กาลาเทีย 4 สิ่งตรงข้าม ทาส-ไท บัญญัติ-พระคุณ

เราเป็นผู้รับมรดก

ข้าหมายความว่า แม้ผู้รับมรดกจะเป็นเจ้าของทุกสิ่ง ตราบใดที่เขายังเป็นเด็ก ก็ไม่ต่างอะไรกับเป็นทาส เขาอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง และผู้จัดการทรัพย์สิน จนกว่าจะถึงวันที่บิดาของเขากำหนดให้เขาได้รับมรดกนั้น
กาลาเทีย 4:1-2

กาลาเทีย 4:23; 2 พงศ์กษัตริย์ 11:12; 10:1-2;

ท่านเปาโลเปรียบเทียบคนของพระเจ้าก่อนที่
พระเยซูคริสต์จะเสด็จมา กับหลังจากที่พระองค์
มาบังเกิดในโลกแล้ว อีกที โดยในบทที่ 3:23-29. ท่านก็ทำให้เห็นความแตกต่างของการตกเป็นทาสของบัญญัติและการมีอิสระในพระคริสต์ ตอนนี้ท่านกล่าวว่า หากยังไม่ถึงเวลา ผู้รับมรดกคนหนึ่งก็เปรียบได้กับลูกที่ยังอายุไม่ถึง เขาก็เหมือนทาสคนหนึ่ง ที่ยังไม่มีอะไรเป็นของตนเอง เมื่อถึงเวลาที่ได้รับมรดก เขาก็จะเป็นอิสระจากผู้ดูแลทั้งสองและมีความรับผิดชอบในสิ่งที่เขาได้รับในพระคริสต์

เราก็เช่นเดียวกัน
ในเมื่อเรายังเป็นเด็ก
เราตกอยู่ใต้อำนาจ
ของหลักการพื้นฐานของโล

กาลาเทีย 4:3

โคโลสี 2:8; 2:20; กาลาเทีย 4:9, 2:4, 4:31-5:1; กิจการ15:10

หลักการพื้นฐานของโลกที่เราอยู่ใต้อำนาจคือ
หลักการทั่วไปที่เชื่อกันอยู่ อย่างเช่น กฎบัญญัติ
ทางศาสนา ศีลต่าง ๆ ที่มนุษย์พยายามปฏิบัติ
โดยเชื่อว่าจะทำให้เป็นคนดี พ้นทุกข์ ถ้าเป็นสมัยนี้ ก็น่าจะรวมไปถึงคำคมทั้งหลายที่มนุษย์ยึดมั่นเพื่อว่าชีวิตจะดีขึ้น บางอย่างก็ไม่น่าจะเป็นอันตราย แต่มีหลักการพื้นฐานที่ขัดกับพระประสงค์ของพระเจ้าชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการที่เราต้องพึ่งตนเอง เพื่อจะได้รับชีวิต เพราะความจริงคือ
พระองค์เท่านั้นที่ทรงช่วยให้เรารับชีวิตแท้ได้

ผู้รับมรดกเป็นอิสระ

แต่เมื่อเวลาที่เหมาะสมมาถึง พระเจ้าทรงส่งพระบุตรลงมา ให้บังเกิดจากมารดาที่เป็นมนุษย์ เกิดใต้บัญญัติเพื่อไถ่คนที่อยู่ใต้บัญญัติ เพื่อว่าเราจะรับสิทธิเป็นบุตรพระเจ้าอย่างสมบูรณ์
กาลาเทีย 4:4-5

อิสยาห์ 7:14; มาระโก 1:15; 1 ยอห์น 4:14; มัทธิว 1:23 ; ฮีบรู 9:15; 1 เปโตร 1:18-20; เอเฟซัส 1:5

เวลาที่พระเยซูมาบังเกิดนั้น เหมาะสมกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ว่ามารดาเป็นมนุษย์ มีความหมายชัดเจนว่า บิดาไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นพระบิดาพระบุตรพระเจ้าได้ทรงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ทรงสิทธิ์ทุกประการที่จะไถ่บาปของมนุษย์ได้ยิ่งกว่านั้น เมื่อเราได้รับการไถ่บาปจากพระองค์แล้ว ทรงเพิ่มฐานะให้เราเป็นบุตรของพระเจ้าไม่เหมือนคนที่ไม่เชื่อ แม้ว่าคนเหล่านั้นเป็นของพระเจ้าเพราะพระองค์ทรงสร้างเขามา แต่พวกเขา
ไม่ได้เป็นบุตรที่ได้รับการไถ่จากพระเยซู!

เราเป็นลูกของพระเจ้า

เพราะท่านเป็นลูกของพระเจ้า พระองค์ทรงได้ส่งพระวิญญาณของพระบุตร เข้ามาในใจของเราเพื่อเรียกว่า “อับบา พระบิดาที่รัก” ดังนั้นท่านจึงไม่เป็นทาสต่อไปแต่เป็นบุตร และหากท่านเป็นบุตรท่านก็เป็นผู้รับมรดกผ่านพระคริสต์
กาลาเทีย 4:6-7

โรม 8:15-17, 5:5; ฟีลิปปี 1:19; เอเฟซัส 2:18; กาลาเทีย 3:29-4:2; 1 โครินธ์ 3:21-23; โรม 8:16-17

คำว่าอับบา เป็นภาษาอาราเมคที่เด็ก ๆ ใช้เรียกพ่อ สุดยอดแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิต จากคนที่ละเมิดพระเจ้ากลับได้รับการอภัยบาป ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าทรงส่งพระวิญญาณเข้ามาในใจ เพื่อให้เราได้สนิทสนมกับพระองค์ ยังไม่พอ พระเจ้าทรงให้เราได้เป็นผู้รับมรดกฝ่ายวิญญาณทุกประการที่ทรงเตรียมไว้ในพระคริสต์ นี่คือพระคุณซ้อนพระคุณหลายต่อ

เลือกว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร

ก่อนนี้ ตอนที่ท่านยังไม่รู้จักพระเจ้า ท่านเป็นทาสของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่พระเจ้า แต่บัดนี้ท่านได้รู้จักพระเจ้าแล้ว พูดอีกอย่างคือ พระเจ้าทรงรู้จักท่าน แล้วท่านจะกลับไปยังอำนาจที่อ่อนแอ ไร้ค่าทำไม? ท่านต้องการกลับเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นอีกครั้งหรือ? 
กาลาเทีย 4:8-9

1 เธสะโลนิกา 4:5; 1 โครินธ์ 8:3-4; 2 เธสะโลนิกา 1:8; เอเฟซัส 2:11-12; กาลาเทีย 3:3; โรม 8:3

สิ่งที่ทำให้ท่านเปาโลประหลาดใจนักคือ
เหมือนกับว่า ได้เป็นเจ้าชายแล้วทำไมยังอยาก
กลับไปเป็นทาสอีก ในสุภาษิตไทยก็คือ
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นสิ่งที่ไร้ค่าเป็นสิ่งที่
มีคุณค่า และก็ติดตามมันไป ทุกวันนี้ เราเห็นตำตากันว่า คนจำนวนมากพร้อม
ที่จะติดตามสิ่งที่ให้โทษกับชีวิตของตนเอง
และสื่อต่าง ๆ ก็ชวนให้คนทำตามวิถีแบบนั้น เราจะช่วยอะไรใครไม่ได้เลย ถ้าเรายังอยู่เฉยในโซนสบายของชีวิตเรา

ท่านคอยถือวัน เดือน ฤดู และปี
ข้าเกรงว่า แรงที่ข้าได้ทำไปเพื่อท่านนั้น จะเป็นการไร้ประโยชน์
กาลาเทีย 4:10-11

โคโลสี 2:16-17; โรม 14:5; เลวีนิติ 23:1-44; 1 เธสะโลนิกา 3:5; กาลาเทีย 2:2; 2 ยอห์น 1:8

ในสังคมยิวสมัยก่อนของท่านเปาโลนั้น ท่าน
พบว่า คนในศาสนายิว สนใจที่จะทำพิธีต่าง ๆ
ตามเทศกาล ตามกฎที่วางไว้ แทนที่จะใส่ใจ
ทำตามน้ำพระทัยพระเจ้า พิธีกรรมต่าง ๆ
นั้น ดูเหมือนศักดิ์สิทธิ์ทำให้เข้าไปอยู่ในโลก
วิญญาณ นึกว่าเป็นสิ่งที่พระเจ้าจะพอพระทัย
มาก ๆ แต่..เรากลับเข้าใจผิด!
โลกทุกวันนี้ ก็ตามสิ่งไร้ค่าเช่นกัน เราควรถาม
ตัวเองว่า มีอะไรที่ไร้ค่าแล้วเรายังตั้งใจติดตาม
มันอยู่ แล้วลืมสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตไป

