กิจการ 15 พระคุณที่ถูกคุกคาม


ความขัดแย้งที่กลายเป็นโอกาส

คำอธิบายเพิ่มเติม

พระคุณที่ถูกคุกคาม
กิจการ 15:1-2
แล้วก็เกิดเรื่องที่ไม่น่าเกิด มีคนมาบอกพี่น้องว่า ถ้าจะมาเชื่อพระเยซู จะรับความรอดก็ให้เข้าสุหนัตตามบัญญัติของโมเสส นี่ทำให้เปาโลถึงโกรธมาก .. การมาเชื่อคือเชื่อในฤทธิ์แห่งไม้กางเขน การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูจึงจะรอด ไม่ใช่ต้องทำตามกฎของยิวที่มีมาก่อน หรือทำดีเพื่อได้รับความรอด แต่ในเมื่อทั้งสองเถียงกันไม่จบ จึงตกลงว่าจะต้องให้เปาโลกับบารนาบัสไปปรึกษากลุ่มอัครทูต และผู้ปกครองที่อยู่ในเยรูซาเล็ม ทำให้เราเห็นว่า บางเรื่องในคริสตจักรก็ต้องมีการคุยกันเพื่อแก้ปัญหาด้วย (เปาโลได้เขียนอย่างชัดเจนในเอเฟซัส 2:8-9.. ความรอดเป็นของประทานจากพระเจ้าให้กับผู้ที่เชื่อ ไม่ใช่ด้วยการประพฤติ)
กิจการ 15:3-5
แต่พอมาถึงเยรูซาเล็ม กลับมีคนที่เห็นด้วยกับฟาริสี เพราะพวกเขายังติดกรอบความคิดเดิม ว่าต้องทำดีมาก ๆต้องให้เป็นที่พอพระทัยด้วยความดีต่าง ๆ แต่ด้วยพระปัญญาของพระเจ้า กรอบความคิดนั้น ใช้ไม่ได้เลย เนื่องจากว่า ไม่มีใครเป็นคนดีได้เต็มร้อย เรื่องนี้ฟาริสีไม่เข้าใจ บางทีพวกเราคนไทยก็เหมือนกัน เพราะเราคิดว่าทำบุญมาก ๆ ทำดีมาก ๆ มันก็น่าจะเป็นทางให้เราไปสู่สิ่งที่ดีนี่นา
กิจการ 15:6-8
รื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก คนจะรอดได้ด้วยความดีของตนเองอย่างนั้นหรือ? ถ้าอย่างนั้นการสิ้นพระชนม์ขององค์พระเยซูเจ้าจะมีประโยชน์อันใด? ทำไมพระเจ้าต้องส่งพระบุตรลงมา? ดังนั้นพวกเขาจึงต้องประชุมกันอย่างเคร่งเครียด และเปโตรที่พวกเขาคุ้นเคย ก็ได้ลุกขึ้นมาอธิบาย ว่าตัวเขาเองก็ได้เห็นว่า พระเจ้าทรงเทพระวิญญาณมาเหนือคนต่างชาติทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่ได้เข้าสุหนัต พระองค์ทรงมองเห็นจิตใจที่มีความเชื่อ หากพระเจ้าทรงยอมรับ แล้วทำไมเราจึงจะมาใช้กฎบังคับพวกเขากัน
กิจการ 15:9-11
เปโตรอธิบายชัดเจนว่า พระเจ้าทรงชำระ ไม่แยกยิวแยกต่างชาติอีกต่อไป และทุกคนต้องรอดด้วยพระคุณของพระเจ้า เปโตรยังไม่ลืมนิมิตที่เขาเห็นบนหลังคาบ้าน การชำระชีวิตนั้นเกิดเพราะพวกเขาเชื่อก่อน…
เปโตรชัดเจนมากที่จะบอกว่า กฎต่าง ๆ ของยิวนั้น เยอะเกินที่ใครจะรักษาได้ ดังนั้น ไม่ควรเอากฎใด ๆ มาบังคับความเชื่อของผู้อื่น
เหตุการณ์ครั้งนี้ สำคัญมาก ที่จะช่วยให้เราไม่หลงกลคนที่มาบอกว่าต้องถวายเงินเยอะ ๆ ต้องทำดีมาก ๆ ต้องอย่างนั้น อย่างนี้ … เพราะว่าในโลกของเรามีคนหลอกลวงมากมาย หลอกเอาอำนาจ เอาเงินของพี่น้อง
กิจการ 15:12-14
ทุกคนนิ่ง และฟังเหตุผลจากคำกล่าวของเปาโลและบารนาบัส หลักฐานที่เกิดขึ้นจริง พวกเขาไม่ได้พยายามสู้ตามความคิด แต่มีการฟังซึ่งกันและกัน
