1 เปโตร 4 รับใช้พระเจ้าในยุคสุดท้าย

ทัศนคติของผู้รับใช้ -ทุ่มเท

ดังนั้น ในเมื่อพระคริสต์ ได้ทนทุกข์เพื่อเราแล้วด้วยพระกายแล้ว ก็ให้ท่านได้ใช้ความคิดอย่างเดียวกันกับพระองค์เป็นอาวุธด้วย เพราะผู้ที่ทนทุกข์ทางกาย ก็จบสิ้นกับบาปแล้ว
1 เปโตร 4:1

กาลาเทีย 5:24, 1 เปโตร 3:18, โคโลสี 3:3-5

Rembrandt 1631

อาวุธที่จะสู้กับบาปก็คือ การที่เราจะไม่หวั่นกับการทนทุกข์ ไม่โวยวาย เมื่อมีสิ่งที่เรารู้สึกเหมือนไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น ถ้าเรามีทัศนคติอย่างพระเยซูคริสต์ เราจะไม่ทำบาป การคิดอย่างนั้นเท่ากับเรากำลังตัดความสัมพันธ์กับบาปที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิต ทั้งนี้ ท่านเปโตรกล่าวกับพี่น้องที่กำลังทนทุกข์เพราะความเชื่อ ความคิดแบบนี้เป็นอาวุธสู้บาป!

เพื่อว่าจะไม่ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในกายนี้ตามตัณหาชั่วของมนุษย์แต่ตามพระประสงค์ของพระเจ้า
1 เปโตร 4:2

ยอห์น 1:13, เอเฟซัส 4:22-24, ทิตัส 3:3-8

มีความคิดอย่างพระเยซูเป็นอาวุธสู้บาป แบบประจำวัน ไม่ใช่นาน ๆ ที เพื่อว่าจะได้ใช้ชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงสร้าง และทรงเลือกเรามาให้อยู่ในร่มพระคุณ เราต้องเข้าใจว่า พระเยซูคริสต์ทรงมีคุณค่ามาก สมกับที่เราต้องทนทุกข์เพื่อพระนามเมื่อไรที่เราต้องเลือกระหว่างการทนทุกข์ กับการทำบาป ให้เราเลือกข้างพระเยซูเถอะ ชีวิตของเราเหลือน้อยลง ๆ ทุกวัน 

มีปัญญา

เราได้ใช้เวลาในชีวิตมามากพอแล้วในการทำตามใจอย่างคนนอก นั่นก็คือการปล่อยตัวตามราคะตัณหา ตามใจอยากที่ชั่ว การเมาเหล้า การเลี้ยงอย่างสนุกสุดเหวี่ยง การสำมะเลเทเมา และการไหว้รูปเคารพที่น่าขยะแขยง
1 เปโตร 4:3

เอเฟซัส 5:18, 1 โครินธ์ 6:11, 1 เธสะโลนิกา 4:5

จดหมายที่ท่านเปโตรส่งไป คงจะไปหาพี่น้องคริสเตียนที่เป็นชาวต่างชาติ เพราะท่านกล่าวถึงกิจกรรมบาปที่พวกเขามักจะมีพิธีกรรมที่น่าสะอิดสะเอียนด้วย มีทั้งการดื่ม กิน และทำผิดทางเพศประกอบการไหว้รูปเคารพ

พวกเขาแปลกใจที่เวลานี้
ท่านไม่ได้ใช้ชีวิตเสเพลตามพวกเขา และพวกเขาก็กล่าวร้ายพวกท่าน พวกเขาจะต้องให้การต่อพระองค์ผู้ทรงพร้อมที่จะพิพากษา ทั้งคนเป็นและคนตาย
1 เปโตร 4:4-5

1 เปโตร 2:12, ยูดา 1:10, กิจการ 10:42, โรม 14:9,กาลาเทีย 5:25

เวลาคนไปทำชั่ว ไม่มีใครแปลกใจ แต่เมื่อคนไม่ทำตามสิ่งชั่ว ก็จะมีคนแปลกใจ ทำไมคริสเตียน แปลกไปจากคนอื่น ไม่หลิ่วตาชั่วตามพวกเขา แทนที่พวกเขาจะทำตามสิ่งที่ดีจากชีวิตเรา กลับมาใส่ร้ายเสียอีก สิ่งนี้เกิดขึ้นทุกวัน ! แต่ผู้ที่ถูกใส่ร้ายนั้นต้องเข้าใจว่า พระเจ้าจะไม่ทอดทิ้ง เพราะการพิพากษาของพระเจ้านั้น มีแน่ ๆ พอถึงวันนั้น พวกเขาจะรู้ว่าตนเองโง่เพียงใดที่ใช้ชีวิตเสเพล

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการประกาศข่าวประเสริฐ แม้แก่คนที่ตายไปแล้ว
เพื่อถึงแม้ว่าทางร่างกายเขาอาจถูกพิพากษาโดยมนุษย์ แต่เขาอาจจะได้มีชีวิตฝ่ายวิญญาณ ตามพระประสงค์ของพระเจ้า
1 เปโตร 4:6

1 เปโตร 1:12, 3:19, โรม 8:9,13 ,กาลาเทีย 5:25

ข้อความตอนนี้อาจทำให้เรางง คิดว่าเป็นการประกาศให้กับคนที่ตายฝ่ายร่างกายไปแล้ว แต่ข้อนี้มีความหมายว่า เป็นการประกาศให้กับคนที่ตายแล้วฝ่ายวิญญาณ ก็คือคนที่ยังไม่เชื่อพระเจ้านั่นเอง พวกเขามีโอกาสที่จะกลับใจ และใช้ชีวิตตามทางของพระเจ้า ตามน้ำพระทัยของพระองค์ และการกลับใจใหม่นี้ กำลังเกิดขึ้นอยู่ทุกชั่วโมงในโลกเรา เมื่อพระคำของพระเจ้าถูกประกาศไปก็จะมีคนเชื่อ

ใช้เวลาอธิษฐาน

ตอนจบของสิ่งทั้งปวงใกล้เข้ามาแล้ว เพราะฉะนั้น พวกท่าน จงมีสติรู้ตัวรอบคอบ
และเตรียมใจตนเพื่ออธิษฐาน
1 เปโตร 4:7

โรม 13:11, ฮีบรู 9:26, ยากอบ 5:8-9, 1 ยอห์น 2:18

ตอนจบของทุกสิ่งในโลก คือเมื่อพระเยซูเสด็จมา!
ถ้าเราคิดว่าจะไม่มีพรุ่งนี้อีกต่อไป สติของเราก็จะไม่อยู่นิ่ง แต่ตื่นตัว เตรียมพร้อม การอธิษฐานของเราจะไม่เหมือนเดิม ความเร่าร้อนจะเกิดขึ้นเพราะยังมีหลายเรื่องที่เราต้องทูลขอให้พระเจ้าทรงโปรดเมตตาการที่จะรู้ว่าต้องใช้เวลาทำอะไรให้เกิดผลดีต้องมีสติจริง ๆ ปล่อยตามสบายไม่ได้

