เปาโลในสภายิว
แผนดักฆ่า
อธิบายเพิ่มเติม 1
เปาโลในสภายิว
กิจการ 23:1-3
ตอนนี้เปาโลไม่ได้อยู่ต่อหน้าประชาชนทั่วไปแล้ว แต่อยู่ต่อหน้าสมาชิกสภายิว .. แน่นอน เขาพร้อมที่จะเป็นพยานเรื่องพระเยซูคริสต์ แต่แล้วอานาเนียปุโรหิตหลวงซึ่งเป็นคนที่โหดร้ายและสวามิภักดิ์ต่อโรม สั่งทำร้ายเปาโลทันที ที่เป็นอย่างนั้น เพราะคำที่เปาโลกล่าวว่า “ข้ารู้ในใจว่าทำอย่างถูกต้อง” แนวคิดของเปาโลแตกต่างจากพวกยิว สำหรับเขา ความจริงสำคัญสุด แต่สำหรับพวกยิว กฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมาและอารมณ์ อำนาจทางการเมืองเป็นสิ่งสำคัญ
สภายิวนี้ เรียกว่า สภาแซนเฮอดริน เป็นสภาสูงของศาสนายูดาห์ มีสมาชิกเจ็ดสิบคนตามแบบของผู้ใหญ่ในสมัยโมเสสเจ็ดสิบคน
กิจการ 23:3-5
เมื่อถูกตบปาก เปาโลก็บอกไปตรง ๆ เลยว่า คนที่สั่งนั้นเป็นคนตัดสินเขาตามกฎก็จริง แต่กลับทำผิดกฎที่สั่งอย่างนั้น บอกชัดว่า พระเจ้าจะทรงตบเขากลับ… คำกล่าวตอบโต้ครั้งนี้ทำให้พวกเขายิ่งโกรธแต่เปาโลก็ตอบเหมือนประชดประชันว่า จะไปรู้ได้อย่างไรว่าเป็นปุโรหิต (ในเมื่อมีพฤติกรรมเช่นนี้กับนักโทษ) แต่แล้วก็ยอมรับว่าไม่ควรพูดร้ายต่อผู้ปกครอง
ในบันทึกประวัติศาสตร์บอกว่า อานาเนียผู้นี้ถูกฆ่าตายตอนที่มีการก่อกบฎต่อต้านโรมในปีค.ศ. 60
กิจการ 23:6-7
แล้วเปาโลก็สังเกตเห็นว่า ในสภาสูงแห่งนี้แบ่งเป็นฟาริสีกับสะดูสี ฟาริสีเชื่อเรื่องการคืนชีพ ส่วนสะดูสีคิดตามพวกกรีก ไม่เชื่อในเรื่องวิญญาณแบบนี้ (ปุโรหิตที่สั่งตบปากก็เป็นพวกสะดูสีด้วย). คำพูดของเปาโลพลิกสถานการณ์ ทำให้คนในสภาแบ่งพรรคแบ่งพวกเป็นสองฝ่าย
กิจการ 23:8-9
พวกที่เป็นฟาริสีเห็นว่า เปาโลไม่ผิด ไม่มีเหตุผลใดที่จะฟ้องร้องเขา นับได้ว่าวิธีการแบ่งพวกของเปาโลได้ผลจริง ๆ ทำให้ยิวสองฝ่ายต้องถกเถียงกันในศาลเรื่องความเชื่อที่แตกต่าง เราพบว่า ในพระคัมภีร์ได้บันทึกเรื่องราวที่ฟาริสีอย่างนิโคเดมัสกลับใจ และในกิจการ 15:5 แต่ไม่ได้มีบันทึกว่ามีสะดูสีกลับใจ
กิจการ 23:10-11
แล้วความโกลาหลที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ต่างอะไรกับฝูงชน ทำให้ทหารโรมต้องสั่งเอาตัวออกไปจากสภา นี่เป็นการช่วยชีวิตเปาโลไว้อีกครั้ง เมื่อเขาอยู่คนเดียว พระเจ้าทรงมาหาและตรัสยืนยันว่า เขาจะต้องทำเช่นนี้ในโรมด้วย พระองค์ทรงบอกเปาโลเป็นขั้น เป็นตอนที่ละอย่างชัดเจน ทรงย้ำให้รู้ว่า พระองค์ทรงอยู่เคียงข้างเสมอ เปาโลมักได้รับนิมิตจากพระเจ้าเมื่อเขาเผชิญความยากลำบาก หรือต้องการการตัดสินใจที่ถูกต้องตามพระดำริของพระเจ้า
แผนดักฆ่า
กิจการ 23:12-15
จากนั้นพวกยิวสี่สิบคนก็มารวมตัวกันเพื่อสมคบคิดปลิดชีวิตเปาโล มีการสาบานเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะไม่กินไม่ดื่มจนกว่าแผนจะสำเร็จ
กิจการ 23:16-18
แต่หลานชายของเปาโลซึ่งอยู่แถวนั้นพอดี ได้ยินเรื่องราวเข้า ก็รีบเข้าไปแจ้งข่าวให้เปาโลทราบทันที เปาโลไม่ได้อยู่ในคุก แต่เพียงได้รับการปกป้องให้อยู่ในกองทหาร เปาโลไม่รอช้า ส่งหลานไปหานายพัน .. นี่เป็นเรื่องที่แปลก นักโทษคนนี้มีความกล้า สามารถส่งคนไปรายงานนายพันลีเชียสได้ด้วย
ชีวิตของเปาโลได้รับการปกป้องอีกครั้ง ..
