สุภาษิต 1 ปัญญาเรียกหา

ทำไมกษัตริย์โซโลมอนจึงเขียนหนังสือสุภาษิต?
1 สุภาษิตของกษัตริย์โซโลมอนแห่งอิสราเอล
โอรสของกษัตริย์ดาวิด
2 เพื่อ จะเรียนรู้จักสติปัญญากับคำสั่งสอน
เพื่อเข้าใจถ้อยคำที่เต็มด้วยสติปัญญาลึกล้ำ
3 เพื่อรับคำสอนแห่งปัญญา ความเที่ยงธรรม
ความยุติธรรมและความซื่อสัตย์ 
4 เพื่อให้คนที่อ่อนต่อโลก จะได้มีความหลักแหลม 
ให้คนหนุ่มได้มีความรู้และปฏิภาณ 
5 ให้คนที่มีปัญญาได้ฟังและเพิ่มความรู้
และคนที่หยั่งรู้จะได้รับคำแนะนำ
6 เพื่อจะเข้าใจสุภาษิตและคำอุปมา คำคม
และข้อปริศนาของคนมีปัญญา
7 ความยำเกรงพระยาห์เวห์
เป็นจุดเริ่มต้นของความรู้ 
คนโง่ดูหมิ่นปัญญาและคำสั่งสอน





หน้าที่ของพ่อแม่และลูก
8 จงฟัง ลูกชายของเรา ฟังคำสอนของพ่อ
และอย่าละทิ้งคำของแม่
9 เพราะมันเป็นเหมือนมาลัยงดงามบนหัวของเจ้า
และเป็นดั่งสร้อยทองคล้องคอเจ้า

เมื่อคนชั่วมาชักชวน
10 ลูกชายของเราเอ๋ย หากคนบาปหลอกล่อ
ขออย่ายอมตามพวกเขาไป 
11 เพราะหากเขากล่าวชวนว่า
“มากับเรา ไปซุ่มดักรอเชือดใครสักคน
เรามารุมคนบริสุทธิ์กันเถอะ
12 เราจะกลืนพวกเขาทั้งเป็น
เหมือนว่าเราเป็นแดนคนตาย 
เรามากลืนเขาทั้งเป็น เหมือนส่งไปหลุมศพ 
13 เราจะยึดทรัพย์สินมีค่า
และสะสมของเหล่านี้ให้เต็มบ้าน 
14 มาเสี่ยงจับฉลากกับเรา 
แล้วเราจะได้แบ่งเงินกันใช้ “


อย่าเดินไปกับคนชั่ว
15 ลูกชายของเราเอ๋ย
อย่าเดินไปทางเดียวกับพวกเขา
อย่าก้าวเข้าไปในทางของพวกเขาเลย
16 เพราะเท้าของพวกเขาวิ่งไปหาความลำบาก
และพวกเขาดักทำร้ายคน
17 โง่จริงที่เราจะเหวี่ยงตาข่ายดักทั้ง ๆ ที่นกก็เห็น 
18  คนเหล่านี้ซุ่มอยู่เพื่อฆ่าตัวเองแท้ ๆ 
พวกเขาดักล่าชีวิตของตัวเอง
19 นี่เป็นหนทางของคนที่ทำกำไรอย่างคดโกง
และมันคร่าชีวิตของพวกเขาเอง

สติปัญญาร้องเรียกจากถนน เกิดอะไรขึ้นบ้าง?
20 ปัญญาร้องเรียกอยู่บนถนน
เธอส่งเสียงดังที่ลานชุมนุม
21 เธอร้องเสียงดังกว่าเสียงอึกทึกบนถนน
เธอพูดที่ทางเข้าประตูเมืองว่า
22 “ เจ้าคนโง่เอ๋ย เจ้าจะรักความเขลาไปอีกนานเท่าใด?
เจ้าคนช่างเยาะจะพอใจกับการเยาะเย้ยไปอีกนานแค่ไหน?
เจ้าคนเขลาจะชังความรู้ไปอีกนานเท่าใด?
23 หากเจ้าสนใจคำเตือนของเรา
เราก็จะเทวิญญาณของเราเหนือเจ้า
และสอนถ้อยคำของเราให้เจ้า


24 ในเมื่อเราเรียกเจ้าและเจ้าปฏิเสธ
เรายื่นมือออกมา แต่ไม่มีใครใส่ใจ
25 ในเมื่อเจ้าละทิ้งคำปรึกษาทั้งสิ้นของเรา
และไม่ยอมรับการแก้ไขจากเรา
26 ถึงคราวของเรา เราจะหัวเราะกับความหายนะของเจ้า
เราจะเยาะเย้ยเมื่อเจ้ากลัวลาน
27 เมื่อความกลัวโถมเข้ามาหาเจ้าเหมือนอย่างพายุ
และความหายนะมาถึงเจ้าดั่งลมหมุน
เมื่อความลำบาก และความทุกข์ใจมาเหนือเจ้า
28 ตอนนั้นพวกเขาจะร้องหาเรา แต่เราจะไม่ตอบ
พวกเขาจะค้นหาเรา แต่จะไม่เจอ
29 เพราะพวกเขาชังความรู้
และไม่เลือกที่จะยำเกรงพระเจ้า
30 เพราะพวกเขาไม่สนใจคำแนะนำของเรา
และละเลยคำตักเตือนทั้งสิ้นของเรา
31พวกเขาจะได้กินผลจากหนทางของพวกเขา
และจะได้อิ่มกับแผนชั่วของตน
32 ที่คนไม่รู้ประสาจะถูกฆ่าเพราะเขาไม่ยอมฟังใคร
และความเฉยเมยของคนโง่จะทำลายพวกเขาเอง
33 แต่ใครก็ตามที่ฟังเสียงของเรา
จะมีชีวิตอย่างปลอดภัย
และไม่ต้องกลัวอันตรายใด ๆ

คำอธิบายเพิ่มเติม

สุภาษิตเป็นข้อความซึ่งพระเจ้าทรงส่งผ่านชายชราทรงปัญญาที่สุดในโลก ที่ได้เห็นหนทางของมนุษย์ในตลอดชีวิตอันยาวนานของท่าน  ท่านสังเกตและเห็นว่า เกิดอะไรขึ้น และได้สรุปเห็นหลักการในชีวิตของมนุษย์ ว่าถ้าทำอย่างหนึ่งก็จะมีอย่างหนึ่งเกิดขึ้น  การกระทำทุกอย่างมีผลของมัน   ท่านได้มุ่งเน้นสอนเยาวชนในเรื่องการใช้ชีวิตให้ดี
สุภาษิตที่เขียนขึ้นมานี้เป็นเรื่องของสติปัญญา หลักการที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง เกิดผลขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน. ที่เราเดินตามหลักการในพระคัมภีร์นั้นก็เพื่อว่าเราจะได้ถวายพระเกียรติแด่พระองค์เป็นอันดับแรก
ความดีสูงสุดที่เราจะมีในชีวิตของเด็กหนุ่มสาวก็คือ ความรอด และการดำเนินชีวิตที่เป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้นทุกวัน  สุภาษิตนี้จะนำให้เราไปรู้จักพระเยซูคริสต์ในอีกด้านของพระองค์ นี่คือสิ่งที่น่าประหลาดของหนังสือสุภาษิต
หนังสือสุภาษิตนี้ช่วยให้เราเห็นความเขลาของเราในหลาย ๆ เรื่อง และสิ่งที่ผู้เขียนสอนจะช่วยให้เราฉลาดขึ้น ดีจริง ใคร ๆ ก็อยากมีปัญญา และฉลาดขึ้นกันทั้งนั้น

