ฮีบรู 7 ครั้งเดียวเป็นพอ

ฮีบรู 7:1 เมลคีเซเดคท่านนี้ ทรงเป็นกษัตริย์แห่งเมืองซาเล็ม และเป็นปุโรหิตของพระเจ้าองค์สูงสุด ท่านพบอับราฮัมตอนที่กลับมาจากการต่อสู้กับกษัตริย์ทั้งหลายและได้อวยพรท่าน (ปฐมกาล 14:8-16)
ฮีบรู 7:2 และอับราฮัมได้มอบหนึ่งในสิบจาก ของที่ริบมาทั้งหมด ประการแรกนามของท่านหมายถึง “กษัตริย์แห่งความเที่ยงธรรม” ท่านยังเป็น “กษัตริย์แห่งเมืองซาเล็ม” ซึ่งหมายถึง “กษัตริย์แห่งสันติสุข”
ฮีบรู 7:3 ไม่มีบันทึกลำดับวงศ์วานของท่าน ไม่มีบิดามารดา ไม่มีบันทึกวันเริ่มต้นชีวิตหรือวันสิ้นสุดชีวิต แต่เป็นเหมือนกับพระบุตรของพระเจ้า ท่านดำรงตำแหน่ง ปุโรหิตเป็นนิตย์


ฮีบรู 7:4-5 ให้พิจารณาให้ดีว่า ท่านเมลคีเซเดคยิ่งใหญ่เพียงใด แม้แต่อับราฮัมต้นวงศ์วานของเรา ยังได้ถวายหนึ่งในสิบจากสิ่งที่ริบมาจากการสู้รบ บทบัญญัตินั้นสั่งให้วงศ์วานเลวีที่มีตำแหน่งปุโรหิตรับหนึ่งในสิบจากประชาชน นั่นคือ จากพี่น้องของพวกเขา แม้ว่า พี่น้องของเขาเองก็เป็นเชื้อสายของอับราฮัมเช่นกัน

ฮีบรู 7:6-7 แต่ท่านเมลคีเซเดค ท่านไม่ได้สืบเชื้อสายจากเลวี ก็ได้เก็บหนึ่งในสิบจากอับราฮัม และอวยพรให้เขาผู้ได้รับพระสัญญาการที่ผู้น้อยได้รับพรจากผู้ใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้
ฮีบรู 7:8 ในกรณีของเลวี คนที่รับหนึ่งในสิบเป็นมนุษย์ที่ตาย แต่กรณีของท่านเมลคีเซเดคท่านเป็นผู้ที่ได้รับการประกาศว่า ดำรงชีวิตอยู่ตลอดไป

ฮีบรู 7:9-10 กล่าวได้อีกอย่างคือเลวีที่รับหนึ่งในสิบ ได้ถวายหนึ่งในสิบผ่านอับราฮัมแล้วเพราะเมื่อท่านเมลคีเซเดคพบอับราฮัม เลวียังอยู่ในกายของอับราฮัมซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเขาฮีบรู 7:11 หากว่าระบบปุโรหิตเลวีซึ่งเป็นฐานของบทบัญญัติ สามารถทำให้ผู้คนมีความสมบูรณ์แบบอย่างที่พระเจ้าทรงประสงค์ เหตุใดพระองค์จึงทรงตั้งระบบปุโรหิตที่แตกต่างไป โดยมีปุโรหิตตามแบบอย่างท่านเมลคีเซเดค ไม่ใช่ตามแบบอย่างของอาโรน?

ฮีบรู 7:12-13 เพราะเมื่อระบบของปุโรหิตเปลี่ยนแปลงกฎบัญญัติก็ต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกันปุโรหิตผู้ที่เรากล่าวถึงเป็นผู้ที่มาจากเผ่าอื่น ซึ่งไม่เคยมีใครในเผ่านั้นรับใช้ต่อหน้าแท่นบูชาในฐานะปุโรหิตมาก่อน
ฮีบรู 7:14-15 เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรามาจากเชื้อสายเผ่ายูดาห์ โมเสสเองไม่เคยกล่าวว่ามีปุโรหิตมาจากเผ่านั้น และสิ่งที่เรากล่าวถึงจะชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีปุโรหิตอีกท่านที่เหมือนท่านเมลคีเซเดคปรากฏขึ้น 

