จดหมายถึงคริสตจักรกาลาเทีย 6 บท

กาลาเทีย 5 ชีวิตที่มีเสรีภาพ

ใช้ชีวิตในเสรีภาพที่มีในพระคริสต์

เพราะพระเจ้าทรงทำให้เราเป็นไทดังนั้น จงยืนมั่น และอย่ากลับไป
ยอมอยู่ใต้แอกของความเป็นทาสอีก ฟังนะ ข้า เปาโลขอบอกว่า หากท่านยอมไปเข้าสุหนัต พระคริสต์ก็จะไม่มีประโยชน์สำหรับท่านเลย
กาลาเทีย 5:1-2

2 โครินธ์ 3:17; กาลาเทีย 5:13; 1 เปโตร 2:16; กิจการ 15:1; กาลาเทีย 5:6, 5:3-4

ท่านเปาโลเฝ้าขอร้องให้พี่น้องที่เชื่อ ไม่หลงไป
ตามความต้องการของคนที่สนับสนุนการทำตามบัญญัติเพื่อจะรอด พวกเขาพยายามให้พี่น้องผู้ชายเข้าสุหนัตตามบัญญัติของยิว การเชื่อพระเยซูคริสต์ในฐานะพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงลงมาไถ่บาปนั้น เป็นการถูกต้อง และเป็นอิสระจากการเป็นทาสบัญญัติ หากเราไปยอมตามสิ่งที่ตรงข้ามกับพระคุณของพระเจ้าเท่ากับยอมตัวกลับไปเป็นทาสอีก

อันตรายของการติดตามพระเจ้าด้วยกฎบัญญัติ

และขอพูดอีกครั้งกับทุกคนที่ยอมไปเข้าสุหนัต ทุกคนถูกผูกมัดว่า จะต้องเชื่อฟังบทบัญญัติทุกข้อ คนที่พยายามจะบอกว่าตนเองเที่ยงธรรมโดยบทบัญญัติก็เท่ากับถูกตัดออกจากพระคริสต์ ท่านไม่ได้อยู่ในพระคุณของพระเจ้าแล้ว
กาลาเทีย 5:3-4

กาลาเทีย 3:10; โรม 2:25; ยากอบ 2:10-11; 2 เปโตร 2:20-22; โรม 9:31-32, 11:6

คนไทยอย่างเราถูกสอนมาตั้งแต่เล็กว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่มีบางเรื่องในชีวิตที่เราทำอย่างนั้นไม่ได้เลย ก็คือ ความรอดของเราทางพระเยซูคริสต์ความรอดนี้คือ การได้กลับไปสู่อ้อมกอดของพระเจ้ากลับไปเป็นลูกของพระเจ้าตามที่พระองค์ทรงสร้างเรามาแต่แรก เราต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระเยซูคริสต์ ที่พูดกันตรงๆ แบบนี้ก็เพราะเราหลายคนยังไม่ยอมรับพระเจ้าเพราะคิดว่าฉันจะช่วยตนเองให้รอดได้

เพราะโดยพระวิญญาณ และความเชื่อ เราจึงรอความหวังที่จะมีความเที่ยงธรรมอย่างจดจ่อ เพราะในพระคริสต์ ไม่ว่าจะสุหนัตหรือไม่ ก็ไม่มีความหมายอะไร สิ่งที่สำคัญคือ ความเชื่อที่สำแดงออกมาเป็นการลงมือทำด้วยความรัก
กาลาเทีย 5:5-6

สดุดี 130:5; 1 เธสะโลนิกา 1:10; โรม 8:23-25; กาลาเทีย 6:15; 1 โครินธ์ 7:19

ชีวิตคริสเตียนมีจุดเต่นอย่างหนึ่งคือ ความรัก ถ้าใครไม่รัก เขาก็ยังเดินอยู่ในความมืด ถ้าเขาบอกว่า รัก แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น เท่ากับเขากำลังโกหก

เปาโลเผชิญหน้ากับผู้สอนผิด

ท่านก็กำลังก้าวหน้าไปดีอยู่แล้ว
ใครล่ะ ที่กั้นไม่ให้ท่านเชื่อฟังความจริง?
การชักจูงแบบนี้ ไม่ได้มาจากพระองค์ผู้ทรงเรียกท่าน
กาลาเทีย 5:7-8

1 โครินธ์ 9:24; กาลาเทีย 3:1, 1:6 ; ฮีบรู 12:1; โรม 8:28

คริสเตียนชาวกาลาเทียได้กลับใจมาเชื่อพระเจ้าได้เริ่มต้นความเชื่ออย่างดี แต่การเริ่มต้นดีไม่ได้หมายความว่าไร้อุปสรรค ตอนนี้พวกเขากำลังเจอคนที่เข้ามาบังคับ ขู่เข็ญพวกเขาเพื่อให้ล้มลง ไม่สามารถดำเนินต่อไปตามพระคุณของพระเจ้าได้
สิ่งที่พวกเขากำลังหลงเชื่อนั้น มาจากคนบางคนแต่ไม่ได้มาจากพระเจ้า ท่านกำลังเตือนพวก
เขาว่า มีคนพยายามกั้นพวกเขาจากการเข้าใจ
ความจริงอย่างถ่องแท้

เชื้อยีสต์เพียงเล็กน้อยก็ส่งผล ให้แป้งทั้งก้อนฟูขึ้นได้
ข้ามีความมั่นใจในองค์พระผู้เป็นเจ้าว่าท่านจะไม่รับความเห็นอย่างอื่น แต่ใครก็ตามที่ทำให้ท่านสับสนนั้น
จะได้รับการลงโทษ
กาลาเทีย 5:9-10

1 โครินธ์ 15:33, 5:6-7; ลูกา 13:21; กาลาเทีย 5:12, 1:7; 2 โครินธ์ 2:3; ฟีลิปปี 3:15

การเข้าไปอยู่ในกรอบของกฎบัญญัติ หรือเรียกว่าบัญญัตินิยมนั้น เป็นเหมือนเชื้อยีสต์ที่สามารถทำให้แป้งที่มีขนาดเล็กให้กลายเป็นขนาดใหญ่ได้สำหรับยิวแล้ว ยีสต์เป็นเครื่องหมายของอิทธิพลชั่วทุกรูปแบบ ท่านเปาโลมองว่าคนที่หว่านเชื้อแห่งความสับสนให้กับผู้ที่เชื่อในพระเจ้าสมควรที่จะได้รับการลงโทษจริง ๆ

บัดนี้ พี่น้องทั้งหลาย หากข้ายังคงสนับสนุนการเข้าสุหนัต ทำไมข้าจึงถูกข่มเหงเล่า? ข้ารู้ว่า หากข้าสนับสนุนพิธีนั้น ความเกลียดชังทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะไม้กางเขนก็จะหายไป ข้าอยากให้คนที่มารบกวนท่านตอนตนเองเสียเลย
กาลาเทีย 5:11-12

กาลาเทีย 6:12; 1 โครินธ์ 1:23, , 5:13, 15:30; ทิตัส 3:10

ตอนนี้ท่านเปาโลกำลังโกรธสุด ๆ ท่านถึงกับ
อยากส่งพวกนั้นที่พยายามทำให้ความเชื่อของ
พี่น้องเรรวนไปตอนตนเอง จากคำเขียนเราจะ
เห็นว่า ท่านมีข้อขัดแย้งกับเหล่าชาวยิวที่พยายามให้พี่น้องเข้าสุหนัตและทำตามบทบัญญัติอย่างเคร่งครัด เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ท่านเปาโลจะยอมไม่ได้ เพราะถ้ายอมแล้ว เท่ากับพี่น้องเหล่านี้จะสูญเสียความรอดไปอย่างที่ไม่น่าจะต้องเสียและนั่นคือการพลาดจากชีวิตนิรันดร์