สุภาษิต 1:1-7 ทำไมกษัตริย์โซโลมอนจึงเขียนหนังสือสุภาษิต?
เราได้รู้แล้วว่า ทำไมกษัตริย์โซโลมอนเขียนหนังสือสุภาษิตให้กับเยาวชนในบ้านเมืองที่ท่านปกครองอยู่
ท่านเน้นที่จะให้ประชาชนของท่านเป็นคนมีปัญญา มีความรู้ มีความเข้าใจ เป็นคนฉลาด และท่านก็เริ่มต้นบอกเคล็ดลับของความเป็นคนที่มีความรู้คือ ยำเกรงพระเจ้า ... ความยำเกรงดังกล่าวไม่ใช่ความกลัวจนลนลาน กลัวว่าพระองค์จะทำร้ายหรือลงโทษ แต่เป็นความยำเกรง นับถือ ให้เกียรติ และยกย่องพระองค์อย่างที่พระองค์ทรงเป็น และก็กลัวด้วยคือกลัวที่จะทำอะไร คิดอะไรต่อต้านพระองค์
และท่านยังบอกอีกว่า ถ้าเรายำเกรงพระเจ้าเราจะได้รับผลอย่างไรบ้าง …ดู 8:13; 9:10,10:27, 14:26-27,15:33, 16:6, 19:23; 22:4
ส่วนใหญ่ในหนังสือสุภาษิต มีโซโลมอนเป็นผู้เขียน และยังมีผู้เขียนท่านอื่นที่เขียนบางบทตอนท้าย ๆ ด้วย
สติปัญญาเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็อยากได้ ในภาษาฮีบรูว่า ค๊อกมา חָכְמָה มีความหมายรวมไปถึง .. ความชำนาญในการใช้ชีวิต การทำงาน ความสามารถในการบริหารงานต่าง ๆ การทำสงคราม ความเข้าใจทางฝ่ายวิญญาณ ไปดูความหมายเพิ่มเติมได้ที่ https://biblehub.com/hebrew/2451.htm

สุภาษิต 1:8-9 หน้าที่ของพ่อแม่และลูก
พ่อแม่มีหน้าที่สอนสิ่งที่ดีให้ลูก ๆ ของตน แต่ ความที่โลกนี้เปลี่ยนไป พ่อแม่ที่รับผิดชอบมีน้อยลงไปเรื่อย ๆ
คนที่มีความรับผิดชอบสูงก็เกิดไม่อยากมีลูกเสียอีก … ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยได้คือ เยาวชนของเราต้องรู้จักหนังสือสุภาษิต เพื่อให้ข้อความเหล่านี้ได้สอนใจ และนำทางชีวิตของเขา

สุภาษิต 1:10-19 เมื่อคนชั่วมาชักชวน
สิ่งที่สำคัญคือ อย่าให้คนอื่นมาหลอกล่อให้เราทำชั่วอย่างพวกเขา ซึ่งตอนนี้ รายการความชั่วนั้น มีมากมายไม่เฉพาะแค่ที่โซโลมอนบอกเอาไว้ เยาวชนของเราต้องมีความเข้าใจที่จะเลือกสิ่งดีที่สุดให้กับชีวิตของตน และรู้ว่าจะฟัง ไม่ฟังใคร
การตักเตือนในตอนนี้ ได้ใช้เรื่องราวที่เกิดขึ้นมาเล่าให้เยาวชนได้เข้าใจว่า คนชั่วจะชักชวนประมาณไหน ต้องสังเกตคำพูดของพวกเขาอย่างไร

สุภาษิต 1:20-23 เมื่อคนชั่วมาชักชวน
ครั้งนี้ ซาโลมอนได้กล่าวถึงปัญญาในฐานะที่เป็นสตรีผู้หนึ่ง เธอคือปัญญา ที่ท่านทำเช่นนี้ ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจการเรียกหาของปัญญาได้ดีขึ้น แทนที่จะเป็นคำนามธรรมที่มองไม่เห็น เหมือนกับที่อิสยาห์เองกล่าวถึงพระเมสสิยาห์ว่าทรงเป็นที่ปรึกษาที่ล้ำเลิศ (อิสยาห์ 9:6) ในมุมมองของพระคัมภีร์แล้ว พระปัญญาเป็นบุคคลไม่ใช่แค่นามธรรมที่ไม่มีชีวิต
ปัญญาส่งเสียงดังเรียก แต่คนไม่ได้ยิน ไม่ชอบปัญญา ชอบฟังอย่างอื่นที่สนุกมากกว่า ปัญญาพยายามที่จะเรียกร้องความสนใจ แต่ไม่มีใครเอาใจใส่เธอเลย
ปัญญาบอกด้วยว่า หากสนใจคำเตือน ก็จะได้รับคำสอนจากปัญญา

สุภาษิต 1:24-33 เมื่อเราเรียกเจ้าและเจ้าปฏิเสธ
ในเมื่อไม่มีใครฟัง ปัญญาก็บอกว่า เวลาต้องการเธอ ก็จะไม่พบเธอ ดังนั้น เราจึงต้องไม่ให้สายเกินไปที่เราจะหันกลับมาหาปัญญา คือพระคำของพระเจ้า เพราะวันหนึ่งที่เดือดร้อน เราอาจหาพระองค์ไม่พบแล้วก็เป็นได้ ข้อ 29 คนทั้งหลายชังความรู้ ไม่เลือกความยำเกรงพระเจ้า ..เขาจะได้กินผลจากการเลือกของเขา เป็นข้อความที่ตรงกันข้ามกับข้อ 7 ที่บอกว่า ความยำเกรงพระเจ้าเป็นที่เริ่มต้นของความรู้
โยบ 28:28 สรุปให้เรารู้ว่า ความยำเกรงพระเจ้านั่นคือปัญญา และที่จะหนีจากความชั่ว คือความเข้าใจ

ข้อพระคำเชื่อมโยง

1* 1 พงศ์กษัตริย์ 4:32
4* สุภาษิต 9:4
5* สุภาษิต 9:9
6* สดุดี 78:2
7* โยบ 28:28
8* สุภาษิต 4:1
9* สุภาษิต 3:22
10* ปฐมกาล 39:7-10

11* เยเรมีย์ 5:26
12* สดุดี 28:1
15* สดุดี 1:1, 119:101
16* อิสยาห์ 59:7
19* 1 ทิโมธี 6:10
20* ยอห์น 7:37
23* โยเอล 2:28
24* เยเรมีย์ 7:13

25* ลูกา 7:30
26* สดุดี 2:4
27* สุภาษิต 10:24-25
28* อิสยาห์ 1:15
29* โยบ 21:14; สดุดี 119:173
30* สดุดี 81:11
31* โยบ 4:8
33* สุภาษิต 3:24-26; สดุดี 112:7

กิจการ 19 การต่อสู้ที่แปลกออกไป

เปาโลในเมืองเอเฟซัส

การอัศจรรย์ที่ทำให้หมอผีเปลี่ยนชีวิต

ความวุ่นวายจากกลุ่มนายช่าง

คำอธิบายเพิ่มเติม

เปาโลในเมืองเอเฟซัส
กิจการ 19:1-3
นี่เป็นการเดินทางออกไปประกาศเยี่ยมเยี่ยนครั้งที่สาม ของเปาโล และบทนี้เราได้รู้ว่า เปาโลได้อยู่ในเอเฟซัสประมาณสามปั เป็นความสุข ที่ได้กลับมายังเอเฟซัสอีก และเมื่อพบพี่น้องก็รู้สึกว่าต้องคุยกันเรื่องพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งพี่น้องเอเฟซัสก็ไม่เคยรู้จักเลย ซึ่งคล้ายกับอปอลโลแรก ๆ ที่รู้เรื่องของพระเจ้าแต่ยังรู้ไม่ครบถ้วน
กิจการ 19:4-7
พี่น้องเหล่านี้ฟังคำของท่าน ฟังความหมายของบัพติศมาของยอห์น และของพระเยซูว่าแตกต่างกันอย่างไร
พวกเขาจึงได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ และพูดภาษาต่าง ๆ มีการเผยพระคำด้วย เหมือนกับวันแรกที่พระวิญญาณทรงเติมเต็มเหล่าคนที่รอคอยพระองค์ในเยรูซาเล็ม (กิจการ 2)
กิจการ 19:8-10
ยิวที่เกลียดชังเรื่องที่เปาโลพยายามจะอธิบายให้เข้าใจก็ใช้วิธีเดิม คือ การให้ร้ายความจริง วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันมาแต่โบราณจนกระทั่งวันนี้ เวลานี้ มีคำ ๆ หนึ่งบอกว่า การโฆษณาชวนเชื่อสามารถเปลี่ยนประเทศได้ ซึ่งเป็นความจริง เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการโหมพูดสิ่งที่ต้องการซำ้แล้วซำ้เล่าจนคนได้ยินบ่อยก็เชื่อว่าเป็นจริง
เปาโลจึงแก้ไขโดยการออกไปคุยเรื่องของพระเจ้าในห้องใหญ่ของทีรัสนัส และได้ใช้ที่นั่นนานถึงสองปี ทำให้คนชาติต่าง ๆ ที่อยู่ในเมือง ที่ไม่เคยเข้าไปในศาลาธรรมได้ยินเรื่องของพระเยซูด้วย