ฮีบรู 7:16-17 พระองค์เป็นปุโรหิตโดยไม่ได้ใช้กฎระเบียบการสืบทอดตามบรรพบุรษแต่เป็นโดยฤทธิ์เดชแห่งชีวิตซึ่งไม่อาจทำลายได้ ตามที่ได้มีคำยืนยันว่า
“ท่านเป็นปุโรหิตตลอดไปเป็นนิตย์ตามแบบอย่างของท่านเมลคีเซเดค”

ฮีบรู 7:18-19 กฎเกณฑ์ดั้งเดิม (ในระบบปุโรหิต)จึงถูกยกเลิกไป เพราะไม่ได้คุณภาพและไร้ประโยชน์ (เพราะบทบัญญัติไม่อาจทำให้สิ่งใดดีพร้อมได้เลย) มีการให้ความหวังที่ดีกว่า ความหวังนี้ทำให้เราเข้าใกล้พระเจ้าได้

ฮีบรู 7:20-21 และทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ก็ด้วยคำปฏิญาณจากพระเจ้า เพราะผู้อื่นที่มาเป็นปุโรหิตต่างมาโดยไม่ได้มีคำปฏิญาณใด ๆ แต่พระเยซูทรงมาเป็นปุโรหิตด้วยคำปฏิญาณ เมื่อพระเจ้าตรัสกับพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงปฏิญาณแล้วและจะไม่เปลี่ยนพระทัย คือว่า ท่านเป็นปุโรหิตตลอดไปเป็นนิตย์”

ฮีบรู 7:22-23เป็นเพราะคำปฏิญาณนี้เอง พระเยซูจึงทรงมาเป็นผู้ประกันของพันธสัญญาที่ดีกว่าเดิม มีปุโรหิตมากมายที่รับตำแหน่งสืบทอดต่อ ๆ กัน เพราะความตายนั้นกั้นไม่ให้พวกเขาทำงานในตำแหน่งนั้นตลอดไป

ฮีบรู 7:24-25 แต่เป็นเพราะพระเยซูทรงพระชนม์เป็นนิตย์ พระองค์จึงทรงเป็นปุโรหิตที่ดำรงตำแหน่งอย่างยั่งยืน
ดังนั้น พระองค์จึงทรงช่วยคนที่เข้ามาใกล้พระเจ้าโดยทางพระองค์ถึงที่สุดเพราะพระองค์ทรงพระชนม์อยู่เสมอ
เพื่อทูลวิงวอนเพื่อพวกเขา

ฮีบรู 7:26 มหาปุโรหิตเช่นนี้ สามารถช่วยเราจริง ๆ นั่นคือ
ท่านที่บริสุทธิ์ ปราศจากความผิดไร้ตำหนิ ถูกแยกออกจากคนบาปและเป็นที่ยกย่องเหนือฟ้าสวรรค์

ฮีบรู 7:27 พระเยซูไม่เหมือนมหาปุโรหิตอื่น เพราะพระองค์ไม่จำเป็นต้องถวายเครื่องบูชาประจำวันเพื่อบาปของพระองค์ก่อนและต่อมาเพื่อบาปของประชาชน ที่พระองค์ทรงสละชีวิตของพระองค์เอง เท่ากับเป็นเครื่องบูชาเพื่อบาปครั้งเดียวเป็นพอ
ฮีบรู 7:28 เพราะกฎบัญญัติแต่งตั้งคนที่มีข้อจำกัดเพราะเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอมาเป็นมหาปุโรหิต แต่คำปฏิญาณที่มาหลังกฎบัญญัตินั้นได้แต่งตั้งพระบุตรผู้ทรงถูกทำให้สมบูรณ์เพียบพร้อมตลอดไปเป็นนิตย์