เหนือสิ่งใด จงรักกันและกันให้มาก เพราะความรักยกโทษบาปได้มากมาย
จงต้อนรับกันและกัน โดยไม่บ่น
1 เปโตร 4:8-9

สุภาษิต 10:12, 17:9, ฮีบรู 13:2, 2 โครินธ์ 9:7, โรม 12:13

รักกันให้มาก ท่านเปโตรหมายถึง “รักกันอย่างแรงกล้า” เป็นความรักที่กระตือรือร้น ที่จะให้ ช่วย เป็นห่วง เป็นใย เป็นรักที่ร้อนแรงโดยไม่มีอะไรแฝง รักอย่างที่พระเยซูทรงรัก แต่ไม่ได้หมายความว่ายอมให้เขาทำบาปไปเรื่อย แต่เป็นการไม่เปิดโปง และหาทางช่วยให้พ้นบาปนั้น การต้อนรับอย่างเต็มใจ เป็นเรื่องที่ผู้เชื่อต้อง ฝึกฝน และหากมีความรัก เราจะมีน้ำใจต้อนรับโดยไม่ยากเย็น

ในเมื่อแต่ละคนได้รับของประทานมา ก็ควรใช้ของประทานนั้น ในการปรนนิบัติกันและกัน ในฐานะเป็นผู้อารักขาพระคุณนานัปการของพระเจ้า
1 เปโตร 4:10

โรม 12:6-8, 1 โครินธ์ 4:1-2, 1 โครินธ์
12:4

ไม่มีใครสักคนที่ขาดของประทานซึ่งสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น คนเกียจคร้านมีข้ออ้างที่จะไม่ใช้ของประทานนั้น พระเจ้าทรงประสงค์ที่จะให้เราใช้ความสามารถที่มี เพื่อเสริมสร้างกันและกัน การทำเช่นนั้น เท่ากับเราทำหน้าที่ของผู้ดูแลรักษาพระคุณของพระเจ้าในโลกนี้

คนใดจะพูด ก็ให้พูดในฐานะที่เป็นคำมาจากพระเจ้า คนใดจะรับใช้ ก็ให้รับใช้ตามกำลังที่พระเจ้าประทาน เพื่อว่าพระเจ้าจะได้รับพระเกียรติโดยพระเยซูคริสต์ในทุกสิ่ง ขอพระสิริรุ่งโรจน์ และฤทธานุภาพสูงสุด จงมีแด่พระองค์สืบไปเป็นนิตย์ อาเมน
1 เปโตร 4:11

เอเฟซัส 4:29, 5:20, 1 โครินธ์ 4:1-2

เมื่อเรารับใช้ พระเจ้าจะทรงรับพระเกียรติ จากการรับใช้ที่จริงใจ ตามการทรงเรียก ตามของประทานที่พระเจ้าให้เรามา หากทุกคนในพระกายพระคริสต์ ขยัน รักรับใช้ตามของประทานแล้ว ชุมชนนั้นก็จะไม่ขาดสิ่งดี แต่จะเป็นที่น่าชื่นชม เจริญก้าวหน้า เป็นที่ถวายสรรเสริญแด่พระเจ้า

ทัศนคติต่อความทุกข์ที่เข้ามาในชีวิต

เพื่อนที่รัก อย่าแปลกใจกับการทดสอบร้อนแรงที่มาเพื่อทดสอบท่าน มันเป็นเหมือน สิ่งแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นกับท่าน
1 เปโตร 4:12

1 เปโตร 1:6-7, 2 ทิโมธี 3:12

เมื่อมีความทุกข์ใจ ความทุกข์ยาก ปัญหาที่ยากการจนตรอกหาทางออกไม่ได้ หลายคนจะคิดว่า ทำไมเรื่องนี้จึงต้องเกิดกับเราด้วย ไม่น่าเลย อย่าลืมว่า เราอยู่ในโลกที่เต็มด้วยคน คน คน ที่สร้างปัญหา ที่มีปัญหาเยอะไปหมด ยังมีสภาพแวดล้อม อาหารการกิน ความเจ็บป่วย เราต้องไม่แปลกใจ อะไรเกิดกับคนอื่นได้ ก็เกิดกับเราได้เหมือนกัน แต่ที่ไม่เหมือนคือพระเจ้าทรงเห็น ทรงอยู่กับเราที่วางใจพระองค์

แต่จงยินดีว่า ท่านได้มีส่วนในความทุกข์ของพระคริสต์ เพื่อว่าท่านจะได้ยินดีอีกด้วย เมื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มาปรากฏ
1 เปโตร 4:13

ยากอบ 1:2-3, 2 ทิโมธี 2:12, โรม 8:17

นอกจากไม่ให้แปลกใจที่การทดสอบเกิดขึ้น แต่ท่านเปโตรยังให้เรายินดีว่า ได้มีส่วนในความทุกข์ของพระคริสต์ นี่เป็นความคิดที่ต่างไปจากที่คนในโลกคิดความทุกข์ยากเป็นเรื่องธรรมดาในสายตาของผู้เชื่อ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เขาได้รับการยกเว้น เมื่อเราทนทุกข์ เราก็ได้ยินดี และยิ่งยินดีมากขึ้นเมื่อพระเยซู เสด็จกลับมาด้วยสง่าราศี

หากท่านถูกเยาะเย้ยเนื่องจากพระนามของพระคริสต์ ท่านก็ได้รับพระพร เพราะพระวิญญาณแห่งพระสิริ และองค์พระเจ้าประทับเหนือท่าน
1 เปโตร 4:14

มัทธิว 5:11, ลูกา 6:22, 1 เปโตร 3:14

ท่านเปโตรได้ยินพระเยซูตรัสเช่นนี้ในวันที่พระองค์เทศนาบนภูเขาด้วย มัทธิว 5:1-12 เมื่อพวกเขาจะติเตียน ข่มเหง กล่าวร้ายเจ้า เป็นความเท็จเพราะเรา เจ้าก็เป็นสุขจงชื่นชมยินดี เพราะบำเหน็จของพวกเจ้ามี เต็มบริบูรณ์ในสวรรค์ เพราะพวกเขาได้ข่มเหงผู้เผยพระคำที่อยู่มา ก่อนเจ้าเหมือนกัน