วิธีใช้ชีวิตอย่างมีเสรีภาพ

เพราะท่านถูกเรียกมาเพื่อเสรีภาพ ดังนั้นพี่น้องทั้งหลาย อย่าใช้เสรีภาพที่มีอยู่เป็นโอกาสเพื่อที่จะปรนเปรอเนื้อหนังของท่าน แต่จงรับใช้กันและกันด้วยความรัก
กาลาเทีย 5:13

1 เปโตร 2:16; 1 โครินธ์ 9:19, 8:9; โรม 15:1-2

ชีวิตแห่งความเชื่อที่คริสเตียนกำลังเดินตามนั้น
ไม่ใช่ชีวิตที่เอาเสรีภาพที่พระเจ้าให้มาเพื่อทำบาปตามใจตัวเอง ไม่ใช่ว่าพระเจ้าประทานความรอดให้จากที่เราเชื่อพระองค์แล้ว จากนั้นจะทำอะไรตามใจก็ได้ ถ้าคิดอย่างนั้นก็พลาดไปแล้วบางคนคิดว่าเชื่อเสร็จก็จบกัน รอดแล้ว และคิดว่าเขาจะไม่สูญเสียความรอดไป …
พระเจ้าทรงไถ่เราเพื่อให้เรารักกันและกัน และรับใช้กันและกัน ไม่ใช่หาประโยชน์จากพี่น้อง

เพราะบทบัญญัติทั้งสิ้น สรุปได้เป็นหนึ่งข้อ ก็คือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง แต่หากว่าท่านยังคงกัดกันและฉีกเนื้อกันเป็นชิ้น ๆ ก็จะระวังว่าท่านก็จะก่อความหายนะให้กันเอง
กาลาเทีย 5:14-15

เลวีนิติ 19:18; มัทธิว 7:12; กาลาเทีย 6:2; 1 โครินธ์ 3:3; 2 โครินธ์ 11:20; ยากอบ 3:14-4:3

ดูเหมือนว่า พี่น้องยิวที่พยายามให้พี่น้องชาว
กาลาเทียทำตามกฎบัญญัตินั้น อาจจะถึงกับข่มขู่มีการทำร้ายกันด้วยวาจา และอาจทำให้เกิดการแบ่งเป็นพรรคพวก เป็นพวกนี้ พวกนั้น
ท่านเปาโลจึงเตือนให้เขานึกถึงสิ่งที่ใหญ่สุดคือการที่จะรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง
คำพูดนี้ลึกซึ้งมาก จะรักได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่มี
ปัญหาอยู่มาก ท่านเปาโลไม่ได้ขอให้เขาทำสิ่งที่ง่ายเลย แต่ยากสุด ๆ

เสรีภาพกับการใช้ชีวิตที่บริสุทธิ์

แต่ข้าขอบอกว่า
จงเดินในพระวิญญาณ
และท่านจะไม่ต้องตอบสนอง
ความปรารถนาที่เร่าร้อนของเนื้อหนัง
กาลาเทีย 5:16

กาลาเทีย 5:24-25; โรม 8:12-14; โคโลสี 3:5-10

ท่านเปาโลกำลังบอกพี่น้องชาวกาลาเทียว่า
จะเอาชนะความปรารถนาที่เร่าร้อนของเนื้อหนังได้สำเร็จ ไม่ใช่ด้วยกำลังของพวกเขาเอง
แต่ต้องด้วยความช่วยเหลือของพระวิญญาณ
บริสุทธิ์ เราทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่า เมื่อเรามีความ
ปรารถนาฝ่ายเนื้อหนัง ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม
เราก็จะครุ่นคิด และโน้มใจและกายไปหาสิ่งนั้น
จนกระทั่งเราทำผิดต่อพระเจ้า และไม่ใช่ครั้งเดียวมักจะทำซ้ำ ๆ เอาชนะมันไม่ได้มีทางเดียวคือต้องยอมอยู่ใต้พระคุณของพระเจ้า

เพราะเนื้อหนังมีความปรารถนาที่ต่อต้านพระวิญญาณ และพระวิญญาณทรงมีความปรารถนาที่ต่อต้านกับเนื้อหนังเพราะทั้งสองเป็นศัตรูกัน เพื่อว่าท่านจะไม่อาจทำสิ่งที่ใจต้องการทำได้
แต่หากพระวิญญาณทรงนำท่าน
ท่านก็ไม่ได้อยู่ใต้กฎของบัญญัติ
กาลาเทีย 5:17-18

ยอห์น 3:6; โรม 8:13-14; 8:5-8, 6:14-15; สุภาษิต 8:20

ตรงนี้ ผู้เชื่อต้องเลือกว่า จะอยู่ในพระวิญญาณ
หรือจะอยู่ใต้กฎบัญญัติด้วยแรงของตนเอง
เนื้อหนังของเรามีความต้องการที่ตรงข้ามกับ
ความต้องการของพระเจ้าเสมอ แถมมักจะทำ
สิ่งที่ตนเองไม่อยากทำ เหมือนกับบังคับตนเอง
ไม่ได้เลย (โรม 7:14-25) หากเลือกที่จะอยู่ฝ่ายพระเจ้า พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยให้เรามีความประพฤติที่เที่ยงธรรม บริสุทธิ์ มีทัศนคติอย่างพระองค์ 

ต้องเอาชนะกิจกรรมเนื้อหนัง

กิจกรรมของเนื้อหนังก็ชัดเจนคือ การผิดศีลธรรมทางเพศ ใจสกปรก มักมากในกาม ไหว้รูปเคารพ ใช้เวทมนต์ เกลียดชัง เห็นต่างไปทุกเรื่อง อิจฉา ช่างโกรธแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น แตกแยก แบ่งเป็นพรรคพวก ริษยา ฆาตกรรม เมาเหล้า กิจกรรมสกปรกและอื่น ๆ เช่นนั้น ข้าขอเตือนท่านอย่างที่ได้เตือนมาก่อนหน้านี้ว่า คนที่ประพฤติแบบที่กล่าวมาจะไม่มีส่วนในอาณาจักรของพระเจ้า
กาลาเทีย 5:19-21

1 โครินธ์ 6:9-10; โคโลสี 3:5-8; 1 เปโตร 4:2-4; วิวรณ์ 21:8; ทิตัส 3:10; 1 โครินธ์ 11:19; 6:9-10; โรม 8:13

ชินแล้วกับสิ่งที่ท่านเปาโลกล่าวมาทั้งหมด นี่คือ
สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมโลก หันไปที่ไหนก็ไม่พ้น ผลของเนื้อหนัง อยู่รอบข้างเรา กับตัวเรา และ
เพื่อน ๆ ของเรา …

เมื่อเดินกับพระวิญญาณจะมีผลอย่างนี้

แต่ผลของพระวิญญาณนั้น คือ
ความรัก ความยินดี สันติสุข
ความอดทน น้ำใจดี ความดี
ความซื่อตรง ความสุภาพอ่อนโยนและการบังคับตนเอง