อธิบายเพิ่มเติม

ฮีบรู 7:1
ครั้งแรกที่เราพบท่านเมลคีเซเดคนั้น คือครั้งที่อับราฮัมไปช่วยชีวิตโลทหลานชาย โดยการสู้รบกับกษัตริย์จากตะวันออกที่กวาดต้อนชาวโสโดม
ไป ชนะพวกเขาได้ราบคาบ และริบข้าวของมาอีกมากมาย เมื่อกลับมา ก็มาพบกับท่านเมลคีเซเดคโดยอับราฮัมได้มอบทรัพย์สินที่ได้มาหนึ่งในสิบให้กับท่านซึ่งเป็นทั้งกษัตริย์เมืองเยรูซาเล็ม และเป็นปุโรหิตคือคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ด้วย

ฮีบรู 7:2
ชื่อของท่านเมลคีเซเดกนั้น มีความหมายตรงไปยังองค์พระเยซูคริสต์ นั่นคือ คำว่า เมลคี หมายถึงกษัตริย์​และ เซเดค คือ ความเที่ยงธรรม
แปลชื่อท่านตรง ๆ คือ “กษัตริย์แห่งความเที่ยงธรรม” และยังทรงเป็นกษัตริย์แห่งสันติสุขซึ่งก็มีความหมายถึง องค์พระเยซูผู้ประทานสันติสุขให้ไม่เหมือนสันติสุขแบบของโลก อิสยาห์ 9:6 และ 11:14 ได้บอกล่วงหน้าว่าพระเยซูคือราชาแห่งสันติ

 ฮีบรู 7:3
อย่าเพิ่งถอดใจเรื่องของท่านเมลคีเซเดคผู้นี้ เราอาจคิดว่า ท่านเป็นใคร เกี่ยวข้องอะไรกับฉันคนนี้ ถ้าเรารู้จักท่าน เราจะเข้าใจอะไร ๆ ที่เกี่ยวกับพระเยซูในฐานะคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ มากขึ้น มีบันทึกเกี่ยวกับท่านในหนังสือโบราณอื่น ๆ แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้จากฮีบรูคือ ท่านเหมือนพระบุตรพระเจ้า และดำรงตำแหน่งนี้ตลอดไป

ฮีบรู 7:4-5
การที่อับราฮัมมอบสิบลดให้กับเมลคีเซเดค เท่ากับว่า เมลคีเซเดคเป็นผู้ที่ใหญ่กว่า อับราฮัมยอมรับว่า กษัตริย์-ปุโรหิตองค์นี้ ต้องได้รับการนับถือต้องได้รับของถวาย เมลคีเซเดคมาก่อนระบบปุโรหิต-เลวีในสมัยของโมเสส การมอบของถวายหนึ่งในสิบของอับราฮัมนี้ เป็นต้นแบบสำคัญที่อีกสี่ร้อยปีต่อมาที่พระเจ้าได้ทรงให้โมเสสตั้งระบบคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ด้วยเผ่าเลวี ซึ่งเป็นระบบที่จะหมดสิ้นในวันหนึ่ง

ฮีบรู 7:6-7
แม้ว่าอับราฮัมเป็นที่นับถือของผู้คนมากมาย ในฐานะที่เป็นบิดาของประชาชาติ แต่แล้วกลับมาพบว่า มีผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าเขา และยังอวยพรเขาด้วย ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะท่านเมลคีเซเดค รับของถวาย และให้พรแก่อับราฮัม เท่ากับอับราฮัม บิดาแห่งประชาชาติยังมีฐานะที่ต่ำกว่าท่านเมลคีเซเดค จากเหตุการณ์ตอนนี้เราพบว่า ระบบคนกลางระหว่างพระเจ้ามนุษย์มีมานานแล้ว ก่อนระบบปุโรหิตสมัยโมเสส

ฮีบรู 7:8
จากข้อสามกล่าวว่าลักษณะของท่านเมลคีเซเดคก็คือ ไม่มีบิดามารดา ไม่มีลำดับวงศ์ ไม่มีวันเกิดหรือวันสิ้นชีวิต เป็นเหมือนพระบุตรพระเจ้า และ
เป็นปุโรหิตตลอดไป สิ่งที่กำลังหมายถึงก็คือการที่เมลคีเซเดคมาปรากฏตัว มีความสำคัญมากกว่าระบบปุโรหิตของเผ่าเลวีที่โมเสสตั้งขึ้น 
มีความเหมือนกับหน้าที่ตำแหน่งของพระเยซูแบบเหมือนเป๊ะ ทุก ๆ อย่างตามที่บรรยายไว้