กิจการ 23:19-22
นายพันกับหลานชายคุยกันลับ ๆ เขากลับไม่ต้องการให้มีฆาตกรรมเกิดขึ้น เพราะว่ามันจะสร้างเรื่องลำบากใจให้กับเขาและรัฐบาลโรม นักโทษที่อยู่ภายใต้การควบคุมของนายพันคนใด ต้องได้รับความปลอดภัยจนกว่าคดีจะสิ้นสุด
กิจการ 23:23-26
นายพันลงมือปกป้องชีวิตของเปาโลทันที ด้วยการส่งตัวไปให้เฟลิกซ์ผู้ว่าราชการของยูเดีย เฟลิกซ์ผู้นี้ ไต่เต้าจากการเป็นทาสจนกลายมาเป็นผู้ว่าราชการยูเดีย จากจดหมายทำให้เราทราบว่า นายพันชื่อ คลาวดิอัส ลีเซียส เขารายงานชัดเจนว่า เกิดอะไรขึ้น
กิจการ 23:27-30
เนื้อความในจดหมายนี้ ผู้เขียนคือลูกา น่าจะได้รับทราบมาจากการอ่านจดหมายต่อหน้าเฟลิกซ์ในเวลาต่อมา ที่สำคัญคือ เปาโลเป็นชาวโรมที่ถูกสภายิวหมายหัว จะได้รับอันตราย นายพันลีเชียสจึงจำต้องส่งนักโทษผู้นี้ต่อไปให้กับเฟลิกซ์
กิจการ 23:31-35
ที่จริงเฟลิกซ์จะส่งเปาโลต่อไปยังผู้ว่าการแคว้นซีเรียก็ได้ แต่เขาตัดสินใจจะดูคดีนี้เอง เพราะเมื่ออ่านจดหมายแล้ว ก็รู้ว่า คดีน่าจะจบง่าย ๆ เพราะหลักฐานอ่อนมาก และที่คุมขังครั้งนี้อยู่ในวังของเฮโรด
พระคำเชื่อมโยง
1* กิจการ 24:16; 1โครินธ์ 4:4;
2โครินธ์ 1:12; 4:2; 2ทิโมธี 1:3
2* 1 พงศ์กษัตริย์ 22:24; เยเรมีย์ 20:2; ยอห์น 18:22
3* เลวีนิติ 19:35; เฉลยธรรมบัญญัติ 25:1-2; ยอห์น 7:51
5* เลวีนิติ 5:17-18; อพยพ 22:28; ปัญญาจารย์ 10:20
6* กิจการ 26:5; 3:5; กิจการ 24:15, 21
8* มัทธิว 22:23; มาระโก 12:8
ลูกา 20:27
9* กิจการ 25:25; 26:31; ยอห์น 12:29
11* กิจการ 18:9; 27:23-24; 21:18-19
12* กิจการ 23:21, 30; 25:3
14* กิจการ 4:5,23; 6:12; 22:5
20* กิจการ 23:12
23* กิจการ 8:40; 23:33
27* กิจการ 21:30, 33; 24:7
28* กิจการ 22:3029* กิจการ 18:15; 25:19; 25:25; 26:31
30* กิจการ 23:20; 24:8; 25:6
33* กิจการ 8:40; 23:26-30
34* กิจการ 6:9; 21:39
35* กิจการ 24:1, 10; 25:16; มัทธิว 27:27