อย่าให้ใครสักคนในหมู่พวกท่าน ทนทุกข์เพราะเป็นฆาตกร หรือขโมย หรือคนทำชั่ว หรือเป็นพวกที่เข้าไปยุ่มย่ามเรื่องของคนอื่น
1 เปโตร 4:15

2 เธสะโลนิกา 3:11, 4:11, 1 ทิโมธี 5:13

หากผู้เชื่อทำผิดต่อคนอื่น หรือทำผิดกฎหมายก็สมควรที่จะได้รับการลงโทษเหมือนคนอื่น ๆ แต่ที่แย่กว่าคือ เขาได้ทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่เสื่อมเสีย ไม่ใช่ว่าเมื่อทนทุกข์ด้วยสาเหตุที่ตนทำผิด เป็นการทนทุกข์เพื่อพระเจ้า. เราจึงต้องมองให้ดีว่า ปัญหาในชีวิตเกิดจากอะไรเกิดจากความโง่เขลาของตนเองหรือจากการที่ คนอื่นมาข่มเหงพระนาม

แต่หากว่าใครต้องทนทุกข์เพราะเขาเป็นคริสเตียน ก็อย่าให้เขารู้สึกอาย แต่ให้เขาถวายพระสิริแด่พระเจ้า เพราะเขามีพระนามนั้นในชีวิต
1 เปโตร 4:16

1 เปโตร 3:17-18, ฟีลิปปี 1:29

การที่ถูกข่มเหงจากเพื่อนหรือพี่น้องเพราะว่าเราเป็นคริสเตียน เป็นสิ่งที่เราต้องรู้ว่า ไม่ต้องอายเมื่อเกิดเรื่องขึ้น แปลว่า พระนามนั้นมีชีวิตในเราและเหตุการณ์นี้จะกลับทำให้เราได้ถวายพระเกียรติ แด่พระเจ้าอย่างไม่คาดฝัน ในสมัยก่อนเขาเรียก คริสเตียนว่า “ สาวก ผู้เชื่อ ศิษย์พระเยซู คนที่ เป็นของทางนั้น” ต่อมาจึงเรียกว่าคริสเตียน (กิจการ 11:26) หมายถึงคนที่กลับใจ เชื่อ ติดตามพระเยซูอย่างจริง

ท่ามกลางการทนทุกข์..มอบชีวิตแด่พระเจ้า

เพราะถึงเวลาที่การพิพากษาจะต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวของพระเจ้า
และหากเริ่มต้นที่เรา ผลการพิพากษาจะเป็นอย่างไรกับคนที่ไม่เชื่อข่าวประเสริฐของพระเจ้า
1 เปโตร 4:17

อิสยาห์ 10:12, ลูกา 10:12, 2 เธสะโลนิกา 1:8

การพิพากษาของพระเจ้านั้น เริ่มต้นที่ผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์ เพราะพวกเขาจะต้องเป็นคนที่ได้รับการชำระ และเดินในทางของพระเจ้า พวกเขามีหน้าที่ต่อพระเจ้าและผู้อื่น ต้องกลับใจจริง เชื่อจริง ตัดขาดจากบาปจริง ..

และ “ถ้าคนชอบธรรมเกือบจะไม่รอด แล้วคนอธรรมและคนบาปจะเป็นอย่างไร?”
ดังนั้น ให้ทุกคนที่ทนทุกข์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า ฝากจิตวิญญาณของพวกเขาไว้กับ พระผู้สร้างผู้ทรงซื่อตรง และมุ่งทำดีต่อไปเถิด
1 เปโตร 4:18-19

สุภาษิต 11:31, สดุดี 37:5-7, 2 ทิโมธี 1:12

ยังมีความเข้าใจผิดในหมู่ผู้เชื่อว่า เมื่อเรามาเชื่อพระเจ้าแล้ว เราก็ไ่ม่ต้องทำอะไรอีก ท่านเปโตรกำลังบอกสิ่งที่ตรงข้าม จากที่อ่านมาเราจะเห็นว่า พระเยซูทรงให้ความรอดกับเราโดยที่พระองค์ทรงสละชีวิตของพระองค์เอง เมื่อเรามาหาพระองค์ เราก็ต้องถวายชีวิตหมดสิ้นกับพระองค์เหมือนกัน ความรอดนั้นมีค่าเท่ากับชีวิตของพระเยซู ทุกคนที่จะตามพระเจ้าต้องเอาชนะตนเองแบกกางเขนของตนทุกวันและตามพระองค์ไป

1 เปโตร 2 พระเกียรติ และหน้าที่ของคนของพระเจ้า

มาหาพระเจ้าโดยมาหาพระดำรัส

ดังนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายละทิ้งความชั่วทั้งปวง อุบายล่อลวงทั้งสิ้นความหน้าซื่อใจคด ความริษยา และการใส่ร้ายทุกรูปแบบ
1 เปโตร 2:1

ฮีบรู 12:1, เอเฟซัส 4:31, ยากอบ 1:21

เหตุผลที่ท่านเปโตรให้ละทิ้งสิ่งชั่วร้าย ต้องกลับไปอ่านจากบทที่ 1 เราได้เกิดใหม่ มีความหวังใหม่แล้ว พระเจ้าทรงเรียกให้เราเป็นคนบริสุทธิ์ พระเยซูทรง ไถ่เราด้วยพระโลหิตประเสริฐ เราได้เกิดจาก เมล็ดพันธุ์ที่มีชีวิต เราไม่ใช่คนที่ตายไปในบาป อีกต่อไป นี่ทำให้เรายิ่งต้องทิ้งความชั่วร้าย ไม่ให้มันมามีส่วนในชีวิตเราต่อไป

ให้ท่านมีความกระหายอยากได้น้ำนมฝ่ายวิญญาณที่บริสุทธิ์ เหมือนเด็กทารกแรกเกิดเพราะโดยน้ำนมนั้น จะทำให้พวกท่านเติบโตไปถึงความรอด ในเมื่อท่านได้ลิ้มรสแล้วว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงดีเลิศ
1 เปโตร 2:2-3

มัทธิว 18:3,19:14, มาระโก 10:15, ลูกา 18:17, 1 โครินธ์ 14:20, 3:2, ฮีบรู 5:12-13, สดุดี 34:8, 63:5, ทิตัส 3:4, ฮีบรู 6:5

น้ำนมฝ่ายวิญญาณที่บริสุทธิ์ ในบางเล่มใช้คำว่า น้ำนมแห่งพระคำบริสุทธิ์ ของพระเจ้า นั่นคือท่านเปโตรกำลังขอให้ผู้เชื่อใหม่ได้มีความ อยากที่จะรู้จักพระคำพื้นฐานที่ต้องรู้ เพื่อว่าชีวิตจะได้เติบโตไปถึงความรอด นี่เป็นการชี้ว่า เมื่อเข้ามาเชื่อแล้ว เราต้องร่วมมือกับพระองค์ ตามที่อัครทูตได้สอนไว้เพื่อเติบโต ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ

ศิลาที่ทรงเลือก และคนที่ทรงเลือก

จงมาหาพระองค์ผู้เป็นพระศิลาที่มีชีวิต แม้มนุษย์จะปฏิเสธพระองค์แต่กลับทรงเป็นพระศิลาที่พระเจ้าทรงเลือก และล้ำค่านักในสายพระเนตร
1 เปโตร 2:4

สดุดี 118:22, กิจการ 4:11-12,อิสยาห์ 28:16

พระเยซูทรงเป็นรากฐานที่มีชีวิต ซึ่งทำให้ผู้เชื่อมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ พระเจ้าทรงเลือกพระองค์ไว้
ในขณะที่คนของพระองค์ คือยิวทั้งหลายปฏิเสธ พระองค์ ทั้งยังได้ประหารพระองค์บนไม้กางเขนด้วย พระคำตอนนี้จนถึงข้อ 10 มาจากพันธสัญญาเดิม ประเด็นสำคัญในข้อนี้บอกว่า
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นรากฐานของคริสตจักร
สิ่งอื่นใดที่มนุษย์คิด ไม่ใช่รากฐานคริสตจักร

พวกท่านเองก็เป็นศิลาที่มีชีวิตกำลังถูกสร้างเป็นพระนิเวศฝ่ายวิญญาณเพื่อเป็นปุโรหิตบริสุทธิ์ เพื่อเป็นผู้ถวายเครื่องบูชาฝ่ายวิญญาณซึ่งเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้าผ่านพระเยซูคริสต์
1 เปโตร 2:5

เอเฟซัส 2:20-22, 1 โครินธ์ 3:9

คำว่าศิลาในที่นี้มีความหมายถึงหินที่ถูกสกัดไว้เพื่อ รับน้ำหนักของอาคาร ท่านเปโตรมองว่าชุมชนผู้เชื่อคือพระนิเวศฝ่ายวิญญาณ มีชีวิต มีคนเชื่อใหม่เข้ามา ก็เหมือนมีศิลาเข้ามาสร้างเพิ่มเติมในพระนิเวศนี้ ผู้เชื่อจึง เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทั้งหมด พวกเขาทุกคน มีหน้าที่เป็นปุโรหิต มีความสัมพันธ์กับพระเจ้า พวกเขาเป็นทั้งพระนิเวศ เป็นทั้งผู้นมัสการ เป็นศิลาที่มีชีวิตตามพระเยซูเจ้าของเขา

เพราะพระคัมภีร์มีเขียนไว้ว่า
“ดูเถิด เรากำลังวางศิลาก้อนหนึ่งใน ศิโยน เป็นศิลาหัวมุมที่เลือกไว้ และมีค่ายิ่งและใครก็ตามที่เชื่อในพระองค์ จะไม่ต้องอับอาย สำหรับ คนที่เชื่อ ศิลานี้ มีค่าล้ำเลิศ
1 เปโตร 2:6-7a

อิสยาห์ 28:16, โรม 9:32-33, 10:11, 1 เปโตร 2:8

ท่านเปโตรได้ใช้คำเปรียบเรื่องศิลานี้ มาจากพระคัมภีร์เดิม ท่านบอกว่า พระเยซูทรงอยู่ในฐานะเหมือนกับศิลามุมเอก ส่วนที่สำคัญยิ่งสำหรับ อาคารที่ก่อด้วยหิน พระองค์รับการแต่งตั้งมาจากพระเจ้าเพื่อเป็นรากฐานที่แข็งแรงของอาคาร ฝ่ายวิญญาณของทุกชีวิต เราต้องเข้าใจว่า พระเยซูทรงเป็นรากฐานแห่งความเชื่อของเราไม่มีรากอื่นใดนอกจากพระองค์

สำหรับคนที่ไม่เชื่อฟัง .. “ศิลาซึ่งช่างก่อทิ้งแล้วนั้น ได้กลายเป็นศิลามุมเอก และ เป็นศิลาที่ทำให้คนสะดุด เป็นหินที่ทำให้พวกเขาต้องหกล้ม ที่เขาสะดุด เป็นเพราะเขาไม่เชื่อฟัง พระคำของพระเจ้า ตามที่ถูกกำหนดไว้อย่างนั้น
1 เปโตร 2:7b-8

สดุดี 118:22, มัทธิว 21:42, ลูกา 2:34, อิสยาห์ 8:14, 1 โครินธ์ 1:23, กาลาเทีย 5:11, โรม 9:22

เมื่อคนยิวไม่ยอมรับพระเยซู พระเจ้าได้ทรงหันมา สร้างคริสตจักรที่ประกอบด้วยชนทุกชาติ ผู้ที่เชื่อพระเยซูจะได้รับแบ่งเกียรติยศจากพระองค์ ในขณะที่ผู้ไม่เชื่อฟังกลับพบว่า พระเยซู เป็นหินที่ทำให้พวกเขาต้องล้มและพบความหายนะ พระเจ้าไม่ได้ทรงกำหนดให้เขาไม่เชื่อ แต่หากไม่เชื่อ เขาก็จะสะดุด เสียดายโอกาสหลายชั่วอายุคน ที่คนยิวจำนวนมากมายเลือก ไม่เชื่อพระเยซู แต่ขอบพระคุณที่คนยิวยุคนี้ เริ่มหันมาหาพระองค์มากขึ้น

แต่ ท่านทั้งหลาย เป็นชนชาติที่พระเจ้าทรงเลือกไว้ เป็นปุโรหิตหลวง เป็นชาติบริสุทธิ์ เป็นประชากรที่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์
1 เปโตร 2:9a

อิสยาห์ 9:2, 42:16,กิจการ 26:18, 2 โครินธ์ 4:6,

ไม่มีใครอวดได้ว่า เขามาอยู่ในพระเจ้าเพราะตัว เขาตัดสินใจ เขาเข้ามาเอง ทุกคนที่เข้ามา อยู่ในร่มพระเมตตาของพระเจ้านั้น ได้รับการเลือกจากพระองค์ทั้งสิ้น เมื่อเข้ามาแล้ว ก็มี หน้าที่ชัดเจน เป็นปุโรหิตที่ใกล้ชิดกับพระเจ้า ทูลขอพระเมตตาเพื่อคนอื่น ๆ เสียดายที่อิสราเอลได้ละทิ้งสิทธิพิเศษนี้ พระเจ้าได้เลือกคนอีกมากมายทั่วโลกมาเป็น กรรมสิทธิ์ของพระองค์​