ฮีบรู 7:9-10
สิบลดที่อับราฮัมมอบให้กับเมลคีเซเดค มีความสำคัญมากเพราะเท่ากับว่า เลวีในสมัยสี่ร้อยปีต่อมา ก็ได้ให้สิบลดแก่เมลคีเซเดคล่วงหน้าแล้ว
ผ่านอับราฮัมซึ่งเป็นต้นตระกูลของพวกเขาที่ผู้เขียนได้พยายามอธิบายมาถึงตอนนี้ ก็เพื่อผู้อ่านซึ่งเป็นคนยิว ที่ยังยึดติดกับระบบปุโรหิต
จะได้เข้าใจว่า การที่พระเยซูทรงเป็นปุโรหิตหรือคนกลางของเรานั้นสำคัญอย่างยิ่ง

ฮีบรู 7:11
เราจะเห็นว่า พระเจ้าทรงต้องการระบบคนกลาง (ปุโรหิต) แบบอย่างของท่านเมลคีเซเดค ไม่ใช่แบบอาโรน ตรัสกับพระเยซูในในฮีบรู 5:5-6 ว่า “เจ้าเป็นบุตรชายของเรา.. เจ้าเป็นปุโรหิตนิรันดร์ตามแบบอย่างของท่านเมลคีเซเดค” ระบบของอาโรนทำให้เรารู้ว่าเราบาปอย่างไร และมีมนุษย์เป็นคนกลาง แต่ระบบของเมลคีเซเดค มีพระเยซูผู้เดียวเป็นคนกลางระหว่างเรากับพระเจ้า

ฮีบรู 7:12-13
ระบบปุโรหิตเปลี่ยน แทนที่ปุโรหิตจะเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอ และทำผิดบาป กลับกลายเป็นพระเยซูทรงมาเป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์แทน
ดังนั้น กฎบัญญัติจึงไม่เหมือนเดิมในหลาย ๆ กรณี อย่างเช่นสมัยก่อนเรายึดกฎบัญญัติเป็นหลักในการที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย แต่มาบัดนี้
การเชื่อวางใจ และติดตามพระเยซูต่างหากที่ทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัย

ฮีบรู 7:14-15
ย้อนกลับไปที่เรื่องของปุโรหิตหรือคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ สมัยโมเสสผู้ที่จะเป็นปุโรหิตได้ก็ต้องมาจากเผ่าเลวีเท่านั้น ทั้งหมดที่ผ่านมา
ระบบต่าง ๆ ที่เราเห็น เป็นเพียงการบอกเราว่าเราซึ่งเป็นมนุษย์ต้องได้รับการช่วยเหลือจากพระเจ้าด้วยวิธีของพระองค์ และสิ่งที่ดีกว่าระบบ
ปุโรหิตของโมเสสก็คือ ความบริสุทธิ์ขององค์ผู้เป็นปุโรหิต และศักดิ์ศรีความเป็นกษัตริย์

 ฮีบรู 7:16-17
พระเยซูทรงเป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์โดยที่พระองค์ไม่ได้รับตำแหน่งนี้มาด้วยการสืบทอดทางสายเลือดเหมือนอย่างเลวี แต่พระองค์
ทรงเป็นคนกลางหรือปุโรหิตแบบเดียวกับท่านเมลคีเซเดคซึ่งท่านมีตำแหน่งปุโรหิตนี้ก่อนที่จะมีระบบปุโรหิตในสมัยโมเสส และตำแหน่งหน้าที่ของพระองค์ก็ไม่ได้อยู่ชั่วคราว แต่ยั่งยืนเป็นนิตย์ไม่มีใครทำลายได้ ไม่หายไป ไม่มีวันสูญสิ้น

