กิจการ 15 พระคุณที่ถูกคุกคาม


ความขัดแย้งที่กลายเป็นโอกาส

คำอธิบายเพิ่มเติม

พระคุณที่ถูกคุกคาม
กิจการ 15:1-2
แล้วก็เกิดเรื่องที่ไม่น่าเกิด มีคนมาบอกพี่น้องว่า ถ้าจะมาเชื่อพระเยซู จะรับความรอดก็ให้เข้าสุหนัตตามบัญญัติของโมเสส นี่ทำให้เปาโลถึงโกรธมาก .. การมาเชื่อคือเชื่อในฤทธิ์แห่งไม้กางเขน การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูจึงจะรอด ไม่ใช่ต้องทำตามกฎของยิวที่มีมาก่อน หรือทำดีเพื่อได้รับความรอด แต่ในเมื่อทั้งสองเถียงกันไม่จบ จึงตกลงว่าจะต้องให้เปาโลกับบารนาบัสไปปรึกษากลุ่มอัครทูต และผู้ปกครองที่อยู่ในเยรูซาเล็ม ทำให้เราเห็นว่า บางเรื่องในคริสตจักรก็ต้องมีการคุยกันเพื่อแก้ปัญหาด้วย (เปาโลได้เขียนอย่างชัดเจนในเอเฟซัส 2:8-9.. ความรอดเป็นของประทานจากพระเจ้าให้กับผู้ที่เชื่อ ไม่ใช่ด้วยการประพฤติ)
กิจการ 15:3-5
แต่พอมาถึงเยรูซาเล็ม กลับมีคนที่เห็นด้วยกับฟาริสี เพราะพวกเขายังติดกรอบความคิดเดิม ว่าต้องทำดีมาก ๆต้องให้เป็นที่พอพระทัยด้วยความดีต่าง ๆ แต่ด้วยพระปัญญาของพระเจ้า กรอบความคิดนั้น ใช้ไม่ได้เลย เนื่องจากว่า ไม่มีใครเป็นคนดีได้เต็มร้อย เรื่องนี้ฟาริสีไม่เข้าใจ บางทีพวกเราคนไทยก็เหมือนกัน เพราะเราคิดว่าทำบุญมาก ๆ ทำดีมาก ๆ มันก็น่าจะเป็นทางให้เราไปสู่สิ่งที่ดีนี่นา
กิจการ 15:6-8
รื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก คนจะรอดได้ด้วยความดีของตนเองอย่างนั้นหรือ? ถ้าอย่างนั้นการสิ้นพระชนม์ขององค์พระเยซูเจ้าจะมีประโยชน์อันใด? ทำไมพระเจ้าต้องส่งพระบุตรลงมา? ดังนั้นพวกเขาจึงต้องประชุมกันอย่างเคร่งเครียด และเปโตรที่พวกเขาคุ้นเคย ก็ได้ลุกขึ้นมาอธิบาย ว่าตัวเขาเองก็ได้เห็นว่า พระเจ้าทรงเทพระวิญญาณมาเหนือคนต่างชาติทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่ได้เข้าสุหนัต พระองค์ทรงมองเห็นจิตใจที่มีความเชื่อ หากพระเจ้าทรงยอมรับ แล้วทำไมเราจึงจะมาใช้กฎบังคับพวกเขากัน
กิจการ 15:9-11
เปโตรอธิบายชัดเจนว่า พระเจ้าทรงชำระ ไม่แยกยิวแยกต่างชาติอีกต่อไป และทุกคนต้องรอดด้วยพระคุณของพระเจ้า เปโตรยังไม่ลืมนิมิตที่เขาเห็นบนหลังคาบ้าน การชำระชีวิตนั้นเกิดเพราะพวกเขาเชื่อก่อน…
เปโตรชัดเจนมากที่จะบอกว่า กฎต่าง ๆ ของยิวนั้น เยอะเกินที่ใครจะรักษาได้ ดังนั้น ไม่ควรเอากฎใด ๆ มาบังคับความเชื่อของผู้อื่น
เหตุการณ์ครั้งนี้ สำคัญมาก ที่จะช่วยให้เราไม่หลงกลคนที่มาบอกว่าต้องถวายเงินเยอะ ๆ ต้องทำดีมาก ๆ ต้องอย่างนั้น อย่างนี้ … เพราะว่าในโลกของเรามีคนหลอกลวงมากมาย หลอกเอาอำนาจ เอาเงินของพี่น้อง
กิจการ 15:12-14
ทุกคนนิ่ง และฟังเหตุผลจากคำกล่าวของเปาโลและบารนาบัส หลักฐานที่เกิดขึ้นจริง พวกเขาไม่ได้พยายามสู้ตามความคิด แต่มีการฟังซึ่งกันและกัน
แล้วยากอบซึ่งเป็นน้องของพระเยซู(ผู้เขียนหนังสือยากอบ และเป็นหนึ่งในผู้นำคริสตจักรยุคแรก) จึงลุกขึ้นมาอธิบายย้ำอีกครั้ง ตอนนี้เราเห็นแล้วว่า อัครทูต ผู้ใหญ่ในเยรูซาเล็มมีความเข้าใจชัดว่า พระเจ้าทรงประสงค์สิ่งใด
กิจการ 15:15-19
ยากอบได้อธิบายโยงไปถึงพระคัมภีร์เดิมคือ อาโมส 9:11-12 พระเจ้าทรงกล่าวถึงคนอิสราเอลที่ยังหลงเหลือกับ คนชาติต่าง ๆ ที่ได้รับเรียกว่าเป็นคนของพระองค์ แสดงว่าพระเจ้าทรงมีพระทัยเผื่อคนต่างชาติมานานแล้ว ไม่ใช่จะให้แค่คนยิวได้รับพระพร ดังนั้น ท่านยากอบเห็นว่า ไม่ควรเอาบัญญัติยิวมาเป็นเครื่องกีดขวางความเชื่อของคนต่างชาติ
พอมาถึงตรงนี้ ทุกคนที่อยู่ในที่ประชุมน่าจะตระหนักถึงสิ่งที่พวกเขาเองหลายคนไม่เคยคิดมาก่อน แต่ก็ต้องยอมรับเพราะยากอบอ้างถึงพระคัมภีร์เดิมที่พวกเขาเชื่อถือ
กิจการ 15:20-21
ยากอบจึงสรุปเลยว่า สิ่งที่ควรทำต่อคนต่างชาติที่มาเชื่อก็คือ ช่วยให้พวกเขาไม่ทำบาปที่เคยทำเป็นกิจวัตรตอนที่ยังไม่เชื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งบาปที่เกี่ยวข้องกับรูปเคารพ พวกเขาต้องเข้าใจว่า เมื่อบังเกิดใหม่แล้ว ชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างไร
กิจการ 15:22-23a
ดังนั้น พี่น้องจึงต้องการคนที่จะอธิบายให้เข้าใจ สงสัยอะไรก็ถามได้ ดังนั้น จึงตั้งยูดาส และสิลาสไปกับเปาโลและบารนาบัส พร้อมกับจดหมายที่เขียนลงเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อจะได้อ่านกันชัดเจนว่าได้ตกลงกันอย่างไร
กิจการ 15: 23b-29
อันทิโอกทางใต้เป็นเมืองสำคัญของแคว้นซีเรียและซิลิเซีย แต่อยู่ภายใต้การปกครองของโรม เราจะเห็นจากจดหมายถึงความสัมพันธ์ของพี่น้องต่างเมือง และการช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณที่มีต่อกัน
คนที่พยายามให้พี่น้องอันทิโอกแล้วก่อให้เกิดความสับสนในความเชื่อ ไม่ได้มาจากเยรูซาเล็มแน่นอน แต่เป็นคนอื่น มาจากที่อื่น คริสตจักรในเยรูซาเล็มมีความชัดเจนในเรื่องความเชื่อและช่วยให้พี่น้องที่ยังอ่อนความเชื่อได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง พวกเขาได้ยึดมั่นในองค์พระวิญญาณในการเขียนจดหมายนี้ ไม่ได้คิดเองเออเอง แต่โดยการทรงนำ และการปรึกษากับพี่น้องที่เติบโตในความเชื่อ
กิจการ 15:30-35
เป็นอันว่า ความสับสนจากคนที่พยายามให้พี่น้องเชื่อผิด ได้รับการแก้ไข เป็นเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้เชื่อต่างเมือง และแทนที่จะรีบกลับ ก็มีการหนุนใจอยู่อีกหลายวัน ในที่สุด ยูดาสและสิลาสก็จากไป แต่เปาโลกับบารนาบัสก็อยู่ต่อเพื่อช่วยให้พี่น้องเติบโต

