มาระโก 14 ก้าวสู่แดนประหาร

แผนสังหารพระเยซู
(มัทธิว 26:1–5; ลูกา 22:1–2; ยอห์น 11:45–57)
1 อีกสองวันก็จะถึงเทศกาลปัสกาและเทศกาลขนมปังไร้เชื้อและเหล่าหัวหน้าปุโรหิตและธรรมาจารย์กำลังหาวิธีที่จะลอบจับกุม และสังหารพระเยซูอย่างลับ ๆ
2 “แต่อย่าลงมือในช่วงเทศกาล”พวกเขากล่าว “ไม่อย่างนั้น ผู้คนอาจจะก่อความไม่สงบขึ้นมาได้”

ระวัง
ประชาชน
ก่อจลาจล!

การชโลมที่เบธานี
(มัทธิว 26:6–13; ลูกา 7:36–50; ยอห์น 12:1–8)
3 ขณะที่พระเยซูทรงอยู่ในบ้านเบธานี ประทับนั่งเอนพระกาย ที่โต๊ะอาหารบ้านของซีโมนชายโรคเรื้อน มีหญิงผู้หนึ่งนำกระปุกใส่น้ำมันหอมบริสุทธิ์ราคาแพงมากมา น้ำมันหอมนั้นทำจากไม้หอมบริสุทธิ์ เธอทุบกระปุก และเทน้ำมันหอมลงบนพระเศียรของพระเยซู!
4 บางคนที่อยู่ด้วยได้แสดงความเห็นต่อกันอย่างไม่พอใจว่า “เหตุใดจึงทำให้น้ำมันหอมนี้เสียเปล่าเล่า?
5 ถ้าเอาไปขายก็ได้เงินมากกว่าสามร้อยเดนาริอัน (ค่าจ้างคนงานทั้งปี) และเอาเงินไปแจกให้คนยากจนได้” และพวกเขายังตำหนิเธอด้วย
6 แต่พระเยซูตรัสว่า “ปล่อยเธอไป เหตุใดพวกเจ้าต้องกวนใจเธอด้วย? เธอได้ทำสิ่งที่ดีงามให้กับเรา
7 คนยากคนจะอยู่กับเจ้าเสมอ และเจ้าก็ช่วยพวกเขาเมื่อไรก็ได้ แต่เราจะไม่อยู่กับพวกเจ้าตลอดไป
8 เธอได้ทำสิ่งที่ทำได้เพื่อเจิมร่างของเราล่วงหน้า ก่อนที่จะมีพิธีศพ



9 และเราขอบอกความจริงแก่เจ้าว่า ไม่ว่าข่าวประเสริฐจะถูกประกาศในที่แห่งใดในโลก สิ่งที่เธอทำนี้จะถูกกล่าวถึงเป็นการระลึกถึงเธอ

ยูดาสตกลงใจที่จะทรยศพระเยซู
(มัทธิว 26:14–16; ลูกา 22:3–6)
10 แล้วยูดาส อิสคาริโอท ซึ่งเป็นหนึ่งในศิษย์สิบสองคน ได้ไปหาเหล่าหัวหน้าปุโรหิต เพื่อจะมอบพระองค์ให้พวกเขา 11 ได้ยินอย่างนั้น พวกเขาต่างดีใจ และสัญญาว่าจะให้เงินแก่เขา ยูดาสจึงเฝ้ารอโอกาสที่จะทรยศพระเยซู

เตรียมปัสกา
(มัทธิว 26:17–19; ลูกา 22:7–13)
12วันแรกของเทศกาลขนมปังไร้เชื้อ เมื่อมีการฆ่าเพื่อถวายลูกแกะปัสกา
พวกศิษย์ของพระเยซูทูลถามว่า “พระองค์ท่านต้องการให้พวกเราเตรียมปัสกาเพื่อให้พระองค์รับประทานที่ไหนขอรับ?”
13 ดังนั้นพระองค์จึงทรงส่งศิษย์สองคนไป ตรัสว่า “จงเข้าไปในเมือง จะมีชายคนหนึ่งแบกเหยือกน้ำมาพบเจ้า จงตามเขาไป
14 ไม่ว่าเขาจะเข้าไปบ้านไหน ก็จะกล่าวกับเจ้าของบ้านว่า ‘ท่านอาจารย์ถามว่า ห้องรับแขกของเราอยู่ที่ไหน? และเราจะรับประทานปัสกากับศิษย์ของเราได้ที่ไหน?’
15 และเขาก็จะชี้ให้เจ้าดูห้องใหญ่ชั้นบนที่ตกแต่ง เตรียมไว้พร้อมแล้ว จงเตรียมปัสกาไว้ให้เราที่นั่น”

16ดังนั้นศิษย์ทั้งสองก็เข้าไปในเมือง และที่นั่นพวกเขาก็พบทุกสิ่งตามที่พระเยซูทรงบอกไว้ และพวกเขาก็เตรียมปัสกา

อาหารมื้อสุดท้าย
(มัทธิว 26:20–30; ลูกา 22:14–23; 1 โครินธ์ 11:17–34)
17 เมื่อถึงเวลาค่ำ พระเยซูทรงมาถึงพร้อมกับศิษย์ทั้งสิบสอง
18 และขณะที่พวกเขาเอนกาย และรับประทานอยู่นั้น พระเยซูตรัสว่า “เราบอกความจริงแก่เจ้าว่า มีคนหนึ่งในพวกเจ้าที่กำลังรับประทานด้วยกันกับเราจะทรยศเรา”
19พวกเขารู้สึกเสียใจ และถามพระองค์ทีละคนว่า “เป็นข้าพเจ้าหรือไม่?”

20 พระองค์ทรงตอบว่า “เขาคือคนหนึ่งในสิบสองคน คนที่กำลังจิ้มขนมปังในชามนี้ร่วมกับเรา
21บุตรมนุษย์จะต้องไป ตามที่มีเขียนไว้เกี่ยวกับท่าน แต่วิบัติมายังคนที่ทรยศท่าน จะว่าไปแล้วหากเขาไม่ได้เกิดมาก็ดีกว่า”

พิธีมหาสนิท
22 ขณะที่เขากำลังรับประทานกันอยู่ พระเยซูทรงหยิบขนมปัง และขอพระพร ทรงหักขนมปังเป็นชิ้น ยื่นให้กับศิษย์ ตรัสว่า “จงรับไปเถิด นี่คือกายของเรา”


23 แล้วพระองค์ทรงหยิบถ้วย ทรงขอบพระคุณพระเจ้า แล้วประทานให้เขา ทุกคนก็ดื่มจากถ้วยนั้น
24 พระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า
นี่เป็นโลหิตแห่งพันธสัญญาของเรา ซึ่งต้องเทออกเพื่อคนจำนวนมาก
25 เราบอกความจริงว่า เราจะไม่ดื่มจากน้ำจากผลองุ่นนี้อีกจนกว่าถึงวันที่เราจะดื่มใหม่อีกครั้งในอาณาจักรของพระเจ้า”

26และหลังจากที่ร้องเพลงสรรเสริญแล้ว พวกเขาก็ออกไปยังภูเขามะกอกเทศ

พระเยซูทรงบอกเรื่องที่เปโตรปฏิเสธพระองค์ล่วงหน้า
(เศคาริยาห์ 13:7–9; มัทธิว 26:31–35; ลูกา 22:31–38; ยอห์น 13:36–38)

27 แล้วพระเยซูตรัสกับพวกเขาว่า “พวกเจ้าจะทิ้งเราไป เพราะมีคำเขียนว่า ‘เราจะฟาดผู้เลี้ยงแกะ แล้วแกะทั้งหลายจะกระจัดกระจายไป’
28 แต่หลังจากที่เราคืนชีพขึ้นมา เราจะไปยังกาลิลีก่อนหน้าพวกเจ้า”

29 เปโตรกล่าวออกมาว่า “แม้คนอื่นจะทิ้งพระองค์ไป แต่ข้าพเจ้าจะไม่ทำอย่างนั้น”
30​“เราบอกเจ้าจริง ๆ” พระเยซูตรัสตอบ “คืนนี้ ก่อนไก่ขันสองครั้ง เจ้าจะปฏิเสธว่าไม่รู้จักเราสามครั้ง”
31แต่เปโตรยังยืนยันหนักแน่นว่า “ถึงแม้ข้าพเจ้าจะต้องตายกับพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่ปฏิเสธพระองค์แน่นอน”
ศิษย์คนอื่น ๆ ก็พูดอย่างเดียวกัน

พระเยซูทรงอธิษฐานในสวนเกทเสมนี
(มัทธิว 26:36–46;ลูกา 22:39–46)
32 แล้วพวกเขามาถึงสถานที่แห่งหนึ่งเรียกว่า เกทเสมนี และพระเยซูตรัสกับศิษย์ว่า “จงนั่งอยู่ที่นี่ ตอนที่เราไปอธิษฐาน”
33พระองค์ทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นไปกับพระองค์ และทรงปวดร้าวพระทัยลึกนัก และทรงหนักพระทัยเป็นอย่างมาก
34 แล้วพระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “จิตวิญญาณของเราเป็นทุกข์หนักแทบจะตายอยู่แล้ว จงอยู่ที่นี่ และเฝ้าระวังไว้”
35 พระองค์ทรงเดินไปอีกหน่อย ทรงซบพระพักตร์ลงและอธิษฐานว่า หากเป็นไปได้ ขอให้ชั่วโมงนั้นพ้นผ่านไปจากพระองค์
36 “โอ อับบา พระบิดาเจ้า” พระองค์ทูล “ทุกอย่างเป็นไปได้สำหรับพระองค์ ขอทรงเอาถ้วยนี้ออกไปจากข้าพระองค์ด้วย แต่อย่าให้เป็นตามใจข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด”
37 แล้วพระเยซูทรงกลับมา พบศิษย์หลับอยู่ “ซีโมนเอ๋ย เจ้าหลับอยู่หรือ?”พระองค์ตรัสถาม “เจ้าไม่อาจเฝ้าระวังอยู่สักชั่วโมงเลยหรือ?
38 จงเฝ้าระวังและอธิษฐาน เพื่อว่าเจ้าจะไม่เข้าไปในการทดลอง เพราะวิญญาณพร้อมก็จริง แต่ร่างกายอ่อนกำลัง

39 พระองค์ทรงออกไปอีกครั้งและอธิษฐาน ตรัสอย่างเดียวกัน
40 ทรงกลับมาอีก และพบพวกเขาหลับอยู่ เพราะง่วงมากจนลืมตาไม่ขึ้น พวกเขาไม่รู้จะตอบพระองค์อย่างไร
41 เมื่อพระเยซูทรงกลับมาครั้งที่สาม พระองค์ตรัสว่า “พวกเจ้ายังจะนอนหลับพักผ่อนอยู่อีกหรือ? พอเถอะ ! เวลามาถึงแล้ว ดูสิ บุตรมนุษย์ถูกทรยศให้ตกในเงื้อมมือคนบาป
42 ลุกขึ้นเถิด ไปกัน ดูสิ คนทรยศมาใกล้เต็มที!”