ไม่มีบทบัญญัติใด ห้ามสิ่งเหล่านี้เลย
กาลาเทีย 5:22-23

โคโลสี 3:12-17; 1 โครินธ์ 13:4-7; ยอห์น 15:5; 1 ทิโมธี 1:9; กิจการ 24:25

ผลของพระวิญญาณ แตกต่างจากงานของเนื้อหนังอย่างชัดเจน และที่สำคัญ งานเกิดจากการกระทำของคน ๆ นั้น ส่วนผลของพระวิญญาณเกิดจากการที่พระเจ้าทรงให้เกิดผล เกิดผลได้ด้วยการใกล้ชิดพระเยซู มีชีวิตเดินไปกับพระวิญญาณเดินตามพระองค์ไป ผลของพระวิญญาณมีเสน่ห์ชวนให้ตาม ชวนให้กิน คริสเตียนทุกคนจะมีผลของพระวิญญาณที่สถิตในชีวิตของเขาแตกต่างไปจากงานของเนื้อหนัง ที่แม้จะพยายามทำดีเท่าไร ก็เป็นผลของเนื้อหนังไม่ใช่จากพระเจ้า

ผู้ที่เป็นของพระคริสต์ ได้ตรึงเนื้อหนังรวมทั้งความปรารถนา
และความต้องการของเนื้อหนัง
บนไม้กางเขนแล้ว

กาลาเทีย 5:24

โรม 6:6, 8:13, 13:14; กาลาเทีย 5:16-18

การฝากความปรารถนาร้าย ๆ หรือความคิดชั่วหรือ อะไรก็ตามที่เป็นเนื้อหนังของเราไว้กับไม้กางเขนของพระเยซูนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องลงมือทำ ไม่ใช่ปล่อยให้พระเจ้าเป็นผู้ประทานหรือให้พระองค์ทำให้ มีบางอย่างที่พระเจ้าทรงยื่นให้เป็นความรับผิดชอบของเรา เป็นความตั้งใจการเลือกของเราเอง จนกว่าจะถึงวันสุดท้ายของชีวิตเรา เราต้องตรึงความต้องการเหล่านี้บนไม้กางเขนเสมอ เพราะมันมักจะโผล่ขึ้นมาในยามที่เราอาจเผลอ ไม่ทันรู้ตัว

หากชีวิตของเรามีจุดศูนย์กลางอยู่ที่พระวิญญาณ ก็ให้เราเดินตามติดพระองค์ อย่าให้เราถือตัวอวดดียั่วโทสะกัน และอิจฉากันเลย
กาลาเทีย 5:25-26

กาลาเทีย 5:16; โรม 8:4-5; ยอห์น 6:63; ยากอบ 3:14-16 , 4:16 ; ฟีลิปปี 2:1-3;

คำว่าให้เราตามติดพระวิญญาณนั้น แตกต่างจากคำว่าเดินไปกับพระองค์ในข้อ 16 ซึ่งมีความหมายถึงการใช้ชีวิต มีวิถีชีวิตไปกับพระวิญญาณแต่คำ ๆ นี้ เป็นการเดินตามพระองค์ก้าวต่อก้าวมีชีวิตในพระวิญญาณที่ชัดเจน และแน่นอนเมื่อตามพระองค์เช่นนั้น ความอวดดี การที่จะหาเรื่องคนอื่น การอิจฉากันจะไม่มีในชีวิตของคนที่ตามพระองค์ติด ๆ เช่นนั้น

กาลาเทีย 6 แบกภาระไปด้วยกัน

ช่วยรื้อฟื้นคนที่ทำบาป

พี่น้องของข้า หากพบว่าใครคนหนึ่งทำบาป คนที่อยู่ฝ่ายวิญญาณก็ควรจะช่วยให้เขากลับมาในทางของพระเจ้า
ด้วยความอ่อนโยน
โดยระลึกอยู่เสมอว่า ท่านเองก็อาจถูกล่อลวงได้เช่นกัน
กาลาเทีย 6:1

โรม 15:1; 2 เธสะโลนิกา 3:15; 2 ทิโมธี 2:25; ยูดา 1:22-23

เราทุกคนมีโอกาสทำผิดพลาดได้เหมือน ๆ กัน
จะน้อยจะมาก อยู่ที่ว่าเราเดินตามพระวิญญาณ
ของพระเจ้า หรือว่าตามใจปรารถนาของเราเอง
เมื่อเห็นเพื่อนทำผิดอยู่ เราก็ไม่ควรที่จะปล่อยเฉยไว้ แต่ต้่องหาทางที่จะช่วยให้เขากลับมาในทางของพระเจ้า และต้องไม่คิดว่า เราดีกว่าเขา แต่ต้องถ่อมตนรู้ตัวเสมอว่า โอกาสพลาดของเราก็มีเหมือนกัน นั่นเป็นท่าทีที่ถูกต้องในการช่วยเพื่อน

จงช่วยรับภาระของกันและกัน
การทำเช่นนี้เป็นการใช้ชีวิตตาม
กฎของพระคริสต์
กาลาเทีย 6:2

โรม 15:1; 1 เธสะโลนิกา 5:14; ยอห์น 13:34; 1 ยอห์น 4:21

ข้อสองเป็นความต่อจากข้อแรก บางทีเพื่อนที่ทำความผิดนั้น ไม่สามารถสู้ไหวกับภาระบาปที่ตนก่อขึ้น เราจะช่วยเขาอย่างไรได้บ้าง เขายอมให้เราช่วยหรือไม่ อย่างหนึ่งที่ทำได้ให้เพื่อนคืออธิษฐานเผื่อและเดินไปกับเขา คุยกันเพื่อช่วยให้พ้นภาระบาปที่มีอยู่ บางคนตั้งใจทำบาป แต่บางคนทำบาปเพราะความกดดันจากรอบข้าง เพราะความต้องการของเนื้อหนัง หากเรากลับไปอ่านกาลาเทีย 5 เราจะเข้าใจความหมายของท่านเปาโลได้ดีขึ้นกฎของพระคริสต์คือ ทุกอย่างที่พระเยซูทรงสอนทั้งโดยตรงจากพระองค์ และผ่านอัครทูต สรุปได้จากข้อที่ว่า รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง

เพราะหากใครคนหนึ่งคิดว่าเขาเป็นคนสำคัญ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ใช่ ก็เท่ากับเขาหลอกตนเอง
กาลาเทีย 6:3


สุภาษิต 26:12; 1 โครินธ์ 3:18,8:2; โรม 12:3

แค่การคิดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ ก็เป็นความเย่อหยิ่งแล้ว เมื่อคิดว่าเราดีกว่าคนอื่น เราก็จะไม่ช่วยใครที่กำลังตกอยู่ในความบาป และก็จะไม่รับความช่วยเหลือจากใครด้วยเช่นกัน เราต้องเข้าใจว่าเราไม่ใช่คนที่เหนือกว่าใคร มีโอกาสถูกล่อลวงได้เหมือนกันตามที่ข้อหนึ่งได้กล่าวไว้ เราไม่อาจรับโทษบาปจากพระเจ้าแทนกันและกันได้แต่เราทูลขอให้เพื่อนของเราหยุดใช้ชีวิตทำบาปเพื่อช่วยให้เขาไม่ตกในความหายนะได้ และเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องทำ