ความขัดแย้งที่กลายเป็นโอกาส
กิจการ 15:36-39a

เปาโลชวนบารนาบัสเดินทางกลับไปเยี่ยมเมืองต่าง ๆ ที่เคยประกาศ และสร้างคริสตจักรไว้ แม้บารนาบัสขอให้เขายอห์น มาระโกไปด้วย ท่านเปาโลก็ไม่เห็นด้วย เพราะยอห์นเคยทิ้งพวกเขาไปก่อนหน้านี้ แต่ในเมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงต้องแยกทางกัน เราไม่ทราบว่าทั้งสองโกรธกันมากหรือเปล่า แต่ดูเหมือนว่าความขัดแย้งครั้งนี้ จะทำให้กลายเป็นคนสองกลุ่มที่ออกไปสองทิศเพื่อประกาศพระนาม
กิจการ 15:39b-41
เป็นอันว่า บารนาบัสไปกับยอห์นมาระโก และเปาโลไปกับสิลาส พวกเขาได้รับพรจากพี่น้องในอันทิโอก (สิลาสน่าจะกลับมาอีกครั้ง) ทั้งสี่ได้มีโอกาสไปหนุนใจพี่น้องอีกมากมาย เปาโลกับสิลาสเดินทางบกไปทางเหนือ เพื่อเยี่ยมพี่น้องที่เคยพบกันมาก่อน ส่วนบารนาบัสกับยอห์นมาระโกลงเรือไปไซปรัส …ต่อมาเปาโลเองก็ได้ชื่นชมบารนาบัส (1 โครินธ์ 9:6) และยอห์นมาระโก (โคโลสี 4:10) แสดงว่า ความขัดแย้งครั้งนั้นไม่ได้ทำให้เกิดความขมขื่นแต่อย่าง
ใด

ข้อพระคำเชื่อมโยง

1* กาลาเทีย 5:6; เลวีนิติ 12:3
2*กิจการ 15:22-23; กาลาเทีย 2:1-2
3* กิจการ 14:27; 21:5
4* กิจการ 14:27; 21:7; 3 ยอห์น 1:8-10
5* กาลาเทีย 5:1-3
6* สุภาษิต 15:22; ฮีบรู 13:17
7* โรม 10:17-18; กาลาเทีย 2:7-9
8* กิจการ 1:24; 10:47
9* เอเฟซัส 3:6; กิจการ 10:28;
โคโลสี 3:11
10* มัทธิว 23:4; กาลาเทีย 5:1,4:9