การทรยศพระเยซู
(มัทธิว 26:47–56; ลูกา 22:47–53; ยอห์น 18:1–14)
43 ขณะที่พระเยซูยังคงตรัสไม่ขาดคำ ยูดาสซึ่งเป็นหนึ่งในศิษย์สิบสองคนก็มาถึง โดยมีฝูงชนถือดาบและกระบองมาด้วย พวกหัวหน้าปุโรหิต ธรรมาจารย์และ ผู้อาวุโสเป็นคนส่งพวกเขามา
44 และตอนนี้เองที่คนทรยศได้ส่งสัญญาณที่เตรียมไว้กับพวกเขา “คนที่ข้าไปจูบก็คือชายคนนั้น พวกเจ้าจับกุมและคุมตัวเขาไปได้เลย”
45 ยูดาสตรงเข้าไปหาพระเยซู กล่าวว่า “รับบี!” และจูบพระองค์
46 แล้วคนเหล่านั้นก็ยึดและจับกุมพระองค์ไว้
47 มีคนที่ยืนดูอยู่คนหนึ่ง ชักดาบออกมาและฟันหูของคนรับใช้ปุโรหิตใหญ่คนหนึ่งออก
48 พระเยซูตรัสว่า “พวกเจ้าออกมาจับเราพร้อมดาบและกระบองราวเหมือนกับจับโจรอย่างนั้นหรือ?
49 ทุกวันเราอยู่กับพวกเจ้า สอนในบริเวณพระวิหาร และเจ้าไม่จับกุมเรา แต่ที่เกิดเหตุเช่นนี้ก็เพื่อเป็นจริงตามพระคัมภีร์”

50 จากนั้นทุกคนก็หนีไป ทิ้งพระองค์ไว้

51 มีชายหนุ่มคนหนึ่งที่เคยติดตามพระเยซู เขาใช้ผ้าลินินคลุมตัวไว้ แล้วพวกเขาก็ดึงตัวชายคนนั้นไว้
52 แต่เขาสลัดผ้าทิ้ง วิ่งหนีไปทั้ง ๆ ที่เปลือยกาย

พระเยซูต่อหน้าสภาแซนเฮดริน
(มัทธิว 26:57–68; ลูกา 22:66–71; ยอห์น 18:19–24)
53 พวกเขานำพระเยซูไปพบมหาปุโรหิตใหญ่ และหัวหน้าปุโรหิตทั้งหลาย รวมทั้งผู้อาวุโสและธรรมาจารย์ที่เข้ามาชุมนุมกัน
54 ส่วนเปโตรตามพระเยซูมาห่าง ๆ จนถึงลานบ้านของมหาปุโรหิต เขาไปนั่งผิงไฟกับพวกเจ้าหน้าที่
55 ตอนนี้ทั้งหัวหน้าปุโรหิตและทั้งสภาแซนเฮดริน พยายามรวบรวมหลักฐานปรักปรำพระเยซูเพื่อให้ต้องโทษถึงประหารชีวิต แต่พวกเขาก็ไม่สามารถหาหลักฐานได้
56 หลายคนขึ้นเป็นพยานเท็จปรักปรำพระองค์ แต่คำให้การของพวกเขากลับไม่สอดคล้องกันเลย
57 แล้วมีบางคนยืนขึ้นเป็นพยานเท็จกล่าวหาพระองค์

58 “เราได้ยินเขากล่าวว่า ‘เราจะทำลายวิหารที่มนุษย์สร้างขึ้น และภายในสามวันเราจะสร้างวิหารขึ้นใหม่ที่ไม่ได้สร้างด้วยมือ’ ”
59 ถึงอย่างนั้น คำพยานของเขาก็ยังไม่สอดคล้องกัน
60 ดังนั้น ปุโรหิตใหญ่จึงยืนขึ้นต่อหน้าพวกเขา ถามพระเยซูว่า “ท่านไม่มีคำตอบอะไรเลยรึ? จะว่าอย่างไรกับคำกล่าวหาของคนพวกนี้?”
61แต่พระเยซูยังคงนิ่งและไม่ทรงตอบอะไร ปุโรหิตใหญ่ถามพระองค์อีกครั้งว่า “ท่านเป็นพระคริสต์ (พระเมสสิยาห์) พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงเป็นที่สรรเสริญอย่างนั้นหรือ?”
62 “เราคือผู้นั้น” พระเยซูตรัส “และเจ้าจะได้เห็นบุตรมนุษย์ประทับ ณ เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ และเสด็จมาพร้อมกับหมู่เมฆแห่งสวรรค์”
63 เป็นเช่นนี้ มหาปุโรหิตจึงฉีกเสื้อของตนและประกาศว่า “เราจะต้องไปหาพยานที่ไหนอีก?
64 ท่านทั้งหลายได้ยินเขาพูดหมิ่นประมาทแล้วไง ท่านตัดสินอย่างไรเล่า? พวกเขาจึงรวมหัวกันตัดสินว่า พระองค์สมควรรับโทษประหาร
65 แล้วบางคนก็เริ่มต้นถ่มน้ำลายใส่พระองค์ พวกเขาเอาผ้ามาผูกปิดพระเนตร และต่อยพระองค์ ถามว่า
“ทำนายมาสิ!” พวเจ้าหน้าที่มานำตัวพระองค์ไปพร้อมกับตบพระพักตร์

เปโตรปฏิเสธพระเยซู
(มัทธิว 26:69–75; ลูกา 22:54–62; ยอห์น 18:15–18)
66 ขณะที่เปโตรยังอยู่ที่ลานบ้านข้างล่างนั้นเอง มีสาวใช้ของมหาปุโรหิตคนหนึ่งเดินผ่านมา
67 เห็นเขากำลังผิงไฟอยู่ เธอมองตรงไปที่เปโตร และกล่าวว่า “เจ้าก็อยู่กับท่านเยซูแห่งนาซาเร็ธด้วย”
68 แต่เขาปฏิเสธ “ข้าไม่รู้จักท่านสักหน่อย เจ้าพูดอะไรข้าไม่เข้าใจ” แล้วเขาก็ออกไปยังทางเข้าออก และตอนนั้นเองไก่ก็ขัน
69 ที่นั่น สาวใช้คนนั้นเห็นเขา จึงพูดกับคนที่ยืนแถวนั้นอีกว่า “ชายคนนี้เป็นพวกเดียวกันกับเขา”
70 แต่เปโตรก็ปฏิเสธอีก สักครู่ต่อมา คนที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ พูดกับเขาว่า “แน่เลย เจ้าเป็นหนึ่งในพวกเขา เพราะสำเนียงเจ้าบอกว่า เจ้าเป็นชาวกาลิลี”
71 แต่เขาเริ่มต้นสบถ และสาบานขึ้นมา “ข้าไม่รู้จักชายคนที่เจ้าพูดถึงสักหน่อย”

72 ทันใดนั้นเอง ไก่ก็ขันเป็นครั้งที่สอง
แล้วเปโตรก็นึกถึงคำที่พระเยซูตรัสกับเขาว่า “ก่อนที่ไก่ขันสองครั้ง เจ้าจะปฏิเสธเราสามครั้ง” เปโตรคิดขึ้นได้นั้น เขาก็ร้องไห้ออกมา

คำอธิบายเพิ่มเติม

มาระโก 14:1-2
การฉลองปัสกาอยู่ในวันที่สิบสี่ของเดือนนิสาน(เทียบได้กับมีนาคม-เมษายน) ส่วนเทศกาลขนมปังไร้เชื้อจะทำในวันที่สิบห้าต่อไปจนถึงวันที่ยี่สิบเอ็ดเดือนเดียวกัน พวกผู้นำต้องการจับกุมและสังหารพระเยซูอย่างจริงจังและต้องการทำแบบลับ ๆ ไม่ให้ใครรู้ด้วย แต่อุปสรรคคือ ในช่วงเทศกาลจะมีชาวยิวเข้ามารวมตัวกันในกรุงเยรูซาเล็มมากมายถ้าคนรู้เข้าก็จะเกิดเรื่องแน่นอน

มาระโก 14:3-9
เราไม่ทราบว่า ซีโมนคนนี้เป็นคนเดียวกับที่พระเยซูทรงรักษาในบทที่ 1:40-42 หรือไม่ดูเหมือนน่าจะเป็นเขา เพราะเขาไม่ต้องออกไปอยู่เองนอกเมืองตามกฎบัญญัติแล้ว แต่มีบ้านที่สามารถรับแขกได้ด้วย พระเยซูได้ไปรับประทานอาหารที่บ้านชายคนนี้
แล้วมีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้น คือ ผู้หญิงคนหนึ่งเอาน้ำมันหอมราคาแพงมาเทบนพระเศียรของพระองค์ … (เรื่องนี้แตกต่างจากอีกเรื่องที่มีผู้หญิงชโลมพระบาท) คนที่เห็นต่างวิพากษ์วิจารณ์กันไป ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ได้เสียหายอะไร ไม่ได้จ่ายค่าน้ำมันหอมนั้น แต่พระเยซูทรงห้ามพวกเขาไว้ และยังตรัสด้วยว่า ไม่ว่าเรื่องของพระเจ้าประกาศที่ใด ผู้คนก็จะรู้เรื่องนี้ด้วย และก็เป็นจริงดังนั้น เพราะมาระโก มัทธิว ก็ได้บันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ส่วนยอห์น 12 ได้บอกถึงมารีย์ที่ชโลมพระบาท
พระเยซูทรงทราบล่วงหน้าอยู่แล้ว และทรงแจ้งให้ศิษย์ทราบด้วยว่า พระองค์จะสิ้นพระชนม์อย่างไร แต่ดูเหมือนพวกศิษย์จะไม่ได้สนใจมาก พวกเขารู้สึกเหมือนว่า พระเยซูจะทรงอยู่กับพวกเขาไปตลอด. น้ำมันหอมดังกล่าวราคาแพงขนาดค่าจ้างแรงงานทั้งปี และพระเยซูก็ไม่ได้ทรงเรียกร้องสิ่งนั้น แต่เป็นสิ่งที่เธออยากจะทำถวายพระเยซู … มีคำถามเดียวว่า พวกเราแต่ละคน มีอะไรบ้างที่จะทำถวายพระเยซูอย่างเธอคนนี้?