ระลึกถึงครั้งแรกที่พบกัน

พี่น้องทั้งหลาย ข้าขอร้องว่า
ขอให้ท่านเป็นเหมือนอย่างข้า
เพราะข้าได้เป็นเหมือนท่าน
ท่านเองไม่ได้ทำผิดอะไรต่อข้าเป็นส่วนตัวท่านรู้อยู่แล้วว่า ตอนที่ข้าประกาศข่าวประเสริฐแก่ท่าน เป็นช่วงที่ข้าเจ็บป่วย
กาลาเทีย 4:12-13

2 โครินธ์ 2:5; 1 พงศ์กษัตริย์ 22:4; ปฐมกาล 34:15; 1 โครินธ์ 2:3; 2 โครินธ์ 12:7-10

ท่านเปาโลขอร้องให้ชาวกาลาเทียเลียนแบบชีวิตของท่านเพื่อว่าพวกเขาจะได้ไม่ถูกหลอกไปตามคนที่พึ่งในกฎศาสนายิว แต่ไม่พึ่งพระคุณพระเจ้า ท่านเคยเป็นคนที่หลงคิดว่าตนเป็นคนดี เคร่งครัดแต่มาบัดนี้ ท่านรู้ตัวว่า ชีวิตของท่านขึ้นอยู่กับพระเมตตาของพระเจ้าไม่ใช่ความดีของตนเองตอนที่ท่านไปประกาศในกาลาเทียนั้น ชาวกาลาเทียดีต่อท่าน ไม่เหมือนพวกยิวที่คอยขัดขวางและทำร้าย
(กิจการ13:13-14) และตอนนั้นเองเปาโลก็ป่วย
ด้วย (เราไม่ทราบว่าท่านป่วยด้วยโรคอะไร)

แต่ถึงแม้ว่าป่วยขนาดนั้นซึ่งดูเป็นการทดลองใจท่าน ท่านก็ไม่ได้ดูหมิ่นหรือปฏิเสธข้าเลย ท่านกลับต้อนรับข้าราวกับเป็นทูตสวรรค์จากพระเจ้า ราวกับข้าเป็นพระเยซูคริสต์เสียด้วยซ้ำ!
กาลาเทีย 4:14

มัทธิว 10:40; 1 เธสะโลนิกา 2:13; 2 โครินธ์ 5:20

ท่านเปาโลยังจำได้ว่า ขนาดที่ป่วยหนักพอควร
แล้วประกาศพระนามพระเจ้า ชาวกาลาเทียก็ไม่ได้คิดมาก ไม่ดูหมิ่นผู้รับใช้ของพระเจ้า
พวกเขาได้ต้อนรับท่านเปาโลดีมาก ๆ ท่านรู้สึก
ว่าพวกเขาปฏิบัติต่อท่านราวกับท่านเป็นองค์
พระเยซูเอง … การทำเช่นนั้นของชาวกาลาเทีย
ทำให้เรามองเห็นว่า พวกเขามีน้ำใจต้อนรับแขกและเป็นคนดีอยู่แล้ว และบางครั้งคนดีเหล่านี้ก็อาจเป็นคนเชื่อคนอื่นง่ายเหมือนกัน ทำให้พวกเขาหลงกลยิวที่สอนผิด

แล้วตอนนี้ความยินดีแบบนั้นหายไปไหน? เพราะข้าเป็นพยานได้เลยว่าหากเป็นไปได้ ท่านก็คงควักดวงตาของ
ท่านมอบให้ข้า แล้วทำไมตอนนี้ข้าจึงกลายเป็นศัตรูของท่านเพียงเพราะข้ายังคงบอกความจริงแก่ท่าน?
กาลาเทีย 4:15-16

1 ยอห์น 3:16-18; 1 เธสะโลนิกา 5:13, 2:8; โคโลสี 4:13; อาโมส 5:10; สุภาษิต 9:8


ใช่แล้ว ชาวกาลาเทียเป็นคนเชื่อคนง่าย
เขาเคยมีความสุขกับท่านเปาโล แต่มาบัดนี้กลับหลงเชื่อครูยิวที่สอนผิด และพวกนี้ไม่ใช่แค่สอนผิดเท่านั้น แต่ได้ใส่ร้ายท่านเปาโลด้วย
คนกาลาเทียกับคนในสมัยปัจจุบัน ก็ไม่ได้ต่างกันมากนักคือ ไม่ค่อยคิดอะไรเอง แต่เมื่อมีข่าวอะไรที่น่าตื่นเต้น ก็จะเชื่อไปตามนั้นโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง มีคนกล่าวว่าคนเรามักเชื่อด้วยอารมณ์ไม่ใช่ด้วยเหตุผล การโฆษณาชวนเชื่อด้วยวิธีต่าง ๆ จึงได้ผลเสมอ

ระวังคนหวังผลประโยชน์

ข้ารู้ว่าคนเหล่านี้พยายามเอาชนะใจท่าน แต่ก็เป็นเพื่อประโยชน์ของพวกเขาเอง เขาต้องการให้ท่านแยกจากข้า ความกระตือรือร้นนั้นดี ถ้าเป้าหมายดี แต่ควรเป็นอย่างนั้นทุกเวลา ไม่ใช่เฉพาะตอนที่ข้าอยู่กับพวกท่านเท่านั้น
กาลาเทีย 4:17-18


2 เปโตร 2:3; 2 โครินธ์ 11:13-15; โรม 16:18; วิวรณ์ 3:19; ฟีลิปปี 2:12; ทิตัส 2:14

คนยิวที่เคร่งศาสนายิว พยายามเอาคริสเตียนชาวกาลาเทียไปเป็นพวกด้วยการเอาใจต่าง ๆ
พวกเขาหลงไปง่าย เพราะชาวกาลาเทียยังไม่เข้าใจและอาจจะไม่เห็นความแตกต่างของความเชื่อคริสเตียนและความเชื่อศาสนายิว พวกเขาอาจเห็นความกระตือรือร้นของยิว ก็เลยคิดว่าดีกว่าเที่ยงธรรมกว่า เมื่อเรามาเชื่อพระเจ้าจึงจำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานของความเชื่อให้กระจ่างและมั่นคง

ลูก ๆ ของข้าเอ๋ย ข้ากำลังต้องผ่านความเจ็บปวดราวกับหญิงคลอดบุตร จนกว่าพระคริสต์จะได้ก่อองค์ขึ้นในตัวท่าน ข้าปรารถนาที่จะอยู่กับพวกท่านในเวลานี้เลย และเปลี่ยนน้ำเสียงของข้า เพราะข้าสับสนกับพวกท่านนัก
กาลาเทีย 4:19-20

เอเฟซัส 4:13; โรม 8:29, 13:14; โคโลสี 4:12; 1 เธสะโลนิกา 2:17-18, 3:9

ตอนนี้เองท่านเปาโลกำลังบอกว่า ท่านรักพี่น้องเหล่านี้เหมือนลูก ๆ ท่านแสดงให้เห็นว่า จิตใจปวดร้าวเพียงใดที่ชาวกาลาเทียเข้าใจผิด หลงผิดไปจากทางแห่งพระคุณของพระเจ้า เมื่อเราได้นำคนหนึ่งมาหาพระเจ้า ไม่ใช่ว่าหนทาง
จะราบรื่นไปเสียหมด เพราะมีปัจจัยอื่นแทรกเข้ามาได้ตลอดเวลา เราจึงต้องเจ็บปวด อธิษฐานกับพระเจ้า และดูแล จนกว่าจะได้เห็นพระคริสต์ในแต่ละชีวิต

ระบบของโลกกับระบบของพระคุณ

ขอบอกข้ามา ท่านที่ต้องการอยู่ใต้บทบัญญัติ ท่านไม่เข้าใจบทบัญญัติหรือ?เพราะมีคำเขียนว่า อับราฮัมมีลูกชาย
สองคน คนหนึ่งจากหญิงเป็นทาสและอีกคนจากหญิงที่เป็นไท
กาลาเทีย 4:21-22

กาลาเทีย 3:10; 3:23-24;โรม 10:3-10; 7:5-6; ปฐมกาล 16:15; 21:10

และแล้วท่านเปาโลก็เริ่มอธิบายคำเปรียบเทียบที่คนไทยอย่างเราจะเข้าใจยาก เริ่มจากมีการเปรียบเทียบระหว่างสองอย่างคือลูกชายจากแม่ที่เป็นหญิงทาส กับลูกชายของแม่
ที่เป็นหญิงไท ทั้งสองมีความหมายถึงบทบัญญัติกับพระสัญญา ท่านกำลังต้องการสื่อว่าพี่น้องกาลาเทียจะเลือกอะไรระหว่าง การที่จะต้องทำตามบัญญัติ หรือการเป็นอิสระในพระคริสต์