11* โรม 3:24; ทิตัส 3:4-7
12* กิจการ 14:27; 15:4
13* กิจการ 12:17; ยากอบ 1:19
14* 1 เปโตร 2:9-10
15* โรม 15:8-12
16* อาโมส 9:11-12; ลูกา 1:31-33
17* เศคาริยาห์ 2:11; 8:20-23; อิสยาห์ 65:1
18*เอเฟซัส 3:9; 1:4
19* 1 เธสะโลนิกา 1:9
20*วิวรณ์ 2:20; 2:14; เลวีนิติ 3:17
21* กิจการ 13:15,27

24*ทิตัส 1:10-11; กาลาเทีย 1:7; 5:10
26* กิจการ 13:50; 14:19
29* กิจการ 15:20, 21:25; เลวีนิติ 17:14; โคโลสี 3:5
32* เอเฟซัส 4:11; กิจการ 14:22; 18:23
33*ฮีบรู 11:31
35* กิจการ 13:1
37* กิจการ 12:12;25
38* กิจการ 13:13
39* กิจการ 4:36; 13:4
40* กิจการ 11:23; 14:26
41* กิจการ 16:5




1 โครินธ์ 4 ยอมโง่เพื่อพระคริสต์

ผู้รับใช้และผู้อารักขา

1 โครินธ์ 4:1-2 ดังนั้น จงเข้าใจว่า เราเป็นผู้รับใช้ของพระคริสต์ เป็นผู้รับมอบความรับผิดชอบให้ดูแลอารักขา ความล้ำลึกของพระเจ้า ผู้อารักขานี้ จะต้องเป็นคนที่ไว้ใจได้
1 โครินธ์ 4:3-4 สำหรับตัวข้าแล้ว หากท่านหรือคนใดจะกล่าวโทษข้า ข้าก็ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ที่จริง ข้าเองไม่กล่าวโทษตัวเองเลย การที่ข้าไม่รู้สึกว่าตนเองกระทำผิดในเรื่องใด ก็ไม่ได้บอกว่า ข้าเป็นคนไร้ความผิด องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงกล่าวโทษข้าเอง

1 โครินธ์ 4:5 ดังนั้น อย่าตัดสินสิ่งใดก่อนถึงเวลากำหนด จงคอยจนกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมา และพระองค์ทรงจะเปิดเผยสิ่งที่ซ่อนในความมืด และจะส่งเปิดเผยความมุ่งหมายในใจของทุกคนให้เห็นชัดเมื่อนั้น แต่ละคนจะได้รับคำชมเชยจากพระเจ้า

ยอมเป็นคนโง่เพื่อพระคริสต์

1 โครินธ์ 4:6 พี่น้องทั้งหลาย ข้าได้ใช้ตนเองกับอปอลโลมาเป็นตัวอย่างเพื่อประโยชน์ของท่าน เพื่อให้ท่านได้เข้าใจความหมายของคำที่ว่า “อย่าคิดเกินไปกว่าที่เขียนไว้”เพื่อท่านจะไม่ยโส ยกคนหนึ่งและเหยียดหยามอีกคน
1 โครินธ์ 4:7 ใครทำให้ท่านพิเศษกว่าคนอื่น? มีอะไรที่ท่านครอบครองโดยไม่ได้รับมา?ถ้าท่านได้รับมา เหตุใดจึงโอ้อวดราวกับว่า ท่านไม่ได้รับอะไรมา?
1 โครินธ์ 4:8 ท่านร่ำรวยแล้ว ท่านครอบครองโดยไม่มีพวกเรา ข้าอยากให้ท่านครอบครองจริง ๆ เพื่อเราจะมาครอบครองกับท่านด้วย

1 โครินธ์ 4:9 ข้ามีความเห็นว่า พระเจ้าทรงจัดเราซึ่งเป็นอัครทูตให้เป็นคนท้ายสุดเหมือนอย่างนักโทษที่ถูกตัดสินประหารเพราะเราตกเป็นเป้าสายตาของโลกทั้งทูตสวรรค์ และในหมู่มนุษย์
1 โครินธ์ 4:10-11 เราเป็นคนโง่เพื่อพระคริสต์และท่านทั้งหลายเป็นคนมีปัญญาในพระคริสต์ เราอ่อนแอ แต่ท่านแข็งแรง ท่านได้รับเกียรติ แต่เราถูกเหยียดหยามแม้ในเวลานี้ เราก็ยังรู้สึกหิว กระหายต้องการเครื่องนุ่งห่ม ถูกทุบตี ไร้ที่อยู่
1 โครินธ์ 4:12-13 เราต้องทำงานหนักด้วยมือของเราเมื่อถูกคนด่าทอ เราก็อวยพรกลับไปเมื่อเราถูกข่มเหง เราก็อดทนเมื่อถูกใส่ร้าย เราก็ตอบอย่างเป็นมิตร เราถูกปฏิบัติราวกับเป็นของทิ้งเป็นเหมือนขยะของโลกมาจนถึงเวลานี้

ความห่วงใยอย่างพ่อ

1 โครินธ์ 4:14-15 ข้าเขียนถึงท่าน มิใช่เพื่อทำให้ท่านต้อง
อายใจ แต่เพื่อเตือนท่านในฐานะที่เป็นเหมือนลูกรักของข้า แม้ว่าท่านมีผู้ดูแลสักหมื่นคนในพระคริสต์ แต่ท่านก็มีบิดาเพียงไม่กี่คน เพราะข้าได้มาเป็นบิดาของท่านโดยข่าวประเสริฐนั่นเอง