ให้ทุกคนประเมินการงานของตนเอง และเขาก็จะได้ภูมิใจในตัวเองโดยไม่ต้องเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น เพราะแต่ละคนจะต้องแบกภาระของตนเอง
กาลาเทีย 6:4-5

2 โครินธ์ 13:5, 11:12-13; สดุดี 26:2; 1 โครินธ์ 11:28; เยเรมีย์ 32:19; โรม 14:10-12,2:6-9

ท่านเปาโลให้เรามองดูตัวเองว่า มีชีวิตอย่างไร พระเจ้าทรงเปลี่ยนชีวิตเราจากวันที่เราพบพระองค์ครั้งแรกมาอย่างไรบ้าง พระองค์ทรงเสริมกำลังให้เราได้รับใช้พระองค์อย่างไร พระเจ้าประทานพระวิญญาณให้แก่ผู้เชื่ออย่างไร้ขีดจำกัด (ยอห์น 3:34) เราจึงภูมิใจได้ในพระองค์ ในตัวเองที่ได้รับการเปลี่ยนจากพระเจ้า และนี่เองทำให้เราไม่ต้องเปรียบเทียบตัวเองกับใคร แต่ละคนพระเจ้าทรงใช้แตกต่างกันเพื่อแผ่นดินของพระองค์

ทำดีให้กับพี่น้องในความเชื่อ

คนที่ได้รับคำสั่งสอนจากพระวจนะก็ควรแบ่งสิ่งดี ๆ ให้กับคนที่สอน
กาลาเทีย 6:6

1 ทิโมธี 5:17-18; โรม 15:27; เฉลยธรรมบัญญัติ 12:19

นี่เป็นหลักการของพระเจ้าในการที่จะให้พระวจนะของพระองค์ได้ไปถึงทุกคน ภาพที่ชัดเจนคือคนที่มีหน้าที่เจาะจงมาก ๆ ในการรับใช้ด้าน
การสอนพระคำ ก็ต้องใช้เวลาที่มีอยู่ทุ่มเทใน
การเรียนรู้จักพระเจ้าเพื่อที่จะมาแบ่งให้ผู้ที่ต้อง
ทำมาหากินเป็นหลัก แบ่งให้ผู้ที่มีความรู้น้อย
เพื่อจะได้เติบโตในพระเจ้าไปด้วยกัน การที่ผู้รับคำสอนจะแบ่งสิ่งดี ๆ ให้กับผู้สอนจึงเป็นสิ่งที่สมควร และผู้สอนเองคือผู้รับใช้ในพระดำรัสของพระเจ้า ไม่ใช่ผู้ที่จะเป็นนายเหนือพี่น้องผู้ให้สิ่งดีก็ไม่ใช่เป็นนายเหนือผู้สอน

อย่าถูกหลอกอีกต่อไป ท่านมาล้อเล่นกับพระเจ้าไม่ได้ ทุกคนจะเก็บเกี่ยวสิ่งที่เขาหว่านลงไปเพราะคนที่หว่านเพื่อเนื้อหนัง
ของตน จะรับความเน่าเปื่อยของเนื้อหนัง แต่คนที่หว่านเพื่อพระวิญญาณจะได้เก็บเกี่ยวชีวิตนิรันดร์จากพระวิญญาณ
กาลาเทีย 6:7-8

2 โครินธ์ 9:6; โฮเชยา 10:12; โยบ 4:8; โรม 2:6-10; โรม 8:13; ยากอบ 3:18; 2 เปโตร 2:19

เราทุกคนเก็บเกี่ยวสิ่งที่เราหว่าน ในพระคัมภีร์ข้อนี้กล่าวถึงการหว่านในเรื่องของชีวิตฝ่ายวิญญาณ ท่านเปาโลเอาหลักการของการปลูกพืชมาบอกเราเรื่องชีวิตจริง การใช้ชีวิตของเราในแต่ละวันการหว่านเพื่อเนื้อหนังก็หมายความไปถึงการตอบสนองความต้องการฝ่ายเนื้อหนัง จะได้รับผลของบาปที่ทำลายชีวิต ส่วนการหว่านเพื่อพระวิญญาณก็จะได้รับชีวิตนิรันดร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานให้ไม่เฉพาะชีวิตนิรันดร์ แต่รวมถึงคุณภาพของชีวิตที่ได้เดินไปกับพระวิญญาณ ยอดเยี่ยมที่สุด

เราจึงต้องไม่อ่อนล้าในการทำดี เพราะในเวลาที่เหมาะสม เราจะได้เก็บเกี่ยวผลหากเราไม่ล้มเลิกไปก่อน
ดังนั้น เมื่อใดที่เรามีโอกาส ก็ให้เราทำดีกับคนทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่อยู่ในครอบครัวแห่งความเชื่อ
กาลาเทีย 6:9-10

1 โครินธ์ 15:58; 2 เธสะโลนิกา 3:13; อิสยาห์ 40:30-31; ฮีบรู 10:35-39; 13:6; สุภาษิต 3:27; 1 เธสะโลนิกา 5:15

เป็นข้อความอ่านง่าย เข้าใจง่ายจากท่านเปาโลเราต้องถามว่า การอ่อนล้าหรือการหมดใจ เลิกล้มที่จะทำดีนั้น เกิดจากอะไร มันอาจจะ
เกิดจากการที่คนไม่ได้เห็นความดีที่เราทำ
เราเลยเลยท้อใจล้มเลิกไป แต่หากว่า เรารู้ว่า
นี่เป็นคำสั่งจากพระเจ้า และพระองค์ทรงเห็น
ทุกอย่างที่ทำ ความท้อใจก็ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะพระเจ้าทรงทำการดีนั้นไปกับเรา และทรงอวยพระพรให้ทุกการดี

ข้อความลงท้ายของท่านเปาโล

ดูสิว่า ตอนนี้ข้าเขียนเป็นตัวหนังสือที่ใหญ่โตเพียงไร นี่ข้าเขียนด้วยตัวเอง คนที่ต้องการได้หน้าจากเนื้อหนัง กำลังพยายามกดดันให้ท่านรับสุหนัต
ที่เขาทำอย่างนั้น เพื่อว่าเขาจะไม่ถูกข่มเหงเพราะไม้กางเขนของพระคริสต์
กาลาเทีย 6:11-12

1 โครินธ์ 16:21-23; โรม 16:22; กาลาเทีย 5:11; โคโลสี 2:23; กิจการ 15:1

จากข้อนี้ เราจะเห็นว่า เปาโลมีความหนักใจไม่น้อยที่เขียนหนังสือกาลาเทียนี้ ในส่วนอื่น ๆ ท่านน่าจะเป็นผู้กล่าวคำออกมาให้อีกคนเขียนให้ ท่านย้ำแล้วย้ำอีกถึงการที่จะต้องอยู่ใต้พระคุณ ไม่ใช่ใต้กฎบัญญัติ ซึ่งเรื่องนี้ มันเกิดขึ้นทุกวันในคริสตจักรปัจจุบันด้วย เรามักมีกฎเกณฑ์เพื่อช่วยให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่บางครั้งสิ่งเหล่านั้นก็มากั้นทำให้เราไม่ได้ทำสิ่งที่ควรทำคนที่พยายามให้พี่น้องทำตามกฎบัญญัติ ก็เพื่อเขาจะได้ไม่ถูกคนที่รักกฎบัญญัติมากมาข่มเหงเขา