เพื่อว่าท่านจะประกาศถึงความดีอันล้ำเลิศของพระองค์ผู้ทรงเรียกท่าน ออกจากความมืด เข้ามาสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์
1 เปโตร 2:9b

วิวรณ์ 1:6,5:10, มัทธิว 5:16, โคโลสี 1:13

ตามพระประสงค์ คริสตจักรจะต้องทำหน้าที่ซึ่งพระเจ้าทรงเรียกให้พวกเขาทำ นั่นคือ ประกาศพระนามพระเยซูคริสต์ออกไปทั่วโลก (มัทธิว 28:19-20) เขาจะต้องเป็นเครื่องมือที่พระเจ้าทรงใช้ให้ส่องสว่างไปยังหัวใจที่มืดมิดในโลกนี้ พวกเขาได้ผ่านกระบวนการที่พระเจ้าทรง เรียกเขาออกมาจากความมืด มาสู่ความสว่าง ของพระองค์ เขาจึงมีคำพยานที่ชัดเจนให้กับ ผู้ที่ไม่เคยได้ยินเรื่องของพระเจ้า

แต่ก่อนท่านไม่ใช่ประชากร
แต่บัดนี้ท่านเป็นประชากรของพระเจ้า
แต่ก่อนท่านไม่ได้รับพระเมตตา
แต่บัดนี้ท่านได้รับพระเมตตาแล้ว
1 เปโตร 2:10

โฮเชยา 1;9-10, 2:23, โรม 9:25, 10:19, 1 ทิโมธี 1:13

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พระเจ้าตรัสว่าจะไม่เอาอิสราเอลที่ดื้อดึงอีกต่อไป แต่ต่อมาพระองค์ก็ยังทรงเรียกเขากลับมาหาพระองค์ คริสตจักรได้รับพระเมตตาของพระเจ้าเหมือนกับอิสราเอลได้รับ (อ่านโฮเชยา 1:6,9,10,2:23) พวกเราต้องเข้าใจและกตัญญูต่อพระเมตตานี้

เมื่อมาหาพระเยซู ..ต้องหลบหลีกอะไร?

พี่น้องที่รัก ข้าขอร้องท่านในฐานะที่อยู่ในโลกอย่างคนจร และคนแปลกถิ่น
1 เปโตร 2:11 a

โรม 8:13, กาลาเทีย 5:17, ยากอบ 4:1

ในขณะที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ท่านเปโตรเตือน ให้มองตัวเองดี ๆ ว่า จริงแล้ว เราคือใคร ท่านบอกว่า เราคือ คนจร เข้ามาในโลก หรือเหมือนคนแปลกหน้าของโลกนี้ เป็นคนที่กำลังเดินทางมุ่งไปบ้านจริง ตอนนี้แค่มาแวะเฉย ๆ นี่เป็นตัวจริงของผู้ที่เชื่อพระเยซูคริสต์! เราเป็นเหมือนคนนอกโลก ท่านยอห์นจึงบอกเราว่า อย่ารักโลกหรือสิ่ง ของในโลก 1 ยอห์น 2:15

ให้ละเว้นจากความเร่าร้อนของเนื้อหนัง ซึ่งต่อสู้กับวิญญาณจิตของท่านอยู่
1 เปโตร 2:11b

1 ยอห์น 2:15-17, 1 เปโตร 4:2, ฮีบรู 11:13

ในเมื่อเราเป็นประชากรของอาณาจักรพระเจ้า เป็นแค่คนจร กำลังเดินทางต่อไปยังบ้านเมืองแท้จริงของตนเอง ผู้เชื่อจึงต้องกล่าวปฏิเสธความเร่าร้อนของเนื้อหน้าที่ผิดต่อตัวเอง และผู้อื่นอย่างจริงจัง คำว่าต่อสู้ในที่นี้มีความหมายคือทำสงครามเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อตลอดชีวิตของผู้เชื่อ เท่ากับเราเดินทางอยู่ในเขตสงครามฝ่ายวิญญาณตลอดเวลา

ให้ประพฤติดีท่ามกลางคนไม่เชื่อเพื่อว่าเมื่อเขากล่าวหาว่า ท่านทำชั่ว เขาจะได้เห็นการดีที่ทำและจะได้สรรเสริญพระเจ้าเมื่อพระองค์เสด็จมาเยือน
1 เปโตร 2:12

มัทธิว 5:16, 9:8, 2 โครินธ์ 8:21, ฟีลิปปี 2:15, ทิตัส 2:8, 1 เปโตร 2:15, 3:16,ยอห์น 13:31, 1 เปโตร 4:11,16

ในเมื่ออยู่ในสงครามตลอดเวลา ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า คนที่ไม่ได้เชื่อพระเจ้ากำลังมองชีวิตการกระทำ น้ำใจ การทำงาน ทัศนคติของผู้เชื่ออยู่ โลกสมัยท่านเปโตรนั้น คริสเตียนมีน้อย และถูกจับจ้องตลอดเวลา
ส่วนโลกทุกวันนี้ คนชั่วสามารถกลายเป็นคนดูดีส่วนคนดีก็ถูกกล่าวหาให้กลายเป็นคนร้าย ได้อย่างง่ายดาย การเยี่ยมของพระเจ้านั้น ในพระคัมภีร์มีสองอย่าง มาเยี่ยมแล้วชม หรือมาเยี่ยมแล้วต้องลงโทษ!

นับถือผู้ปกครองตามที่เหมาะสม

เพื่อเห็นแก่องค์พระผู้เป็นเจ้า จงยอมอยู่ใต้อำนาจการปกครองที่มีอยู่ในบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ที่ถือว่าสูงสุด หรือเป็นเจ้าเมืองที่ได้รับบัญชามาเพื่อลงโทษคนที่ทำชั่ว และยกย่องคนที่ทำดี
1 เปโตร 2:13-14

มัทธิว 22:21, ทิตัส 3:1, โรม 13:1-7, 1 ทิโมธี 2:1-2, ลูกา 20:25, มาระโก 12:17


ในช่วงที่ท่านเขียนจดหมายนั้น อาณาจักรโรมกำลังรุ่งเรือง จักรพรรดิไม่ถูกกับคริสเตียนเลย แต่ท่านเปโตรกลับให้พวกเขาเชื่อฟัง พวกเขาก็ยอมเชื่อฟังเสมอ แต่หากจักรพรรดิสั่งในสิ่งที่ผิดต่อพระเจ้า พวกเขาไม่ยอมทันที อย่างเช่น จักรพรรดิสั่งให้พวกเขาเรียกจักรพรรดิว่าเป็นพระเจ้า พวกเขากลับกล่าวว่าท่านไม่ใช่พระเจ้า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเจ้า พวกเขาจึงถูกเผาทั้งเป็น ถูกโยนให้สิงโตกิน