1 โครินธ์ 4:16-17 ข้าขอร้องท่านให้ทำตามอย่างข้า
ด้วยเหตุนี้ ข้าจึงส่งทิโมธีให้มาหาท่านเขาเป็นลูกรักของข้าที่จงรักภักดีต่อพระเจ้าเพื่อเขาจะเตือนให้ท่านระลึกถึงแนวทางการดำเนินชีวิตในพระคริสต์ของข้าตรงตามที่ข้าสอนในคริสตจักรทุกแห่ง

1 โครินธ์ 4:18-19 มีบางคนในพวกท่านที่เกิดหยิ่งยโสขึ้นมาเพราะคิดว่า อย่างไรข้าจะไม่มาหาพวกท่าน แต่ถ้าพระเจ้าทรงโปรดข้าจะมาหาท่านในไม่ช้านี้ และจะมาดูให้เห็นว่า คนที่หยิ่งยโสเหล่านี้พูดอะไรบ้างและเขามีอำนาจขนาดไหน
1 โครินธ์ 4:20-21 ด้วยว่า อาณาจักรของพระเจ้าไม่ได้เป็นเรื่องของคำพูด แต่เป็นเรื่องที่แสดงออกมาด้วยฤทธิ์เดช ท่านต้องการอะไร? จะให้ข้ามาหาท่านด้วยไม้เรียวเพื่อสร้างวินัย หรือด้วย
ความรักและจิตใจที่อ่อนโยน?

คำอธิบายเพิ่มเติม 1 โครินธ์ 4

ผู้รับใช้และผู้อารักขา
1 โครินธ์ 4:1-2
พระคัมภีร์ข้อนี้ พูดให้ชัดคือ ท่านเปาโลกำลังบอกว่า ท่านและอปอลโล เปโตร เป็นผู้รับใช้ในการดูแลความล้ำลึกของพระเจ้า (ซึ่งมีหลายประการ ทั้งเรื่องข่าวประเสริฐและความจริงอื่น ๆ ของพระเจ้า) ท่านเหล่านี้มีหน้าที่อารักขาความจริงของพระเจ้าไม่ให้ใครมาบิดเบือนเอาตามใจชอบ และส่งต่อสิ่งที่พระเจ้าทรงบอกไว้ให้ผู้เชื่อได้เข้าใจ เชื่อ และเดินตามความจริงนี้ 
1 โครินธ์ 4:3-4
ดูเหมือนว่ามีคนที่คอยนินทา ให้ร้ายในตัวท่านเปาโลอยู่ตลอดเวลา บางคนสงสัยว่าท่านเป็นอัครทูตแน่หรือ บางคนสงสัยว่า ท่านเหมาะที่จะสอนพวกเขาไหม แต่ท่านเปาโลไม่ได้สนใจกับคำครหาเหล่านั้นกลับมองว่า เป็นเรื่องเล็ก สำหรับท่านแล้วผู้เดียวที่จะบอกว่า ถูกหรือผิดคือ พระเจ้าเท่านั้น ไม่ใช่ความเห็นของมนุษย์คนใด
1 โครินธ์ 4:5
ท่านเปาโลเตือนเราว่า อย่าไปตัดสินใครก่อนถึงเวลากำหนดของพระเจ้า เราไม่ใช่ผู้พิพากษาที่จะรู้ความในใจของแต่ละคน เราไม่เห็นการกระทำดีหรือเลวของชีวิตใคร เราไม่รู้ว่า พระเจ้าทรงเลือกเขาหรือไม่ เราทุกคนมีที่สว่าง และที่มืดของชีวิตที่ ๆ คนเห็น และที่ไม่มีใครเห็น ผู้เดียวที่เห็นทะลุปรุโปร่งคือพระเจ้าเท่านั้น เราทุกคนต้องใช้ชีวิตที่จะได้รับคำชมเชย มิใช่รับคำตำหนิหรือคำว่าเราไม่รู้จักเจ้าเลย