มาระโก 14:10-11
จากเรื่องเดียวกันนี้ มัทธิวได้บันทึกว่า ยูดาสตกลงราคาที่สามสิบเหรียญ
จากวันนี้ได้ ยูดาสก็คอยโอกาสที่จะได้เงินนั้นมาเป็นของคนทั้ง ๆ ที่หมายถึงเขาต้องทรยศพระเจ้าและพระอาจารย์ของเขา
นี่คือสิ่งที่ยูดาสแตกต่างจากผู้หญิงคนที่มาเทน้ำมันเจิมพระเยซูมาก ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นศิษย์วงในของพระองค์

มาระโก 14:12-16
ลูกแกะจะถูกฆ่าในวันที่สิบสี่ตอนเย็น วันต่อมาคือวันที่สิบห้าของเดือนนิสาน ก็เป็นเทศกาลขนมปังไร้เชื้อต่อจากเทศกาลปัสกา นี่นับเป็นวันพฤหัส ซึ่งพระเยซูทรงเตรียมที่สำหรับการรับประทานอาหารปัสการ่วมกัน พระองค์ทรงส่งเปโตร และยอห์นไปพบชายคนหนึ่งที่แบกเหยือกน้ำมา และคนนี้จะบอกว่า สถานที่รับประทานอาหารปัสกาอยู่ที่ไหน ซึ่งมีการจัดอยู่ที่ห้องชั้นบนที่ตกแต่งไว้แล้ว และพระเยซูทรงให้ศิษย์ทั้งสองเตรียมอาหารให้ที่นั่น สถานที่แห่งนี้น่าจะเป็นที่เดียวกับห้องชั้นบนที่ผู้เชื่อรอคอยพระวิญญาณในกิจการ 1:13

มาระโก 14:17-21
สดุดี 41:9 บันทึกว่า “แม้กระทั่งเพื่อนของข้า คนที่ข้าไว้ใจ  คนที่กินอาหารกับข้า ก็ยังหันหลังให้” และสิ่งนั้นก็เกิดขึ้นกับพระเยซูจริง ๆ
นั่นคือยูดาสที่จิ้มขนมปังชามเดียวกับพระเยซู แต่ศิษย์ทั้งหลายก็ไม่เข้าใจแม้พวกเขาจะถามพระองค์ และได้รับคำตอบอย่างชัดเจน มัทธิว
มาระโกและยอห์นได้บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ มีรายละเอียดต่างกันบ้างนิดหน่อย ตามแต่ว่าแต่ละคนเห็นอะไรชัดกว่ากัน มัทธิว ยอห์นบอกชัดว่า คน ๆ ที่จะทรยศพระเยซูก็คือยูดาห์นั่นเอง
พระเยซูทรงรู้ล่วงหน้าว่า ยูดาห์จะเลือกทรยศพระองค์ เพราะเห็นแก่เงิน แต่ก็ยังทรงเลือกเขาให้เป็นศิษย์ใกล้ชิด … แปลกจริง
หลังจากตอนนี้ ยูดาห์ออกไปจากห้อง เขาไม่ได้มีส่วนในพิธีมหาสนิท

มาระโก 14:22-26
ในการรับประทานอาหารปัสกาแบบนี้ ทุกอย่างที่ทำ ที่กินเข้าไปมีความหมายทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการระลึกถึงการเป็นทาสในอียิปต์ ความทุกข์ทรมาน และการได้เป็นอิสระออกมาพวกเขาจะกินขนมปังไร้เชื้อ เพื่อระลึกถึงการหนีจากอียิปต์ ขนมปังจะเป็นแผ่นที่ต้องหักกิน พวกเขาไม่มีเวลารอให้ขนมปังฟูขึ้นด้วยเชื้อ
พระเยซูทรงเปรียบเทียบขนมปังนี้ว่าเป็นพระกายของพระองค์ ที่กินแล้วจะไม่ตาย คือเรายอมให้พระองค์มาเป็นส่วนในชีวิตของเรา
ส่วนเหล้าองุ่นนั้น พระองค์ทรงอ้างถึงพระโลหิตแห่งพันธสัญญาใหม่ ในวันที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์เพื่อรับโทษบาปแทนมนุษย์บนไม้กางเขน การที่ดื่มเข้าไปนั้นบ่งบอกถึงว่า ฤทธิ์เดชการชำระบาปได้เข้าไปในชีวิต จะเปลี่ยนแปลงชีวิตจากข้างในมายังข้างนอก
การร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าจากการทำพิธีมหาสนิทแบบนี้ มักจะร้องจากหนังสือสดุดี 116-118 เราจะเห็นว่า พระเยซูทรงร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าก่อนที่พระองค์จะถูกจับในคืนเดียวกันนั้นเอง

มาระโก 14:27-31
ระหว่างทางนั้นเอง พระเยซูทรงบอกเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งล่วงหน้าแก่เปโตรและศิษย์คนอื่น นั่นคือ พวกเขาจะทิ้งพระองค์ไปแน่นอน เมื่อพระองค์ถูกจับกุม แต่เปโตรและทุกคนยืนกรานว่า จะไม่มีวันปฏิเสธพระองค์ และตรัสด้วยว่า พระองค์จะไปรอพวกเขาที่กาลิลี ซึ่งเมื่อพวกเขาเจอทูตสวรรค์ในเช้าวันที่คืนพระชนม์ ทูตก็ได้ย้ำคำนี้ด้วย (16:7)
เปโตรมั่นใจมากเป็นคนแรกว่า เขาจะไม่ทิ้งพระองค์ แต่สิ่งที่ทรงตอบเขากลับมานั้น น่าจะทำให้เปโตรเสียหน้าพอควรเลยทีเดียว
มีมาระโกเท่านั้นที่บันทึกว่า เปโตรจะปฏิเสธพระเยซูสามครั้งก่อนไก่ขันสองครั้ง เชื่อว่า เมื่อเปโตรเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้มาระโกฟัง เขายังรู้สึกเจ็บปวดกับเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่

มาระโก 14:32-42
ในเวลาเช่นนี้ พระเยซูทรงต้องการเข้าเฝ้าพระบิดาเป็นที่สุด เพราะสิ่งที่จะทรงเผชิญต่อไปคือ ความตายที่น่าอับอายดั่งนักโทษประหาร ความน่ากลัวของการรับโทษบาปของคนทั้งโลก การทำตามพระทัยพระบิดาโดยที่เวลาหนึ่งพระองค์จะทรงถูกทอดทิ้ง แม้จะเป็นเวลาไม่นานในสายตาของพวกเรา แต่พระองค์ไม่เคยห่างจากพระบิดาเลย…เป็นเวลาที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับพระเยซูพระบุตรเลย
ทรงเป็นทุกข์เจียนตาย ศิษย์ของพระองค์ไม่อาจเข้าใจถึงความเจ็บปวดในพระทัยได้ คนอื่น ๆ ทรงให้นั่งอยู่ แต่ทรงนำเปโตร ยากอบ และยอห์นไปด้วย แม้กระนั้น ทั้งสามก็ไม่ได้เข้าไปอธิษฐานพร้อมกับพระองค์ พวกเขาเห็นการคร่ำครวญของพระองค์ ได้ยินคำอธิษฐานนั้นบางส่วน แต่แล้วก็หลับไป เป็นอย่างนี้ถึงสามรอบ พวกเขาง่วง เหนื่อยจนไม่อาจนั่งอธิษฐานกับพระเยซูได้
พระเยซูทรงเป็นทุกข์มากจนถึงกับขอว่า หากเป็นได้ .. ก็ขอให้ไม้กางเขนนั้นผ่านไป แต่..พระบิดาได้ไม่ได้ทรงประสงค์เช่นนั้น เพราะเป็นถ้วยแห่งพระพิโรธที่พระบุตรผู้เดียวเท่านั้นที่ดื่มได้! (ยอห์น 18:11)
ในคำอธิษฐานของพระเยซู คำว่า ถ้วยนี้คือ ถ้วยแห่งพระพิโรธของพระเจ้าที่มีต่อบาปของมนุษย์ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่เป็นบาปของพระองค์ที่ต้องมารับเลย (อิสยาห์ 57:17; สดุดี 75:8) แต่พระองค์ทรงรับแทนมนุษย์ที่พระเจ้าทรงรัก แม้ว่าพวกเขาจะกบฏต่อพระองค์มากแค่ไหนก็ตาม
และพระองค์ก็ตรัสให้เขาและเรารู้ว่า การเฝ้าระวังและอธิษฐานสำคัญมาเพื่อจะไม่เข้าในการทดลอง เป็นงานสำคัญที่ต้องตั้งใจสู้ ไม่ใช่ตั้งรับอย่างเดียว

มาระโก 14:43-52
ที่ยูดาสออกไปจากการกินอาหารร่วมกันนั้น ก็เพื่อไปรวบรวมทหารและผู้คนมาจับกุมพระเยซูนั่นเอง ยอห์นกล่าวว่าเป็นกองทหารกับเจ้าหน้าที่จากปุโรหิต ถ้าเป็นทหารหนึ่งกองจะมีประมาณ 600 คน พวกเขาตั้งใจมาจับกุมเพื่อนำพระองค์ไปประหารให้ได้ พวกเขามีทั้งดาบและกระบองมาครบครัน และยูดาสก็เข้ามาพบพระองค์ จูบพระองค์เป็นเครื่องหมายให้คนเหล่านั้นรู้ว่า คนนี้แหละ พระเยซู!
ในเหตุการณ์นี้ มีทาสคนหนึ่งถูกฟันหูขาด มาระโกไม่บอกว่าใคร แต่ยอห์นบันทึกว่าเป็นเปโตรที่ทำเช่นนั้น (ยอห์น 18:10)
จะเห็นได้ว่า พระเยซูไม่ได้หลบ ไม่หนี ไม่ต่อต้าน แต่เพียงกล่าวให้พวกเขารู้ว่า ที่พวกเขาพากันมาจับพระองค์ในลักษณะนี้เพราะเป็นไปตามพระคัมภีร์ที่เขียนไว้ถึงพระองค์ (อิสยาห์ 53:7-9)
ดูสถานการณ์แล้ว พระเยซูทรงยอมให้พวกเขาจับพระองค์แน่นอน ศิษย์ของพระองค์ทุกคนก็เลยพากันหนีไปหมด เกรงว่าตัวเองจะโดนจับตามไปด้วย
เป็นเพราะมาระโกเท่านั้นที่เล่าเรื่องนี้ หลาย ๆ คนจึงให้ความเห็นว่า ชายหนุ่มคนนี้น่าจะเป็นมาระโกนั่นเอง