เพราะแม้กระทั่งคนที่เข้าสุหนัตเองก็ไม่ได้เชื่อฟังบัญญัติ แต่พวกเขาต้องการให้ท่านเข้าสุหนัตเพื่อว่า เขาจะได้คุยโอ่เรื่องที่ท่านเข้าสุหนัตตามคำชวนของเขา
กาลาเทีย 6:13

1 โครินธ์ 5:6; ฟีลิปปี 3:3; โรม 2:17-25

เหล่าครูสอนผิดทั้งหลาย ต้องการให้คริสเตียนชาวกาลาเทียได้เข้าสุหนัต เพื่อจะไปอวดใคร ๆ ว่าพวกเขาทำให้คริสเตียนเดินตามบัญญัติของยิวสำเร็จ ในขณะที่ท่านเปาโลพยายามให้พระคริสต์ก่อเกิดในตัวของคริสเตียน (กาลาเทีย4:19) คนเหล่านี้กลับสนใจแค่เครื่องหมายภายนอก
ผู้ที่พยายามอวดความดีของตนเอง อวดการทำ
ตามบัญญัติ ก็เป็นพวกที่น่าสมเพชนัก พวกเขา
ไม่เข้าใจว่า การบังเกิดใหม่ในพระเจ้าคือการได้รับชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

แรงจูงใจในการรับใช้ของท่านเปาโล

แต่ข้าจะไม่อวดเรื่องใดเลย นอกจากอวดเรื่องไม้กางเขนของพระเยซูคริสต์เจ้า ซึ่งเป็นที่ทำให้โลกถูกตรึงจากข้า และข้าเองจากโลก เพราะว่า จะเข้าสุหนัตหรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร สิ่งที่สำคัญคือ การบังเกิดใหม่ เป็นคนที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นใหม่
กาลาเทีย 6:14-15

โรม 6:6;เยเรมีย์ 9:23-24; กาลาเทีย 2:20; 2 โครินธ์ 5:17; โคโลสี 3:10-11; กาลาเทีย 5:6

เหตุการณ์ที่พระเยซูทรงถูกตรึงที่กางเขน เป็นเรื่องของความอับอาย พระองค์ทรงถูกกระทำเยี่ยงทาส การตรึงนั้น เป็นการลงโทษของโรมสำหรับทาส สำหรับอาชญากรที่ชั่วร้าย ที่ท่านเปาโลจะอวดเรื่องไม้กางเขนเท่านั้นจึงทำให้คนที่ได้ฟังรู้สึกประหลาดใจมาก ๆ ที่ว่าท่านถูกตรึงจากโลกมีความหมายว่า อิทธิพลของโลกที่เคยมีต่อท่านนั้น ไม่อาจมีอำนาจเหนือท่านได้อีก

ขอพระพรเพื่อพี่น้อง

ขอให้ทุกคนที่กระทำตามกฎนี้
และชนอิสราเอลแท้ของพระเจ้า
ได้รับสันติสุขและพระเมตตาของพระเจ้า
ถอดความจากกาลาเทีย 6:16

กาลาเทีย 3:29; ฟีลิปปี 3:3; โรม 9:6-8

กฎดังกล่าวคือ กฎแห่งชีวิตคริสเตียนที่ขึ้นอยู่กับพระคำของพระเจ้า เป็นกฎหรือบัญญัติแห่งความรัก ที่บอกว่า จงรักพระเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตของเจ้าและรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง
ท่านเปาโลจบด้วยการขอให้สันติสุขและพระเมตตาของพระเจ้าอยู่กับพี่น้องผู้เชื่อ และเราทุกคนอยากได้พรแบบนี้เช่นกัน พรแห่งสันติสุขเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมในชีวิต เพราะชีวิตที่วุ่นวายนั้นเหนื่อยที่สุด

จากนี้ไป อย่าให้ใครทำให้ข้าต้องยุ่งยากเลย เพราะข้ามีรอยประทับตราว่าเป็นของพระเยซูเจ้าในร่างของข้าแล้ว
ขอให้พระคุณแห่งพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา อยู่กับวิญญาณจิตของพี่น้องทั้งหลายเถิด อาเมน
กาลาเทีย 6:17-18

2 โครินธ์ 1:5, 4:10; โคโลสี 1:24; กาลาเทีย 5:11-12; 2 ทิโมธี 4:22; โรม 16:20; ฟิเลโมน 1:25

เมื่ออ่านพระคำข้อนี้ หลายคนก็สงสัยว่า รอยประทับตราของท่านเปาโลนั้นคืออะไร เราต้องย้อนกลับไปดูวีรกรรมทั้งหลายของท่านเปาโลในหนังสือกิจการ จะเห็นว่า ท่านถูกจำคุก ถูกโบย เหล่านั้นทำให้เกิดรอยแผลเป็นในร่างของท่าน ไม่ใช่รอยประทับใด ๆ อย่างอื่นที่บางคนคิดว่าเป็นเหมือนรอยสักอะไรทำนองนั้นที่ว่าอย่าให้ต้องยุ่งยากคือ ท่านขอร้องคริสเตียนว่า
อย่าหลงกลครูสอนผิดอีกต่อไป





กาลาเทีย 4 สิ่งตรงข้าม ทาส-ไท บัญญัติ-พระคุณ

เราเป็นผู้รับมรดก

ข้าหมายความว่า แม้ผู้รับมรดกจะเป็นเจ้าของทุกสิ่ง ตราบใดที่เขายังเป็นเด็ก ก็ไม่ต่างอะไรกับเป็นทาส เขาอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง และผู้จัดการทรัพย์สิน จนกว่าจะถึงวันที่บิดาของเขากำหนดให้เขาได้รับมรดกนั้น
กาลาเทีย 4:1-2

กาลาเทีย 4:23; 2 พงศ์กษัตริย์ 11:12; 10:1-2;

ท่านเปาโลเปรียบเทียบคนของพระเจ้าก่อนที่
พระเยซูคริสต์จะเสด็จมา กับหลังจากที่พระองค์
มาบังเกิดในโลกแล้ว อีกที โดยในบทที่ 3:23-29. ท่านก็ทำให้เห็นความแตกต่างของการตกเป็นทาสของบัญญัติและการมีอิสระในพระคริสต์ ตอนนี้ท่านกล่าวว่า หากยังไม่ถึงเวลา ผู้รับมรดกคนหนึ่งก็เปรียบได้กับลูกที่ยังอายุไม่ถึง เขาก็เหมือนทาสคนหนึ่ง ที่ยังไม่มีอะไรเป็นของตนเอง เมื่อถึงเวลาที่ได้รับมรดก เขาก็จะเป็นอิสระจากผู้ดูแลทั้งสองและมีความรับผิดชอบในสิ่งที่เขาได้รับในพระคริสต์

เราก็เช่นเดียวกัน
ในเมื่อเรายังเป็นเด็ก
เราตกอยู่ใต้อำนาจ
ของหลักการพื้นฐานของโล

กาลาเทีย 4:3

โคโลสี 2:8; 2:20; กาลาเทีย 4:9, 2:4, 4:31-5:1; กิจการ15:10

หลักการพื้นฐานของโลกที่เราอยู่ใต้อำนาจคือ
หลักการทั่วไปที่เชื่อกันอยู่ อย่างเช่น กฎบัญญัติ
ทางศาสนา ศีลต่าง ๆ ที่มนุษย์พยายามปฏิบัติ
โดยเชื่อว่าจะทำให้เป็นคนดี พ้นทุกข์ ถ้าเป็นสมัยนี้ ก็น่าจะรวมไปถึงคำคมทั้งหลายที่มนุษย์ยึดมั่นเพื่อว่าชีวิตจะดีขึ้น บางอย่างก็ไม่น่าจะเป็นอันตราย แต่มีหลักการพื้นฐานที่ขัดกับพระประสงค์ของพระเจ้าชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการที่เราต้องพึ่งตนเอง เพื่อจะได้รับชีวิต เพราะความจริงคือ
พระองค์เท่านั้นที่ทรงช่วยให้เรารับชีวิตแท้ได้