ยอมเป็นคนโง่เพื่อพระคริสต์
1 โครินธ์ 4:6
ใน 1 โครินธ์ 3:5 ท่านเปาโลกล่าวว่าทั้งตัวท่านและอปอลโลคือ ผู้รับใช้ที่สอนให้พี่น้องมีความเชื่อ ท่านปลูก อปอลโลรดน้ำ .. ที่ทำเช่นนั้นเพื่อให้เห็นตัวอย่างจากชีวิตจริง ทั้งสองได้แสดงให้เห็นถึงชีวิตรับใช้ที่ถ่อมตน และอวดพระเจ้าเท่านั้น ไม่อวดคนหนึ่งคนใดเหนืออีกคน (1:31) ท่านขอให้มีความเข้าใจตรงกันว่า พระเจ้าทรงปัญญาแท้จริง ไม่ใช่มนุษย์ที่พวกเขาพยายามจะยกขึ้น (2:14)
1 โครินธ์ 4:7
“มีอะไรที่ท่านมีอยู่ในตอนนี้ โดยไม่ได้รับมาจากพระเจ้า?” นี่คือคำขยายความ ทั้งหมดที่เรามีอยู่ ชีวิตของเราล้วนเป็นพระคุณของพระเจ้าทั้งสิ้นไม้กางเขน องค์พระวิญญาณในชีวิต สติปัญญาที่มีอยู่ ทั้งหมดนี้เป็นของประทานจากพระเจ้า
ไม่มีใครได้มาด้วยตัวเองเลย และไม่มีใครสมควรจะได้มา หากไม่ใช่เพราะพระเจ้าเมตตา สรุปได้ว่าเราไม่มีอะไรจะอวดนอกจากอวดพระองค์!
1 โครินธ์ 4:8
ความจริงท่านเปาโลกำลังบอกพี่น้องว่า พวกเขาไม่ได้ใหญ่ไปกว่าคนอื่นที่เป็นพี่น้องผู้เชื่อด้วยกัน ประโยคข้างบนนี้เป็นคำพูดในลักษณะประชดประชัน นิยมใช้กันในโลกกรีกโบราณ ท่านพูดคล้าย ๆ กับนักวิจารณ์การเมืองในสมัยนั้น ตอนที่พวกเขามาเชื่อพระเจ้าใหม่ ๆ เขาเป็นเพียงคนชนชั้นธรรมดา แต่ท่านกลับพูดว่าเขารวยเป็นชนชั้นปกครอง เมื่อพวกเขาอ่านตรงนี้ เขาจะคิดได้ไหมว่าท่านกำลังประชดประชัน พวกเขาอยู่
1 โครินธ์ 4:9
พี่น้องคริสตจักรโครินธ์มีปัญหาคือ พวกเขาคิดว่าเขาเป็นคนสำคัญ และมีความหมายมาก และมองท่านเปาโลเป็นคนไร้ค่า ไม่มีอะไรที่จะทำให้เขาภูมิใจได้ ท่านเองก็มองด้วยว่า ท่านและเพื่อนอัครทูตเป็นเหมือนนักโทษที่อยู่ท้ายสุดในขบวนแห่ของนายทหารโรมที่รบชนะ เป็นผู้ที่ต่ำต้อยสุดในขบวนนั้น เป็นผู้ที่จะถูกประหารโดยผู้ชนะสงคราม ท่านเปาโลพยายามที่จะให้พี่น้องได้เห็นว่าพวกเขาคิดผิดอย่างไร
1 โครินธ์ 4:10-11
ท่านเปาโลยังพูดไม่จบเรื่องที่พี่น้องมองตัวเองสูงส่งและดูหมิ่นเหยียดหยามผู้ที่เป็นอัครทูตซึ่งเคยเป็นผู้สอนพระคำของพระเจ้าให้กับพวกเขายุคนี้ของเราก็ไม่ได้ต่างอะไร เพราะคนรุ่นใหม่มักเข้าใจว่าตัวเองเก่งกว่าคนรุ่นก่อน ๆ ลืมไปว่าคนรุ่นก่อนเป็นผู้ที่วางรากฐาน และมีหน้าที่ ๆ สร้างทั้งคริสตจักรและอะไร ๆ ที่มีอยู่ตอนนี้มาก่อนหน้าพวกเขาอาจพลั้งพลาดไปบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ที่ไร้ความหมาย
1 โครินธ์ 4:12-13
นี่คือชีวิตจริงของผู้รับใช้พระเจ้าที่ไม่ยอมแพ้ต่อการปฏิบัติร้าย ๆ ของใครก็ตาม ท่านเปาโลบอกให้เราได้ทราบว่า ชีวิตของท่านในการรับใช้นั้นถูกกระทำอย่างไรบ้างแต่สิ่งที่ท่านตอบกลับนั้น ไม่ได้เป็นเหมือนอย่างคนในโลกทำ ท่านทำเหมือนกับพระคำโรม 12:14ที่ให้อวยพรแก่คนที่ข่มเหง ไม่ให้แช่งด่ากลับพี่น้องชาวโครินธ์ย่อมเห็นการตอบโต้ของท่านและรู้ว่าท่านทำอย่างนั้นจริง

ความห่วงใยอย่างพ่อ
1 โครินธ์ 4:14-15
ท่านเปาโลพูดมาเยอะ แต่ก็ต้องบอกพี่น้องว่า ที่เขียนมานั้น แค่เตือนในฐานะที่พวกเขาเป็นเหมือนลูกรักของท่าน ท่านเป็นผู้บอกข่าวประเสริฐเรื่องไม้กางเขนแก่พวกเขาโดยตรง เป็นผู้อธิบายจนกระทั่งพวกเขาได้เชื่อ ท่านจึงรู้สึกเอ็นดู ห่วงใยพวกเขาเหมือนกับเป็นลูก ส่วนผู้แนะนำ หรือผู้ดูแล ในสมัยเดิมนั้นมีความหมายถึงทาสที่คอยดูแลลูก ๆ ของเจ้านาย และเป็นคนที่คอยให้คำแนะนำการประพฤติให้กับพวกเขา
1 โครินธ์ 4:16-17
ท่านเปาโลมีความมั่นใจว่า ท่านได้เดินตามอย่างพระคริสต์ ท่านมีสัมพันธ์สนิทกับพระองค์ ท่านกล้าที่จะชักชวนให้เขาทำตามแบบของท่านสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนในตัวของท่านคือ คำพูดและการกระทำไปด้วยกัน ไม่มีความขัดแย้งกัน ทิโมธี เป็นผู้รับใช้ที่ท่านเปาโลเองใช้ไปทำงานแทนท่านในหลาย ๆ แห่ง เขาเป็นคนที่เข้าใจหัวใจและการกระทำของท่านเปาโลชัดเจน และเขาเป็นคน
ที่ท่านเปาโลไว้ใจถือเสมือนว่าเขาเป็นลูกชาย
1 โครินธ์ 4:18-19
นึกถึงตอนที่เราทำผิดในห้องเรียน และกำลังล้อเลียนคุณครูในห้องกับเพื่อน ๆ โดยหารู้ไม่ว่าคุณครูมายืนอยู่ที่ประตูแล้ว ! พี่น้องชาวโครินธ์ก็เป็นเช่นนั้น คนที่สามารถเบ่งลับหลังผู้มีสิทธิอำนาจมีอยู่เยอะในโลกนี้ ท่านเปาโลเอาก็รู้ว่า พวกเขามีนิสัยใจคออย่างไรแต่เราจะเห็นความพยายามของท่านที่จะช่วยให้พวกเขามีความเข้าใจถูกต้อง เป็นความรักความอดทนที่อึดเหลือเกิน
1 โครินธ์ 4:20-21
เราจะเห็นว่า ท่านเปาโลเป็นตัวอย่างสำหรับเราในการเผชิญหน้ากับคนที่ทำบาปแล้วไม่ยอมกลับใจแต่ยังฝืนและอวดตัว หยิ่งผยอง ท่านให้เขาเลือกว่า จะเอาแบบไหนเมื่อเจอกัน ท่านเองต้องการมาด้วยความรักและจิตใจที่อ่อนโยน แต่มันก็ขึ้นอยู่กับชาวโครินธ์ด้วยว่า เขาพร้อมที่จะกลับใจก่อนหรือไม่ ท่านเปาโลต้องลำบากใจมาก เพราะใจท่านรักพวกเขา แต่จำเป็นต้องลงวินัยเพื่อให้รอดพ้น