การอัศจรรย์ที่ทำให้หมอผีเปลี่ยนชีวิต
กิจการ 19:11-12
การอัศจรรย์นี้มีความหมายถึงอำนาจ ฤทธิ์เดชซึ่งมาจากคำกรีกว่า ไดนามิส การอัศจรรย์จากเปาโลเป็นการทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ผ่านตัวเขา ทำแบบวิเศษมากคือ ตรงเป้าหมาย ซึ่งไม่ได้เกิดจากการวางมือเสียด้วยซ้ำ ในเมืองอื่น ๆ เราไม่ค่อยเห็นการอัศจรรย์แบบนี้ แต่สำหรับเอเฟซัสเป็นสิ่งที่เหมาะมากเพราะพวกเขาเชื่อในเรื่องอำนาจผีไม่น้อย ดูจากจดหมายของเปาโลที่เขียนมายังพี่น้องในเอเฟซัส โดยมีการอ้างถึงวิญญาณต่าง ๆ หลายครั้ง การอัศจรรย์เหล่านี้ทำให้รู้ว่า พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่กว่าวิญญาณที่พวกเขาเชื่อถือ
กิจการ 19:13-14
และแล้ว ก็เกิดการเลียนแบบขึ้น มียิวหัวใสคิดทำตามเปาโล ทำตัวเป็นหมอผีเพื่อจะได้เงินจากครอบครัวของคนที่ถูกผีสิง แม้กระทั่งลูกชายของเสวาหัวหน้าปุโรหิตยังเลียนแบบด้วย พวกเขาช่างกล้าที่จะเอาพระนามของพระเยซูมาหาเงิน เป็นความกล้าทางมืดที่ไม่ได้หมดไปจากโลกนี้ แม้กระทั่งในหมู่ผู้เชื่อที่ไม่ค่อยเข้าใจพระคัมภีร์ หรือแค่เชื่อเผิน ก็จะโดนคนที่ไวในการหาประโยชน์เข้าตัวปอกลอกด้วยวิธีการแบบนี้ (ยิ่งในอเมริกา และในอัฟริกา จะพบสิบแปดมงกุฎสายนี้ไม่น้อย)
กิจการ 19:15-16
ที่เปาโลช่วยรักษาโรคและไล่ผีออกในพระนามพระเยซูได้ ก็เพราะพระเจ้าทรงสัญญาจะให้อำนาจนี้แก่ผู้รับใช้ของพระองค์ที่ออกไปในพระนาม (พระมหาบัญชาระบุชัดเจน ดูมัทธิว 28:18-20)
แต่เรื่องนี้ลูกชายของเสวาไม่ได้รู้ด้วย พวกเขาคิดว่า ใช้พระนามพระเยซู ก็เหมือนใช้มนต์ของหมอผี พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตจากพระเจ้าให้ทำอย่างนั้น พวกเขาเองไม่รู้จักพระองค์เสียด้วยซ้ำ
ที่ผีมารต้องออกจากคนที่มันสิงอยู่เวลาเปาโลไล่มันออกไป เพราะเปาโลมีอำนาจของพระเยซูอยู่ มันรู้ว่าพระเยซูคือพระบุตรของพระเจ้า เรื่องนี้ ผีทุกตัวรู้ดี (ดูมาระโก 3:11-12, 5:7)
“พระเยซูข้ารู้จัก เปาโลข้าเคยได้ยิน แต่พวกเจ้าเป็นใคร?” นี่เป็นคำถามของผี จริง ๆ มันไม่สนใจด้วยซ้ำว่าพวกเขาเป็นใคร กลุ่มวิญญาณชั่วที่สิงในคนรู้ว่าลูกชายเสวาเป็นของปลอม มันเลยใช้ให้คนที่ถูกสิง กระโจนใส่ ทำร้ายพวกเขาจนต้องหนีหัวซุกหัวซุน
กิจการ 19:17-18
เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นที่ฮือฮาในหมู่คนยิว กรีก พวกเขาแปลกใจที่ผีเองยังรู้จักพระเยซู และจัดการกับตัวปลอมได้ ในขณะที่คนชาวโรมันชอบรูปเคารพและพระต่าง ๆ แต่คนยิวบางส่วนกลับสนใจเรื่องฝ่ายวิญญาณเพื่อที่จะหาเงินเข้ากระเป๋า มีอาชีพเป็นหมอผี และเมื่อเห็นว่า แค่ผ้าที่เคยแตะต้องตัวเปาโลมายังมีฤทธิ์ขนาดนั้น พวกเขาจึงสวมรอยใช้พระนามของพระเจ้าในทางที่ผิด เหมือนอย่างลูกชายของเสวา
เรื่องนี้ทำให้หมอผีจำนวนหนึ่งที่มีปัญญา ต้องมาจำนนต่อฤทธิ์เดชจริงของพระเจ้า
กิจการ 19:19-20
ไม่ใช่แค่กลับใจเท่านั้น แต่ยังเผาตำราแพง ๆ ทั้งหมดด้วย ทำให้เราเห็นว่า พระเจ้าทรงเปิดตาพวกเขาให้เห็นความจริงและยอมรับว่า พระเจ้ายิ่งใหญ่ ถ้าไม่เห็นจริง คงไม่เผาสิ่งที่ช่วยให้ทำมาหากินคล่อง ๆ แบบนี้
เหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อทำให้พระคำของพระเจ้าขยายออกไปอีก มีฤทธิ์มากขึ้นอีกในเมืองเอเฟซัสและรอบ ๆ
นี่เป็นตัวอย่างให้เราเห็นว่า หากยังมีสิ่งใดที่ทำให้เราไม่บริสุทธิ์ในสายพระเนตร เราต้องทำลายมันทิ้งเสีย
กิจการ 19:21-23
การที่ได้เกิดผลในเอเฟซัส ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่ที่นั่นตลอดไป เปาโลมีความหวังว่าจะเยี่ยมพี่น้องคริสเตียนที่อยู่ในโรมด้วย เป็นคริสเตียนที่เชื่อด้วยการประกาศของพี่น้องท่านอื่น ๆ ด้วยการทรงนำของพระวิญญาณ เปาโลจึงเดินทางผ่านไปยังมาซิโดเนีย อาคายา โดยให้ทิโมธีกับเอรัสทัสไปล่วงหน้าก่อน แต่แล้ว ยังไม่ทันไรก็เกิดความวุ่นวายขึ้น …