ลูกที่เกิดจากหญิงทาสนั้นเกิดตามธรรมชาติมนุษย์ ในขณะที่ลูกชายจากหญิงที่เป็นไทเกิดขึ้นมาตามพระสัญญาของพระเจ้า
กาลาเทีย 4:23

ฮีบรู 11:11; โรม 9:7-8; ปฐมกาล 21:1-2; 18:10-14

ลูกชายของอับราฮัมคนแรก เกิดจากสาวใช้ของภรรยาอับราฮัมชื่อนางฮาการ์ เธอเป็นหญิงสาวที่พร้อมจะตั้งครรภ์ ลูกที่เกิดมาคืออิชมาเอลได้เกิดตามธรรมชาติมนุษย์
ส่วนลูกชายคนที่สองคืออิสอัค เกิดจากซาราห์ ภรรยาที่มีอายุมากเกินกว่าที่จะมีบุตร และในเวลาที่อับราฮัมก็มีอายุมากด้วย เขาเกิดมาได้เพราะอับราฮัมเชื่อในพระดำรัสของพระเจ้าว่าจะให้เขามีลูก นี่เป็นความแตกต่างของศาสนายิวที่พึ่งบัญญัติ กับคริสเตียนที่พึ่งพระเยซู


นี่เป็นการเปรียบเทียบ หญิงสองคนเปรียบได้กับพันธสัญญาสองอย่าง คนหนึ่งมาจากภูเขาซีนาย เกิดลูกเป็นทาส นั่นคือฮาการ์ ฮาการ์หมายถึงภูเขาซีนายในอาระเบีย เธอสอดคล้องกับเยรูซาเล็มปัจจุบัน เพราะเธอเป็นทาสพร้อมกับลูก ๆ ของเธอ แต่เยรูซาเล็มเบื้องบนนั้นเป็นไท และเธอเป็นแม่ของเรากาลาเทีย 4:24-26

กาลาเทีย 4:25; 1 โครินธ์ 10:11; ,มัทธิว 13:35; ฮีบรู 12:18, 22; กาลาเทีย 1:17; ฟีลิปปี 3:20

พันธสัญญาที่ภูเขาซีนายกับฮาการ์ก็เหมือนกัน คือทำให้ผู้ที่เชื่อต่อมา หรือลูกหลานกลายเป็นทาสบัญญัติ ซึ่งก็เหมือนกับเยรูซาเล็มที่เป็นศูนย์กลางของศาสนายิวเป็นที่ ๆ คนยิวพยายามทำตามบัญญัติเพื่อให้พระเจ้าพอพระทัย การเปรียบเทียบเช่นนี้ ท่านเปาโลต้องการเน้นให้เห็นถึงชีวิตทาสบัญญัติ ก้บชีวิตที่เป็นอิสระภายใต้พระคุณของพระคริสต์

เพราะมีคำเขียนว่า “จงยินดีเถิด หญิงที่เป็นหมัน ผู้ไม่เคยมีบุตร จงตะโกน ร้องเสียงดังเถิดผู้ที่ไม่เคยต้องเจ็บปวดกับการคลอดบุตรเพราะลูกหลานของหญิงที่ถูกทอดทิ้งก็มีมากกว่าลูกหลานของหญิงที่มีสามี
กาลาเทีย 4:27

อิสยาห์ 4:27; สดุดี 113:9; 1 ซามูเอล 2:5

ท่านเปาโลกำลังอ้างอิสยาห์ 54:1 ข้อความตอนนี้กล่าวถึงการที่พระเจ้าทรงรื้อฟื้นอิสราเอลจากการเป็นเชลย จากการพิพากษาของพระเจ้าเป็นคำพยากรณ์ที่บอกว่า จำนวนของคนที่เชื่อพระเยซูคริสต์นั้นจะมีมากกว่าคนยิวที่ยึดบทบัญญัตินั่นก็คือ คนที่จะเป็นลูกหลานของพระสัญญาจะมีจำนวนเกินหน้าเกินตาของคนยิว และในวันนี้ก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ทั้งโลกเต็มด้วยคนที่เชื่อในพระสัญญาของพระเจ้าทางพระเยซูคริสต์

แต่ท่านพี่น้องทั้งหลายเป็นลูกหลานของพระสัญญาเหมือนกับอิสอัคเวลานั้น คนที่เกิดมาตามธรรมชาติคอยข่มเหงคนที่เกิดด้วยวิญญาณและบัดนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น
กาลาเทีย 4:28-29

กาลาเทีย 4:23, 3:29; โรม 9:8-9; ปฐมกาล 21:9; กาลาเทีย 5:11; โรม 8:13

ที่ว่าคนเกิดตามธรรมชาติคอยข่มเหงคนที่เกิด
ด้วยวิญญาณหมายความว่าอย่างไรหรือ?
เราพบว่าคนยิวซึ่งถือบทบัญญัติอย่างเคร่งครัด
ก็มีความพยายามอย่างมากที่จะให้ผู้ที่เชื่อใน
พระสัญญาของพระเจ้า ตกหลุมเดียวกับพวกเขาคือกลายเป็นคนที่ถือบัญญัติ คิดว่าต้องทำความดีเพื่อที่จะโอเคกับพระเจ้า ในโลกปัจจุบันมีคนที่บอกว่าเชื่อพระเยซูคริสต์ แต่ก็ยังถือว่าไม้กางเขนของพระเยซูไม่เพียงพอ

แต่พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่าอย่างไร? “จงโยนหญิงทาสและลูกชายของเธอออกไป เพราะลูกของหญิงทาสจะไม่ได้รับส่วนมรดกกับลูกชายของหญิง
ที่เป็นไท”ดังนั้น พี่น้องทั้งหลาย
เราจึงไม่ได้เป็นลูกหลานของหญิงที่เป็นทาส แต่เป็นลูกหลานของหญิงที่เป็นไท
กาลาเทีย 4:30-31

ปฐมกาล 21:10-12; ยอห์น 8:35-36; โรม 8:15-17; กาลาเทีย 5:13; ยอห์น 1:12-13

ความหมายก็คือ เราต้องโยนทิ้งความเชื่อที่ว่า
“ตนเองต้องทำตามบัญญัติจึงจะรอด” ออกไปให้พ้น เพราะความเชื่อในพระคุณ กับความเชื่อในการทำตามบทบัญญัตินั้นไปด้วยกันไม่ได้
ยังมีคนที่เชื่อพระเยซูอีกเป็นจำนวนมากที่
เข้าใจผิดในเรื่องนี้ ความหมายของท่านเปาโล
มิได้บอกว่าเราต้องไม่ทำความดี แต่ท่านกำลัง
บอกซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า การทำความดี ไม่อาจทำให้คนๆ หนึ่งรอด แต่เมื่อรอดแล้ว เราต้องทำสิ่งดีตามที่พระเจ้าทรงบัญชา ยากอบ 1:25

กาลาเทีย 3 ผู้เชื่อ กับกฎบัญญัติและความเชื่อ

หลักการที่ช่วยให้ดำเนินต่อไปในความเชื่อ

ชาวกาลาเทียผู้โง่เขลา! ท่านได้เห็นพระเยซูคริสต์ถูกตรึงบนไม้กางเขนต่อหน้าต่อตา แล้วใครมาทำให้หลงไปได้?
สิ่งเดียวที่ข้าต้องการถามคือ ท่านรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วยการพยายามทำตามบทบัญญัติ หรือด้วยการเชื่อข่าวประเสริฐที่ท่านได้ยิน?
กาลาเทีย 3:1-2

กาลาเทีย 5:7-8, วิวรณ์ 2:20;
2 โครินธ์ 11:3;
โรม 10:16-17; กิจการ 15:8

ภาษาที่ท่านเปาโลใช้ตอนนี้ ทำให้เราเห็นถึงความอึดอัดใจ มีท่านหนึ่งแปลความหมายตรงนี้ว่าคนที่คิดได้แต่กลับไม่ได้ใช้ความคิด ใครมาทำให้หลง..มีความหมายว่าพวกเขามีความคิดสับสนไม่ตรงกับพระคัมภีร์จนเหมือนกับใครมาเสกทีเดียว
คำถามของท่านทำให้เราเห็นว่า เมื่อคน ๆ หนึ่งมาพบพระเจ้าแล้วพระวิญญาณของพระเจ้าจะประทับในตัวเขาแน่นอน แต่ต้องเป็นผลจากการที่เขาเชื่อข่าวประเสริฐของพระเจ้า ไม่ใช่การทำดีของเขาเอง