มาระโก 14:53-65
การสอบสวนพระเยซูนั้น แบ่งเป็นสองขั้นตอนคือ กับสภาสูงของยิวก่อนแล้วจึงส่งพระองค์ไปสอบสวนโดยผู้มีอำนาจจากโรม
หลังจากที่ยูดาห์พาทหารไปจับกุมพระเยซู ก็พามายังผู้นำศาสนายิวที่บ้านของมหาปุโรหิต
ถ้าเรานำเรื่องราวจากมัทธิว มาระโก ลูกา ยอห์น มาเรียบเรียงให้ถูกตามเวลา เราจะเห็นถึงขบวนการทั้งหมด ตอนนี้เราดูว่า มาระโกรายงานว่าอย่างไร …
1 หัวหน้าปุโรหิตและสภาสูงพยายามหาหลักฐานมาเพื่อให้พระเยซูถูกตัดสินประหาร แต่หาไม่ได้
2 เอาคนมาเป็นพยานเท็จ แต่คำพยานของคนเหล่านั้นขัดแย้งไปคนละทิศละทาง
3 ในที่สุดจึงถามพระเยซูเอง .. พระองค์ไม่ตอบ
4 เมื่อพวกเขาถามว่า พระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าทรงเจิม พระองค์ทรงตอบว่าทรงเป็นผู้นั้น …​จุดนี้เองที่ทำให้พวกเขาเอามาเป็นข้อฟ้องร้องพระองค์เท่ากับตอนนี้ ผู้นำศาสนายิวได้บทสรุปว่า พระเยซูสมควรถูกประหารจากนั้นก็มีการเยาะเย้ยถากถางพระองค์ มีคนถ่มน้ำลายรดพระเยซู เอาผ้าปิดพระเนตร และให้ทายว่าใครทำร้าย
ถ้าเป็นสำนักงานข่าว เราจะพบว่า มาระโกรายงานเพียงเท่านี้

มาระโก 14:66-72
แล้วมาระโกก็หันไปรายงานเรื่องของเปโตรที่ได้ปฏิเสธพระเยซู
เราจะเห็นว่า เขาเดินตามพระเยซูไปห่าง ๆ ยังมีความกลัวว่าพวกทหารอาจจะจับเขาไปด้วย และในความกลัวนี้เอง เมื่อมีคนทักสามครั้งทำให้เขา
ปฎิเสธพระองค์ทันที
ครั้งที่ 1 พูดว่า ไม่รู้จัก ไม่รู้เรื่องที่เขาพูดออกมา
ครั้งที่ 2 ปฎิเสธอีกครั้ง
ครั้งที่ 3 คนจับได้ว่าสำเนียงทางเหนือ เริ่มสบถ
บอกว่าไม่รู้จักอีก
เมื่อไก่ขันครั้งที่สอง เปโตรก็นึกได้ว่า พระเยซูได้ตรัสไว้ล่วงหน้าแล้วว่า เขาจะปฏิเสธพระองค์ เขาเสียใจมาก …
เปโตรได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง พระเยซูทรงให้โอกาสเขาบอกรักพระองค์ถึงสามครั้งหลังจากที่ทรงฟื้นจากความตาย (ยอห์น 21 )
แต่น่าเสียดาย ยูดาส อิสการิโอท ไม่ได้กลับใจ แต่ตัดสินใจทำร้ายตัวเอง ทำให้หมดโอกาสที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพระเยซูอีกครั้ง (กิจการ 1:18)




พระคำเชื่อมโยง

Cross Reference มาระโก 14
1* ลูกา 22:1-2; อพยพ 12:1-27
3* ลูกา 7:37
5* มัทธิว 18:28; ; ยอห์น 6:61
7* เฉลยธรรมบัญญัติ 15:11; ยอห์น 7:77; 8:21; 14:2, 12; 16:10, 17, 28
8* ยอห์น 19:40-42
9* ลูกา 24:47
10* มัทธิว 10:2-4
12* มัทธิว 26:17-19
17* มัทธิว 26:20-24
18* สดุดี 41:9; ยอห์น 6:70, 71; 13:18
21* ลูกา 22:22
22* 1โครินธ์ 11:23-25; 1 เปโตร 2:24
26* มัทธิว 26:30
27* มัทธิว 26:31-35; เศคาริยาห์ 13:7

28* มาระโก 16:729* ยอห์น 13:37-38
30* มาระโก 14:72; ลูกา 22:6132* ลูกา 22:40-46
33* มาระโก 5:37; 9:2; 13:3
34* ยอห์น 12:27
36* กาลาเทีย 4:6; ฮีบรู 5:7; อิสยาห์ 50:5; ยอห์น 5:30; 6:38
38* ลูกา 21:36; โรม 7:18; 21-24
41* ยอห์น 13:1; 17:142* ยอห์น 13:21; 18:1-2; มัทธิว 20:18; 26:2143* ลูกา 22:47-53
44* สุภาษิต 27:648* มัทธิว 26:55
49* มัทธิว 21:23; อิสยาห์ 53:7
50* สดุดี 88:8
53* มัทธิว 26:57-68; มาระโก 15:1; ยอห์น 7:32; 18:3; 19:6
54* ยอห์น 18:15

55* มัทธิว 26:59
56* อพยพ 20:1657* สดุดี 27:12; 35:11
58* ยอห์น 2:19
60* มัทธิว 26:62
61* อิสยาห์ 53:7; ลูกา 22:67-7162* ลูกา 22:69
64* ยอห์น 10:33, 36; มัทธิว 20:18; มาระโก 10:33;ยอห์น 19:7
65* อิสยาห์ 50:6; 52:1466* ยอห์น 18:16-18; 25-27
67* ยอห์น 1:45
69* มัทธิว 26:71
70* ลูกา 22:59
71* กิจการ 2:7
72* มัทธิว 26:75

ฮีบรู 7 ครั้งเดียวเป็นพอ

ฮีบรู 7:1 เมลคีเซเดคท่านนี้ ทรงเป็นกษัตริย์แห่งเมืองซาเล็ม และเป็นปุโรหิตของพระเจ้าองค์สูงสุด ท่านพบอับราฮัมตอนที่กลับมาจากการต่อสู้กับกษัตริย์ทั้งหลายและได้อวยพรท่าน (ปฐมกาล 14:8-16)
ฮีบรู 7:2 และอับราฮัมได้มอบหนึ่งในสิบจาก ของที่ริบมาทั้งหมด ประการแรกนามของท่านหมายถึง “กษัตริย์แห่งความเที่ยงธรรม” ท่านยังเป็น “กษัตริย์แห่งเมืองซาเล็ม” ซึ่งหมายถึง “กษัตริย์แห่งสันติสุข”
ฮีบรู 7:3 ไม่มีบันทึกลำดับวงศ์วานของท่าน ไม่มีบิดามารดา ไม่มีบันทึกวันเริ่มต้นชีวิตหรือวันสิ้นสุดชีวิต แต่เป็นเหมือนกับพระบุตรของพระเจ้า ท่านดำรงตำแหน่ง ปุโรหิตเป็นนิตย์


ฮีบรู 7:4-5 ให้พิจารณาให้ดีว่า ท่านเมลคีเซเดคยิ่งใหญ่เพียงใด แม้แต่อับราฮัมต้นวงศ์วานของเรา ยังได้ถวายหนึ่งในสิบจากสิ่งที่ริบมาจากการสู้รบ บทบัญญัตินั้นสั่งให้วงศ์วานเลวีที่มีตำแหน่งปุโรหิตรับหนึ่งในสิบจากประชาชน นั่นคือ จากพี่น้องของพวกเขา แม้ว่า พี่น้องของเขาเองก็เป็นเชื้อสายของอับราฮัมเช่นกัน

ฮีบรู 7:6-7 แต่ท่านเมลคีเซเดค ท่านไม่ได้สืบเชื้อสายจากเลวี ก็ได้เก็บหนึ่งในสิบจากอับราฮัม และอวยพรให้เขาผู้ได้รับพระสัญญาการที่ผู้น้อยได้รับพรจากผู้ใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้
ฮีบรู 7:8 ในกรณีของเลวี คนที่รับหนึ่งในสิบเป็นมนุษย์ที่ตาย แต่กรณีของท่านเมลคีเซเดคท่านเป็นผู้ที่ได้รับการประกาศว่า ดำรงชีวิตอยู่ตลอดไป

ฮีบรู 7:9-10 กล่าวได้อีกอย่างคือเลวีที่รับหนึ่งในสิบ ได้ถวายหนึ่งในสิบผ่านอับราฮัมแล้วเพราะเมื่อท่านเมลคีเซเดคพบอับราฮัม เลวียังอยู่ในกายของอับราฮัมซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเขาฮีบรู 7:11 หากว่าระบบปุโรหิตเลวีซึ่งเป็นฐานของบทบัญญัติ สามารถทำให้ผู้คนมีความสมบูรณ์แบบอย่างที่พระเจ้าทรงประสงค์ เหตุใดพระองค์จึงทรงตั้งระบบปุโรหิตที่แตกต่างไป โดยมีปุโรหิตตามแบบอย่างท่านเมลคีเซเดค ไม่ใช่ตามแบบอย่างของอาโรน?

ฮีบรู 7:12-13 เพราะเมื่อระบบของปุโรหิตเปลี่ยนแปลงกฎบัญญัติก็ต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกันปุโรหิตผู้ที่เรากล่าวถึงเป็นผู้ที่มาจากเผ่าอื่น ซึ่งไม่เคยมีใครในเผ่านั้นรับใช้ต่อหน้าแท่นบูชาในฐานะปุโรหิตมาก่อน
ฮีบรู 7:14-15 เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรามาจากเชื้อสายเผ่ายูดาห์ โมเสสเองไม่เคยกล่าวว่ามีปุโรหิตมาจากเผ่านั้น และสิ่งที่เรากล่าวถึงจะชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีปุโรหิตอีกท่านที่เหมือนท่านเมลคีเซเดคปรากฏขึ้น 

ฮีบรู 7:16-17 พระองค์เป็นปุโรหิตโดยไม่ได้ใช้กฎระเบียบการสืบทอดตามบรรพบุรษแต่เป็นโดยฤทธิ์เดชแห่งชีวิตซึ่งไม่อาจทำลายได้ ตามที่ได้มีคำยืนยันว่า
“ท่านเป็นปุโรหิตตลอดไปเป็นนิตย์ตามแบบอย่างของท่านเมลคีเซเดค”

ฮีบรู 7:18-19 กฎเกณฑ์ดั้งเดิม (ในระบบปุโรหิต)จึงถูกยกเลิกไป เพราะไม่ได้คุณภาพและไร้ประโยชน์ (เพราะบทบัญญัติไม่อาจทำให้สิ่งใดดีพร้อมได้เลย) มีการให้ความหวังที่ดีกว่า ความหวังนี้ทำให้เราเข้าใกล้พระเจ้าได้