ความวุ่นวายจากกลุ่มนายช่าง

กิจการ 19:24-25
นั่นคือช่างเงินที่ทำรูปเคารพเกิดรู้ตัวขึ้นมา โดยมีเดเมตริอัสเป็นหัวหน้าแกนนำ โดยเรียกช่างทองมาเพื่อแจ้งให้รู้ว่า “ทางนั้น” คือความเชื่อในพระเยซูเป็นภัยต่ออาชีพของพวกเขา
อาชีพของพวกเขาคือการทำรูปหล่อวิหารอารเทมิสที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในโลกโบราณ ใคร ๆ ก็เห็นว่าเทพีนี้ให้ความอุดมสมบูรณ์กับชีวิต ช่างเงินเหล่านี้กำลังอยู่ช่วงขาขึ้น กำลังโกยเงินทองมากมายจากการขายรูปหล่อเล็ก ๆ ให้คนเอาไปไว้บูชาตามบ้าน
ที่แปลกคือ วิหารอารเทมิสเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งที่มหัศจรรย์ของโลกโบราณด้วย
กิจการ 19:26-27
เหตุผลของ เดเม-ตริอัส ช่างน่าเชื่อถือสำหรับช่างเงินทั้งหลายที่มารวมตัวกัน พวกเขาเห็นด้วยกับเดเม-ตริอัส ในเมื่อพวกเขาขายของเหล่านี้ หากคนไปเชื่อ “ทางนั้น” ก็เท่ากับธุรกิจต้องล่มสลาย. แปลกที่คนเชื่อพระเยซู ไม่ได้มาขอให้พวกเขาสร้างรูปเคารพของพระเยซูเลย คนเชื่อพระเยซูนมัสการพระเจ้าที่มองไม่เห็น ทั้งร้องเพลงด้วยกัน อธิษฐานด้วยกัน แต่ไม่มีรูปเคารพสักรูป!
กิจการ 19:28-29
พอคนเริ่มไม่พอใจก็เริ่มจากเพื่อนร่วมงานของเปาโล คือ กายอัส และอาริสทาคัส เอาเข้าไปสำเร็จโทษในโรงละครซึ่งเป็นโรงใหญ่จุคนได้ประมาณ สองหมื่นสี่พันคน เป็นที่ ๆ ชาวเมืองจะพบกันเพื่อดูละคร และถกเถียงกันในเรื่องต่าง ๆ
กิจการ 19:30-32
เปาโลไม่ได้กลัวเลย แต่จะเข้าไปช่วยเพื่อน แต่..หัวเด็ดตีนขาด ไม่มีใครยอมให้เปาโลมีส่วนตรงนี้ พวกเขาคงต้องลากเปาโลออกไป เพราะเรื่องแบบนี้ เปาโลถนัดมาก!! ขณะนั้นเองคนก็เริ่มงุนงงว่า มาทำอะไรกันอยู่ เนื่องจากต่างคนต่างตะโกน ไม่เป็นเรื่อง
กิจการ 19:33-34
พวกยิวต้องการให้คนรู้ว่า ยิวกับเปาโลไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน แต่.. ช่างเงินช่างทองถือว่าถ้าเป็นยิวก็เป็นพวกเปาโลแน่นอน อเล็กซานเดอร์จึงไม่มีโอกาสจะพูดเลย
กิจการ 19:35-37
ผู้ว่าการเมืองเป็นคนเก่ง สามารถที่ทำให้คนที่กำลังโกรธสงบลงได้ ผู้ว่าจะไม่ยอมให้พวกเขาก่อจลาจลเพราะเดี๋ยวโรมจะเข้ามาคุมเข้มมากขึ้น ทำให้เขาทำงานไม่สะดวก จะกลายเป็นว่า โรมส่งคนมาควบคุมพวกเขาเอง อย่างนี้ ผู้ว่าก็รับไม่ได้เหมือนกัน
กิจการ 19:38-41
ใครมีเรื่องกับใคร ก็ไปฟ้องศาล อย่ามาทำให้บ้านเมืองต้องจลาจลอย่างนี้ ท่านให้ทุกคนเลิกชุมนุมได้
คนที่เข้ามาชุมนุมกันตอนนี้ก็เหนื่อยอ่อนไปตาม ๆ กัน ยังไม่ได้พักกันเลย เคยอยู่ทำงานไปกลับมาต้องโห่ร้องตะโกนสองชั่วโมง พวกเขาก็ฟังเหตุผลของผู้ว่าด้วย เป็นอันว่าเลิกรากันไป

พระคำเชื่อมโยง

1* 1 โครินธ์ 1:12; 3:5-6; กิจการ 18:23
2* 1 ซามูเอล 3:7
3* กิจการ 18:25
4* มัทธิว 3:11
5* กิจการ 8:12, 16; 10:48
6* กิจการ 6:6; 8:17; 2:4; 10:46
8* กิจการ 17:2; 18:4; 1:3; 28:23
9* 2 ทิโมธี 1:15; กิจการ 9:2; 19:23; 22:4; 24:14

10* กิจการ 19:8; 20:31
11* มาระโก 16:20
12* กิจการ 5:15
13* มัทธิว 12:27; มาระโก 9:38; 1โครินธ์ 1:23; 2:2
17* ลูกา 1:65; 7:16
18* มัทธิว 3:6
20* กิจการ 6:7; 12:24

21* โรม 15:25; กิจการ 20:22; 20* โรม 1:13; 15:22-29
22* 1 ทิโมธี 1:2; โรม 16:23
23* 2 โครินธ์ 1:8; กิจการ 9:2
24* กิจการ 16:16, 19
26* อิสยาห์ 44:10-20
29* โรม 16:23; โคโลสี 4:10
33* 2 ทิโมธี 4:14; กิจการ 12:17

1 โครินธ์ 11 อาหารมื้อสุดท้าย

เรื่องของผ้าคลุมศีรษะ

1 โครินธ์ 11:1-2
ขอให้ท่านทำตามอย่างข้า เหมือนที่ข้าทำตามอย่างพระคริสต์
ข้าขอชมท่านที่ได้คิดถึงข้าในทุกเรื่องและยังดำเนินตาม
สิ่งที่ข้าได้ส่งต่อให้พวกท่านไว้
1 โครินธ์ 11:3
แต่ข้าต้องการให้ท่านรู้ว่า พระคริสต์ทรงเป็นศีรษะของผู้ชายทุกคน และผู้ชายเป็นศีรษะของผู้หญิง และพระเจ้าทรงเป็นศีรษะของพระคริสต์

1 โครินธ์ 11:4-5
ชายทุกคนที่อธิษฐานหรือเผยพระดำรัสของพระเจ้าโดยมีสิ่งปกคลุมศีรษะนั้น ก็นำความอับอายมายังศีรษะของเขา แต่ผู้หญิงทุกคนที่อธิษฐานหรือเผยพระดำรัสของพระเจ้าโดยไม่คลุมศีรษะก็นำความอับอายมายังศีรษะของเธอราวกับว่า เธอได้โกนผมไปแล้ว
1 โครินธ์ 11:6-7
ถ้าผู้หญิงไม่คลุมศีรษะ ก็ควรตัดผมออกเสีย แต่ถ้าเป็นสิ่งน่าอายเมื่อผู้หญิงตัดผมหรือโกนผม เธอก็ควรคลุมศีรษะ ผู้ชายไม่ควรคลุมศีรษะ เพราะเขาเป็นพระฉายาและสง่าราศีของพระเจ้า
ส่วนผู้หญิงเป็นสง่าราศีของผู้ชาย

1 โครินธ์ 11:8-10
เพราะผู้ชายไม่ได้มาจากผู้หญิง แต่ผู้หญิงมาจากผู้ชาย และผู้ชายไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผู้หญิง แต่ผู้หญิงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผู้ชาย เพราะเหตุนี้ และเพื่อเห็นแก่ทูตสวรรค์ ผู้หญิงจึงควรมีสัญลักษณ์แห่งสิทธิอำนาจนี้บนศีรษะของเธอ
1 โครินธ์ 11:11-12
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงก็ต้องพึ่งพาผู้ชายและผู้ชายก็พึ่งพาผู้หญิงในองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะว่าผู้หญิงมาจากผู้ชาย และผู้ชายก็เกิดมาจากหญิง และทุกสิ่งก็มาจากพระเจ้า

1 โครินธ์ 11:13-14
ที่ผู้หญิงจะอธิษฐานต่อพระเจ้าโดยที่ไม่มีผ้าคลุมศีรษะ? ธรรมชาติเองได้สอนท่านไม่ใช่หรือว่าผู้ชายที่ไว้ผมยาวก็เป็นสิ่งที่น่าละอาย?
1 โครินธ์ 11:15-16
แต่ถ้าผู้หญิงไว้ผมยาวก็เป็นศักดิ์ศรีของเธอ เพราะว่า ผมยาวที่ประทานให้เธอมาก็เพื่อปกคลุมศีรษะ แต่หากว่าใครจะคิดโต้แย้งเรื่องนี้ ทั้งเราและคริสตจักรก็ไ่ม่ได้มีธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นอื่น นอกเหนือจากที่กล่าวมา