พระคำเชื่อมโยง

1* โคโลสี 1:25; ทิตัส 1:7
5* มัทธิว 7:1; 10:26; 1 โครินธ์ 3:13; โรม 2:29
7* ยอห์น 3:27
8* วิวรณ์ 3:17
9* ฮีบรู 10:33

10* กิจการ 17:18; 26:24; 2โครินธ์ 13:9
12*กิจการ 18:3; 20:34; มัทธิว 5:44
13* บทเพลงคร่ำครวญ 3:45
14* 1 เธสะโลนิกา 2:11
15* กาลาเทีย 4:19
16* 1 โครินธ์ 11:1

17* 19:22; 1 โครินธ์ 11:2;18; 1 โครินธ์ 7:17; 14:33
18* 1 โครินธ์ 5:2
19* 19:21; 20:2; 18:21
20* 1 1:5; 1 โครินธ์ 2:4
21* 2 โครินธ์ 10:2

กิจการ 5 การเริ่มต้นที่สำคัญ

โกหกที่ถึงตาย

การขัดขวางพระกิตติคุณ

นักโทษเป็นอิสระ

คำเตือนสติจากกามาลิเอล

คำอธิบายเพิ่มเติมและพระคำเชื่อมโยง กิจการ 5

โกหกที่ถึงตาย 

กิจการ 5:1-2ก
ท่านลูกาได้เล่าเรื่องที่พี่น้องหลายคนได้ขายที่ดิน บ้าน แล้วเอาเงินมาให้อัครทูตแบ่งปันให้กับคนที่ขัดสน ก็มีคนอยากทำตามบ้าง แต่ไม่ได้ทำด้วยความจริงใจ อานาเนียกับสัปฟีรา ขายที่ดินได้ ตกลงใจที่จะมอบเงินให้กับอัครทูตแต่ก็แอบเก็บเอาไว้ ส่วนหนึ่ง ซึ่งที่จริงการเก็บเงินส่วนของตนก็ไม่ได้ผิดอะไร จะให้อัครทูตแค่สิบยี่สิบเปอร์เซ็นต์ก็ไม่เป็นไรอยู่แล้ว สิ่งที่ผิดคือ ทั้งสองต้องการให้ทุกคนคิดว่า เขาให้เงินทั้งหมด ซึ่งเท่ากับเป็นการโกหกอย่างตั้งใจ เขาร่วมมือกันที่จะหลอกทั้งชุมชนคริสเตียน
1* กิจการ 4:34-37, เลวีนิติ 10:1-3, 2* 2 เปโตร 2:14-15, 1 ทิโมธี 6:10

กิจการ 5:2ข-4
เปโตรมีความเข้าใจฝ่ายวิญญาณในเวลานั้น ท่านถามว่า ทำไมซาตานจึงล่อให้เขากล้าโกหกต่อพระวิญญาณได้… แทนที่จะได้รับคำชม อานาเนียสกลับถูกเปิดโปงความคิดที่ไม่มีใครเห็น ใจของเขาต้องการให้คนทั้งหลายชมเชยว่า เป็นคนใจดีมีเมตตา แต่เขากลับมารู้ว่า เขากำลังตั้งใจโกหกพระวิญญาณของพระเจ้าอยู่ 
3* ลูกา 22:3, ยอห์น 13:2,27, เยเรมีย์ 23:24, อิสยาห์ 29:15 4* กิจการ 8:21-22, ลูกา 10:16

กิจการ 5:5-8 
เพียงได้ยินคำของเปโตร อานาเนียสก็ล้มลงตาย เกิดจากอะไร? ตกใจมากหรือ ? พอเขา รู้ว่าเขากำลังโกหกพระเจ้า ผู้เป็นเจ้าของฟ้าสวรรค์ เขาคงตกใจสุดขีดทันควัน …เขาล้มลงตายทันที! เปโตรเองก็ตกใจเช่นกัน เหมือนกับว่าเขาเป็นคนประกาศพิพากษาคนทำผิดให้ต้องโทษประหาร เขาคงตะลึงมากที่เหตุการณ์เป็นเช่นนั้น อานาเนียสไม่ได้โอกาสที่จะกลับใจเลย ศพของอานาเนียส ถูกพันด้วยผ้า หามไปฝัง
5* กิจการ 13:11, 6* –