ผู้รับมรดกเป็นอิสระ

แต่เมื่อเวลาที่เหมาะสมมาถึง พระเจ้าทรงส่งพระบุตรลงมา ให้บังเกิดจากมารดาที่เป็นมนุษย์ เกิดใต้บัญญัติเพื่อไถ่คนที่อยู่ใต้บัญญัติ เพื่อว่าเราจะรับสิทธิเป็นบุตรพระเจ้าอย่างสมบูรณ์
กาลาเทีย 4:4-5

อิสยาห์ 7:14; มาระโก 1:15; 1 ยอห์น 4:14; มัทธิว 1:23 ; ฮีบรู 9:15; 1 เปโตร 1:18-20; เอเฟซัส 1:5

เวลาที่พระเยซูมาบังเกิดนั้น เหมาะสมกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ว่ามารดาเป็นมนุษย์ มีความหมายชัดเจนว่า บิดาไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นพระบิดาพระบุตรพระเจ้าได้ทรงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ทรงสิทธิ์ทุกประการที่จะไถ่บาปของมนุษย์ได้ยิ่งกว่านั้น เมื่อเราได้รับการไถ่บาปจากพระองค์แล้ว ทรงเพิ่มฐานะให้เราเป็นบุตรของพระเจ้าไม่เหมือนคนที่ไม่เชื่อ แม้ว่าคนเหล่านั้นเป็นของพระเจ้าเพราะพระองค์ทรงสร้างเขามา แต่พวกเขา
ไม่ได้เป็นบุตรที่ได้รับการไถ่จากพระเยซู!

เราเป็นลูกของพระเจ้า

เพราะท่านเป็นลูกของพระเจ้า พระองค์ทรงได้ส่งพระวิญญาณของพระบุตร เข้ามาในใจของเราเพื่อเรียกว่า “อับบา พระบิดาที่รัก” ดังนั้นท่านจึงไม่เป็นทาสต่อไปแต่เป็นบุตร และหากท่านเป็นบุตรท่านก็เป็นผู้รับมรดกผ่านพระคริสต์
กาลาเทีย 4:6-7

โรม 8:15-17, 5:5; ฟีลิปปี 1:19; เอเฟซัส 2:18; กาลาเทีย 3:29-4:2; 1 โครินธ์ 3:21-23; โรม 8:16-17

คำว่าอับบา เป็นภาษาอาราเมคที่เด็ก ๆ ใช้เรียกพ่อ สุดยอดแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิต จากคนที่ละเมิดพระเจ้ากลับได้รับการอภัยบาป ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าทรงส่งพระวิญญาณเข้ามาในใจ เพื่อให้เราได้สนิทสนมกับพระองค์ ยังไม่พอ พระเจ้าทรงให้เราได้เป็นผู้รับมรดกฝ่ายวิญญาณทุกประการที่ทรงเตรียมไว้ในพระคริสต์ นี่คือพระคุณซ้อนพระคุณหลายต่อ

เลือกว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร

ก่อนนี้ ตอนที่ท่านยังไม่รู้จักพระเจ้า ท่านเป็นทาสของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่พระเจ้า แต่บัดนี้ท่านได้รู้จักพระเจ้าแล้ว พูดอีกอย่างคือ พระเจ้าทรงรู้จักท่าน แล้วท่านจะกลับไปยังอำนาจที่อ่อนแอ ไร้ค่าทำไม? ท่านต้องการกลับเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นอีกครั้งหรือ? 
กาลาเทีย 4:8-9

1 เธสะโลนิกา 4:5; 1 โครินธ์ 8:3-4; 2 เธสะโลนิกา 1:8; เอเฟซัส 2:11-12; กาลาเทีย 3:3; โรม 8:3

สิ่งที่ทำให้ท่านเปาโลประหลาดใจนักคือ
เหมือนกับว่า ได้เป็นเจ้าชายแล้วทำไมยังอยาก
กลับไปเป็นทาสอีก ในสุภาษิตไทยก็คือ
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นสิ่งที่ไร้ค่าเป็นสิ่งที่
มีคุณค่า และก็ติดตามมันไป ทุกวันนี้ เราเห็นตำตากันว่า คนจำนวนมากพร้อม
ที่จะติดตามสิ่งที่ให้โทษกับชีวิตของตนเอง
และสื่อต่าง ๆ ก็ชวนให้คนทำตามวิถีแบบนั้น เราจะช่วยอะไรใครไม่ได้เลย ถ้าเรายังอยู่เฉยในโซนสบายของชีวิตเรา

ท่านคอยถือวัน เดือน ฤดู และปี
ข้าเกรงว่า แรงที่ข้าได้ทำไปเพื่อท่านนั้น จะเป็นการไร้ประโยชน์
กาลาเทีย 4:10-11

โคโลสี 2:16-17; โรม 14:5; เลวีนิติ 23:1-44; 1 เธสะโลนิกา 3:5; กาลาเทีย 2:2; 2 ยอห์น 1:8

ในสังคมยิวสมัยก่อนของท่านเปาโลนั้น ท่าน
พบว่า คนในศาสนายิว สนใจที่จะทำพิธีต่าง ๆ
ตามเทศกาล ตามกฎที่วางไว้ แทนที่จะใส่ใจ
ทำตามน้ำพระทัยพระเจ้า พิธีกรรมต่าง ๆ
นั้น ดูเหมือนศักดิ์สิทธิ์ทำให้เข้าไปอยู่ในโลก
วิญญาณ นึกว่าเป็นสิ่งที่พระเจ้าจะพอพระทัย
มาก ๆ แต่..เรากลับเข้าใจผิด!
โลกทุกวันนี้ ก็ตามสิ่งไร้ค่าเช่นกัน เราควรถาม
ตัวเองว่า มีอะไรที่ไร้ค่าแล้วเรายังตั้งใจติดตาม
มันอยู่ แล้วลืมสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตไป

ระลึกถึงครั้งแรกที่พบกัน

พี่น้องทั้งหลาย ข้าขอร้องว่า
ขอให้ท่านเป็นเหมือนอย่างข้า
เพราะข้าได้เป็นเหมือนท่าน
ท่านเองไม่ได้ทำผิดอะไรต่อข้าเป็นส่วนตัวท่านรู้อยู่แล้วว่า ตอนที่ข้าประกาศข่าวประเสริฐแก่ท่าน เป็นช่วงที่ข้าเจ็บป่วย
กาลาเทีย 4:12-13

2 โครินธ์ 2:5; 1 พงศ์กษัตริย์ 22:4; ปฐมกาล 34:15; 1 โครินธ์ 2:3; 2 โครินธ์ 12:7-10