พวกท่านโง่เขลาหรือ?
ท่านได้เริ่มต้นด้วยพระวิญญาณ
ตอนนี้ท่านพยายามจบด้วยความพยายามของมนุษย์หรือ? พวกท่านได้รับประสบการณ์ที่เจ็บปวดมาโดยไร้ประโยชน์อย่างนั้นหรือ? .. ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไร้ประโยชน์จริง ๆ นั่นแหละ
กาลาเทีย 3:3-4

กาลาเทีย 5:4-8, 6:12-14; ฮีบรู 7:16-19;
2 ยอห์น 1:8; ฮีบรู 10:32-39; 1 โครินธ์ 15:2

กว่าจะมาเชื่อพระเจ้า ก็เจ็บปวดมามาก โดนคนยิวข่มเหงคริสตจักร เคยโดนคนอย่างเปาโลที่เคร่งครัดบทบัญญัติข่มขู่มาโดยตลอด
พวกเขาเริ่มต้นด้วยความเชื่อในพระเจ้า และ
ยืนหยัดกับความเชื่อนั้น แต่แล้ว ตอนนี้กลับ
ตกหลุมพรางของคำสอนผิด นี่เป็นตัวอย่างว่าเราอาจเริ่มต้นถูกแล้วจบลงผิด ๆ
ก็เป็นได้ การใช้ชีวิตคริสเตียนจึงต้องระวัง…

ตัวอย่างแห่งความเชื่อ : อับราฮัม

พระเจ้าผู้ประทานพระวิญญาณและราชกิจอัศจรรย์ท่ามกลางท่าน ทรงทำไปเพราะท่านทำตามบัญญัติหรือเป็นเพราะท่านเชื่อในข่าวประเสริฐ? เหมือนอย่างที่อับราฮัมเชื่อพระเจ้าและเขาจึงถูกนับว่าเป็นคนเที่ยงธรรม
กาลาเทีย 3:5-6

กาลาเทีย 3:5; 1โครินธ์1:4-5; กิจการ 19:11-12
ปฐมกาล 15:6; โรม 4:21-22; ยากอบ 2:23

เราได้รับพระวิญญาณของพระเจ้าเป็นมัดจำ
เราได้รับการอัศจรรย์พลิกชีวิตเดิมเป็นชีวิตใหม่ไม่ใช่เพราะกำลังของเราเอง แต่กลับได้รับพระคุณจากพระเจ้า เพราะเราเชื่อตามที่พระเจ้าตรัสให้เชื่อทำไมท่านเปาโลพูดเรื่องนี้ ซ้ำ ๆ ชัด ๆกลับมาพูดแล้วพูดอีก ไม่ไปเรื่องอื่น
เพราะว่า คนทั้งหลายไม่ยอมเข้าใจว่า พวกเขา
รับพระคุณของพระเจ้าเพราะความเชื่อ
ยังดื้อรั้นที่จะคิดว่าเป็นคนรักษาศีลจึงจะรอด

ดังนั้นขอให้เข้าใจว่า คนที่เชื่อต่างเป็นลูกหลานของอับราฮัม พระคัมภีร์รู้ล่วงหน้าว่า พระเจ้าจะทรงนับคนต่างชาติเป็นคนเที่ยงธรรมเพราะเขา “เชื่อ” จึงได้ประกาศข่าวประเสริฐแก่อับราฮัมล่วงหน้าว่า “ชาติทั้งหลายจะได้รับพรเพราะเจ้า”ดังนั้นทุกคนที่เชื่อก็ได้รับพระพรร่วมไป
กับอับราฮัมผู้ที่เชื่อพระเจ้า
กาลาเทีย 3:7-9

กาลาเทีย 3:26-29; ลูกา 19:9, โรม 3:30; 9:7-8; 4:24; ปฐมกาล 12:3; 22:18;28:14; กาลาเทีย 4:28

พระเจ้าทรงให้กำลังใจกับผู้เชื่อที่เป็นคนต่างชาติซึ่งคนยิวมักจะเหยียดว่าเป็นคนที่ต่ำต้อยกว่าตน. ไม่ว่าจะเป็นยิว หรือจะเป็นคนต่างชาติก็ตามพวกเขาได้รับสิทธิเป็นคนเที่ยงธรรมในพระเจ้าเพราะเขาเชื่อโดยไม่ต้องทำตามบทบัญญัติของยิว แต่เขาต้องเชื่อว่า การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์นั้น คือการรับโทษบาปแทนเขาแล้ว เขาไม่ต้องเพิ่มอะไรเพื่อจะไปหาพระเจ้าเลย

กฎบัญญัติกับพันธสัญญาเก่า-ใหม่

เพราะทุกคนที่พึ่งพา ในการทำตามบัญญัติ ต่างก็ถูกสาป
เพราะมีคำเขียนไว้ว่า
“ทุกคนที่ไม่ประพฤติตามข้อความทุกคำที่เขียนไว้ในหนังสือบัญญัติจะต้องถูกสาปแช่ง”
กาลาเทีย 3:10

เฉลยธรรมบัญญัติ 27:26; โรม 8:7, 3:19-20; 6:23

แค่บัญญัติสิบประการที่โมเสสได้รับมาจาก
พระเจ้าเมื่อนานมาแล้ว ก็ไม่มีใครสักคนรักษา
ตามคำบัญชาในนั้นได้ครบ พระเจ้าทรงให้เราเห็นว่าบัญญัตินั้นมีไว้ให้เรารู้ว่า เราคือคนที่ละเมิดเสมอ ไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็ตาม
การพึ่งพาบัญญัติโดยไม่พึ่งพระคุณของพระเจ้าโดยไม่พึ่งพระคุณผ่านการสิ้นพระชนม์แทนบาปของเราจึงเป็นการโง่เขลาอย่างยิ่ง เพราะไม่มีทางรอดผ่านบัญญัติได้เลย

ตอนนี้ ชัดเจนว่า ไม่มีใครถูกนับว่าเป็นคนเที่ยงธรรมต่อพระพักตร์พระเจ้าโดยอ้างความดีตามบัญญัติได้เลย เพราะ
ผู้เที่ยงธรรมจะมีชีวิตอยู่โดยความเชื่อแต่บัญญัตินั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อ (คนที่ตามบัญญัติต้องทำตามบัญญัติ) เพราะคนที่ทำตามบัญญัติก็จะมีชีวิตโดยบัญญัตินั้น
กาลาเทีย 3:11-12

ฮาบากุก 2:4; โรม 1:17; ฮีบรู 10:38;
เลวีนิติ 18:5; โรม 10:5-6; เนหะมีย์ 9:29

ท่านเปาโลย้ำแล้วย้ำอีกว่าเราจะรอดได้ก็โดยเชื่อพระเยซูเท่านั้น การถือศีลหรือทำตามบัญญัติอย่างเคร่งครัดก็ไม่ได้ช่วยให้ใครรอดได้เลยคนใดคิดว่าทำตามบัญญัติแล้วจะได้รับความพอใจจากพระเจ้านั้น คิดผิด เพราะพระเยซูได้ตรัสชัดเจนว่า ผู้ใดที่วางใจในพระบุตรจะมีชีวิตนิรันดร์ แม้กระทั่งในยุคนี้ ก็ยังมีคนเชื่อว่าความดีของเขาจะชนะพระทัยพระเจ้าได้ ….