กิจการ 5:9-11
สัปฟีราน่าจะมาพร้อมกับสามี เธออาจจะไม่ต้องเจอกับความตายเร็วเช่นนี้ อาจจะทันกลับใจเมื่อเห็นสามีตาย สามชั่วโมงต่อมาเธอเข้ามาพบเปโตรคาดว่าคงจะได้รับคำชมเชย แต่แล้ว เหตุการณ์ร้ายก็เกิดขึ้น เพราะแทนที่จะพูดความจริง เธอกลับหาเรื่อง ให้ตัวเองต้องตาย เธอสมคบคิดเรื่องนี้ พร้อมที่จะทำบาปไปกับสามี ปกปิดเรื่องของตนเอง เปโตรเองรู้ทันทีว่าอะไรจะเกิดขึ้น สามีเพิ่งตายไป ภรรยามาทำผิดซ้ำ เธอล้มลงตายต่อหน้าต่อตาทันทีเช่นกัน ศพของเธอถูกนำไปฝังข้าง ๆ ศพสามี
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความยำเกรงในหมู่คริสเตียน เป็นการดีที่พวกเขาจะกลัวการทำบาป ชุมชนนี้เกิดใหม่ ต้องการขอบเขต ต้องการความเข้าใจว่า บาปเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงชัง … พวกเขาจะต้องไม่ทำบาปตรงนี้เป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำว่า คริสตจักร ซึ่งหมายถึงการชุมนุมกันของผู้เชื่อในพระเจ้า
9* 1 โครินธ์ 10:9, สดุดี 95:8-11 10* – 11* กิจการ 19:17, 1 เปโตร 1:17

การขัดขวางพระกิตติคุณ 

กิจการ 5:12-16
คงจำได้ว่าที่เฉลียงโซโลมอนเคยมีการอัศจรรย์ที่บันทึกไว้ (3:11) คนเป็นอัมพาตได้รับการรักษาให้หาย และทำให้เกิดเรื่องราวขึ้น พวกศิษย์ถูกห้ามกล่าวพระนามของพระเยซู แต่ตอนนี้ หมายสำคัญและการอัศจรรย์เกิดขึนถี่มาก ผู้ป่วยต่างพากันมาหาอัครทูตเพื่อให้ช่วยรักษาโรค และพวกเขาก็หายสนิทด้วย… 
ถึงอย่างนั้นยังมีคนมากมายที่ไม่กล้าเข้ามาเชื่อ พวกเขายังกลัวอิทธิพลของเหล่าธรรมาจารย์ที่อาจจะไล่พวกเขาออกจากธรรมศาลาแม้คนจะเชื่อว่าเงาของเปโตรทำให้หายโรคได้ แต่ท่านลูกาไม่ได้บอกว่าหายจริงหรือเปล่า การอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นผลจากการอธิษฐานในบทที่ 4:29-30
12* 2 โครินธ์ 12:12, ฮีบรู 2:4, กิจการ 3:11 13* กิจการ 2:47, 4:21, 19:17, 14* กิจกากร 2:47, อิสยาห์ 55:11-13 15* มัทธิว 9:21,14:36, กิจการ 19:11-12 16* มาระโก 16:17-18, ยากอบ 5:16, 1 โครินธ์ 12:9 

นักโทษเป็นอิสระ

กิจการ 5:17-20
ท่านลูกาเขียนไว้ชัดว่า พวกมหาปุโรหิตและสะดูสี อิจฉาที่ประชาชนตามอัครทูตไป พวกเขาแก้ปัญหาด้วยการสั่งขังในคุกหลวง คู่แข่งจริง ๆ ของพวกเขาคือพระเจ้า แต่เขามองเห็นแค่อัครทูตเท่านั้น อัครทูตถูกจำคุก แต่ไม่คาดฝัน มีทูตสวรรค์องค์หนึ่งมาหา และสั่งให้ตามออกไปสั่งด้วยว่าให้ไปประกาศพระกิตติคุณอย่างครบถ้วนแก่ประชาชนที่พระวิหาร สิ่งที่ทูตสวรรค์ให้อัครทูตทำนั้น ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นการท้าทายอำนาจของผู้นำศาสนายิวแบบว่าไม่กลัว ไม่เกรง อัครทูตชนกันซึ่ง ๆ หน้า แต่ในทางของพระเจ้านั้นคือ พวกเขาจะกลัวไหม จะเชื่อฟังพระเจ้าหรือมนุษย์? 
17* กิจการ 17:5, 13:45, 7:9, 18* กิจการ 4:3,ลูกา 21:12, วิวรณ์ 2:10, ฮีบรู 11:36 19* กิจการ 16:26, สดุดี 34:7, กิจการ 27:23, 20* ยอห์น 6:63, 68, 

กิจการ 5:21-22
อัครทูตซึ่งน่าจะนำโดยเปโตรก็ทำตามคำสั่งของทูตสวรรค์ตั้งแต่เช้า พวกเขาไปที่พระวิหารและก็ตั้งต้นประกาศพระกิตติคุณอย่างไม่กลัวใครเลย ทั้งเชื่อฟัง ทั้งไม่กลัวคำสั่งของทูตสวรรค์ที่มาจากพระเจ้า ทำให้พวกเขารู้ว่า การประกาศพระนามจะต้องดำเนินต่อไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น  .. แต่ในเช้าวันนั้น ยังไม่มีใครในสภารู้เรื่อง พอเรียกประชุมสภา กว่าจะมากันครบ กว่าจะเรียกออกมาจากคุกก็คงสายมาก อัครทูตก็ประกาศพระนามไปเยอะแล้ว และสภาก็เพิ่งรู้ว่า ไม่มีใครอยู่ในคุกที่อุตส่าห์จับขัง
21* ยอห์น 8:2, กิจการ 22:2-3, 15, 22* –