ฮีบรู 7:20-21 และทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ก็ด้วยคำปฏิญาณจากพระเจ้า เพราะผู้อื่นที่มาเป็นปุโรหิตต่างมาโดยไม่ได้มีคำปฏิญาณใด ๆ แต่พระเยซูทรงมาเป็นปุโรหิตด้วยคำปฏิญาณ เมื่อพระเจ้าตรัสกับพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงปฏิญาณแล้วและจะไม่เปลี่ยนพระทัย คือว่า ท่านเป็นปุโรหิตตลอดไปเป็นนิตย์”

ฮีบรู 7:22-23เป็นเพราะคำปฏิญาณนี้เอง พระเยซูจึงทรงมาเป็นผู้ประกันของพันธสัญญาที่ดีกว่าเดิม มีปุโรหิตมากมายที่รับตำแหน่งสืบทอดต่อ ๆ กัน เพราะความตายนั้นกั้นไม่ให้พวกเขาทำงานในตำแหน่งนั้นตลอดไป

ฮีบรู 7:24-25 แต่เป็นเพราะพระเยซูทรงพระชนม์เป็นนิตย์ พระองค์จึงทรงเป็นปุโรหิตที่ดำรงตำแหน่งอย่างยั่งยืน
ดังนั้น พระองค์จึงทรงช่วยคนที่เข้ามาใกล้พระเจ้าโดยทางพระองค์ถึงที่สุดเพราะพระองค์ทรงพระชนม์อยู่เสมอ
เพื่อทูลวิงวอนเพื่อพวกเขา

ฮีบรู 7:26 มหาปุโรหิตเช่นนี้ สามารถช่วยเราจริง ๆ นั่นคือ
ท่านที่บริสุทธิ์ ปราศจากความผิดไร้ตำหนิ ถูกแยกออกจากคนบาปและเป็นที่ยกย่องเหนือฟ้าสวรรค์

ฮีบรู 7:27 พระเยซูไม่เหมือนมหาปุโรหิตอื่น เพราะพระองค์ไม่จำเป็นต้องถวายเครื่องบูชาประจำวันเพื่อบาปของพระองค์ก่อนและต่อมาเพื่อบาปของประชาชน ที่พระองค์ทรงสละชีวิตของพระองค์เอง เท่ากับเป็นเครื่องบูชาเพื่อบาปครั้งเดียวเป็นพอ
ฮีบรู 7:28 เพราะกฎบัญญัติแต่งตั้งคนที่มีข้อจำกัดเพราะเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอมาเป็นมหาปุโรหิต แต่คำปฏิญาณที่มาหลังกฎบัญญัตินั้นได้แต่งตั้งพระบุตรผู้ทรงถูกทำให้สมบูรณ์เพียบพร้อมตลอดไปเป็นนิตย์

อธิบายเพิ่มเติม

ฮีบรู 7:1
ครั้งแรกที่เราพบท่านเมลคีเซเดคนั้น คือครั้งที่อับราฮัมไปช่วยชีวิตโลทหลานชาย โดยการสู้รบกับกษัตริย์จากตะวันออกที่กวาดต้อนชาวโสโดม
ไป ชนะพวกเขาได้ราบคาบ และริบข้าวของมาอีกมากมาย เมื่อกลับมา ก็มาพบกับท่านเมลคีเซเดคโดยอับราฮัมได้มอบทรัพย์สินที่ได้มาหนึ่งในสิบให้กับท่านซึ่งเป็นทั้งกษัตริย์เมืองเยรูซาเล็ม และเป็นปุโรหิตคือคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ด้วย

ฮีบรู 7:2
ชื่อของท่านเมลคีเซเดกนั้น มีความหมายตรงไปยังองค์พระเยซูคริสต์ นั่นคือ คำว่า เมลคี หมายถึงกษัตริย์​และ เซเดค คือ ความเที่ยงธรรม
แปลชื่อท่านตรง ๆ คือ “กษัตริย์แห่งความเที่ยงธรรม” และยังทรงเป็นกษัตริย์แห่งสันติสุขซึ่งก็มีความหมายถึง องค์พระเยซูผู้ประทานสันติสุขให้ไม่เหมือนสันติสุขแบบของโลก อิสยาห์ 9:6 และ 11:14 ได้บอกล่วงหน้าว่าพระเยซูคือราชาแห่งสันติ

 ฮีบรู 7:3
อย่าเพิ่งถอดใจเรื่องของท่านเมลคีเซเดคผู้นี้ เราอาจคิดว่า ท่านเป็นใคร เกี่ยวข้องอะไรกับฉันคนนี้ ถ้าเรารู้จักท่าน เราจะเข้าใจอะไร ๆ ที่เกี่ยวกับพระเยซูในฐานะคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ มากขึ้น มีบันทึกเกี่ยวกับท่านในหนังสือโบราณอื่น ๆ แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้จากฮีบรูคือ ท่านเหมือนพระบุตรพระเจ้า และดำรงตำแหน่งนี้ตลอดไป

ฮีบรู 7:4-5
การที่อับราฮัมมอบสิบลดให้กับเมลคีเซเดค เท่ากับว่า เมลคีเซเดคเป็นผู้ที่ใหญ่กว่า อับราฮัมยอมรับว่า กษัตริย์-ปุโรหิตองค์นี้ ต้องได้รับการนับถือต้องได้รับของถวาย เมลคีเซเดคมาก่อนระบบปุโรหิต-เลวีในสมัยของโมเสส การมอบของถวายหนึ่งในสิบของอับราฮัมนี้ เป็นต้นแบบสำคัญที่อีกสี่ร้อยปีต่อมาที่พระเจ้าได้ทรงให้โมเสสตั้งระบบคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ด้วยเผ่าเลวี ซึ่งเป็นระบบที่จะหมดสิ้นในวันหนึ่ง

ฮีบรู 7:6-7
แม้ว่าอับราฮัมเป็นที่นับถือของผู้คนมากมาย ในฐานะที่เป็นบิดาของประชาชาติ แต่แล้วกลับมาพบว่า มีผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าเขา และยังอวยพรเขาด้วย ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะท่านเมลคีเซเดค รับของถวาย และให้พรแก่อับราฮัม เท่ากับอับราฮัม บิดาแห่งประชาชาติยังมีฐานะที่ต่ำกว่าท่านเมลคีเซเดค จากเหตุการณ์ตอนนี้เราพบว่า ระบบคนกลางระหว่างพระเจ้ามนุษย์มีมานานแล้ว ก่อนระบบปุโรหิตสมัยโมเสส

ฮีบรู 7:8
จากข้อสามกล่าวว่าลักษณะของท่านเมลคีเซเดคก็คือ ไม่มีบิดามารดา ไม่มีลำดับวงศ์ ไม่มีวันเกิดหรือวันสิ้นชีวิต เป็นเหมือนพระบุตรพระเจ้า และ
เป็นปุโรหิตตลอดไป สิ่งที่กำลังหมายถึงก็คือการที่เมลคีเซเดคมาปรากฏตัว มีความสำคัญมากกว่าระบบปุโรหิตของเผ่าเลวีที่โมเสสตั้งขึ้น 
มีความเหมือนกับหน้าที่ตำแหน่งของพระเยซูแบบเหมือนเป๊ะ ทุก ๆ อย่างตามที่บรรยายไว้

ฮีบรู 7:9-10
สิบลดที่อับราฮัมมอบให้กับเมลคีเซเดค มีความสำคัญมากเพราะเท่ากับว่า เลวีในสมัยสี่ร้อยปีต่อมา ก็ได้ให้สิบลดแก่เมลคีเซเดคล่วงหน้าแล้ว
ผ่านอับราฮัมซึ่งเป็นต้นตระกูลของพวกเขาที่ผู้เขียนได้พยายามอธิบายมาถึงตอนนี้ ก็เพื่อผู้อ่านซึ่งเป็นคนยิว ที่ยังยึดติดกับระบบปุโรหิต
จะได้เข้าใจว่า การที่พระเยซูทรงเป็นปุโรหิตหรือคนกลางของเรานั้นสำคัญอย่างยิ่ง

ฮีบรู 7:11
เราจะเห็นว่า พระเจ้าทรงต้องการระบบคนกลาง (ปุโรหิต) แบบอย่างของท่านเมลคีเซเดค ไม่ใช่แบบอาโรน ตรัสกับพระเยซูในในฮีบรู 5:5-6 ว่า “เจ้าเป็นบุตรชายของเรา.. เจ้าเป็นปุโรหิตนิรันดร์ตามแบบอย่างของท่านเมลคีเซเดค” ระบบของอาโรนทำให้เรารู้ว่าเราบาปอย่างไร และมีมนุษย์เป็นคนกลาง แต่ระบบของเมลคีเซเดค มีพระเยซูผู้เดียวเป็นคนกลางระหว่างเรากับพระเจ้า

ฮีบรู 7:12-13
ระบบปุโรหิตเปลี่ยน แทนที่ปุโรหิตจะเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอ และทำผิดบาป กลับกลายเป็นพระเยซูทรงมาเป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์แทน
ดังนั้น กฎบัญญัติจึงไม่เหมือนเดิมในหลาย ๆ กรณี อย่างเช่นสมัยก่อนเรายึดกฎบัญญัติเป็นหลักในการที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย แต่มาบัดนี้
การเชื่อวางใจ และติดตามพระเยซูต่างหากที่ทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัย

ฮีบรู 7:14-15
ย้อนกลับไปที่เรื่องของปุโรหิตหรือคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ สมัยโมเสสผู้ที่จะเป็นปุโรหิตได้ก็ต้องมาจากเผ่าเลวีเท่านั้น ทั้งหมดที่ผ่านมา
ระบบต่าง ๆ ที่เราเห็น เป็นเพียงการบอกเราว่าเราซึ่งเป็นมนุษย์ต้องได้รับการช่วยเหลือจากพระเจ้าด้วยวิธีของพระองค์ และสิ่งที่ดีกว่าระบบ
ปุโรหิตของโมเสสก็คือ ความบริสุทธิ์ขององค์ผู้เป็นปุโรหิต และศักดิ์ศรีความเป็นกษัตริย์

 ฮีบรู 7:16-17
พระเยซูทรงเป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์โดยที่พระองค์ไม่ได้รับตำแหน่งนี้มาด้วยการสืบทอดทางสายเลือดเหมือนอย่างเลวี แต่พระองค์
ทรงเป็นคนกลางหรือปุโรหิตแบบเดียวกับท่านเมลคีเซเดคซึ่งท่านมีตำแหน่งปุโรหิตนี้ก่อนที่จะมีระบบปุโรหิตในสมัยโมเสส และตำแหน่งหน้าที่ของพระองค์ก็ไม่ได้อยู่ชั่วคราว แต่ยั่งยืนเป็นนิตย์ไม่มีใครทำลายได้ ไม่หายไป ไม่มีวันสูญสิ้น