ฮีบรู 7:18-19
เราเป็นคนต่างชาติ ระบบปุโรหิตเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ ผู้เขียนกำลังบอกเราว่า กฎในระบบคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ซึ่งเป็นของเดิมที่พระเจ้าทรงตั้งในสมัยโมเสสนั้น ได้บอกชัดว่า ไม่สมบูรณ์แบบ ช่วยให้คนรอดไม่ได้จริง ๆ พระเจ้าไม่ทรงต้องการให้มนุษย์ติดกับดักของบัญญัติที่เพียงชี้ให้เห็นเราว่า เราเป็นคนแบบใด เราทำผิดอย่างไรไปบ้าง แต่เราต้องมาหาพระผู้ช่วยแท้

ฮีบรู 7:20-21
คำว่า คำปฏิญาณนั้น คือคำสัญญาอันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ อิสราเอลสมัยก่อนจะขอให้พระเจ้าทรงเป็นพยานคำปฏิญาณคำปฏิญาณบ่งบอกความตั้งใจที่จะทำให้สิ่งที่กล่าวไว้สำเร็จตามที่พูดอย่างแน่นอน ปุโรหิตหรือคนกลางทั้งหลายสมัยโมเสสเป็นต้นมาถูกตั้งโดยระบบต่อเนื่อง แต่พระเยซูทรงถูกตั้งโดยคำปฏิญาณของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์

ฮีบรู 7:22-23
ที่ทรงเป็นปุโรหิตที่ดีกว่าด้วยเหตุผลหลายประการเป็นเพราะพระเจ้าปฏิญาณจะประทานปุโรหิตนิรันดร์ ไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุไหน ปีไหนในประวัติ-
ศาสตร์ เราก็มีพระเยซูเป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับเรา -พระเยซูทรงพระชนม์อยู่เป็นนิตย์ -การเป็นคนกลางของพระองค์ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ต้องเปลี่ยนตัว มีการนับว่าจากสมัยโมเสสถึงค.ศ. 70 มีการเปลี่ยนตัวปุโรหิตถึง 83 คน !

ฮีบรู 7:24-25
ที่พระเยซูทรงช่วยได้เพราะทรงเป็นพระเจ้าเป็นมนุษย์ในพระองค์เดียวกัน พระเยซูทรงพระชนม์อยู่เพื่อวิงวอนเพื่อคนที่มาใกล้พระองค์ ทรงชำระให้บริสุทธิ์ ทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาการที่ทรงช่วยจนถึงที่สุดหมายถึงได้ทั้งการช่วยอย่างสมบูรณ์แบบ และ เสมอไป การช่วยให้รอดของพระองค์เพื่อเราจึงสมบูรณ์แบบรอบด้านและเป็นการช่วยเสมอ ตลอดไป 

ฮีบรู 7:26
ความเหมาะสมเช่นนี้ ไม่มีใครทำให้ได้นอกจากพระเจ้าจะทรงกำหนดให้ เวลาเรามีอาจารย์หรือครูสอนที่เราชอบ วันหนึ่งเราอาจผิดหวังเพราะเขาเป็นแค่มนุษย์มีโอกาสทำพลาดได้ แต่พระเยซูทรงอยู่เหนือมนุษย์คนใด เหนือฟ้าสวรรค์ ทรงไร้ที่ติหน้าที่คนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์จึงเหมาะสมที่จะเป็นของพระองค์ผู้เดียว

ฮีบรู 7:27
พระองค์ทรงแตกต่างจากปุโรหิตที่เป็นมนุษย์ที่อ่อนแอ เดี๋ยวพลาด เดี๋ยวกลับใจ เดี๋ยวดี พระองค์ได้ทรงสละชีวิตของพระองค์บนไม้กางเขน
เพียงครั้งเดียว และการสละครั้งนั้น เพียงพอแล้วและบัดนี้ทรงนั่งข้างขวาพระบิดาในสวรรค์ทรงรับการยกย่องเหนือผู้ใดในเอกภพ (ปุโรหิต
ทั่วไปต้องถวายเครื่องบูชาในวันลบบาปปีละครั้งแถมยังต้องถวายเครื่องบูชาทุกวันด้วย)