กิจการ 5:23-26
ดูสิ อุตส่าห์จับไปขัง และออกมาเมื่อไรไม่มีใครรู้เห็น แต่แล้วมีรายงานเข้ามาว่านักโทษทั้งหลายกำลังประกาศในพระวิหาร สภาอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ประชาชนที่ฟังอยู่ก็สำคัญ ถ้าไม่ได้ประชาชนเป็นพวก การปกครองก็จะลำบากมาก เขาสั่งให้จับอัครทูตกลับมาที่สภา.. เหตุใดคนพวกนี้จึงกล้าท้าทายอำนาจของสภายิว?
23* สดุดี 33:10, 2:4, ยอห์น 8:59 24* กิจการ 4:1, 21, ยอห์น 12:19 25* – 26* กิจการ 4:21, ลูกา 22:2, 20:19

กิจการ 5:27-32 
พวกเขาเอาอัครทูตมาที่สภาเพื่อขู่เพิ่มขึ้น “ก็สั่งห้ามแล้ว แล้วกลับสอนไปทั่วเมือง เจ้าพยายามจะแก้แค้นให้เลือดมาตกที่พวกเรารึ?”  “แต่เราต้องเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่า ท่านตรึงพระเยซูตาย แต่ทรงฟื้นขึ้น1มาตอนนี้ทรงอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์พระเจ้า อิสราเอลกลับใจก็จะได้รับการยกโทษ … เราและพระวิญญาณเป็นพยานเรื่องนี้” กลับกลายเป็นว่าอัครทูตกำลังประกาศพระกิตติคุณของพระเจ้าในสภายิว! อะไรกันนี่ เปลี่ยนจากพระวิหารมาสู่สภา คิดดูแล้วกันว่า ในขณะนั้นจะเกิดความโกลาหลขนาดไหน พอเวลาความเกลียด ความอิจฉานำกลุ่มชน มันจะกลายเป็นการนองเลือดได้ ขณะที่ฟังอัครทูตกล่าว แน่นอนต้องมีคนไม่เห็นด้วย และมีคนเห็นด้วย พวกเขา
27* มัทธิว 5:22, กิจการ 22:31-23:1 28* กิจการ 7:52, 1 เธสะโลนิกา 2:15-16 29* 1 ซามูเอล 15:24, กิจการ 4:19 30* กาลาเทีย 3:13, 1 เปโตร 2:24, กิจการ 10:39  31* ลูกา 24:47 , กิจการ 11:18 อิสยาห์ 9:6 32* ยอห์น 15:26-27, ฮีบรู 2:3-4, กิจการ 13:31 

คำเตือนสติจากกามาลิเอล

กิจการ 5:33-36
แต่แล้ว ท่านกามาลิเอลซึ่งเป็นฟาริสีที่ใคร ๆ เคารพ ก็เข้ามาสยบความโกรธอันร้อนแรงของเหล่าปุโรหิตและธรรมาจารย์ความโกรธที่พร้อมจะฆ่าคนให้ตายต่อหน้าต่อตา กามาลิเอลเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น คือมีธูดาสตั้งตัวเป็นผู้นำ คนตามมากมาย แต่เมื่อธูดาสตาย คนก็สลายตัว ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ  
33* มัทธิว 9:14, 34* ยอห์น 3:29, 36* มาระโก 2:21,22 

กิจการ 5:37-40a
ต่อมามีคนชื่อยูดาสตั้งตัวให้คนตามเหมือนกัน แต่เมื่อเขาตาย ผู้คนก็แยกย้ายกันไป กามาลิเอลเตือนสติพวกเขาว่า อย่าไปยุ่งเลย ถ้าพวกอัครทูตทำด้วยกำลังตนเอง เดี๋ยวก็จะจบ ผู้คนจะไม่ตามต่อไป แล้วก็กลับมายังพระวิหารเหมือนเดิม แต่หากเรื่องนี้มาจากพระเจ้า ก็เท่ากับทุกคนต่อต้านพระเจ้า หาเรื่องใส่ตัวไปทำไม ก็เป็นคำเตือนที่มีปัญญาให้กับคนที่กำลังร้อนใจอยากกำจัดอัครทูต  
38* มัทธิว 15:13, เพลงคร่ำครวญ 3:37 39* สุภาษิต 21:30, กิจการ 7:51 40* มัทธิว 10:17

กิจการ 5:40b-42
พวกสภายิวจึงตัดสินใจแค่โบย ก็คือเพื่อให้เกิดความกลัวแต่อัครทูตกลับออกมาจากสภาทั้งที่เลือดอาบตามตัว ด้วยความยินดี เพราะเขาคิดว่า พระเจ้าทรงเห็นว่า เขาสมควรที่จะได้รับการดูหมิ่นเพื่อพระนาม จากนั้น พวกเขาจึงประกาศว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์ หรือพระเมสสิยาห์ต่อไปทั้งในพระวิหารและตามบ้าน โดยไม่เว้นแม้สักวันเดียว 
นี่คือตัวอย่างของการประกาศ ทำไปทุก ๆ วัน แม้เกิดเหตุที่เจ็บปวด แต่ก็ไม่หยุดที่จะประกาศพระนามที่พวกเขารักมากที่สุด 
41* 1 เปโตร 4:13-16, ยากอบ 1:2, 42* 2 ทิโมธี 4:2, กิจการ 20:20