพราะพวกเจ้าเอง ท้องฟ้าจึงยับยั้งน้ำค้าง
และพืชผลจากผืนดิน
11 เราได้เรียกให้ความแห้งแล้งขาดแคลนเกิดขึ้นในทุ่งและบนเนินเขา เกิดกับเมล็ดข้าว เหล้าองุ่นใหม่ น้ำมันมะกอก และอะไร ๆ ที่ผืนดินจะผลิตขึ้นมา รวมทั้งมนุษย์และสัตว์ และให้เกิดกับทุกอย่างที่เจ้าลงแรงไป”

ฮักกัย 1:7-11 พระเจ้าเป็นผู้ประทานฝน น้ำค้างให้กับพวกเขาที่จะทำให้พืชผลในไร่เติบโต แล้ว ตอนนี้ แรงที่ลงไปกับแผ่นดินกลับไม่เกิดผลมากอย่างที่คิด ..

พระเจ้าทรงสั่งให้เขาทำงาน เดินทางขึ้นไปบนเขาพร้อมเครื่องมือที่จะตัดไม้ลงมาสร้างพระวิหาร  ทุกคนต้องร่วมมือกันทำงานนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของไม่กี่คน  และเมื่อเขาทำไปด้วยกัน พระเจ้าทรงปลิ้มปิติที่พวกเขาถวายพระเกียรติไปพร้อม ๆ กัน  และเมื่อพบความสำเร็จ ผู้ที่ได้รับเกียรติสูงสุดคือองค์พระเจ้า .           
พระเจ้าทรงให้เหตุผลว่าเหตุใดพวกเขาจึงไม่เกิดผล เป็นเพราะพวกเขาไม่จัดลำดับความสำคัญของชีวิตให้ถูกต้อง

เขาสนใจตัวเองมากกว่าชีวิตติดสนิทกับพระเจ้า  
ผลผลิตที่สำคัญคือ ข้าว องุ่น น้ำมันมะกอก และพืชพันธ์ต่าง ๆ เป็นของจำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่แล้ว กลับขาดแคลน
แรงงานของพวกเขาเหมือนทิ้งเปล่า ๆ เพราะไม่ได้ผลอย่างที่ลงทุนไป นี่เป็นผลจากพฤติกรรมของเขาเอง  พระเจ้าทรงเป็นผู้บันดาลความแห้งแล้งนั้น
พระเจ้าทรงชี้ให้เห็นชัดว่า ความขาดแคลนในชีวิต การงาน นั้นเกิดจากอะไร

การตอบสนองจากประชาชน

12  ดังนั้น เศรุบบาเบล ลูกชายเชอัลทิเอล โยชูวา ลูกชาย เยโฮซาดักมหาปุโรหิต พร้อมกับประชากรที่ยังเหลือ ก็ได้เชื่อฟังพระสุรเสียงของพระยาห์เวห์พระเจ้าของพวกเขา และคำกล่าวของฮักกัยผู้เผยพระดำรัส  เพราะพระยาห์เวห์พระเจ้าของพวกเขาได้ส่งเขามา และประชากรก็ยำเกรงองค์พระยาห์เวห์
13  ฮักกัยผู้สื่อสารของพระยาห์เวห์ได้นำสารจากพระยาห์เวห์มายังประชากรทั้งหลาย ว่า “เราอยู่กับเจ้า” นี่เป็นคำประกาศของพระยาห์เวห์
14 พระยาห์เวห์ได้ทรงเร่งเร้าใจ เศรุบบาเบล ผู้ว่าราชการของยูดาห์ ลูกชายเชอัลทิเอลและ โยชูวา ลูกชาย เยโฮซาดักมหาปุโรหิต พร้อมกับประชากรที่ยังเหลือ พวกเขาจึงเริ่มสร้างพระนิเวศของพระยาห์เวห์องค์จอมทัพ พระเจ้าของพวกเขา
15 ในวันที่ยี่สิบสี่ เดือนที่หก ปีที่สองในรัชกาลกษัตริย์ดาริอัส




ฮักกัย 1:12-15 ข่าวสาร คำสอนจากพระเจ้านั้นเรียบง่าย ตรงประเด็น
ตอบสนองคำของพระเจ้า  ฟัง เชื่อฟัง ยำเกรง … และแล้วผู้นำทั้งสอง พร้อมกับประชาชนก็ฟังพระสุรเสียงของพระเจ้า  เราจะเห็นภาพของผู้นำ กับผู้ตามชัดเจนในเรื่องนี้ว่า พวกเขายินยอมพร้อมใจกันทำตามคำของฮักกัย  พวกเขาต่างมีความยำเกรงพระเจ้าเหมือน ๆ กัน  มีความเชื่อ เข้าใจว่าพระเจ้าเป็นผู้ส่งฮักกัยมาเตือน  และคำสำคัญที่นี่คือ ประชาชนยำเกรงพระเจ้า ไม่ดื้อดึงต่อพระองค์ ประชาชนเหล่านี้คือคนที่กลับมาจากบาบิโลน
พระเจ้าทรงสัญญาผ่านฮักกัย ว่า พระองค์จะทรงอยู่ด้วย แม้จะมีแรงต้านจากคนในพื้นที่ หรือ คนที่มีอำนาจ  เมื่อพระเจ้าทรงสั่งให้ทำสิ่งใด พระองค์จะทรงให้เรามีกำลัง ทำตามที่ทรงบัญชา
แล้วพระเจ้าทรงเร่งเร้าใจ.. คริสตจักรทุกแห่งต้องการสิ่งนี้จากพระเจ้า และพระองค์ทรงเริ่มที่ผู้นำของชุมชนชาวอิสราเอล
ประชาชนโดยการนำของผู้ว่า ฯ และโยชูวาทั้งสองได้รับการเร้าใจจากพระเจ้าที่จะนำในการนี้ พวกเขายอมฟังคำเตือนจากฮักกัย  ..​เขาเริ่มสร้างพระวิหาร ในพระคัมภีร์บันทึกว่า พระวิหารของพระยาห์เวห์องค์จอมทัพ พระเจ้าของพวกเขา
หลังจากผ่านมา 23  วัน พวกเขาก็เริ่มทำงาน  


เราชินกับการอยู่กับพระเจ้าไปวัน ๆ หรือเปล่า ? เราได้รับการเร้าใจจากพระเจ้าบ้างไหม?

พระคำเชื่อมโยง

1* เอสรา  4:24; 5:1; 6:14; 2:2; 5:2-3; 1พงศ์กษัตริย์  6:15
3* เอสรา 5:1
4* 2 ซามูเอล 7:2
5* เพลงคร่ำครวญ 3:40
6* เฉลยธรรมบัญญัติ 28:38-40; เศคาริยาห์ 8:10
8* เอสรา 3:7

9* ฮักกัย 2:16-17
10* เฉลยธรรมบัญญัติ 28:23
11* 1 พงศ์กษัตริย์ 17:1; ฮักกัย 2:17
12* เอสรา 5:2
13* มัทธิว 28:20
14* เอสรา 1:1; ฮักกัย 2:21; เอสรา 5:2, 8

บรรณานุกรม
https://enduringword.com/bible-commentary/haggai-1/
https://netbible.org/bible/Haggai+1
Gary M.Berg and Andrew E. Hill, eds , “Commentary on the minor prophets“, Baker Publishing Group, 2012.