พระคริสต์ได้ทรงไถ่เราจากคำสาปแช่งของบัญญัติ โดยที่พระองค์ทรงรับคำสาปแช่งเพื่อเรา เพราะพระคัมภีร์เขียนไว้ชัดว่า “คำสาปแช่งมีแก่คนที่ถูกแขวนบนต้นไม้”
กาลาเทีย 3:13

1 เปโตร 2:24,1:18-21; เฉลยธรรมบัญญัติ 21:23; ฮีบรู 9:15

คนเราไม่อาจทำตามบัญญัติอย่างครบถ้วนได้ดังนั้นเราจึงตกต้องรับโทษเพราะละเมิดบัญญัติแต่แล้ว พระเยซูกลับทรงมารับโทษ รับการแช่งสาปแทน นี่คือการไถ่บาปของพระเจ้า ทรงจ่ายค่าโทษแห่งบาปแล้วด้วยพระโลหิตของพระเยซูทรงซื้อเราออกมาจากคำแช่งสาปหรือการลงโทษสิ่งที่ชัดเจนคือ พระเยซูทรงถูกแขวนไว้บนไม้กางเขนรับโทษจากพระเจ้าแทนคนทุกคนที่เชื่อในพระองค์ทรงรับความอับอายไว้ที่พระองค์เอง

เพื่อว่าพระพรของอับราฮัมจะมาสู่คนต่างชาติ ผ่านทางพระเยซูคริสต์ เพื่อว่าเมื่อเราเชื่อ เราจะได้รับพระวิญญาณที่ทรงสัญญาไว้
กาลาเทีย 3:14

กาลาเทีย 3:2, 3:28-29; เอเฟซัส 2:18; 1 โครินธ์ 12:3; กิจการ 2:33

นอกจากพระองค์จะไถ่เรา ซื้อเราให้พ้นโทษบาปแล้วไม่พอ พระเยซูยังทรงให้พระพรอับราฮัมแก่เราทุกคนที่ไม่ใช่ยิวที่เชื่อพระนามพระเยซูด้วย เราได้รับพระพรแห่งชีวิตนิรันดร์ และพระพรแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ เพราะเขาเชื่อ
หลายคนสงสัยว่า ทำไมพระเจ้าจึงทรงต้อนรับ
แม้กระทั่งคนที่ทำผิดบาปมหันต์ คนดีแสนดีที่แต่ไม่ทำตามเงื่อนไขของพระองค์ก็ไม่มีสิทธิได้รับพระพรที่กล่าวมา พระเจ้าทรงประสงค์การไว้วางใจในพระองค์ ไม่ใช่การไว้วางใจในความดีของตนเอง

ขอให้ข้าอธิบายให้ฟังจากชีวิตประจำวันเมื่อคำสัญญาถูกทำขึ้น
และมีการตกลงกันแล้วทั้งสองฝ่ายแม้ว่าจะเป็นเพียงสัญญาของมนุษย์ก็จะไม่มีใครมีสิทธิล้มเลิกหรือเพิ่มเติมสิ่งใดลงไป
กาลาเทีย 3:15

ฮีบรู 9:17; โรม 6:19

ตรงไปตรงมา เมื่อสัญญาแล้วก็ต้องทำตาม
นั้น หากใครพลิกคำสัญญาเท่ากับคน ๆ นั้น เป็นคนทำผิดสัญญา ไม่มีการมาเปลี่ยนสัญญานอกจากมาตกลงกันใหม่ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งทำผิดสัญญาไม่ได้ แล้วเราลองนึกถึงพระสัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับมนุษย์ ไม่มีวันที่พระองค์จะเลิกสัญญา หรือเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

คำว่า “พระสัญญาที่ทำกับอับราฮัมและแก่ผู้สืบเชื้อสาย”นั้น ไม่ได้พูดถึงผู้สืบเชื้อสายหลาย ๆ คน แต่หมายถึงผู้สืบเชื้อสายผู้นั้น ซึ่งก็หมายถึงพระคริสต์
กาลาเทีย 3:16

โรม 4:13; กาลาเทีย 3:27-29; ลูกา 1:55; ปฐมกาล 17:7-8

พระสัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับอับราฮัมจะต้องสำเร็จตามที่พระองค์ทรงสัญญาไว้
จากปฐมกาล 13:15
“เราจะให้แผ่นดินที่เจ้ามองเห็นแก่เจ้าและแก่ผู้สืบเชื้อสายของเจ้าไปตลอดกาล” (NTV) คำว่า ผู้สืบเชื้อสาย เป็นคำที่มีความหมายถึงทั้งผู้เดียว หรือกลุ่มเดียว ท่านเปาโลได้อธิบายว่า ผู้สืบเชื้อสายที่พระเจ้าทรงหมายถึงนั้น คือ องค์ผู้สืบเชื้อสาย นั่นคือพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าที่มีสายเลือดของอับราฮัมด้วย (Constable’s Notes ​)

ที่ข้าพูดคือ
บทบัญญัติที่เกิดขึ้น 430 ปี หลังจากนั้น ไม่ได้ยกเลิกพระสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้ 
กาลาเทีย 3:17

ฮีบรู 11:39-40; 6:13-18; โรม 4:13-14; ปฐมกาล 15:13

หลังจากที่พระเจ้าทรงทำสัญญากับอับราฮัม
ว่า เขาจะเป็นผู้ให้คนทั้งโลกได้รับพระพรผ่าน
องค์พระเมสสิยาห์ซึ่งมีเชื้อสายของเขาอยู่
พระองค์ก็ได้ประทานบทบัญญัติแก่โมเสสหลังจากอิสราเอลออกมาจากอียิปต์ที่อยู่ยาวนาน
มาถึง 430 ปีท่านเปาโลกกล่าวว่า บทบัญญัตินี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นเพื่อจะลบล้างคำสัญญา
แต่.. บทบัญญัตินี้มีหน้าที่ของมันเองที่สำคัญ
เราจะดูกันต่อไป

เพราะหากว่าได้รับมรดกเพราะบัญญัติก็เท่ากับไม่ได้รับมรดกตามพระสัญญาของพระเจ้าอีกต่อไป แต่พระเจ้าทรงพระคุณที่จะประทานมรดกแก่อับราฮัม ผ่านพระสัญญา
กาลาเทีย 3:18

กาลาเทีย 2:21; โรม 4:13-16,8:17; ฮีบรู 6:12-15; ลูกา 1:72-73

เหมือนจะเข้าใจยาก แต่ไม่ยากนัก
ข้อนี้บอกเราว่า คนเราจะได้รับมรดกของพระเจ้า(ชีวิตนิรันดร์) ไม่ใช่เพราะทำตามบัญญัติแต่เขาได้รับมรดกเพราะมีผู้อนุญาตให้เขาได้รับมรดกนั้น เจ้ามรดกเท่านั้นที่มีสิทธิจะให้หรือไม่ให้ การรับมรดกไม่ใช่เป็นการไปแย่งชิงมาแข่งขันเอามา หรือ หามาได้เอง แต่ผู้ให้มรดกเป็นคนกำหนดผู้รับ

แล้วทำไมจึงต้องมีบทบัญญัติเล่า? ที่มีก็เพราะการล่วงละเมิดของมนุษย์จนกว่าผู้สืบเชื้อสายที่พระเจ้าสัญญาไว้จะมาถึง และบัญญัตินั้นมีทูตสวรรค์เป็นผู้ส่งต่อโดยมีคนกลาง การมีคนกลางนั้น หมายถึงมีหลายฝ่าย แต่พระเจ้าทรงเป็นฝ่ายเดียว
กาลาเทีย 3:19-20

กิจการ 7:53;โรม 7:7-13; ฮีบรู 2:2; กาลาเทีย 3:16
1 ทิโมธี 2:5; เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4; ฮีบรู 9:15

จุดประสงค์ของบัญญัติในครั้งแรกนั้นก็เพื่อ
มนุษย์จะรู้ว่า พวกเขาเป็นคนมีบาปจริง
รู้ว่า พวกเขาช่วยให้ตัวเองรอดพ้นบาปไม่ได้
รู้ว่าตนไม่อาจทำตามบัญญัติครบถ้วนได้ จนกว่าพระเยซูซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายนั้นจะมา ฮีบรู 2:2 บอกว่า การล่วงละเมิดกับการไม่เชื่อฟังทุกอย่างจะรับการตอบสนองอย่างยุติธรรมซึ่งน่ากลัวมาก พระเจ้าทรงให้พระสัญญามาเพื่อเราจะไม่ต้องรับการตอบสนองที่ยุติธรรมนั้น

ดังนั้น บัญญัติต่อต้านพระสัญญาของพระเจ้าอย่างนั้นหรือ ? ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะว่าหากมีการประทานบัญญัติที่สามารถให้ชีวิตได้ แล้วละก็ ความเที่ยงธรรมก็จะเกิดขึ้นได้เพราะคนทำตามบัญญัติ
กาลาเทีย 3:21

กาลาเทีย 2:19,21 โรม 9:31; 3:20-22

ตามพระประสงค์ของพระเจ้าแล้ว บัญญัติที่ประทานมาทีหลัง ไม่ได้ฝืนพระสัญญา ไม่ได้ต่อสู้กัน แต่มนุษย์ต่างหากที่ทำให้สับสน
พระเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้บัญญัติช่วยให้มนุษย์พ้นบาป แต่บัญญัติช่วยให้มนุษย์รู้ว่าตนมีบาปที่ทำให้ตนเองไม่ได้รับชีวิตนิรันดร์
พระสัญญาของพระเจ้าทำให้เรามีความหวังว่า
พระเจ้าจะทรงช่วยเราด้วยพระองค์เอง
เพราะเราช่วยตนเองให้ไร้บาปไม่ได้