ฮีบรู 7:28 เราต้องแยกระหว่างกฎบัญญัติ กับคำปฏิญาณของพระเจ้า กฎ ทำไว้เพื่อให้ทำตามกฎกันต่อไปเรื่อย ๆ และมนุษย์ก็มีความจำกัด เพราะแพ้บาปได้เสมอ เราเองเป็นคนบาปที่ถูกแยกออกจากพระเจ้า ไม่มีระบบใดในโลก วิธีการใดที่จะเป็นสะพานระหว่างพระเจ้ากับเรา ดังนั้นเราจึงต้องการพระบุตรของพระเจ้าองค์นี้ มาเป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ ให้เราคืนดีกับพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง

พระคำเชื่อมโยง

1* ปฐมกาล 14:18-20
5* กันดารวิถี 18:21-26
6* ปฐมกาล 14:19-20; โรม 4:13
8* ฮีบรู 5:6; 6:20
11* ฮีบรู 7:18; 8:7

14* อิสยาห์ 1:1; มัทธิว 1:217* สดุดี 110:4
18* โรม 8:3
19* กิจการ 13:39; ฮีบรู 6
:18-19; โรม 5:2
21* สดุดี 110:4

22* ฮีบรู 8:6
25* ยูดา 24; โรม 8:34
26* ฮีบรู 4:15; เอเฟซัส 1:20
27* เลวีนิติ 9:7; 16:6

ฮีบรู 6 คำปฏิญาณจากองค์ผู้สูงสุด

หลักคำสอนพื้นฐาน

6:1 ดังนั้น ให้เราพากันผ่านหลักคำสอนพื้นฐานเกี่ยวกับพระคริสต์ และก้าว
ต่อไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ อย่าให้เราต้องวางพื้นฐานซ้ำอีกในเรื่อง
1 การกลับใจจากการกระทำที่นำสู่ความตาย 
2 และความเชื่อในพระเจ้า

6:2-3 3 คำสอนเรื่องการชำระให้สะอาด
4 การวางมือ 
5 เรื่องการคืนชีพจากความตาย
6 และการพิพากษาลงโทษนิรันดร์
หากพระเจ้าทรงอนุญาต เราจะมุ่งหน้าก้าวต่อไป

อย่าทิ้งทางนี้ไป..เพราะอันตราย

6:4-5 ส่วนบรรดาคนที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความเข้าใจ ได้ลิ้มรสของประทาน
จากสวรรค์ คนที่มีสัมพันธ์สนิทกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ คนที่เคยรับความดีแห่งพระวจนะของพระเจ้าได้สัมผัสฤทธิ์เดชของยุคที่กำลังเคลื่อนเข้ามา

6:6แล้วกลับละทิ้งทางนี้ไป … กรณีนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะนำพวกเขากลับมา สู่การกลับใจอีกครั้ง เพราะพวกเขาได้ตรึงพระบุตรของพระเจ้าอีกครั้ง
และทำให้พระองค์ทรงอับอายต่อหน้าสาธาณชน

6:7-8 ผืนดินที่ได้รับน้ำฝนซึ่งตกลงมา และเกิดพืชผลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์
แก่คนที่เพาะปลูกดูแล ก็เท่ากับเป็นพระพรจากพระเจ้า แต่ผืนดินที่เกิด
ต้นหนามเล็กหนามใหญ่ก็ไร้ค่าใกล้ถูกสาป ในที่สุดก็จะถูกไฟเผา

6:9 เพื่อนรัก แม้ว่าเราจะพูดเช่นนี้ เราก็ตระหนักว่า ในกรณีของท่าน
นั้นยังมีสิ่งที่ดีกว่า คือสารพัดสิ่งที่จะมาพร้อมกับความรอด

พากเพียรบากบั่น จนถึงที่สุด

6:10 เพราะพระเจ้าทรงยุติธรรม พระองค์จะไม่ทรงลืมงานที่ทำ และความรัก
ที่ท่านมีต่อพระนามของพระองค์
ในขณะที่ท่านได้รับใช้วิสุทธิชนของพระเจ้า และยังจะรับใช้พวกเขาต่อไป

6:11-12 เราปรารถนาให้ท่านแสดงว่าได้พากเพียรบากบั่นจนถึงที่สุด เพื่อว่าจะทำให้สิ่งที่ท่านหวังนั้นเกิดขึ้นจริง เพื่อท่านจะไม่เป็นคนเฉื่อยช้า แต่จะเลียนแบบคนที่ได้รับมรดกตามพระสัญญาโดยอาศัยทั้งความเชื่อและความทรหดอดทน