เพราะพระเจ้าทรงประสงค์ที่จะให้ท่าน
ปิดปากที่ไม่รู้อะไรของคนชั่วด้วยการทำสิ่งที่ดี
ถอดความจาก 1 เปโตร 2:15

1 เปโตร 3:17, 2:12, ทิตัส 2:8

ความดีที่กล่าวถึงนี้ จะต้องเป็นความดีที่ตั้งอยู่บน รากฐานของน้ำพระทัยพระเจ้า มีความดีหลายอย่าง
ที่ไม่ใช่ดีจริง แค่ดูเหมือนดี ดูเหมือนโอเค แต่มันเป็นการกดขี่ เบียดเบียนคนอื่น บางคนทำดีกลบเกลื่อนความชั่วของตนความดีบางอย่างเป็นแค่ทำหลอกลวงฉาบฉวยความดีของผู้เชื่อขึ้นอยู่กับคำของพระเยซูที่ตรัสว่า ท่านทั้งหลายเป็นความสว่าง และเป็นเกลือแห่งแผ่นดินโลก

จงใช้ชีวิตอย่างคนมีเสรีภาพ แต่อย่าใช้เสรีภาพเพื่อปกปิดความผิดจงใช้ชีวิตในฐานะทาสของพระเจ้า
1 เปโตร 2:16

โรม 6:14,20,22, 1 โครินธ์ 7:22, กาลาเทีย. 5:1,5:13

เสรีภาพ เสรีชน อิสระภาพนั้น คืออะไร
ในพจนานุกรมไทยให้คำจำกัดความว่า เป็นความสามารถที่จะกระทำการใด ๆ ได้ตามที่ตนปรารถนาโดยไม่มีอุปสรรคขัดขวาง เช่น เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการนับถือศาสนา, ความมีสิทธิที่จะทำจะพูดได้โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
แต่ทำไมท่านเปโตรชวนให้เรามีอิสรชนพร้อมกับเป็นทาสของพระเยซูพร้อม ๆ กัน เพราะนั่นหมายถึงเราทั้งมีเสรี และพร้อมที่จะรับใช้ผู้อื่นดั่งที่พระเยซูทรงรับสภาพทาสมาแล้วนั่นเอง

จงให้เกียรติแก่ทุกคน
จงรักพี่น้องในพระคริสต์
จงยำเกรงพระเจ้า
จงให้เกียรติแด่องค์กษัตริย์
1 เปโตร 2:17

โรม 12:10, สุภาษิต 24:21, โรม 13:7, 1 เปโตร 5:5,

การให้เกียรติกันนั้น โดยทั่วไปต้องเรียนรู้มาจากครอบครัว เริ่มต้นจากการที่สามีภรรยา
พ่อ แม่ ลูก ปู่ย่า ตายาย ให้เกียรติกันและกัน
ข้อความตอนนี้ พูดถึงการรักกัน จะเห็นว่าท่านได้กล่าวรวมไปถึงบุคคลทุกคนที่มีส่วนชีวิตของเรา ไม่เว้นใครเลย พระคำข้อนี้ อาจไม่เป็นที่ถูกใจของคนสมัยใหม่เท่าไร แต่หากเราทุกคนใช้คำพูดดีต่อกัน โลกก็จะสวยขึ้นมากเลย

ผู้ที่เป็นลูกน้อง ให้เคารพเชื่อฟังนาย ไม่ใช่แค่นายใจดีอ่อนโยนเท่านั้น แต่กับนายที่ร้ายด้วยเพราะคนที่ยอมทนทุกข์อย่างไม่เป็นธรรมเพื่อเห็นแก่พระเจ้านั้น สมควรได้รับการยกย่อง
1 เปโตร 2:18-19

ทิตัส 2:9-10, 1 ทิโมธี 6:1-3, โคโลสี 3:22-25,มัทธิว 5:10-12, ลูกา 6:32, 1 เปโตร 3:14-17

ในมัทธิว 5:11 พระเยซูก็ตรัสเรื่องอย่างนี้เช่นกัน
คือการที่ถูกป้ายสี ทำร้ายเพราะพระนามของพระเจ้ากลับจะมีบำเหน็จในสวรรค์ จะเห็นได้ว่า เมื่อเป็นผู้เชื่อ วิธีการที่จะจัดการกับความไม่เป็นธรรมที่ตนโดนนั้น แตกต่างไป ในขณะเดียวกัน ถ้าเราเห็นคนที่ถูกทำร้าย และไม่มีปากเสียง เรา กลับต้องช่วยเขาเหล่านั้น อ่าน สุภาษิต 31:8-9 ให้ออกกฎที่เป็นธรรมแก่ผู้ยากไร้ขัดสน

หากว่าท่านถูกลงโทษเพราะทำผิด ถึงยอมทน จะถือว่าเป็นความดีความชอบได้อย่างไร แต่หากท่านทุกข์ยากเพราะทำดีและท่านอดทน นี่ถือเป็น
สิ่งที่น่ายกย่องในสายพระเนตรพระเจ้า
1 เปโตร 2:20

1 เปโตร 3:17, 4:14-16, 3:14, ฟีลิปปี 4:18,

แปลกที่พระเจ้าทรงพอพระทัยเมื่อคนของพระองค์ไม่โวยวาย กระทืบเท้า ขัดขืน หาทางเอาคึนเมื่อเขา ถูกกระทำ แต่กลับฝากเรื่องนี้ไว้ให้กับพระองค์ เป็นผู้ตัดสินว่าจะทำอย่างไร เมื่อไร ซึ่งตรงนี้เท่ากับคน ๆ นั้น ได้วางใจว่าพระเจ้าจะทรงเอาคืนให้เอง และวิธีของพระองค์ก็ดีกว่า ถาวรกว่าวิธีของเขา เรื่องนี้ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่เบี้ยวบูด ไม่ถูกต้องซึ่งเกิดขึ้นอยู่ทุกวันในโลกที่แสนวุ่นวายนี้

ตัวอย่างจากพระคริสต์

พระเจ้าทรงเรียกท่านมาเพราะเหตุนี้ เพราะว่าพระคริสต์ได้ทรงทนทุกข์เพื่อท่าน เป็นตัวอย่างให้ท่านดำเนินตามรอยพระบาท พระองค์ไม่ได้ทรงทำบาปใดๆ และไม่พบคำหลอกลวงออกมาจาก พระโอษฐ์ของพระองค์
1 เปโตร 2:21-22

1 ยอห์น 2:6, ยอห์น 13:15, มัทธิว 16:24, อิสยาห์ 53:9, 2 โครินธ์ 5:21, ฮีบรู 4:15, 1 ยอห์น 3:5