แต่พระคัมภีร์กล่าวว่า คนทั้งโลกถูกจองจำภายใต้บัญญัติ ดังนั้น พระสัญญาจึงมีเพื่อบรรดาคนที่เชื่อพระเยซูคริสต์
กาลาเทีย 3:22

โรม 11:32; ฮีบรู 9:15; กาลาเทีย3:23; ยอห์น 11:25-26

ทั้งโลกถูกบัญญัติของพระเจ้าคุมเอาไว้ ให้พวกเขารู้ว่า เขาผิดอย่างไรบ้าง ถ้าไม่มีบัญญัติ ก็เท่ากับไม่มีมาตรฐาน ที่จะทำให้มนุษย์รู้ว่า ขอบเขตความดี ความชั่วอยู่ตรงไหน และเขาจะถูกลงโทษอย่างไร ถ้าไม่มีพระสัญญา มนุษย์ก็ไร้ความหวังที่จะได้
รับชีวิตนิรันดร์ เพราะพระสัญญานั้น หมายถึง
ว่าจะมีผู้มารับโทษแทนมนุษย์ทุกคนที่เชื่อพระเยซู

ก่อนที่ความเชื่อจะมาถึง เราถูกจองจำอยู่ใต้บัญญัติ จนกว่าความเชื่อจะปรากฏดังนั้น บัญญัติจึงควบคุมความประพฤติจนกว่าพระคริสต์จะมา เพื่อเราจะได้รับการประกาศว่าพ้นความผิดแล้วเพราะเราเชื่อ และขณะนี้ความเชื่อมาถึง เราจึง
ไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจผู้ควบคุมต่อไป
กาลาเทีย 3:23-25 

กาลาเทีย 5:18, 3:24-25; โรม 6:14-15; โรม 10:4; กาลาเทีย 2:16; กิจการ 13:38-39; ฮีบรู 10:15-18; โรม 7:4

จนกว่าความเชื่อของเราจะมาถึง หมายถึง จน
กว่าพระเยซูคริสต์จะเสด็จมา เราจึงจะได้รับการช่วยเหลือให้รอดจากคุกนั้น โดยเราเชื่อพระเยซูตามเงื่อนไขของพระสัญญา
กฎบัญญัติ ได้วางข้อบังคับ กฎเกณฑ์ ข้อห้าม
ข้อควรทำให้กับคนเรา แต่กฎบัญญัติไม่ได้ให้พลังที่จะเอาชนะการล่อลวงให้ทำชั่ว เราจึงต้องพึ่งพระสัญญาให้พระเยซูทรงจัดการโทษบาปเพื่อเรา

เพราะเมื่อเราเชื่อในพระเยซู
คริสต์ เราก็ได้มาเป็นบุตรของพระเจ้าเพราะทุกคนในพวกท่านที่รับบัพติศมาเข้าสู่พระคริสต์แล้ว ก็เท่ากับได้สวม
พระคริสต์ในชีวิตของท่าน
กาลาเทีย 3:26-27

2โครินธ์ 6:18; เอเฟซัส 1:5; ยอห์น 1:12-13; โรม 13:14; 1 โครินธ์ 12:13; 1 เปโตร 3:21

คนที่บัพติศมาเข้าสู่พระคริสต์ คือ คนที่รับเชื่อในพระสัญญาของพระเจ้าที่ตรัสไว้กับอับราฮัม
เชื่อในเชื้อสายผู้นั้น คือองค์พระเยซูคริสต์
การสวมชีวิตของพระคริสต์ เป็นสิ่งที่ทำให้เรา
แตกต่างจากความเชื่อในศาสนาใด ๆ ซึ่งพึ่งพาทำตามกฎเกณฑ์ ทำตามบัญญัติของศาสนาและก็มีความทุกข์ใจเสมอเพราะทำผิดประจำเราผู้เชื่อกลับได้สวมพระคริสต์ไว้ พระคริสต์ทรงมีชีวิตในเรา พระเจ้าประทับในใจ ในความคิดในชีวิตประจำวัน ใครจะได้อย่างนี้บ้าง?

จึงไม่มียิวหรือกรีก ไม่มีทาสหรือไท ไม่มีชายหรือหญิง เพราะทุกคนเป็นหนึ่งเดียวในพระเยซูคริสต์
และหากท่านเป็นของพระคริสต์ก็เท่ากับท่านเป็นลูกหลานแท้
ของอับราฮัม เป็นผู้รับมรดกตามพระสัญญา
กาลาเทีย 3:28-29

1 โครินธ์ 12:12-13; โคโลสี 3:11; โรม 3:29-30; กาลาเทีย 5:6,4:22-31; เอเฟซัส 3:6; โรม 9:7-8

สุดยอด นี่คือความจริงของพระเจ้า มนุษย์เรา แม้จะมีความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ สถานะ เพศและอายุแต่หากเขาเป็นคนของพระเจ้า เขาก็คือลูกหลานแท้ของอับราฮัม เป็นหนึ่งเดียว เป็นลูกของพระบิดาเดียว ปัญหาในโลกที่เราพบในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ เป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้น ไม่ได้ลดลงเลย แต่พระประสงค์ของพระเจ้าคือ ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวในพระเยซูคริสต์


กาลาเทีย 2 ปกป้องความจริงเรื่องพระคุณ

ท่านเปาโลกล่าวถึงการที่พระเยซูทรงเปิดเผยพระกิตติคุณแก่ท่าน

จากนั้น สิบสี่ปีต่อมา ข้าขึ้นไปเยรูซาเล็มอีกครั้ง พร้อมกับ
บารนาบัส และพาทิตัสไปด้วย ข้าไปเพราะพระเจ้าทรงสำแดงและได้แจ้งพวกเขาว่าข้าได้ประกาศข่าวประเสริฐอย่างไรแก่คนต่างชาติ
กาลาเทีย 2:1-2ก

ทิตัส 1:4; กาลาเทีย1:18, 2:13;
กิจการ 15:25, 36-39

อีกสิบสี่ปีท่านเปาโลขึ้นไปเยรูซาเล็มพร้อมกับเพื่อนร่วมงานอีกสองท่าน บารนาบัสเป็นผู้ช่วยที่ไปไหนมาไหนกับท่านเสมอ ส่วนทิตัสเป็นผู้เชื่อชาวกรีก พระเจ้าได้ทรงบอกให้เปาโลไปพบกับผู้นำทั้งหลายที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อว่าท่านจะได้ไปรายงานว่าท่านได้ประกาศพระนามพระเยซูกับชาวต่างชาติอย่างไร นี่เป็นภาพแสดงให้เห็นถึงการเคารพต่อพี่น้องที่ทำงานมาก่อน ช่วงนี้มีเรื่องหนึ่งที่รบกวนความเชื่อ นั่นคือ มีคนอยากให้ผู้เชื่อต่างชาติเข้าสุหนัตเหมือนคนยิ

แต่ได้บอกคนที่เป็นผู้นำเป็นการส่วนตัวเท่านั้นเพื่อให้มั่นใจว่า ข้าไม่ได้กำลังวิ่งหรือได้วิ่งมาแล้วโดยไร้ประโยชน์ แต่ถึงอย่างนั้น ทิตัสที่อยู่กับข้าก็ไม่ได้ถูกบังคับให้เข้าสุหนัต แม้ว่าเขาจะเป็นคนกรีก
กาลาเทีย 2:2ข-3

กาลาเทีย 2:6; ฟีลิปปี 2:16; 1 เธสะโลนิกา 3:5; 1 โครินธ์ 9:26

ท่านเปาโลรายงานเรื่องการประกาศ คริสตจักรกับเฉพาะผู้นำที่สำคัญเพราะมียิวไม่น้อยที่ความเห็นของตนเองนั้นสำคัญยิ่งกว่าข่าวประเสริฐในหมู่พวกเขามีครูสอนผิดแทรกอยู่ด้วยและพวกนี้ทำให้เรื่องต่าง ๆ ที่ถูกกลายเป็นผิดได้. ถ้าพวกเขาอย่างจะชูประเด็นขึ้นมา
อย่างเช่นเรื่องการให้คนต่างชาติเข้าสุหนัตก็เป็นประเด็นร้อนของยิวคริสเตียนบางคน ท่านจึงพูดถึงทิตัสด้วยว่าท่านไม่ได้บังคับให้เขาเข้าสุหนัต

แต่แล้วเรื่องนี้กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาเพราะพี่น้องปลอมที่แทรกตัวเข้ามาเสแสร้งอยู่ในหมู่พวกเรา เพื่อสอดส่อง
เสรีภาพที่เรามีในพระเยซูคริสต์
เพื่อจะบังคับให้เรากลับไปเป็นทาสอีก
กาลาเทีย 2:4

กิจการ 16:3; กาลาเทีย 5:2-6; 1 โครินธ์ 9:20-21

จริงด้วย มีคนที่แทรกเข้ามา ปลอมตัวเป็นผู้เชื่อเป็นพี่น้องในคริสตจักร แต่แล้วก็พยายามให้ชาวต่างชาติที่เชื่อใหม่ ทำตามแบบยิว ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสุหนัต การกินของสะอาด การรักษาวันสะบาโตเหมือนกับคนในศาสนายิวเรื่องนี้ ท่านเปาโลมองเห็นทะลุปรุโปร่ง นั่นคือ คนเหล่านี้ไม่ยอมรับการไถ่บาปของพระเยซู การเชื่อในพระนามของพระองค์ว่า เป็นความรอด แต่พวกเขาคิดว่าจะต้องทำความดีทำตามกฏประเพณีดั้งเดิม เพื่อให้รอดนี่คือการกลับไปเป็นทาส!