งานเลี้ยงขององค์พระผู้เป็นเจ้า

1 โครินธ์ 11:17-18
สำหรับคำสั่งต่อไปนี้ ข้าไม่อาจชมท่านเพราะว่า การประชุมของท่านกลับเป็นผลเสียมากกว่าผลดี อย่างแรกคือ ข้าได้ยินมาว่า เมื่อมาประชุมกันในคริสตจักร พวกท่านแตกคอกัน และข้าก็คิดว่าต้องมีส่วนที่เป็นจริงอยู่บ้าง
1 โครินธ์ 11:19-21
เพราะคงมีการแตกแยกกันในพวกท่านเพื่อว่าจะเห็นชัดว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูกเมื่อพวกท่านมาประชุมพร้อมกันนั้นจึงไม่ใช่การเข้ามาร่วมในงานเลี้ยงขององค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะในการกินอาหารนั้น คนหนึ่งก็กินอาหารของตนก่อน บางคนก็ยังหิวอยู่ และบางคนก็เมาค้าง
1 โครินธ์ 11:22
อะไรกัน? ท่านไม่มีบ้านของตนเองที่จะกินและดื่มหรือ? หรือท่านดูแคลนคริสตจักรของพระเจ้า และทำให้พี่น้องที่ขัดสนต้องอับอาย จะให้ข้าพูดอย่างไร? ชมเชยพวกท่านหรือ?
ข้าไม่อาจชมท่านในเรื่องนี้เลย

อาหารมื้อสุดท้าย

1 โครินธ์ 11:23-24
สิ่งที่ข้าได้รับจากองค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าขอมอบให้พวกท่าน คือ ในคืนที่พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าถูกทรยศนั้น พระองค์ทรงหยิบขนมปัง หลังจากที่ทรงขอบพระคุณแล้วจึงทรงบิขนมปัง ตรัสว่านี่เป็นกายของเราที่ได้แตกสลายเพื่อเจ้าทั้งหลาย จงทำอย่างนี้ เพื่อระลึกถึงเรา
1 โครินธ์ 11:25
หลังจากอาหารเย็น พระองค์ทรงหยิบถ้วยด้วยวิธีการอย่างเดียวกันตรัสว่า “ถ้วยนี้เป็นพันธสัญญาใหม่โดยโลหิตของเรา ทุกครั้งที่เจ้าดื่มจากถ้วยนี้ จงดื่มเพื่อระลึกถึงเรา”

การสำรวจตนเอง

1 โครินธ์ 11:26-27
เพราะว่าครั้งใดที่พวกท่านกินขนมปังและดื่ม ท่านก็ประกาศการสิ้นพระชนม์ของพระองค์จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา
ดังนั้น ใครที่กินขนมปังหรือดื่มจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่เหมาะสมก็เท่ากับเขาทำผิดต่อพระกาย และพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า
1 โครินธ์ 11:28-29
ทุกคนต้องสำรวจตนเอง ก่อนที่กินขนมปังและดื่มจากถ้วยนี้เพราะผู้ใดที่กินและดื่มโดยไม่ระลึกถึงพระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้า ก็เท่ากับกินและดื่มเพื่อให้ตนเองถูกลงโทษ

1 โครินธ์ 11:30-32
ด้วยเหตุนี้ พวกท่านหลายคนจึงอ่อนแรงและเจ็บป่วย และบ้างคนก็ล่วงหลับไปแล้ว แต่ถ้าเราพิจารณาตัวเองอย่างถูกต้อง
เราก็จะไม่ถูกพิพากษา
เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพิพากษาเรานั้น พระองค์ทรงลงวินัยเรา เพื่อว่าเราจะไม่ถูกพิพากษา
พร้อมกันกับโลก

1 โครินธ์ 11:33-34
ดังนั้น พี่น้องของข้า เมื่อพวกท่านมากินอาหารร่วมกัน ก็ควรรอกันและกัน ถ้าใครหิว ก็ให้กินมาจากบ้านก่อนเพื่อว่าเวลามาประชุมกัน ท่านจะไม่ถูกกล่าวโทษ ส่วนเรื่องอื่น ๆ นั้น ข้าจะสอนท่านเมื่อข้ามา

อธิบายเพิ่มเติม

เรื่องของผ้าคลุมศีรษะ
1 โครินธ์ 11:1-2
แม้ว่าพี่น้องชาวโครินธ์จะมีปัญหาหลายอย่างในคริสตจักร แต่อย่าลืมว่า พวกเขาเขียนจดหมายมาหาท่านเพื่อขอคำแนะนำ (บทที่ 7) แสดงว่า มีคนที่เป็นห่วงคริสตจักร และต้องการทำสิ่งที่ถูกต้องพวกเขาไม่ได้เสียหายไปหมด ทั้งคริสตจักร มีคนที่ไม่เชื่อฟัง และมีคนที่ต้องการติดตามพระเจ้าจริงจัง ท่านเปาโลบอกถึงหลักการที่ควรเดิน และวิธีที่ต้องเดินไปตามนั้น ที่สำคัญท่านให้เราเดินตามอย่างที่ท่านสัมพันธ์กับพระเจ้า
1 โครินธ์ 11:3
พระเจ้าทรงเป็นศีรษะของพระคริสต์ ยอห์น 17:28 “พระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา” พระคริสต์ทรงเป็นศีรษะของชายทุกคน นั่นคือพระองค์ทรงเป็นผู้นำของชีวิตชายทุกคนที่เชื่อ ผู้ชายเป็นศีรษะของผู้หญิง ทั้งบิดา ทั้งสามีเป็นผู้นำชีวิตของผู้หญิงนี่เป็นเหมือนสายงานว่า ใครเป็นคนต้น ใครเป็นคนต่อไป เป็นหลักการในการยอมรับผู้ที่มีสิทธิอำนาจหนือตน พระเยซูทรงเป็นต้นแบบให้เห็นชัดเจน
1 โครินธ์ 11:4-5
อย่าลืมว่า นี่เป็นหลักการของผู้เชื่อในโครินธ์ซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างจากเรา ดังนั้นนี่จึงเป็นข้อปฏิบัติของพี่น้องชาวโครินธ์ ทั้งชายและหญิงต่างมีหน้าที่ในการอธิษฐาน และการเผยพระดำรัสของพระเจ้าให้ผู้อื่นเข้าใจเช่นกัน ต่อมาในศตวรรษที่ 3-4 ผู้ชายยิวก็เริ่มใช้ผ้าคลุมศีรษะเพราะได้รับอิทธิพลจากกลุ่มตัลมุด ในศาสนายิว
1 โครินธ์ 11:6-7
ผู้หญิงที่อธิษฐานหรือกล่าวพระคำโดยไม่ได้คลุมศีรษะ ก็เหมือนกับว่า เธอไม่ให้เกียรติต่อสามี หรือบิดาซึ่งเป็นดั่งศีรษะของเธอ (ผู้นำของชีวิตเธอ)ผู้หญิงในสมัยของเปาโล ผู้หญิงคริสเตียนก็มักจะมีผ้าคลุมผมเมื่อเข้ามาอยู่ในการประชุมกับพี่น้อง ในสมัยนั้น ผู้หญิงที่ทำงานในวิหารเทพ มักจะไว้ผมสั้นกว่าปกติ และไม่คลุมศีรษะ เพื่อสื่อให้รู้ว่า เธอทำอาชีพอะไร ท่านเปาโลไม่ต้องการให้มีการเข้าใจผิดเกิดขึ้นกับพี่น้องคริสเตียนที่เป็นผู้หญิง
1 โครินธ์ 11:8-10
ท่านเปาโลกำลังให้เหตุผลว่าเหตุที่ผู้ชายเป็นศีรษะของหญิงนั้น มาจากการทรงสร้างของพระเจ้าเลยแต่เสียดายที่เวลาล่วงเลยไป ผู้ชายจำนวนมากได้สละสิทธิของตนด้วยการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะกับตำแหน่งที่พระเจ้าประทานให้ และที่กล่าวถึงทูตสวรรค์เพราะมีความเชื่อว่า ในการนมัสการพระเจ้า นอกจากที่พระเจ้าประทับอยู่เหนือการนมัสการแล้ว ยังมีวิญญาณของทูตสวรรค์เข้ามาเฝ้าดูด้วย 1 เปโตร 1:12
1 โครินธ์ 11:11-12
ที่สุดของที่สุดคือ ทั้งชายและหญิงมีต้นกำเนิดมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า เอวามาจากอาดัม แต่ลูก ๆก็มาจากเอวา และทั้งสองฝ่ายต่างต้องมีกันและกันจึงจะมีลูกหลานสืบต่อไปได้ ทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกันต่างต้องช่วยเหลือกันในการมีชีวิตอยู่และในการรับใช้พระเจ้าในหน้าที่ บทบาทแตกต่าง แต่ความสำคัญของชีวิตฝ่ายวิญญาณนั้นเท่ากัน กาลาเทีย 3:28 ทุกคนต่างเป็นหนึ่งเดียวในพระคริสต์
1 โครินธ์ 11:13-14
แล้วในที่สุด ท่านเปาโลก็บอกให้พวกเขาตัดสินเอาว่า อะไรพอเหมาะ พอควรสำหรับคริสตจักร พี่น้องเองก็ต้องหาจุดที่ลงตัวสำหรับพวกเขา
ที่ว่าผู้ชายไว้ผมยาวน่าละอายนั้น คือในสังคมส่วนใหญ่ผู้หญิงจะต้องมีผมที่ยาวกว่า ผู้ชายที่ไว้ผมยาวแบบผู้หญิงแสดงว่า อยากเป็นหญิง เป็นสิ่งที่น่าละอายในสายตาของสังคมโบราณ