แล้วยากอบซึ่งเป็นน้องของพระเยซู(ผู้เขียนหนังสือยากอบ และเป็นหนึ่งในผู้นำคริสตจักรยุคแรก) จึงลุกขึ้นมาอธิบายย้ำอีกครั้ง ตอนนี้เราเห็นแล้วว่า อัครทูต ผู้ใหญ่ในเยรูซาเล็มมีความเข้าใจชัดว่า พระเจ้าทรงประสงค์สิ่งใด
กิจการ 15:15-19
ยากอบได้อธิบายโยงไปถึงพระคัมภีร์เดิมคือ อาโมส 9:11-12 พระเจ้าทรงกล่าวถึงคนอิสราเอลที่ยังหลงเหลือกับ คนชาติต่าง ๆ ที่ได้รับเรียกว่าเป็นคนของพระองค์ แสดงว่าพระเจ้าทรงมีพระทัยเผื่อคนต่างชาติมานานแล้ว ไม่ใช่จะให้แค่คนยิวได้รับพระพร ดังนั้น ท่านยากอบเห็นว่า ไม่ควรเอาบัญญัติยิวมาเป็นเครื่องกีดขวางความเชื่อของคนต่างชาติ
พอมาถึงตรงนี้ ทุกคนที่อยู่ในที่ประชุมน่าจะตระหนักถึงสิ่งที่พวกเขาเองหลายคนไม่เคยคิดมาก่อน แต่ก็ต้องยอมรับเพราะยากอบอ้างถึงพระคัมภีร์เดิมที่พวกเขาเชื่อถือ
กิจการ 15:20-21
ยากอบจึงสรุปเลยว่า สิ่งที่ควรทำต่อคนต่างชาติที่มาเชื่อก็คือ ช่วยให้พวกเขาไม่ทำบาปที่เคยทำเป็นกิจวัตรตอนที่ยังไม่เชื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งบาปที่เกี่ยวข้องกับรูปเคารพ พวกเขาต้องเข้าใจว่า เมื่อบังเกิดใหม่แล้ว ชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างไร
กิจการ 15:22-23a
ดังนั้น พี่น้องจึงต้องการคนที่จะอธิบายให้เข้าใจ สงสัยอะไรก็ถามได้ ดังนั้น จึงตั้งยูดาส และสิลาสไปกับเปาโลและบารนาบัส พร้อมกับจดหมายที่เขียนลงเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อจะได้อ่านกันชัดเจนว่าได้ตกลงกันอย่างไร
กิจการ 15: 23b-29
อันทิโอกทางใต้เป็นเมืองสำคัญของแคว้นซีเรียและซิลิเซีย แต่อยู่ภายใต้การปกครองของโรม เราจะเห็นจากจดหมายถึงความสัมพันธ์ของพี่น้องต่างเมือง และการช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณที่มีต่อกัน
คนที่พยายามให้พี่น้องอันทิโอกแล้วก่อให้เกิดความสับสนในความเชื่อ ไม่ได้มาจากเยรูซาเล็มแน่นอน แต่เป็นคนอื่น มาจากที่อื่น คริสตจักรในเยรูซาเล็มมีความชัดเจนในเรื่องความเชื่อและช่วยให้พี่น้องที่ยังอ่อนความเชื่อได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง พวกเขาได้ยึดมั่นในองค์พระวิญญาณในการเขียนจดหมายนี้ ไม่ได้คิดเองเออเอง แต่โดยการทรงนำ และการปรึกษากับพี่น้องที่เติบโตในความเชื่อ
กิจการ 15:30-35
เป็นอันว่า ความสับสนจากคนที่พยายามให้พี่น้องเชื่อผิด ได้รับการแก้ไข เป็นเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้เชื่อต่างเมือง และแทนที่จะรีบกลับ ก็มีการหนุนใจอยู่อีกหลายวัน ในที่สุด ยูดาสและสิลาสก็จากไป แต่เปาโลกับบารนาบัสก็อยู่ต่อเพื่อช่วยให้พี่น้องเติบโต