แต่เราจะไม่ยอมตามพวกเขา
แม้แต่ขณะเดียว
เพื่อว่าความจริงแห่งข่าวประเสริฐ
จะได้คงอยู่กับท่าน
กาลาเทีย 2:5

ยูดา 1:4; กาลาเทีย 5:1, 12-13; 4:9-10; 2 โครินธ์ 11:26

แต่เราจะไม่ตามคนที่คิดเบี่ยงเบนไปจากข่าว
ประเสริฐของพระเยซูที่ตรัสด้วยพระองค์เองว่า
“เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้น จะไม่พินาศ
แต่มีชีวิตนิรันดร์” นี่เป็นเงื่อนไขของการได้
รับชีวิตนิรันดร์จากพระเจ้า ไม่ใช่การเข้าสุหนัต
หรือทำตามกฎของศาสนายิวต่าง ๆ ที่
พยายามทำให้คนเชื่อว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้จึงจะได้รับความรอด

แต่สำหรับคนที่เป็นผู้นำ (ไม่ว่าพวกเขาจะมีตำแหน่งอะไรก็ไม่สำคัญสำหรับข้าพระเจ้าไม่ทรงโปรดปรานใครเป็นพิเศษ
อยู่แล้ว) ผู้นำเหล่านั้น ไม่ได้เพิ่มเติมสิ่งที่ข้ากล่าวไว้
กาลาเทีย 2:6

กาลาเทีย 2:14, 4:16; โคโลสี 2:4-8, 1:5

แน่นอนว่าในทุกสังคม มีความรู้สึกเกรงใจผู้นำและจะต้องคิดตามเขา ติดตามเขา ยิ่งในสังคมสมัยใหม่ที่ว่าคนเป็นตัวของตัวเอง กลับกลายเป็นคนต้องการผู้นำที่พวกเขาจะตามได้ ต้องการกลุ่มต้องเป็นพวกกัน ไม่งั้นโดนเท
สำหรับพระเจ้าแล้ว ไม่ทรงเห็นแก่หน้าใคร
ท่านเปาโลก็เช่นกัน ถ้าคนใดทำผิดไปจากหลักการแท้จริงแล้ว ท่านจะสู้ให้เห็น และกล้าเผชิญหน้าไม่มีคำว่า กลัว หรือเกรงใจ เลย

ตรงกันข้าม เมื่อพวกเขาเห็นว่า ข้าได้ฝากข่าวประเสริฐให้กับคนที่ไม่ได้เข้าสุหนัตเหมือนที่เปโตรได้มอบภาระการประกาศ
ข่าวประเสริฐให้กับผู้ที่เข้าสุหนัต เพราะพระองค์ผู้ทรงตั้งให้
เปโตรเป็นอัครทูตนำข่าวประเสริฐไปสู่คนยิว พระองค์ก็ทรงตั้งให้ข้าเป็นอัครทูตไปยังคนต่างชาติเช่นกัน
กาลาเทีย 2:7-8

กาลาเทีย 2:2; กิจการ 10:34; 2 โครินธ์ 12:11 ; กาลาเทีย 6:3; 1 เธสะโลนิกา 2:4; กิจการ 9:15; 1 ทิโมธี 2:7; กิจการ 19:10-11; 9:15; 2 โครินธ์ 11:4-5

มีความชัดเจนในตัวท่านเปาโลว่า ท่านได้รับ
พระบัญชาจากพระเจ้าให้ไปหาคนต่างชาติ ในขณะที่ท่านเปโตรนั้นก็เหมาะกับคนยิว คนที่มีกฎเกณฑ์มาก ๆ น่าสนใจที่พระเจ้าก็ทรงบอกเปโตรหลาย ๆ ครั้งเรื่องการที่พระเจ้าทรงรักคนต่างชาติเช่นเดียวกัน อย่างเช่นเรื่องของนายร้อยโครเนลิอัสเป็นต้น

และเมื่อยากอบ เคฟาสและยอห์น ที่มีชื่อเป็นเสาหลัก ได้ตระหนักถึงพระคุณที่พระเจ้าประทานให้ ก็ได้จับมือขวาของข้ากับบารนาบัส ตกลงว่า เราจะไปหาคนต่างชาติ ส่วนพวกเขาจะไปหาคนยิว พวกเขาขอร้องเพียงว่า เราจะไม่ลืมคนจนซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าใส่ใจอยู่แล้ว
กาลาเทีย 2:9-10

โรม 12:3; วิวรณ์ 3:12; กาลาเทีย 2:2; กิจการ 24:17; 1 ยอห์น 3:17; ฮีบรู 13:16

ได้มีการตกลงจากผู้ใหญ่ท่ามกลางหมู่ผู้เชื่อว่า
ใครจะมุ่งไปที่เป้าหมายใด แต่ไม่ว่าในสังคมไหนที่พวกเขาจะไปรับใช้ กลุ่มคนที่จะพบเสมอคือคนยากจน ซึ่งอัครทูตทุกท่านให้ความสนใจอยู่แล้ว และทำให้เรารู้ว่า พระเจ้าไม่ทรงเห็นแก่หน้าผู้ใดจริง ๆ พระองค์ทรงรักมนุษย์เหมือน ๆ กันไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง ถ้าที่ใดมีการเห็นแก่คนรวยมากกว่า ก็ไม่ได้เดินตามรอยอัครทูตแล้ว

การเผชิญหน้ากับท่านเปโตร

แต่เมื่อเคฟาสมาที่อันทิโอก ข้าก็ได้คัดค้านเขาต่อหน้า เพราะเห็นได้ชัดว่าเขาทำผิดคือว่า ก่อนที่คนบางคนจากยากอบจะมาถึง เขาเคยกินอาหารกับ
คนต่างชาติแต่เมื่อพวกเขามาถึงเขากลับหยุด ทำตัวออกห่างคนต่างชาติเพราะกลัวพวกที่เข้าสุหนัต
กาลาเทีย 2:11-12

1ทิโมธี 5:20; 1 ยอห์น 1:8-10; ยากอบ 3:2; กิจการ 10:28; ลูกา 15:2; เอเฟซัส 3:6

สิ่งที่ท่านเปโตร (คือเคฟาส) ได้ทำลงไปและทำให้ท่านเปาโลต้องตักเตือนนั่นก็คือ การที่เปโตรเองทำตัวลับ ๆ ล่อ ๆ เพราะกลัวพวกยิวจะเล่นงานยิวคริสเตียนบางคนในสมัยของท่านก็ช่างติ ช่างว่าและทำให้อัครทูตเปโตรเองไม่อยากที่จะต่อกรด้วยคนต่างชาติที่เคยเป็นเพื่อนกินเพื่อนคุย และสนิทสนมกับท่านเปโตร กลับถูกเมินเมื่อพวกยิวบางคน(ที่สร้างปัญหา) เข้ามาพัวพัน

และคนยิวอื่น ๆ ก็ทำตัวหน้าซื่อใจคดไปกับเขา ซึ่งสิ่งนี้เองแม้กระทั่งบารนาบัสก็ยังถูกชักจูงให้หลงทำตามด้วย
กาลาเทีย 2:13

1 โครินธ์ 15:33, 5:6, 8:9; ฮีบรู 13:9; เอเฟซัส 4:14

เรื่องเลวร้ายลงไปเพราะ เมื่อผู้นำคิดอย่างไร
ผู้ตามก็จะคิดตามไป เห็นด้วย ถ้ากลัวก็กลัว
เหมือนกัน ถ้ากล้าก็กล้าตามกันไปมีหลายสิ่งที่เราคิดว่ามันถูกต้องและทำตาม ๆ กันมาโดยตลอด แต่จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่ผิดก็มี
ไม่น้อย การหลีกเลี่ยงคนต่างชาติทั้ง ๆ ที่
ท่านเปโตรเป็นคนนำคนเหล่านั้นมาเชื่อพระเจ้า เป็นสิ่งที่น่าอาย บารนาบัสเองยังหลงคิดไปว่า
ไม่เป็นไรเสียด้วยซ้ำ ผู้นำจึงต้องระวังตัวเสมอ