ท่านเปาโลขอร้องให้ชาวกาลาเทียเลียนแบบชีวิตของท่านเพื่อว่าพวกเขาจะได้ไม่ถูกหลอกไปตามคนที่พึ่งในกฎศาสนายิว แต่ไม่พึ่งพระคุณพระเจ้า ท่านเคยเป็นคนที่หลงคิดว่าตนเป็นคนดี เคร่งครัดแต่มาบัดนี้ ท่านรู้ตัวว่า ชีวิตของท่านขึ้นอยู่กับพระเมตตาของพระเจ้าไม่ใช่ความดีของตนเองตอนที่ท่านไปประกาศในกาลาเทียนั้น ชาวกาลาเทียดีต่อท่าน ไม่เหมือนพวกยิวที่คอยขัดขวางและทำร้าย
(กิจการ13:13-14) และตอนนั้นเองเปาโลก็ป่วย
ด้วย (เราไม่ทราบว่าท่านป่วยด้วยโรคอะไร)

แต่ถึงแม้ว่าป่วยขนาดนั้นซึ่งดูเป็นการทดลองใจท่าน ท่านก็ไม่ได้ดูหมิ่นหรือปฏิเสธข้าเลย ท่านกลับต้อนรับข้าราวกับเป็นทูตสวรรค์จากพระเจ้า ราวกับข้าเป็นพระเยซูคริสต์เสียด้วยซ้ำ!
กาลาเทีย 4:14

มัทธิว 10:40; 1 เธสะโลนิกา 2:13; 2 โครินธ์ 5:20

ท่านเปาโลยังจำได้ว่า ขนาดที่ป่วยหนักพอควร
แล้วประกาศพระนามพระเจ้า ชาวกาลาเทียก็ไม่ได้คิดมาก ไม่ดูหมิ่นผู้รับใช้ของพระเจ้า
พวกเขาได้ต้อนรับท่านเปาโลดีมาก ๆ ท่านรู้สึก
ว่าพวกเขาปฏิบัติต่อท่านราวกับท่านเป็นองค์
พระเยซูเอง … การทำเช่นนั้นของชาวกาลาเทีย
ทำให้เรามองเห็นว่า พวกเขามีน้ำใจต้อนรับแขกและเป็นคนดีอยู่แล้ว และบางครั้งคนดีเหล่านี้ก็อาจเป็นคนเชื่อคนอื่นง่ายเหมือนกัน ทำให้พวกเขาหลงกลยิวที่สอนผิด

แล้วตอนนี้ความยินดีแบบนั้นหายไปไหน? เพราะข้าเป็นพยานได้เลยว่าหากเป็นไปได้ ท่านก็คงควักดวงตาของ
ท่านมอบให้ข้า แล้วทำไมตอนนี้ข้าจึงกลายเป็นศัตรูของท่านเพียงเพราะข้ายังคงบอกความจริงแก่ท่าน?
กาลาเทีย 4:15-16

1 ยอห์น 3:16-18; 1 เธสะโลนิกา 5:13, 2:8; โคโลสี 4:13; อาโมส 5:10; สุภาษิต 9:8


ใช่แล้ว ชาวกาลาเทียเป็นคนเชื่อคนง่าย
เขาเคยมีความสุขกับท่านเปาโล แต่มาบัดนี้กลับหลงเชื่อครูยิวที่สอนผิด และพวกนี้ไม่ใช่แค่สอนผิดเท่านั้น แต่ได้ใส่ร้ายท่านเปาโลด้วย
คนกาลาเทียกับคนในสมัยปัจจุบัน ก็ไม่ได้ต่างกันมากนักคือ ไม่ค่อยคิดอะไรเอง แต่เมื่อมีข่าวอะไรที่น่าตื่นเต้น ก็จะเชื่อไปตามนั้นโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง มีคนกล่าวว่าคนเรามักเชื่อด้วยอารมณ์ไม่ใช่ด้วยเหตุผล การโฆษณาชวนเชื่อด้วยวิธีต่าง ๆ จึงได้ผลเสมอ

ระวังคนหวังผลประโยชน์

ข้ารู้ว่าคนเหล่านี้พยายามเอาชนะใจท่าน แต่ก็เป็นเพื่อประโยชน์ของพวกเขาเอง เขาต้องการให้ท่านแยกจากข้า ความกระตือรือร้นนั้นดี ถ้าเป้าหมายดี แต่ควรเป็นอย่างนั้นทุกเวลา ไม่ใช่เฉพาะตอนที่ข้าอยู่กับพวกท่านเท่านั้น
กาลาเทีย 4:17-18


2 เปโตร 2:3; 2 โครินธ์ 11:13-15; โรม 16:18; วิวรณ์ 3:19; ฟีลิปปี 2:12; ทิตัส 2:14

คนยิวที่เคร่งศาสนายิว พยายามเอาคริสเตียนชาวกาลาเทียไปเป็นพวกด้วยการเอาใจต่าง ๆ
พวกเขาหลงไปง่าย เพราะชาวกาลาเทียยังไม่เข้าใจและอาจจะไม่เห็นความแตกต่างของความเชื่อคริสเตียนและความเชื่อศาสนายิว พวกเขาอาจเห็นความกระตือรือร้นของยิว ก็เลยคิดว่าดีกว่าเที่ยงธรรมกว่า เมื่อเรามาเชื่อพระเจ้าจึงจำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานของความเชื่อให้กระจ่างและมั่นคง

ลูก ๆ ของข้าเอ๋ย ข้ากำลังต้องผ่านความเจ็บปวดราวกับหญิงคลอดบุตร จนกว่าพระคริสต์จะได้ก่อองค์ขึ้นในตัวท่าน ข้าปรารถนาที่จะอยู่กับพวกท่านในเวลานี้เลย และเปลี่ยนน้ำเสียงของข้า เพราะข้าสับสนกับพวกท่านนัก
กาลาเทีย 4:19-20

เอเฟซัส 4:13; โรม 8:29, 13:14; โคโลสี 4:12; 1 เธสะโลนิกา 2:17-18, 3:9

ตอนนี้เองท่านเปาโลกำลังบอกว่า ท่านรักพี่น้องเหล่านี้เหมือนลูก ๆ ท่านแสดงให้เห็นว่า จิตใจปวดร้าวเพียงใดที่ชาวกาลาเทียเข้าใจผิด หลงผิดไปจากทางแห่งพระคุณของพระเจ้า เมื่อเราได้นำคนหนึ่งมาหาพระเจ้า ไม่ใช่ว่าหนทาง
จะราบรื่นไปเสียหมด เพราะมีปัจจัยอื่นแทรกเข้ามาได้ตลอดเวลา เราจึงต้องเจ็บปวด อธิษฐานกับพระเจ้า และดูแล จนกว่าจะได้เห็นพระคริสต์ในแต่ละชีวิต

ระบบของโลกกับระบบของพระคุณ

ขอบอกข้ามา ท่านที่ต้องการอยู่ใต้บทบัญญัติ ท่านไม่เข้าใจบทบัญญัติหรือ?เพราะมีคำเขียนว่า อับราฮัมมีลูกชาย
สองคน คนหนึ่งจากหญิงเป็นทาสและอีกคนจากหญิงที่เป็นไท
กาลาเทีย 4:21-22