ฮีบรู 7:18-19
เราเป็นคนต่างชาติ ระบบปุโรหิตเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ ผู้เขียนกำลังบอกเราว่า กฎในระบบคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ซึ่งเป็นของเดิมที่พระเจ้าทรงตั้งในสมัยโมเสสนั้น ได้บอกชัดว่า ไม่สมบูรณ์แบบ ช่วยให้คนรอดไม่ได้จริง ๆ พระเจ้าไม่ทรงต้องการให้มนุษย์ติดกับดักของบัญญัติที่เพียงชี้ให้เห็นเราว่า เราเป็นคนแบบใด เราทำผิดอย่างไรไปบ้าง แต่เราต้องมาหาพระผู้ช่วยแท้

ฮีบรู 7:20-21
คำว่า คำปฏิญาณนั้น คือคำสัญญาอันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ อิสราเอลสมัยก่อนจะขอให้พระเจ้าทรงเป็นพยานคำปฏิญาณคำปฏิญาณบ่งบอกความตั้งใจที่จะทำให้สิ่งที่กล่าวไว้สำเร็จตามที่พูดอย่างแน่นอน ปุโรหิตหรือคนกลางทั้งหลายสมัยโมเสสเป็นต้นมาถูกตั้งโดยระบบต่อเนื่อง แต่พระเยซูทรงถูกตั้งโดยคำปฏิญาณของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์

ฮีบรู 7:22-23
ที่ทรงเป็นปุโรหิตที่ดีกว่าด้วยเหตุผลหลายประการเป็นเพราะพระเจ้าปฏิญาณจะประทานปุโรหิตนิรันดร์ ไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุไหน ปีไหนในประวัติ-
ศาสตร์ เราก็มีพระเยซูเป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับเรา -พระเยซูทรงพระชนม์อยู่เป็นนิตย์ -การเป็นคนกลางของพระองค์ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ต้องเปลี่ยนตัว มีการนับว่าจากสมัยโมเสสถึงค.ศ. 70 มีการเปลี่ยนตัวปุโรหิตถึง 83 คน !

ฮีบรู 7:24-25
ที่พระเยซูทรงช่วยได้เพราะทรงเป็นพระเจ้าเป็นมนุษย์ในพระองค์เดียวกัน พระเยซูทรงพระชนม์อยู่เพื่อวิงวอนเพื่อคนที่มาใกล้พระองค์ ทรงชำระให้บริสุทธิ์ ทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาการที่ทรงช่วยจนถึงที่สุดหมายถึงได้ทั้งการช่วยอย่างสมบูรณ์แบบ และ เสมอไป การช่วยให้รอดของพระองค์เพื่อเราจึงสมบูรณ์แบบรอบด้านและเป็นการช่วยเสมอ ตลอดไป 

ฮีบรู 7:26
ความเหมาะสมเช่นนี้ ไม่มีใครทำให้ได้นอกจากพระเจ้าจะทรงกำหนดให้ เวลาเรามีอาจารย์หรือครูสอนที่เราชอบ วันหนึ่งเราอาจผิดหวังเพราะเขาเป็นแค่มนุษย์มีโอกาสทำพลาดได้ แต่พระเยซูทรงอยู่เหนือมนุษย์คนใด เหนือฟ้าสวรรค์ ทรงไร้ที่ติหน้าที่คนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์จึงเหมาะสมที่จะเป็นของพระองค์ผู้เดียว

ฮีบรู 7:27
พระองค์ทรงแตกต่างจากปุโรหิตที่เป็นมนุษย์ที่อ่อนแอ เดี๋ยวพลาด เดี๋ยวกลับใจ เดี๋ยวดี พระองค์ได้ทรงสละชีวิตของพระองค์บนไม้กางเขน
เพียงครั้งเดียว และการสละครั้งนั้น เพียงพอแล้วและบัดนี้ทรงนั่งข้างขวาพระบิดาในสวรรค์ทรงรับการยกย่องเหนือผู้ใดในเอกภพ (ปุโรหิต
ทั่วไปต้องถวายเครื่องบูชาในวันลบบาปปีละครั้งแถมยังต้องถวายเครื่องบูชาทุกวันด้วย)

ฮีบรู 7:28 เราต้องแยกระหว่างกฎบัญญัติ กับคำปฏิญาณของพระเจ้า กฎ ทำไว้เพื่อให้ทำตามกฎกันต่อไปเรื่อย ๆ และมนุษย์ก็มีความจำกัด เพราะแพ้บาปได้เสมอ เราเองเป็นคนบาปที่ถูกแยกออกจากพระเจ้า ไม่มีระบบใดในโลก วิธีการใดที่จะเป็นสะพานระหว่างพระเจ้ากับเรา ดังนั้นเราจึงต้องการพระบุตรของพระเจ้าองค์นี้ มาเป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ ให้เราคืนดีกับพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง

พระคำเชื่อมโยง

1* ปฐมกาล 14:18-20
5* กันดารวิถี 18:21-26
6* ปฐมกาล 14:19-20; โรม 4:13
8* ฮีบรู 5:6; 6:20
11* ฮีบรู 7:18; 8:7

14* อิสยาห์ 1:1; มัทธิว 1:217* สดุดี 110:4
18* โรม 8:3
19* กิจการ 13:39; ฮีบรู 6
:18-19; โรม 5:2
21* สดุดี 110:4

22* ฮีบรู 8:6
25* ยูดา 24; โรม 8:34
26* ฮีบรู 4:15; เอเฟซัส 1:20
27* เลวีนิติ 9:7; 16:6

ฮีบรู 6 คำปฏิญาณจากองค์ผู้สูงสุด

หลักคำสอนพื้นฐาน

6:1 ดังนั้น ให้เราพากันผ่านหลักคำสอนพื้นฐานเกี่ยวกับพระคริสต์ และก้าว
ต่อไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ อย่าให้เราต้องวางพื้นฐานซ้ำอีกในเรื่อง
1 การกลับใจจากการกระทำที่นำสู่ความตาย 
2 และความเชื่อในพระเจ้า

6:2-3 3 คำสอนเรื่องการชำระให้สะอาด
4 การวางมือ 
5 เรื่องการคืนชีพจากความตาย
6 และการพิพากษาลงโทษนิรันดร์
หากพระเจ้าทรงอนุญาต เราจะมุ่งหน้าก้าวต่อไป

อย่าทิ้งทางนี้ไป..เพราะอันตราย

6:4-5 ส่วนบรรดาคนที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความเข้าใจ ได้ลิ้มรสของประทาน
จากสวรรค์ คนที่มีสัมพันธ์สนิทกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ คนที่เคยรับความดีแห่งพระวจนะของพระเจ้าได้สัมผัสฤทธิ์เดชของยุคที่กำลังเคลื่อนเข้ามา

6:6แล้วกลับละทิ้งทางนี้ไป … กรณีนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะนำพวกเขากลับมา สู่การกลับใจอีกครั้ง เพราะพวกเขาได้ตรึงพระบุตรของพระเจ้าอีกครั้ง
และทำให้พระองค์ทรงอับอายต่อหน้าสาธาณชน

6:7-8 ผืนดินที่ได้รับน้ำฝนซึ่งตกลงมา และเกิดพืชผลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์
แก่คนที่เพาะปลูกดูแล ก็เท่ากับเป็นพระพรจากพระเจ้า แต่ผืนดินที่เกิด
ต้นหนามเล็กหนามใหญ่ก็ไร้ค่าใกล้ถูกสาป ในที่สุดก็จะถูกไฟเผา

6:9 เพื่อนรัก แม้ว่าเราจะพูดเช่นนี้ เราก็ตระหนักว่า ในกรณีของท่าน
นั้นยังมีสิ่งที่ดีกว่า คือสารพัดสิ่งที่จะมาพร้อมกับความรอด

พากเพียรบากบั่น จนถึงที่สุด

6:10 เพราะพระเจ้าทรงยุติธรรม พระองค์จะไม่ทรงลืมงานที่ทำ และความรัก
ที่ท่านมีต่อพระนามของพระองค์
ในขณะที่ท่านได้รับใช้วิสุทธิชนของพระเจ้า และยังจะรับใช้พวกเขาต่อไป

6:11-12 เราปรารถนาให้ท่านแสดงว่าได้พากเพียรบากบั่นจนถึงที่สุด เพื่อว่าจะทำให้สิ่งที่ท่านหวังนั้นเกิดขึ้นจริง เพื่อท่านจะไม่เป็นคนเฉื่อยช้า แต่จะเลียนแบบคนที่ได้รับมรดกตามพระสัญญาโดยอาศัยทั้งความเชื่อและความทรหดอดทน

คำปฏิญาณจากองค์ผู้สูงสุด

6:13-14 เมื่อพระเจ้าทรงทำสัญญาต่ออับราฮัมนั้น พระองค์ทรงกล่าวคำปฏิญาณโดยอ้างพระนามของพระองค์เอง เพราะไม่มีใครใหญ่กว่าพระองค์ที่จะทรงอ้างในคำปฏิญาณได้ ตรัสว่า“เราจะอวยพรเจ้าแน่นอนและทวีจำนวนลูกหลานที่สืบเชื้อสายจากเจ้า”

6:15-16 ดังนั้น อับราฮัมจึงได้รับตามพระสัญญาหลังจากที่ได้รอคอยอย่างอดทน  มนุษย์นั้นจะสาบานโดยอ้างบุคคลที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง และคำปฏิญาณของพวกเขาก็เป็นสิ่งยืนยันเพื่อจบการโต้แย้งใด ๆ

6:17 ดังนั้น เมื่อพระเจ้าทรงเต็มพระทัยที่จะแสดงให้ทายาทที่จะรับตามพระสัญญารู้ชัดว่า ไม่มีการเปลี่ยนสิ่งที่ทรงตั้งพระทัยไว้ พระองค์ทรงยืนยันพระสัญญานั้นด้วยคำปฏิญาณ (ภาษาเดิมว่าคำสาบาน)

ความหวังที่อยู่ข้างหน้า

6:18 ดังนั้น โดยสองสิ่งนี้ที่ไม่มีวันเปลี่ยนและเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจะตรัสมุสา พวกเราที่ได้หนีไปยึดความหวังซึ่งเตรียมไว้ต่อหน้าพวกเราจึงต่างได้รับกำลังใจ

6:19-20 เรามีความหวังนี้ เป็นสมอสำหรับจิตวิญญาณทั้งมั่นคง ปลอดภัย เป็นหวังที่ได้เข้าไปยังสถานที่บริสุทธิ์เบื้องหลังม่าน เป็นที่ซึ่งพระเยซูผู้ทรงเข้าไปก่อนเพื่อเรา พระองค์จึงทรงเป็นมหาปุโรหิตเป็นนิตย์ตามแบบอย่างท่านเมลคีเซเดค