1 โครินธ์ 11:15-16
ท่านเปาโลสรุปว่า ผมยาวของผู้หญิงเป็นเหมือนกับสิ่งที่มาใช้คลุมศีรษะ เป็นอันว่า ในสมัยโบราณ ไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้หญิงจะโกนศีรษะหรือตัดผมสั้นแบบผู้ชาย ไม่ชอบผู้ชายที่ไว้ผมยาวแบบผู้หญิง ในการที่จะแต่งตัวมาในที่ประชุม เป็นเรื่องของมารยาท ความเหมาะสมในสังคม เป็นเรื่องที่ทุกคริสตจักรจะต้องมีธรรมเนียมปฏิบัติที่เหมาะสมเอง เช่น ไม่ควรแต่งตัวเย้ายวนเพื่อดึงสายตามาที่ตัวเองเป็นต้น
1 โครินธ์ 11:17-18
การเข้ามาประชุมกันเป็นเรื่องนี้ท่านเปาโลได้กล่าวถึงในบทที่ 1:10-17 มาก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้เน้นไปที่การเข้ามาชุมนุมกันเพื่องานเลี้ยงอาหารที่เรียกภาษาเดิมว่า การเลี้ยงแห่งความรัก เป็นงานเลี้ยงเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ความรักในหมู่พี่น้องมีการแบ่งปันซึ่งกันและกัน เมื่อเลี้ยงกันแล้วก็มักจะตามด้วยพิธีศีลมหาสนิทเพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์

1 โครินธ์ 11:19-21
“งานเลี้ยงขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งเป็นงานเลี้ยงที่ทุกคนเอาอาหารมาแบ่งกันในงาน เป็นงานที่คนฐานะดีกว่า จะได้มีโอกาสแบ่งปันอาหารให้กับคนยากจน ขัดสน แต่ครั้งนี้ กลับมีการแตกแยกกัน มีความหมายเป็นภาพของผ้าที่ขาดออกจากกัน จากที่ท่านเปาโลกล่าวคือ บางคนกินของที่ตนเองเอามาเสียจนอิ่ม ส่วนคนยากจนไม่ได้มีอาหารมาแบ่งคนอื่น ก็ต้องหิวท้องกิ่วและยิ่งกว่านั้น ยังมีคนที่เมาราวกับงานเลี้ยงของคนภายนอก สับสนมาก
1 โครินธ์ 11:22 ท่านเปาโลกำลังบอกว่า ถ้าอยากจะกินอย่างคนตะกละ อยากกินตามใจตัวเอง ขอกลับไปกินที่บ้านให้สบายใจเถิด อย่ามาทำให้พี่น้องที่ยากจนกว่า ต้องอับอายเพราะหิว ไม่มีอะไรกินทั้งที่เป็นงานเลี้ยง เจ้าของอาหารกับพรรคพวกกินเองหมดแล้ว สภาพเช่นนี้ เป็นการดูหมิ่นความรักของพระเจ้าโดยตรง พฤติกรรมดังกล่าวสืบเสื่องมาจากพวกเขาเคยกินเลี้ยงกันอย่างสุรุ่ยสุร่าย เห็นแก่ตัวครั้งยังไม่เชื่อพระเจ้า

อาหารมื้อสุดท้าย
1 โครินธ์ 11:23-24
ที่จะพูดต่อไป เปาโลไม่ได้คิดขึ้นมาเองแต่ได้รับมาโดยตรงจากองค์พระเยซู ว่าในคืนสุดท้ายก่อนถูกตรึงบนไม้กางเขน พระองค์ทรงถูกศิษย์ทรยศ ทรงขอบพระคุณ ทรงบิขนมปังที่เป็นสัญลักษณ์ของร่างกายที่แตกออกเพื่อศิษย์ทุกคน พระองค์ทรงสั่งให้พวกเขาทำอย่างพระองค์ เพื่อระลึกถึงพระองค์ ไม่ใช่เป็นพิธีเพื่อพิธี แต่เพื่อผู้ที่ร่วมกินขนมปังไร้เชื้อ (ซึ่งหมายถึงร่างกายที่ไร้บาป) จะระลึกย้อนไปในวันที่ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อพวกเขา 
1 โครินธ์ 11:25
ครั้งนี้ พระเยซูทรงหยิบถ้วยให้เขาระลึกถึงพระโลหิตที่พระเยซูได้ทรงหลั่งบนไม้กางเขนเพื่อเรา ไม่ใช่เลือดสัตว์เหมือนในพันธสัญญาเดิมดื่มเพื่อระลึกถึง ไม่ใช่ดื่มเฉย ๆ เป็นพิธีตามที่คริสตจักรได้ทำมาตลอดสองพันปี แต่ทุกครั้งที่ดื่ม ให้ระลึกถึงพระองค์ผู้ทรงสิ้นพระชนม์ และ
ทำให้เราทั้งหลายได้พ้นจากการพิพากษาของพระเจ้า ดื่มเพื่อที่จะมีชีวิตต่อไปเพื่อพระนามของพระองค์ ไม่ใช่มีชีวิตเพื่อตัวเอง