กาลาเทีย 3:10; 3:23-24;โรม 10:3-10; 7:5-6; ปฐมกาล 16:15; 21:10

และแล้วท่านเปาโลก็เริ่มอธิบายคำเปรียบเทียบที่คนไทยอย่างเราจะเข้าใจยาก เริ่มจากมีการเปรียบเทียบระหว่างสองอย่างคือลูกชายจากแม่ที่เป็นหญิงทาส กับลูกชายของแม่
ที่เป็นหญิงไท ทั้งสองมีความหมายถึงบทบัญญัติกับพระสัญญา ท่านกำลังต้องการสื่อว่าพี่น้องกาลาเทียจะเลือกอะไรระหว่าง การที่จะต้องทำตามบัญญัติ หรือการเป็นอิสระในพระคริสต์

ลูกที่เกิดจากหญิงทาสนั้นเกิดตามธรรมชาติมนุษย์ ในขณะที่ลูกชายจากหญิงที่เป็นไทเกิดขึ้นมาตามพระสัญญาของพระเจ้า
กาลาเทีย 4:23

ฮีบรู 11:11; โรม 9:7-8; ปฐมกาล 21:1-2; 18:10-14

ลูกชายของอับราฮัมคนแรก เกิดจากสาวใช้ของภรรยาอับราฮัมชื่อนางฮาการ์ เธอเป็นหญิงสาวที่พร้อมจะตั้งครรภ์ ลูกที่เกิดมาคืออิชมาเอลได้เกิดตามธรรมชาติมนุษย์
ส่วนลูกชายคนที่สองคืออิสอัค เกิดจากซาราห์ ภรรยาที่มีอายุมากเกินกว่าที่จะมีบุตร และในเวลาที่อับราฮัมก็มีอายุมากด้วย เขาเกิดมาได้เพราะอับราฮัมเชื่อในพระดำรัสของพระเจ้าว่าจะให้เขามีลูก นี่เป็นความแตกต่างของศาสนายิวที่พึ่งบัญญัติ กับคริสเตียนที่พึ่งพระเยซู


นี่เป็นการเปรียบเทียบ หญิงสองคนเปรียบได้กับพันธสัญญาสองอย่าง คนหนึ่งมาจากภูเขาซีนาย เกิดลูกเป็นทาส นั่นคือฮาการ์ ฮาการ์หมายถึงภูเขาซีนายในอาระเบีย เธอสอดคล้องกับเยรูซาเล็มปัจจุบัน เพราะเธอเป็นทาสพร้อมกับลูก ๆ ของเธอ แต่เยรูซาเล็มเบื้องบนนั้นเป็นไท และเธอเป็นแม่ของเรากาลาเทีย 4:24-26

กาลาเทีย 4:25; 1 โครินธ์ 10:11; ,มัทธิว 13:35; ฮีบรู 12:18, 22; กาลาเทีย 1:17; ฟีลิปปี 3:20

พันธสัญญาที่ภูเขาซีนายกับฮาการ์ก็เหมือนกัน คือทำให้ผู้ที่เชื่อต่อมา หรือลูกหลานกลายเป็นทาสบัญญัติ ซึ่งก็เหมือนกับเยรูซาเล็มที่เป็นศูนย์กลางของศาสนายิวเป็นที่ ๆ คนยิวพยายามทำตามบัญญัติเพื่อให้พระเจ้าพอพระทัย การเปรียบเทียบเช่นนี้ ท่านเปาโลต้องการเน้นให้เห็นถึงชีวิตทาสบัญญัติ ก้บชีวิตที่เป็นอิสระภายใต้พระคุณของพระคริสต์

เพราะมีคำเขียนว่า “จงยินดีเถิด หญิงที่เป็นหมัน ผู้ไม่เคยมีบุตร จงตะโกน ร้องเสียงดังเถิดผู้ที่ไม่เคยต้องเจ็บปวดกับการคลอดบุตรเพราะลูกหลานของหญิงที่ถูกทอดทิ้งก็มีมากกว่าลูกหลานของหญิงที่มีสามี
กาลาเทีย 4:27

อิสยาห์ 4:27; สดุดี 113:9; 1 ซามูเอล 2:5

ท่านเปาโลกำลังอ้างอิสยาห์ 54:1 ข้อความตอนนี้กล่าวถึงการที่พระเจ้าทรงรื้อฟื้นอิสราเอลจากการเป็นเชลย จากการพิพากษาของพระเจ้าเป็นคำพยากรณ์ที่บอกว่า จำนวนของคนที่เชื่อพระเยซูคริสต์นั้นจะมีมากกว่าคนยิวที่ยึดบทบัญญัตินั่นก็คือ คนที่จะเป็นลูกหลานของพระสัญญาจะมีจำนวนเกินหน้าเกินตาของคนยิว และในวันนี้ก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ทั้งโลกเต็มด้วยคนที่เชื่อในพระสัญญาของพระเจ้าทางพระเยซูคริสต์

แต่ท่านพี่น้องทั้งหลายเป็นลูกหลานของพระสัญญาเหมือนกับอิสอัคเวลานั้น คนที่เกิดมาตามธรรมชาติคอยข่มเหงคนที่เกิดด้วยวิญญาณและบัดนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น
กาลาเทีย 4:28-29

กาลาเทีย 4:23, 3:29; โรม 9:8-9; ปฐมกาล 21:9; กาลาเทีย 5:11; โรม 8:13

ที่ว่าคนเกิดตามธรรมชาติคอยข่มเหงคนที่เกิด
ด้วยวิญญาณหมายความว่าอย่างไรหรือ?
เราพบว่าคนยิวซึ่งถือบทบัญญัติอย่างเคร่งครัด
ก็มีความพยายามอย่างมากที่จะให้ผู้ที่เชื่อใน
พระสัญญาของพระเจ้า ตกหลุมเดียวกับพวกเขาคือกลายเป็นคนที่ถือบัญญัติ คิดว่าต้องทำความดีเพื่อที่จะโอเคกับพระเจ้า ในโลกปัจจุบันมีคนที่บอกว่าเชื่อพระเยซูคริสต์ แต่ก็ยังถือว่าไม้กางเขนของพระเยซูไม่เพียงพอ

แต่พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่าอย่างไร? “จงโยนหญิงทาสและลูกชายของเธอออกไป เพราะลูกของหญิงทาสจะไม่ได้รับส่วนมรดกกับลูกชายของหญิง
ที่เป็นไท”ดังนั้น พี่น้องทั้งหลาย
เราจึงไม่ได้เป็นลูกหลานของหญิงที่เป็นทาส แต่เป็นลูกหลานของหญิงที่เป็นไท
กาลาเทีย 4:30-31

ปฐมกาล 21:10-12; ยอห์น 8:35-36; โรม 8:15-17; กาลาเทีย 5:13; ยอห์น 1:12-13

ความหมายก็คือ เราต้องโยนทิ้งความเชื่อที่ว่า
“ตนเองต้องทำตามบัญญัติจึงจะรอด” ออกไปให้พ้น เพราะความเชื่อในพระคุณ กับความเชื่อในการทำตามบทบัญญัตินั้นไปด้วยกันไม่ได้
ยังมีคนที่เชื่อพระเยซูอีกเป็นจำนวนมากที่
เข้าใจผิดในเรื่องนี้ ความหมายของท่านเปาโล
มิได้บอกว่าเราต้องไม่ทำความดี แต่ท่านกำลัง
บอกซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า การทำความดี ไม่อาจทำให้คนๆ หนึ่งรอด แต่เมื่อรอดแล้ว เราต้องทำสิ่งดีตามที่พระเจ้าทรงบัญชา ยากอบ 1:25