ความขัดแย้งที่กลายเป็นโอกาส
กิจการ 15:36-39a

เปาโลชวนบารนาบัสเดินทางกลับไปเยี่ยมเมืองต่าง ๆ ที่เคยประกาศ และสร้างคริสตจักรไว้ แม้บารนาบัสขอให้เขายอห์น มาระโกไปด้วย ท่านเปาโลก็ไม่เห็นด้วย เพราะยอห์นเคยทิ้งพวกเขาไปก่อนหน้านี้ แต่ในเมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงต้องแยกทางกัน เราไม่ทราบว่าทั้งสองโกรธกันมากหรือเปล่า แต่ดูเหมือนว่าความขัดแย้งครั้งนี้ จะทำให้กลายเป็นคนสองกลุ่มที่ออกไปสองทิศเพื่อประกาศพระนาม
กิจการ 15:39b-41
เป็นอันว่า บารนาบัสไปกับยอห์นมาระโก และเปาโลไปกับสิลาส พวกเขาได้รับพรจากพี่น้องในอันทิโอก (สิลาสน่าจะกลับมาอีกครั้ง) ทั้งสี่ได้มีโอกาสไปหนุนใจพี่น้องอีกมากมาย เปาโลกับสิลาสเดินทางบกไปทางเหนือ เพื่อเยี่ยมพี่น้องที่เคยพบกันมาก่อน ส่วนบารนาบัสกับยอห์นมาระโกลงเรือไปไซปรัส …ต่อมาเปาโลเองก็ได้ชื่นชมบารนาบัส (1 โครินธ์ 9:6) และยอห์นมาระโก (โคโลสี 4:10) แสดงว่า ความขัดแย้งครั้งนั้นไม่ได้ทำให้เกิดความขมขื่นแต่อย่าง
ใด

ข้อพระคำเชื่อมโยง

1* กาลาเทีย 5:6; เลวีนิติ 12:3
2*กิจการ 15:22-23; กาลาเทีย 2:1-2
3* กิจการ 14:27; 21:5
4* กิจการ 14:27; 21:7; 3 ยอห์น 1:8-10
5* กาลาเทีย 5:1-3
6* สุภาษิต 15:22; ฮีบรู 13:17
7* โรม 10:17-18; กาลาเทีย 2:7-9
8* กิจการ 1:24; 10:47
9* เอเฟซัส 3:6; กิจการ 10:28;
โคโลสี 3:11
10* มัทธิว 23:4; กาลาเทีย 5:1,4:9

11* โรม 3:24; ทิตัส 3:4-7
12* กิจการ 14:27; 15:4
13* กิจการ 12:17; ยากอบ 1:19
14* 1 เปโตร 2:9-10
15* โรม 15:8-12
16* อาโมส 9:11-12; ลูกา 1:31-33
17* เศคาริยาห์ 2:11; 8:20-23; อิสยาห์ 65:1
18*เอเฟซัส 3:9; 1:4
19* 1 เธสะโลนิกา 1:9
20*วิวรณ์ 2:20; 2:14; เลวีนิติ 3:17
21* กิจการ 13:15,27

24*ทิตัส 1:10-11; กาลาเทีย 1:7; 5:10
26* กิจการ 13:50; 14:19
29* กิจการ 15:20, 21:25; เลวีนิติ 17:14; โคโลสี 3:5
32* เอเฟซัส 4:11; กิจการ 14:22; 18:23
33*ฮีบรู 11:31
35* กิจการ 13:1
37* กิจการ 12:12;25
38* กิจการ 13:13
39* กิจการ 4:36; 13:4
40* กิจการ 11:23; 14:26
41* กิจการ 16:5