อธิบายเพิ่มเติม

ฮีบรู 6:1
ประเด็นสำคัญตอนนี้ คือ การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในความเชื่อ พี่น้องที่เข้ามาเชื่อนั้น ส่วนใหญ่เปลี่ยนจากศาสนายิว มาสู่ความเชื่อในพระเยซูคริสต์ ผู้เขียนได้กล่าวถึงพื้นฐานที่สำคัญหกหัวข้อ หลักคำสอนพื้นฐานดังกล่าวจะเป็นรากฐานที่สำคัญให้กับผู้เชื่อ สอง อย่างแรกคือ การกลับใจและความเชื่อ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราเช่นกัน

ฮีบรู 6:2-3
การชำระให้สะอาดและการวางมือนั้น คู่กัน มีความหมายถึงการรับบัพติศมา และเมื่อ มีการวางมืออธิษฐานให้ เป็นภาษาท่าทางที่สื่อว่า คน ๆ นั้น ได้รับพระวิญญาณของพระเจ้าเข้ามาในชีวิต และก้าวเข้าสู่ชุมชนพระกายของพระคริสต์ ส่วนสองข้อสุดท้ายคริสเตียนจะต้องเข้าใจว่า พระเยซูผู้ทรงคืนชีพจากตายจะเสด็จกลับมาและพิพากษาโลก

ฮีบรู 6:4-5
พระคำตอนนี้ต้องอ่านคู่ไปกับข้อที่หก ในสองข้อนี้กำลังอธิบายถึงคนที่เคยรู้จักพระเจ้ามาอย่างดี ทั้งเข้าใจ ทั้งได้ของประทานที่ล้ำเลิศ ทั้งได้เคยสนิทกับองค์พระวิญญาณรู้จักพระวจนะของพระเจ้าอย่างทะลุปรุโปร่ง เป็นคนที่ได้รับสิ่งดี ๆ จากพระเจ้าอย่างเหลือล้น แต่แล้ว เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันคือ …..

ฮีบรู 6:6
เขาละทิ้งทางของพระเจ้าทั้งที่รู้ดีกว่าใครเหมือนกับคนที่พระธรรมโรม 1:28 กล่าวว่า “เขาไม่เห็นคุณค่าของการที่รู้จักพระเจ้า” ข้อความตอนนี้ยากที่จะเข้าใจ และยังน่ากลัวสำหรับชีวิตของคน ๆ นี้ด้วย การที่บอกว่าเขาตรึงพระเยซูอีกครั้งก็คือ เขากำลังทำอย่างเดียวกับคนที่ตรึงพระเยซูในอดีต… คือปฏิเสธเยาะเย้ย และดูหมิ่นพระองค์

ฮีบรู 6:7-8
นี่เป็นภาพเดียวกับที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น คนหนึ่งได้รับของดีจากพระเจ้ามาทั้งชีวิตแต่แล้วปฏิเสธพระองค์ ก็เหมือนกับแผ่นดินที่ได้รับน้ำฝนอย่างเพียงพอ แต่กลับเกิดต้นหนามทั้งเล็กใหญ่ ผืนดินนั้นก็เท่ากับไร้คุณค่า บางครั้งเราคิดว่า เราโอเคแล้ว เป็นลูกคริสเตียน หรือเป็นสมาชิกในโบสถ์ แต่หารู้ตัวไม่ว่าจริง ๆ เป็นคนที่ยังไม่ได้รู้จักพระเจ้า

ฮีบรู 6:9
หลังจากที่ผู้เขียนได้บอกเล่าถึงสิ่งน่ากลัวที่จะเกิดกับคนที่ปฏิเสธพระเจ้าไป ท่านก็พูดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความหวังใจในสิ่งดี ๆ ท่านเชื่อว่าพี่น้องที่อ่านจดหมายฉบับนี้ จะไม่อยู่ในกรณีนั้น ท่านกำลังบอกว่า “ข้าเชื่อว่าเจ้าทั้งหลายจะได้รับความรอด” นั่นเอง เราต้องดูต่อไปว่าทำไมท่านมีความหวังใจเช่นนี้

ฮีบรู 6:10
ที่ผู้เขียนฮีบรูมีความหวังใจกับพี่น้องเป็นเพราะพวกเขาได้ออกแรงทำงานรับใช้พี่น้องรับใช้พระเจ้าด้วยความรักที่มีต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าเอง ท่านให้กำลังใจว่า ทุกสิ่งที่ได้ทำนั้น พระเจ้าไม่ทรงลืม พระองค์ทรงยุติธรรมที่จะประทานพร รางวัลให้แก่พวกเขา สิ่งที่ทำให้ท่านรู้ว่า พวกเขาเป็นผู้เชื่อแท้ก็เพราะพวกเขารักพระเจ้า รับใช้อย่างไม่หยุดยั้ง

ฮีบรู 6:11-12
จากข้อความนี้ เราเห็นชัดว่า ผู้เขียนขอร้องให้พี่น้องเอาจริงเอาจังกับความเชื่อในพระเจ้า ไม่ใช่ทำตัวสบาย ๆ ใช้ชีวิตตามใจตัวเอง เรามีตัวอย่างของคนที่มีความเชื่อและความอดทนในพระคัมภีร์หลายคน และแน่นอน รอบตัวเรา ก็น่าจะมีคนที่เป็นแบบอย่างให้กับเราด้วย

ฮีบรู 6:13-14
น่าแปลกที่พระเจ้าทรงสัญญาต่ออับราฮัมว่าท่านจะได้มีลูกหลานจำนวนมากมายราวกับดวงดาวบนท้องฟ้า แต่แล้ววันหนึ่งพระองค์ก็ทรงสั่งให้เอาอิสอัคไปถวายเป็นเครื่องบูชา ซึ่งตัวอับราฮัมผู้ที่ได้คุ้นเคยกับพระเจ้า และมีความมั่นใจในพระองค์เต็มร้อย ก็ลงมือทำตามอย่างที่พระเจ้าทรงขอให้ทำ แต่ท่านยังเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงหาทางให้อิสอัคมีชีวิตอยู่ ถึงแม้ต้องตายไปก่อน

ฮีบรู 6:15-16
อับราฮัมได้อย่างที่พระเจ้าทรงสัญญา ที่จริงคำมั่นสัญญาของพระเจ้านั้น ไม่จำเป็นต้องอ้างใครเพื่อให้เกิดการเชื่อถือ เราเชื่อพระสัญญาได้เพราะพระเจ้าทรงซื่อตรงต่อพระดำรัา ไม่เคยมีครั้งใดที่พระองค์ทรงเปลี่ยนคำของพระองค์ตามพระทัยตามอารมณ์หรือตามสถานการณ์ มนุษย์เราเวลาให้สัญญาก็มักจะต้องอ้างถึงผู้ที่ใหญ่กว่าตนเสมอ แต่พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าแห่งพันธสัญญาทรงใหญ่ที่สุดในเรื่องนี้

ฮีบรู 6:17
ที่พระเจ้าทรงยืนยันพระสัญญาด้วยคำปฏิญาณของพระองค์ ก็เพื่อเห็นแก่อับราฮัม เพื่อเขาจะเชื่ออย่างเต็มร้อย เพื่อเขาจะไม่ต้องสงสัยในพระสัญญา (อย่างที่พวกเรามักจะสงสัย ไม่เชื่อคิดว่าพระเจ้าทรงทำไม่ได้ คิดว่าพระเจ้าทรงลืมไปแล้ว) เราจะเห็นคำว่า ทายาทที่จะรับตามพระสัญญา นั่นก็คือ พวกเราที่เชื่อพระเยซูนั่นเอง(กาลาเทีย 3:29) พระคำตอนนี้จึงพูดกับเราโดยตรง

ฮีบรู 6:18
เวลาพระเจ้าตรัสสิ่งใดกับมนุษย์ คำไหนเป็นคำนั้นไม่เปลี่ยนไปมาอยู่แล้ว พระองค์ทรงเป็นผู้เริ่มภาษาให้กับเรา พระเยซูตรัสว่า ทรงเป็นทางนั้นเป็นความจริง และเป็นชีวิต จะเห็นว่า ความจริงคือพระลักษณะของพระองค์เอง เราเองต้องทบทวนตัวเองว่า เรามั่นใจในพระลักษณะ พระดำรัส และคำสัญญาของพระองค์ขนาดไหนถ้ายังมีไม่พอ ต้องอ่าน ฟังพระคำเยอะหน่อย!

ฮีบรู 6:19-20
สถานที่บริสุทธิ์ที่สุดนั้น ห้ามคนเข้าไปเด็ดขาดเป็นที่ ๆ บอกว่า พระเจ้าผู้บริสุทธิ์กับมนุษย์ไม่อาจพบปะกันได้ แต่พระเยซูคริสต์ ทรงเข้าไปก่อนแล้ว ทรงเป็นผู้กลางระหว่างพระเจ้ากับเราที่บอกว่า เราหวังจะได้เข้าที่บริสุทธิ์หลังม่านก็คือที่จะได้พบกับพระเจ้าต่อพระพักตร์พระองค์เราในปัจจุบันไม่ทราบกันว่า ในสมัยโบราณนั้นการเข้าหาพระเจ้าไม่ง่ายเหมือนเวลานี้เลย

พระคำเชื่อมโยง

1* ฮีบรู 5:12; 9:14
2* กิจการ 19:3-5; 8:17; 17:31;24:25
4* ยอห์น 4:10; กาลาเทีย 3:2,5
6* ฮีบรู 10:29
7* สดุดี 65:10
8* อิสยาห์ 5:6

10* โรม 3:4; 1 เธสะโลนิกา 1:3; โรม 15:25
11* โคโลสี 2:2
12* ฮีบรู 10:36
13* ปฐมกาล 22:16-17
14* ปฐมกาล 22:16-17

15* ปฐมกาล 12:4; 21:5
16* อพยพ 22:11
17* ฮีบรู 11:9; โรม 11:29
18* กันดารวิถี 23:19; โคโลสี 1:5
19* เลวีนิติ 16:2,15
20* ฮีบรู 4:14; 3:1;5:10-11



ฮีบรู 5 องค์มหาปุโรหิต..