แต่เมื่อข้าเห็นว่าพฤติกรรมของเขาไม่สอดคล้องกับความจริงของข่าวประเสริฐข้ากล่าวกับเคฟาสต่อหน้าทุกคนว่า
“หากท่านซึ่งเป็นยิว ยังทำตัวราวกับคนต่างชาติ ไม่เหมือนยิว แล้วท่านจะมาบังคับให้คนต่างชาติถือประเพณียิวได้อย่างไร?”
กาลาเทีย 2:14

กาลาเทีย 2:5; กิจการ 10:28, 15:10-11; 1 ทิโมธี 5:20

ถ้าเราจะแปลความหมายของข้อนี้เป็นสมัยใหม่ก็ประมาณนี้ “คุณทำตัวไม่สมกับเป็นผู้เชื่อ
คุณมีชีวิตแบบคนไม่เชื่อ แต่ทำไมยังพยายาม
ให้คนที่ไม่เชื่อมาประพฤติตามพระคำของพระเจ้า?”
คนที่ประกาศข่าวประเสริฐ ก็ต้องมีชีวิตตาม
ข่าวประเสริฐนั้น ถ้าไม่ ก็ต้องพิจารณาตัวเอง
แต่ส่วนใหญ่ คนที่ทำตัวหน้าซื่อใจคดแบบนี้
มักมองตัวเองไม่ออก

เราซึ่งเป็นยิวโดยกำเนิดและไม่ได้เป็นคนบาปที่เป็นคนต่างชาติ ยังรู้ว่าไม่มีใครถูกนับว่าเป็นคนเที่ยงธรรมได้โดยการทำตามธรรมบัญญัติแต่เป็นได้เพราะเชื่อพระเยซูคริสต์
กาลาเทีย 2:15-16ก

ทิตัส 3:3; เอเฟซัส 2:3; เอเฟซัส 2:11-12; ฟีลิปปี 3:9; สดุดี 143:2

การเชื่อในพระนาม พระราชกิจ พระคำของ
พระเยซูคริสต์ เป็นหนทางที่เราจะถูกนับว่า
เป็นคนชอบธรรม นั่นเป็นเงื่อนไขที่พระเจ้า
ทรงวางไว้ให้เราทั้งโลกมักคิดว่า เราเป็นคนดี
ด้วยการทำดี แต่นั่นไม่ช่วยให้เที่ยงธรรมในสายพระเนตรพระเจ้า พระเจ้าจะทรงรับว่าเราเป็นคนเที่ยงธรรมตามมาตรฐานของพระองค์ โดยเราต้องทำตามเงื่อนไขของพระองค์เท่านั้น วิธีอื่นไม่ผ่าน

และเราได้มาเชื่อในพระเยซูคริสต์เพื่อว่าเราจะได้ถูกนับว่าเป็นคนเที่ยงธรรมโดยความซื่อตรงของพระองค์ไม่ใช่ด้วยการทำตามบัญญัติเพราะเรารู้ว่า ไม่มีใครจะเป็นคนเที่ยงธรรมได้โดยการทำตามบัญญัติ
กาลาเทีย 2:16ข

โรม 3:19-28; 1 เปโตร 1:18-21; กิจการ 13:38-39

นี่เป็นประโยคที่ต่อมา เป็นการย้ำให้ผู้อ่านเข้าใจชัดเจนว่า ด้วยความซื่อตรง ด้วยความรักด้วยการที่พระเจ้าทรงทำตามพระสัญญา
ตั้งแต่วันที่อาดัมเอวาฝืนพระบัญชา พระเยซูจึงเสด็จมาในโลก และสิ้นชีพเพื่อรับโทษบาปของมนุษย์แทนพวกเขา บัญญัติมีไว้ให้รู้ว่า
เธอทำผิดแบบนี้ไง ทำผิดแบบโน้นไง
แต่ที่จะพ้นโทษของการผิดต่าง ๆ เหล่านั้น
ต้องทำตามเงื่อนไขของพระเจ้าผู้เดียว

แต่หากขณะที่เราพยายามที่จะถูกนับเป็นผู้เที่ยงธรรมโดยพระคริสต์ กลับพบว่าเราเองเป็นคนบาป นี่หมายความว่าพระคริสต์เป็นผู้สนับสนุนให้ทำบาปอย่างนั้นหรือ ไม่ใช่แน่นอน!
กาลาเทีย 2:17

โรม 6:1-2, 11:7; กาลาเทีย 2:15; 1 ยอห์น 3:8-10

พระคำข้อนี้อ่านแล้วไม่เข้าใจในทันที ต้องกลับมาอ่าน ทบทวนว่าเราจะเข้าใจถูกต้องตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อหรือไม่การที่พระเยซูทรงยกโทษบาปให้นั้น ไม่ได้หมายความว่าทรงส่งเสริมบาป แต่พระองค์ทรงบอกเราทั้งหลายเหมือนกับทรงบอกหญิงคนหนึ่งที่
ถูกลากมาเพื่อจะเอาหินขว้างให้ตายว่า“ เราไม่เอาโทษเจ้า ไปเถิด และอย่าทำบาปอีกเลย”
ยอห์น 8:1-11

หากว่าข้าสร้างสิ่งที่ข้าทำลายไปแล้วขึ้นมาใหม่ ก็แสดงว่า
ข้าเป็นคนที่ละเมิดพระบัญญัติ
กาลาเทีย 2:18

กาลาเทีย 4:9-12, 2:4-5, 2:12-16; โรม 14:15

สิ่งที่ถูกทำลายคือความคิดที่ว่าจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าได้ด้วยการทำตามบัญญัติ ตามกฎที่มีอยู่ตามขนบประเพณี ที่สร้างเอาไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกศาสนาคิด ท่านเปาโลทำลายความคิดนั้นไปแล้วท่านจะไม่รื้อมันขึ้นมาอีกเพราะพระเจ้าทรงพอพระทัยเมื่อมนุษย์เชื่อสิ่งที่พระองค์ตรัส เชื่อสิ่งที่พระองค์บัญชา ถ้าท่านเปาโลยังคิดแบบนั้น ท่านก็ผิดแล้ว!

เพราะโดยบัญญัติ ข้าตายต่อบัญญัติแล้วเพื่อว่าข้าจะมีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้าข้าถูกตรึงไว้กับพระคริสต์ ข้าจึงไม่ได้มีชีวิตอยู่ต่อไป แต่พระคริสต์ทรงมีชีวิต
ในข้า ชีวิตที่ข้ามีอยู่ในกายนี้ข้ามีได้โดยความเชื่อในพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรักข้าและประทานพระองค์เองเพื่อข้า
กาลาเทีย 2:19-20

โรม 7:4,6:11;6:2;3:19-20; 1 เธสะโลนิกา 5:10; 2 โครินธ์ 5:15; 5:24; 4:10-11

บัญญัตแจ้งว่าท่านเป็นคนที่ผิดต่อพระเจ้า
ไม่ได้ทำให้ท่านเป็นคนเที่ยงธรรม การรักษาบัญญัติเพื่อรอดกลับกลายเป็นโซ่รัดที่ทำให้เป็นทาสบัญญัติ ตอนนี้ท่านได้ถูกลงโทษบนไม้กางเขนพร้อมกับพระเยซูไปแล้วท่านตายต่อบัญญัติเมื่อพระเยซูทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ซึ่งทำให้ท่านมีชีวิตที่เปลี่ยนไป
ชีวิตเดิมใต้บัญญัติตายไป แต่มีชีวิตใหม่กับพระเยซู

ข้ามิได้ทิ้งพระคุณของพระเจ้าไป
เพราะหากความเที่ยงธรรมมาได้โดยการทำตามบัญญัติ
การสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์
ก็ไร้ประโยชน์
กาลาเทีย 2:21

โรม 11:6; กาลาเทีย 3:21; ฮีบรู 7:11; 1 โครินธ์ 15:14

ถ้าเราสามารถเป็นคนเที่ยงธรรมโดยตัวเองได้
เราก็ไม่ต้องการพระเยซูที่ทรงสิ้นพระชนม์บน
ไม้กางเขน แต่ความจริงคือไม่มีใครทำได้ด้วยตัวเอง ..เพราะพระเยซูองค์เดียวทรงเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิตไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดาได้ยกเว้นมาทางพระเยซู