ภาพวาดโดย ​Mihaly Munkacsy 1884-1900

ใช่แล้ว ไม่อยากจะคิดอย่างนี้ แต่พระคำกลับ
บอกเช่นนั้น พระเจ้าทรงเรียกเรามาเพื่อให้เรา
ทรหดอดทน เมื่อเรามาเชื่อพระเยซูคริสต์
เราจะได้พบเจอกับการกระทำที่ไม่ยุติธรรมกับเราพระเจ้าทรงประสงค์ให้เราไม่โวยวาย แต่ให้อดทนพระเยซูทรงเป็นตัวอย่างของการไม่ตอบโต้ทรงดูเหมือนพ่ายแพ้ ถูกตรึงบนกางเขน แต่แล้วพระองค์กลับคืนพระชนม์ ตามแผนการของพระเจ้า ทำให้คิดอย่างหนึ่งว่า ในทุกเหตุการณ์ที่เราต้องเผชิญ มันมีเป้าหมายชัดเจน คือชัยชนะอันมีเกียรติ

เมื่อพระองค์ถูกคนดูหมิ่น พระองค์ไม่ทรงดูหมิ่นตอบ เมื่อทรงทนทุกข์พระองค์ก็ไม่ข่มขู่ใคร แต่ทรงมอบพระองค์เองไว้กับพระองค์ผู้ทรงพิพากษาอย่างยุติธรรม
1 เปโตร 2:23

อิสยาห์ 53:7, 1 เปโตร 4:19, ฮีบรู 12:3,

ภาพวาดโดย ​Mihaly Munkacsy 1884-1900

ท่านเปโตรให้พี่น้องคริสเตียนเดินตามแบบอย่างของพระเยซู ชัดเจนมาก ว่าเป็นแบบไหน
พระเยซูทรงกล่าวความจริงตรงๆ ถามอย่างไร
ก็ตอบไปตามความจริงที่พระองค์ทรงยืนยัน
แต่ไหนแต่ไรมา ให้คิดถึงวันที่เหล่าปุโรหิต และ ผู้ใหญ่ของยิวพร้อมใจเต็มด้วยความเกลียดชัง และยืนกรานหัวชนฝาว่า ต้องกำจัดพระเยซูให้สำเร็จ พวกเขาเต็มด้วยอารมณ์โกรธเกรี้ยว หยาบคาย เกลียดชัง ดูหมิ่น ไม่ยอมแพ้
แต่พระเยซูกลับทรงสงบนิ่งเพราะทรงวางพระทัยในพระบิดาเพียงผู้เดียว

พระองค์ทรงแบกบาปของเราไว้บน พระกายบนต้นไม้นั้น เพื่อว่า เราจะตายต่อบาป และมีชีวิตในความเที่ยงธรรม
ท่านทั้งหลายได้รับการบำบัดรักษาด้วยรอยแผลของพระองค์
1 เปโตร 2:24

อิสยาห์ 53:4-6, มัทธิว 8:17, วิวรณ์ 22:2

พระเยซูทรงเอาบาปของเราไป ความตายของ
พระองค์ทำให้เราถูกแยกจากบาปของเรา บาปไปอยู่ที่พระองค์บนกางเขนแล้ว ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้เรามีชีวิตที่เที่ยงธรรม ไม่ติดตามทางบาปเหมือนเดิมอีกต่อไป การบำบัดรักษาในที่นี้ มีความหมายถึงบำบัดรักษาชีวิตฝ่ายวิญญาณที่จะได้รับผลอันร้ายกาจของบาปนั่นคือความตาย อาจฟังยากแต่ความหมายของเปโตรคือแบบนี้

ภาพวาดโดย กุสตาฟ ดอเร (1832/1883)

เพราะพวกท่าน
เป็นเหมือนแกะที่หลงหาย
แต่บัดนี้ได้กลับมาหาพระผู้เลี้ยง
และผู้ปกป้องวิญญาณของท่าน
1 เปโตร 2:25

อิสยาห์ 53:6, 40:11, เอเสเคียล 34:6, ลูกา 15:4-6, มัทธิว 9:36

ภาพวาดโดย TG cooper 1836-1901)

อิสยาห์ 53:6 กล่าวว่าเราเป็นเหมือนแกะที่หลงทางไปจากพระเจ้า คิดดูว่า ในการหลงทางนั้นมันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เราจะพบสิ่งน่าตื่นเต้นเร้าใจ เราจะพบกับหมาป่า พบอันตราย พบสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ปลอดภัยเหมือนอยู่ในสายตาของผู้เลี้ยง และปลายทางของแกะที่หลงก็คืออยู่ในท้องสัตว์ป่าที่หิวโหย ปลายทางคือความตาย!
แต่หากแกะได้กลับมาหาผู้เลี้ยง มันจะปลอดภัย
เพราะผู้เลี้ยงจะดูแลให้อาหารและปกป้อง
และท่านได้ปกป้องแกะด้วยชีวิตของท่านเอง!

1 เธสะโลนิกา 3 กำหนดให้ทนทุกข์

ดังนั้น เมื่อเราทนต่อไปไม่ไหว เราจึงเต็มใจถูกทิ้งไว้ที่เมืองเอเธนส์ตามลำพังและเราส่งทิโมธี ซึ่งเป็นทั้งน้องชายและผู้ร่วมงานรับใช้พระเจ้าในการประกาศข่าวประเสริฐเรื่องพระคริสต์ไปหาพวกท่าน เพื่อจะได้วางฐานให้ท่านมั่นคง และหนุนใจท่านเรื่องความเชื่อ
1เธสะโลนิกา 3:1-2

กิจการ17:15,14:22-23,ฟีลิปปี 1:25

ทิโมธีมีความหมายต่อท่านเปาโลมาก เพราะยังหนุ่มแน่นและร่วมรับใช้อย่างซื่อสัตย์ ท่านยอมส่งทิโมธีมายังเมืองเธสะโลนิกาเพื่อวางรากฐานความเชื่อให้มั่นคง

เพื่อว่าจะไม่มีใครหวั่นกับความลำบากเหล่านี้ เพราะตัวท่านเองทราบว่า เราถูกกำหนดไว้สำหรับความลำบากดังกล่าว ความจริง ตอนที่เราอยู่กับท่าน เราได้บอกว่า เราจะต้องพบการข่มเหง และท่านก็รู้แล้วว่า มันเกิดขึ้นจริง
1 เธสะโลนิกา 3:3-4

กิจการ 14:22, 9:16,20:24 ยอห์น 16:2,33, 2 เธสะโลนิกา 1:4-6

เราอาจมีความเชื่อว่าชีวิตดี ๆ คือชีวิตที่สบาย แต่ความเป็นจริงแล้ว ชีวิตที่พบความยากลำบากมาก่อนคือชีวิตที่เข้มแข็ง ท่านต้องการให้รู้ว่า เราทุกคนถูกกำหนดไว้เพื่อเจอความลำบาก เพื่อชนะมันโดยพระคุณ ของพระเจ้า เราต้องเข้าใจว่า ความยากในชีวิตมีเพื่อทดสอบ และฝึกให้เราเป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้การได้