การสำรวจตนเอง
1 โครินธ์ 11:26-27
พระกิตติคุณถูกย้ำในพิธีศีลมหาสนิท ชี้ไปถึงการเกิด การสิ้นพระชนม์เพื่อมนุษย์ การคืนพระชนม์ และการเสด็จมาครั้งที่สองครั้งใดที่เราเข้ามามีส่วนในศีลมหาสนิท เราคิดถึงการสิ้นพระชนม์ และเรายังนึกถึงอนาคตที่พระองค์จะเสด็จกลับมาด้วย การเข้าร่วมพิธีศีลมหาสนิท
เป็นการยอมรับพร้อมกับพี่น้องว่า พระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมาในอนาคต ส่วนการกินขนมปัง ดื่มจากถ้วยอย่างไม่เหมาะสมคือการกินดื่มโดยไม่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า กินดื่มโดยยังมีความขมขื่นในกับพี่น้องอยู่เต็มหัวใจ จะต้องมีการสำนึกผิด สารภาพบาป กลับใจก่อนเข้ามาร่วมในพิธีนี้
1 โครินธ์ 11:28-29
การสำรวจตนเองก่อนกินและดื่มจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้าแค่ก่อนพิธีนั้น อาจไม่พอ เราเองควรจะสำรวจตัวเองเสมอ ก่อนหน้าที่จะมาร่วมพิธีนี้เราทุกคนได้มีโอกาสทำผิดต่อพระเจ้าในเรื่องนี้ไม่เว้นใครเลย การที่ท่านเปาโลเน้น ย้ำ ก็เพื่อปกป้องพี่น้องไม่ให้ทำผิดต่อพระเจ้าเพิ่มเติมวางรากฐานของการร่วมศีลมหาสนิทอย่างถูกต้องให้กับคริสตจักร เมื่อเข้าร่วมพิธี ต้องเข้าใจถึงความบริสุทธิ์แห่งพิธีนี้
1 โครินธ์ 11:30-32
การไม่สำรวจตนเอง แล้วเข้าไปร่วมในพิธีอย่างไม่สมควร ทำให้พี่น้องในคริสตจักรโครินธ์อ่อนแอเจ็บป่วย และตายไป คำพูดของท่านน่ากลัวมากท่านกำลังกล่าวถึงการตายก่อนเวลาอันสมควรพระเจ้าทรงเปิดโอกาสให้เราพิจารณาชีวิตของตนเอง ยังไม่ต้องถูกคนอื่นพิจารณาหรือตัดสินเสียด้วยซ้ำ การกลับใจใหม่เสียก่อนดีกว่า แต่บางครั้งพระเจ้าทรงลงวินัยเพื่อคนที่ทำผิด จะไม่ถูกพิพากษาอย่างชาวโลก
1 โครินธ์ 11:33-34
สิ่งที่ท่านเปาโลได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพื่อให้พี่น้องได้เข้าใจถึงการกินอาหารร่วมกันว่า เป็นไปเพื่อส่งต่อความรักของคนต่างฐานะ ให้โอกาสคนที่ยากจนได้กินอาหารด้วย ให้มีมารยาทที่จะรู้จักรอกันและกัน ไม่เห็นแก่ตัวเอง ทั้งหมดนี้ทำเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาทำอะไรผิดมากไปกว่าที่เป็นอยู่ และสร้างระเบียบในการกินอาหารพร้อมกับพิธีมหาสนิทที่จะระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า

พระคำเชื่อมโยง

1* เอเฟซัส 5:1
3* เอเฟซัส 1:22; 4:15; 5:23; ปฐมกาล 3:16; ยอห์น 14:28
4* 1 โครินธ์ 12:10
5* เฉลยธรรมบัญญัติ 21:12
6* กันดารวิถี 5:18
7* ปฐมกาล 1:26,27; 5:1; 9:6
8* ปฐมกาล 2:21-23

9* ปฐมกาล 2:18
11* กาลาเทีย 3:28
16* 1 ทิโมธี 6:4; 1 โครินธ์ 7:17
18* 1 โครินธ์ 1:10-12; 3:3
19* 1 ทิโมธี 4:1; เฉลยธรรมบัญญัติ 13:3
21* ยูดา 12
22* 1 โครินธ์ 10:32; ยากอบ 2:6
23* 1 โครินธ์ 15:3, มัทธิว 26:26-28

26* ยอห์น 14:3
27* ยอห์น 6:51
28* 2 โครินธ์ 13:5
31* 1 ยอห์น 1:9
32* สดุดี 94:12
33* 1 โครินธ์ 14:26

กิจการ 18 เพื่อนร่วมงานจากพระเจ้า

เพื่อนร่วมรับใช้และทำงานหาเลี้ยงชีพ

พระเจ้าทรงบัญชาและประทานกำลังใจ

ผู้รับใช้หนุ่มจากแดนไกล

คำอธิบายเพิ่มเติม

เพื่อนร่วมรับใช้และทำงานหาเลี้ยงชีพ
กิจการ 18:1-4
จากเอเธนส์ เปาโลเดินทางไปเมืองโครินธ์ นี่เป็นการเดินทางในแถบเอเชียน้อย ที่นั่นได้พบพี่น้องสามีภรรยาซึ่งย้ายมาจากโรม และเป็นช่างทำงานเกี่ยวกับหนังเช่นกัน วันธรรมดาท่านเปาโลก็ทำงาน แต่วันสะบาโตจะไปที่ศาลาธรรมเพื่อประกาศพระนามพระเยซู
สามีภรรยาคู่นี้มาจากโรม เราจึงเห็นได้ว่า มีคริสเตียนยิวที่ย้ายไปโรม และถูกไล่ออกมา พวกเขาก็ยังกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่รอบ ๆ เมดิเตอร์เรเนียน การประกาศพระนามของพระเจ้าก่อนหน้าเปาโลนี้ได้ผลดี. มีพี่น้องที่เข้มแข็งแม้ว่าจะถูกพวกยิวคอยบั่นทอนอยู่ตลอดเวลา
เมืองโครินธ์แตกต่างจากเมืองเอเธนส์คู่แข่งทางการค้า ในขณะที่เอเธนส์สนใจความเชื่อ สนใจเรื่องเทพต่าง ๆ คนโครินธ์เชี่ยวในการมั่วสุมทางเพศ เรื่องประเภทนี้ และหากได้อ่านจดหมายฝากไปถึงพี่น้องชาวโครินธ์เราจะเห็นว่า พวกเขายังชอบคนเก่งพูดด้วย จะยกย่องและให้เกียรติคนที่มีวาจาคมคายอย่างสูง
เพื่อนใหม่ทั้งสองของเปาโลนี้ก็เป็นผู้ที่รับใช้พระเจ้าอย่างแข็งขัน เปาโลได้พูดถึงคนทั้งสองในจดหมายของท่านหลายครั้ง และทั้งสองได้กลับไปรับใช้พระเจ้าที่โรมอีกด้วย (โรม 16:3)
กิจการ 18:5-6
ที่เมืองโครินธ์นี้เอง เปาโลได้ทุ่มสุดตัวในการสอน ที่เราจะเห็นชัดคือ ไม่ว่าเขาจะไปในเมืองใด ก็มักจะไปยังศาลาธรรมก่อนเพื่อน ไปคุยกับยิวก่อน แต่สำหรับครั้งนี้ คนยิวก็มาระรานอีก เปาโลจึงประกาศชัดว่าจะไม่รับผิดชอบพวกเขา และจะมุ่งประกาศพระกิตติคุณแก่คนต่างชาติ
ในเมื่อยิวปฏิเสธที่จะฟังเรื่องของพระเยซู เปาโลก็ปฏิเสธพวกเขาเช่นกัน!
กิจการ 18:7-8
แล้วเราก็เห็นว่า มีชาวโครินธ์เป็นจำนวนมากกลับใจมาพบพระเจ้า ถึงแม้พวกเขาจะยังมีประสบการณ์
และมีความคิดเห็นเดิม ๆ แบบชาวโครินธ์อยู่ เปาโลก็ยังมั่นใจเชื่อว่าพวกเขาจะเติบโตได้
ในโครินธ์นี้ คนที่เชื่อไม่ได้เป็นชนชั้นสูงเท่าไร แต่เป็นชาวเมืองธรรมดาที่ไม่โดดเด่นอะไรเลย ที่เราทราบเพราะเปาโลเขียนไว้ใน 1 โครินธ์ 1:26
สำหรับทิทิอัส ยุสทัส เขาน่าจะเป็นคนเดียวกับกายอัสที่เปาโลกล่าวถึงใน 1 โครินธ์ 1:14