ปุโรหิตมนุษย์ที่พลาดได้

5:1  มหาปุโรหิตทุกคน ถูกเลือกมาจากหมู่มนุษย์เพื่อทำหน้าที่แทนพวกเขาในเรื่องความสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้า
พวกเขานำของถวายและเครื่องบูชามาถวายเพื่อรับการอภัยบาป

5:2-3 เขาสามารถทำหน้าที่ของเขาได้ด้วยความเข้าใจคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และคนที่ถูกชักนำไปในทางผิด เป็นเพราะเขาเองก็อ่อนแอเช่นกัน ดังนั้นเขาจึงต้องถวายเครื่องบูชาเพื่อบาปของตนเองเช่นเดียวกับบาปของประชาชนด้วย

5:4 ไม่มีใครอาจรับเกียรติทำหน้าที่นี้ด้วยตัวเอง เขาต้องได้รับการทรงเรียก
จากพระเจ้าเหมือนอย่างที่อาโรน ได้รับการทรงเรียกนั้น

องค์ปุโรหิตนิรันดร์

5:5 เช่นเดียวกัน พระคริสต์มิได้ทรงถือเอาเกียรติแห่งการเป็นมหาปุโรหิตด้วยพระองค์เอง….. แต่ทรงได้รับการทรงเรียกโดยพระองค์ผู้ตรัสกับพระองค์ว่า “เจ้าเป็นบุตรชายของเรา วันนี้เราประกาศว่า เราเป็นบิดาของเจ้า”

5:6 และในอีกตอนหนึ่ง พระองค์ตรัสว่า “เจ้าเป็นปุโรหิตองค์นิรันดร์ ตามแบบอย่างของท่านเมลคีเซเดค”

5:7 ระหว่างที่พระเยซูทรงดำเนินชีวิตในโลกพระองค์ทรงทูลอธิษฐานอ้อนวอนด้วยสุรเสียงดังพร้อมน้ำตาพรั่งพรู ต่อพระองค์ผู้ทรงสามารถช่วยพระองค์จากความตาย และพระเจ้าก็ทรงรับฟังเพราะพระเยซูทรงนบนอบเชื่อฟัง

5:8-10 แม้ว่าทรงเป็นพระบุตร พระองค์ทรงเรียนรู้การเชื่อฟังจากความทุกข์ทรมานที่ทรงเผชิญและเมื่อทรงรับความสมบูรณ์เพียบพร้อมทุกประการแล้ว พระองค์จึงทรงเป็นแหล่งความรอดนิรันดร์แก่ทุกคนที่เชื่อฟังพระองค์และพระเจ้าทรงแต่งตั้งให้พระองค์ทรงเป็นมหาปุโรหิตตามแบบอย่างของท่านเมลคีเซเดค

จิตวิญญาณที่ไม่โต

5:11-12 เรายังมีประเด็นที่จะกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เป็นการยากที่จะอธิบายเพราะพวกท่านเรียนรู้ช้า ถึงแม้ว่าขณะนี้ ท่านควรเป็นครูสอนคนอื่นได้แล้ว ท่านกลับต้องให้มีคนมาสอนหลักการพื้นฐานของพระดำรัสซ้ำอีก ท่านต้องการน้ำนม ไม่ใช่อาหารแข็ง

5:13-14 เพราะทุกคนที่ยังกินนมอยู่คือเด็กทารก ไม่เข้าใจคำสอนเรื่องความเที่ยงธรรม แต่อาหารแข็งนั้นเป็นของผู้ที่เติบโตแล้ว เป็นคนที่ฝึกประสาทสัมผัสของตนเองให้รู้จักแยกความดีออกจากความชั่วถอด

อธิบายเพิ่มเติม

ฮีบรู 5:1 
หันกลับไปอ่านอพยพ 28 เป็นต้นไปเราจะพบว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้จัดระบบการเลือกว่าใครเหมาะสมจะเป็นปุโรหิตได้ในสมัยของโมเสสพวกเขาทำหน้าที่เกี่ยวกับการถวายเครื่องบูชาประจำวัน อย่างเช่นถวายลูกแกะเช้าตัวหนึ่งเย็นตัวหนึ่ง และยังมีการถวายเครื่องบูชาแบบอื่น ๆ ด้วย เราจะเห็นว่า ไม่ใช่ว่าเครื่องบูชาทุกอย่างเป็นการเสียเลือด แต่ยังมีของถวายที่แสดงการขอบพระคุณ และอื่น ๆ อีก

ฮีบรู 5:2-3
ปุโรหิตที่รู้จักตัวเอง จะรู้ตัวดีว่า ตนเองก็เป็นมนุษย์และมีโอกาสทำความผิดเหมือนกับคนของพระเจ้าที่พวกเขากำลังปรนนิบัติรับใช้อยู่
แต่ก็มีปุโรหิตที่ทำไป ๆ ก็คิดว่าตนเองเป็นผู้ที่ดีเหนือผู้อื่น ตรงจุดนี้ สอนเราว่า เราเองต้องมองตนเองให้ถูก เรามีโอกาสพลาดเสมอ ที่เสื้อนอก
ปุโรหิตมีอัญมณี 12 ช่องเพื่อทำให้เขาระลึกถึงชนอิสราเอลทั้งหมดที่เขากำลังรับใช้อยู่ ปุโรหิตที่เข้าใจก็จะเห็นอกเห็นใจคนที่อ่อนแอ

ฮีบรู 5:4
งานอื่น ๆ ในโลก ล้วนเกิดจากความจำเป็น ความถนัด ความชอบ หรือโอกาสที่ได้รับของคนที่ทำงานนั้น แต่งานรับใช้ในพลับพลาหน้าที่ปุโรหิต
หรือเลวี ต้องได้รับการทรงเลือกจากพระเจ้าเพื่อประชากรของพระองค์ ไม่มีใครนึกอยากจะรับใช้ก็มาทำได้ สำหรับคนอิสราเอลแล้ว พวก
เขามาจากเผ่าเลวีซึ่งเป็นครอบครัวหนึ่งที่สืบเชื้อสายมาจากยาโคบ (ยาโคบมีลูกชาย 12 คนที่ออกลูกหลานกลายเป็น 12 ตระกูล)

ฮีบรู 5:5
สถานะการเป็นปุโรหิตของพระเยซูนั้น เหนือชั้นกว่าของปุโรหิตสมัยโมเสสมากนัก เพราะว่าพระองค์ทรงได้รับเลือกจากพระเจ้าโดยตรง และ
พระองค์ทรงทำหน้าที่มากกว่าเป็นผู้สื่อกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ พระองค์ทรงเป็นทั้งพระเจ้า และทรงเป็นมนุษย์ และทรงเป็นผู้มารับโทษบนไม้กางเขนแทนโทษที่มนุษย์สมควรจะรับเท่ากับทรงเป็นดั่งลูกแกะที่ถูกถวายเป็นเครื่องบูชาด้วย

ฮีบรู 5:6
ที่สำคัญ พระเยซูไม่ได้ทรงเป็นปุโรหิตตามแบบอย่างของปุโรหิตที่มาจากเผ่าเลวี แต่ทรงเป็นตามแบบของเมลคีเซเดคที่อยู่มาก่อนระบบปุโรหิต
ที่พระเจ้าทรงสถาปนาให้กับคนอิสราเอลในสมัยของโมเสส ชื่อของท่านเมลคีเซเดค ปรากฏเพียงสองครั้งในพระคัมภีร์เดิม แต่มาปรากฏอีกหลายครั้งในหนังสือฮีบรูนี้ ท่านเมลคีเซเดคนั้นเป็นมนุษย์จริง ๆ หรือไม่ หรือเป็นพระเยซูที่มาปรากฏในสมัยของอับราฮัมหรือเปล่านะ?

ฮีบรู 5:7
เรารู้ว่า ก่อนที่พระเยซูจะถูกตรึงนั้น ทรงเข้าไปในสวนเกทเสมนี ทรงเป็นทุกข์ยิ่งนักเพราะความตายที่รออยู่เบื้องหน้า ทั้งทารุณ ทั้งน่าอับอาย พระองค์จะถูกประหารเยี่ยงอาชญากรที่เลวร้ายที่สุด ทั้ง ๆ ที่พระองค์ไม่ได้ทำสิ่งใดผิดเลย แต่ที่ต้องเป็นเช่นนั้นเพื่อจะทรงรับโทษของคนทั้งโลก
ไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกของพระองค์ นอกจากองค์พระบิดาที่ทรงตอบคำอธิษฐานในคืนนั้น


ฮีบรู 5:8-10
สำหรับเราทั่วไปแล้ว การเชื่อฟังพระเจ้าไม่ใช่มาได้ง่าย ๆ แต่ต้องปฏิเสธตนเอง นิสัยเดิมของเราที่ไม่ตรงกับพระเจ้าต้องถูกกำจัดออกไป แต่พระเยซูคริสต์ไม่ได้มีปัญหาแบบเรา ทรงผ่านไม้กางเขน เป็นความทรมานที่ไม่สมควรจะได้รับ ทรงทนทุกข์พร้อมกับต้องเผชิญความอยุติธรรม แต่ก็ทรงผ่านเป็นที่มาของความรอดของเราทุกคน

ฮีบรู 5:11-12
ผู้เขียนกำลังเล่าเรื่องของพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นปุโรหิตตามอย่างมัลคีเซเดค แต่แล้วเขากลับบอกว่า ยากที่จะอธิบายเรื่องนี้ให้กับผู้อ่าน เป็นเพราะพวกเขาเรียนรู้ช้า ..พวกเขาควรสอนคนอื่นได้แล้ว เป็นคนที่อยู่ในทางของพระเจ้ามานานแล้ว แต่กลับไม่รู้อะไรเอาแต่เรียนเรื่องพื้นฐานซ้ำ กลายเป็นคนที่ไม่อาจเรียนสิ่งที่ลึกกว่านี้ได้

ความจาก ฮีบรู 5:13-14
ในภาษากรีก มีคำชัดเจนว่า เอสเธทิเรียหมายถึง senses ประสาทรับรู้ คำ ๆ นี้หมายความถึงความสามารถในการรับรู้ด้วยจากประสาทสัมผัส สติสัมปัญชัญญะหรือเชาวน์ปัญญา ว่าอะไรดีอะไรชั่วในสายพระเนตรพระเจ้า ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องฝึกตัดสินใจว่าอะไรดีชั่ว หนังสือสุภาษิตก็เป็นหนึ่งที่ช่วยสอนเราในเรื่องนี้ 


พระคำเชื่อมโยง

1* ฮีบรู 2:17; 8:3
2* ฮีบรู 7:283* เลวีนิติ 9:7; 16:6
4* อพยพ 28:1
5* ยอห์น 8:54; สดุดี 2:7
6* สดุดี 110:4

7* มัทธิว 26:39, 42, 44; สดุดี 22:1; มัทธิว 26:53, 39
8* ฟีลิปปี 2:8
9* ฮีบรู 2:10
10* สดุดี 110:4

11* ยอห์น 16:12; มัทธิว 13:15
12* 1โครินธ์ 3:1-3
13* เอเฟซัส 4:14
14* อิสยาห์ 7:15