ด้วยเหตุนี้ เมื่อข้าไม่อาจทนต่อไปได้ข้าจึงส่งทิโมธีไปเพื่อจะได้รู้ว่า ความเชื่อของท่านเป็นอย่างไรด้วยเกรงว่า ผู้ที่มาล่อหลอกอาจล่อลวงท่านสำเร็จ งานที่เราบากบั่นทำมา จะล้มเหลวไป
1 เธสะโลนิกา 3:5

มัทธิว 4:3, ยากอบ 1:13-14, 2 โครินธ์ 2:11

คนสอนผิด คนสอนล่อลวง คนที่เอาพระคำของพระเจ้ามาบิดเบือนนั้น ไ่ม่เคยขาดหายไปจากโลก เลย ทุกวันนี้ เราพบว่า มีสิบแปดมงกุฎที่ออกทีวี
พูดจาให้คนเชื่อถือ เอาพระคัมภีร์มาสอนผิดอย่างร้ายแรง ท่านเปาโลห่วงอย่างไรในสมัยของ ท่าน พวกเราก็ควรห่วงทั้งตัวเองและเพื่อน ๆ คอยระวังระไวให้ดีตลอดเวลา

ตอนนี้ ทิโมธีจากพวกท่านมาถึงเราแล้ว และได้นำข่าวดีเรื่องความเชื่อและความรักของท่านมาด้วย และเขากล่าวว่า พวกท่านคิดถึงเราในเรื่องดี ๆ เสมอ ปรารถนาที่จะพบเราเหมือนอย่างที่เราอยากจะพบพวกท่าน
1 เธสะโลนิกา 3:6

1 โครินธ์ 11:2, อิสยาห์ 52:7

คริสเตียนในเธสะโลนิกาก็ต้องเจอกับ ปัญหา การข่มเหง การล่อลวง และปัญหาอื่น แต่พวกเขายังมั่นคงใน ความเชื่อและความรัก ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตทุก ๆ คน

ดังนั้น พี่น้องทั้งหลาย เราได้รับการหนุนใจ เพราะความเชื่อของพวกท่าน ด้วยเหตุนี้ เราจึงเบาใจกับความลำบากและความยากเข็ญของเรา ตอนนี้เรามีชีวิตชีวา เพราะท่านมั่นคงในองค์พระผู้เป็นเจ้า
1 เธสะโลนิกา 3:7-8

2 ทิโมธี 3:10-12, โคโลสี 1:23, ฮีบรู 10:23, ฟีลิปปี 1:21

จะมีอะไรที่ทำให้ผู้รับใช้ของพระเจ้าดีใจ เป็นสุขได้ เท่ากับได้เห็นว่า พระวิญญาณของพระเจ้าทรงทำราชกิจของพระองค์ในชีวิตของผู้ที่ฟังพระคำ
จากเขา ความยากเข็ญที่ท่านเปาโลกำลังพบอยู่จึงกลายเป็นความเบาใจ ทำให้ท่านมีกำลังที่จะสู้ต่อไป ทิโมธีเป็นผู้ส่งข่าวดีให้กับท่านในครั้งนี้

เราจะขอบคุณต่อพระพักตร์พระเจ้าให้สมกับความยินดีเพราะพวกท่านได้อย่างไร? ในขณะที่เราอธิษฐานทั้งคืนทั้งวันอย่างร้อนใจเพื่อจะได้พบหน้าท่านอีก และเพื่อจะเพิ่มเติมสิ่งที่ท่านยังขาดอยู่ให้เต็มบริบูรณ์
1 เธสะโลนิกา 3:9-10

2 โครินธ์ 9:15, สดุดี 98:8-9,2 ทิโมธี 1:3, 2 โครินธ์ 13:9

เราทุกคนเหมือน แก้วน้ำที่ยังไม่เต็ม เรายังขาดบางสิ่งอยู่ตลอดเวลา
ไม่มีใครบอกได้ว่า ตนเองบริบูรณ์ สมบูรณ์แบบแล้ว แม้แต่ท่านเปาโลเองก็กล่าวในฟีลิปปี 3:12 ว่า ไม่ใช่ว่าพร้อมแล้ว แต่กำลังก้าวไปข้างหน้าเพื่อฉวยเอาสิ่งที่พระเยซูทรงเตรียม
ไว้ให้ ตราบใดที่มีชีวิตก็ต้องเติมเต็มด้วยพระเจ้าเสมอ

ขอพระเจ้าคือองค์พระบิดาและองค์พระเยซูเจ้าของเรา ทรงนำเราไปถึงท่าน และขอองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเพิ่มพูนให้ท่านไหลล้นด้วยความรักกันและกัน และรักทุกคนเหมือนอย่างที่เรารักท่าน
1 เธสะโลนิกา 3:11-12

2 เธสะโลนิกา 2:16, 1 ยอห์น 3:1, ฟีลิปปี 1:9, 1 ยอห์น 3:11-19

คำอธิษฐานของท่านเปาโล มาจากคำบัญชาของพระเยซูในยอห์น 13:35 ว่าให้เรารักซึ่งกันและกัน สังเกตไหมว่า ทุกวันนี้ความรักเยือกเย็นลงมากจนกลายเป็นน้ำแข็ง จะเปลี่ยนให้เป็นรักที่ร้อนแรงได้ก็ด้วยพระเจ้าเท่านั้น ด้วยอย่างอื่น ไม่มีทาง

ขอพระองค์ทรงทำให้ใจของท่านไร้ตำหนิ อยู่ในความบริสุทธิ์ ต่อพระพักตร์พระเจ้าและพระบิดาของเรา เมื่อองค์พระเยซูคริสต์เจ้าของเรา
จะเสด็จมาพร้อมกับผู้บริสุทธิ์ของพระองค์
1 เธสะโลนิกา 3:13

โคโลสี 1:22, 1 เธสะโลนิกา 5:23, เอเฟซัส 5:27

ความปรารถนาของท่านเปาโลคือ
ชีวิตที่ไร้ตำหนิ ชีวิตที่บริสุทธิ์
เป็นชีวิตที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยพระเจ้าในขณะที่ดำเนินชีวิตตามปกติในแต่ละวัน เช้า สาย บ่าย ค่ำ ไม่ได้ลืมว่า พระเยซูจะเสด็จ กลับมา จึงรอคอยพระองค์ด้วยหัวใจที่โหยหาและระมัดระวัง