พระเจ้าทรงบัญชาและประทานกำลังใจ
กิจการ 18:9-11
ในระหว่างที่ประกาศกับชาวโครินธ์ พระเจ้าไม่ได้ทอดทิ้งเปาโล แต่ตรัสกับเขาในนิมิตว่า ไม่ให้กลัวสิ่งใดเพราะพระองค์ทรงอยู่ด้วย ..​นี่เป็นคำซึ่งพระเจ้าตรัสกับผู้ที่ติดตามพระองค์ในพระคัมภีร์เดิมให้เห็นบ่อย ๆ
ทรงย้ำด้วยพระองค์เองว่า มีคนมากมายของพระองค์ในเมืองนี้ ซึ่งทำให้เปาโลไม่ท้อใจ ถึงจะโดนต่อต้านเพียงไร แต่คริสตจักรก็เกิดแน่นอน เปาโลได้อาศัยในเมืองนี้นานถึงปีครึ่ง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานกว่าในเมืองใด ๆ ที่เข้าไปประกาศ. และในเมืองนี้เขาก็ไม่ได้ถูกทำร้ายรุนแรงเหมือนที่เจอในเมืองอื่น ๆ ด้วย
กิจการ 18:12-14
ยิวทำอะไรเปาโลไม่ได้ก็เลยไปฟ้องกัลลิโอซึ่งเป็นผู้ตรวจการ แต่กัลลิโอก็ไม่รับคำฟ้อง ถือเป็นเรื่องภายในของยิว จริง ๆ แล้วยิวต้องการขัดขวางเปาโลทุกวิถีทาง และความที่กลัวว่า เปาโลจะไปประกาศทั่วไปในแคว้นอาคายา พวกเขาถึงกับเข้าพบผู้ตรวจการแคว้นเลย แต่ดูเหมือนว่า คำกล่าวหาของเขาไม่ส่งผลอะไรกับการปกครอง กัลลิโอจึงไม่สนใจ
กิจการ 18:15-17
กัลลิโอเองยื่นคำขาดว่าไม่ตัดสินให้ในเรื่องของธรรมบัญญัติยิว ยิวจึงทำอะไรเปาโลไม่ได้ เราจะเห็นว่าพระเจ้าทรงทำให้กัลลิโอตัดสินใจอย่างถูกต้อง ในเมื่อไม่มีการทำผิดต่อโรม ก็ไม่ต้องไปสนใจทำคดีให้เสียเวลาพวกยิวโกรธนัก ก็เลยไปลากตัวโสสเธเนสซึ่งเป็นผู้ดูแลศาลาธรรม ที่ปล่อยให้เปาโลเข้าไปสอน มาเฆี่ยนให้กัลลิโอรับรู้ แต่กัลลิโอก็ไม่สนใจอยู่ดี
เราจะเห็นว่าความเกลียดชังที่ยิวมีต่อเรื่องของพระเยซูนั้น มันรุนแรงมาตั้งแต่สมัยคริสตจักรยุคแรก และยืดเยื้อมานาน จนในสมัยนี้พวกยิวออโธดอกซ์ในประเทศอิสราเอล ก็ยังเกลียดชังพระกิตติคุณอยู่ เป็นความเกลียดต่อเนื่องมาหลายศตวรรษ
กิจการ 18:18
นี่เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เปาโลมีกำลังใจ .. ต่อมาจึงเดินทางไปซีเรียพร้อมสามีภรรยาเพื่อนร่วมงาน
พิธีกล้อนผมเพราะ การสาบานตนนี้ น่าจะเป็นพวกที่เรียกว่า นาศีร์ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยของโมเสส คือชายชาวยิวที่จะเว้นจากเหล้า องุ่น รักษาตัวให้บริสุทธิ์ เข้าใกล้ชิดพระเจ้า และปล่อยให้ผมยาวไปเรื่อย ๆ โดยจัดเป็นช่วงเวลาที่จะอุทิศตนให้กับพระเจ้า(กันดารวิถี 6:1-21)
การที่เปาโลกล้อนผมหลังจากทำงานที่โครินธ์ก็อาจเป็นไปได้ที่ท่านอาจเคยสาบานตนไว้ก่อนหน้านี้
กิจการ 18:19-21a
จำได้ไหม เปาโลอยากไปเอเฟซัสก่อนหน้านี้ แต่พระเจ้าทรงห้ามไว้ ( 16: 6) พระวิญญาณทรงห้ามไม่ให้ไปทางนั้น โดยมีนิมิตจากชายชาวมาซิโดเนียให้เดินทางไปยุโรป. ครั้งนี้ พอถึงเอเฟซัส เปาโลก็ดีใจมาก เข้าไปศาลาธรรมทันที และหลังจากที่ได้สนทนาเรื่องของพระเจ้านาน ๆ ขนาดนั้น คนที่เอเฟซัสก็อยากให้ท่านอยู่ แต่ท่านมีภาระใจในที่อื่น
กิจการ 18:21b-23
การเดินทางครั้งนี้ เป็นความพยายามที่จะเยี่ยมพี่น้อง และเสริมสร้างความเชื่อ เปาโลเอาจริงเอาจังมาก ๆ และมีคนเชื่อไม่น้อย

ผู้รับใช้หนุ่มจากแดนไกล
กิจการ 18:24-25
ต่อมาผู้เขียนได้กล่าวถึงชายหนุ่มคนหนึ่งเป็นชาวยิว ที่มีคำพูดดี น่าฟัง และกล้าหาญ ทำให้ผู้คนชอบเข้ามาฟังเขาพูด เขามาที่เอเฟซัส และกลายเป็นคนที่ใคร ๆ นิยม
เขาที่เกิดในอัฟริกาเหนือ เมืองอเล็กซานเดรีย ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เป็นที่สองในอาณาจักรโรม เป็นเมืองท่าที่สร้างขึ้นโดยอเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษาและวัฒนธรรม เมืองนี้มีห้องสมุดใหญ่ด้วย แสดงว่าผู้คนในเมืองนี้เป็นนักคิด นักศึกษาค้นคว้า คนชาวกรีก โรม อียิปต์ และยิว อยู่กันอย่างคับคั่งรวมกันในเมืองนี้
สิ่งหนึ่งที่ท่านลูกาผู้เขียนได้สังเกตให้เราคือ อปอลโลผู้นี้ มีความรู้เรื่องพระคัมภีร์ดีมาก ..
อปอลโลมีความเข้าใจเรื่องบัพติศมาของยอห์น นั่นก็คือ บัพติศมาแห่งการกลับใจใหม่ ดูเหมือนว่าอปอลโลจะรู้จักพระคัมภีร์เดิมเป็นอย่างดี แต่ยังไม่รู้เรื่องของพระเยซู และการสิ้นพระชนม์ของพระองค์
กิจการ 18:26
ปริสสิลลา และอาควิลลาเห็นดังนั้น ก็เลยเชิญมาและเพิ่มเติมความเข้าใจให้เขา ซึ่งทำให้อปอลโลยิ่งลึกซึ้งในพระคัมภีร์ มากขึ้น เราเห็นเลยว่า อปอลโลเป็นคนมีปัญญาจริง ๆ ก็ตรงที่เขามีความถ่อมตนที่จะเรียนรู้ เป็นคนที่ยอมฟังผู้อื่น ไม่ใช่คนหนุ่มที่คิดว่าตัวเองเหนือใคร ๆ
งานของพระเจ้าจึงขยายไปด้วยผู้รับใช้ที่ร่วมมือกัน และยอมฟังกันและกัน
กิจการ 18:27-28
แล้วอปอลโลก็มีภาระใจที่แตกต่างขึ้นมา เขาพร้อมที่จะไปแคว้นอาคายา และได้ไปคุยกับยิวโดยไม่กลัว
ในขณะที่พี่น้องต่างชาติที่เชื่อพระเจ้าไม่รู้จะตอบยิวอย่างไร อปอลโลคนนี้เป็นหน้าทัพไปเผชิญหน้าต่อกรกับยิวด้วยตัวเอง



พระคำเชื่อมโยง

2* 1โครินธ์ 16:19
3* กิจการ 20:34
4* กิจการ 17:2
5* กิจการ 17:14, 15; 18:28
6* กิจการ 13:45; เนหะมีย์ 5:13; 2 ซามูเอล 1:16; เอเสเคียล 3:18-19 ; กิจการ 13:46-48; 28:28

8* 1โครินธ์ 1:14
9* กิจการ 23:11
10* เยเรมีย์1:18,19
15* กิจการ 23:29; 25:19
17* 1โครินธ์ 1:1
18* กิจการ 21:24; โรม 16:1

21* กิจการ 19:21; 20:16; 1โครินธ์ 4:19
22* กิจการ 8:40
23* กาลาเทีย 1:12; กิจการ 14:22; 15:32, 21
24* ทิตัส 3:13
25* โรม 12:11; กิจการ 19:3
27* 1โครินธ์ 3:6