คำปฏิญาณจากองค์ผู้สูงสุด

6:13-14 เมื่อพระเจ้าทรงทำสัญญาต่ออับราฮัมนั้น พระองค์ทรงกล่าวคำปฏิญาณโดยอ้างพระนามของพระองค์เอง เพราะไม่มีใครใหญ่กว่าพระองค์ที่จะทรงอ้างในคำปฏิญาณได้ ตรัสว่า“เราจะอวยพรเจ้าแน่นอนและทวีจำนวนลูกหลานที่สืบเชื้อสายจากเจ้า”

6:15-16 ดังนั้น อับราฮัมจึงได้รับตามพระสัญญาหลังจากที่ได้รอคอยอย่างอดทน  มนุษย์นั้นจะสาบานโดยอ้างบุคคลที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง และคำปฏิญาณของพวกเขาก็เป็นสิ่งยืนยันเพื่อจบการโต้แย้งใด ๆ

6:17 ดังนั้น เมื่อพระเจ้าทรงเต็มพระทัยที่จะแสดงให้ทายาทที่จะรับตามพระสัญญารู้ชัดว่า ไม่มีการเปลี่ยนสิ่งที่ทรงตั้งพระทัยไว้ พระองค์ทรงยืนยันพระสัญญานั้นด้วยคำปฏิญาณ (ภาษาเดิมว่าคำสาบาน)

ความหวังที่อยู่ข้างหน้า

6:18 ดังนั้น โดยสองสิ่งนี้ที่ไม่มีวันเปลี่ยนและเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจะตรัสมุสา พวกเราที่ได้หนีไปยึดความหวังซึ่งเตรียมไว้ต่อหน้าพวกเราจึงต่างได้รับกำลังใจ

6:19-20 เรามีความหวังนี้ เป็นสมอสำหรับจิตวิญญาณทั้งมั่นคง ปลอดภัย เป็นหวังที่ได้เข้าไปยังสถานที่บริสุทธิ์เบื้องหลังม่าน เป็นที่ซึ่งพระเยซูผู้ทรงเข้าไปก่อนเพื่อเรา พระองค์จึงทรงเป็นมหาปุโรหิตเป็นนิตย์ตามแบบอย่างท่านเมลคีเซเดค

อธิบายเพิ่มเติม

ฮีบรู 6:1
ประเด็นสำคัญตอนนี้ คือ การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในความเชื่อ พี่น้องที่เข้ามาเชื่อนั้น ส่วนใหญ่เปลี่ยนจากศาสนายิว มาสู่ความเชื่อในพระเยซูคริสต์ ผู้เขียนได้กล่าวถึงพื้นฐานที่สำคัญหกหัวข้อ หลักคำสอนพื้นฐานดังกล่าวจะเป็นรากฐานที่สำคัญให้กับผู้เชื่อ สอง อย่างแรกคือ การกลับใจและความเชื่อ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราเช่นกัน

ฮีบรู 6:2-3
การชำระให้สะอาดและการวางมือนั้น คู่กัน มีความหมายถึงการรับบัพติศมา และเมื่อ มีการวางมืออธิษฐานให้ เป็นภาษาท่าทางที่สื่อว่า คน ๆ นั้น ได้รับพระวิญญาณของพระเจ้าเข้ามาในชีวิต และก้าวเข้าสู่ชุมชนพระกายของพระคริสต์ ส่วนสองข้อสุดท้ายคริสเตียนจะต้องเข้าใจว่า พระเยซูผู้ทรงคืนชีพจากตายจะเสด็จกลับมาและพิพากษาโลก

ฮีบรู 6:4-5
พระคำตอนนี้ต้องอ่านคู่ไปกับข้อที่หก ในสองข้อนี้กำลังอธิบายถึงคนที่เคยรู้จักพระเจ้ามาอย่างดี ทั้งเข้าใจ ทั้งได้ของประทานที่ล้ำเลิศ ทั้งได้เคยสนิทกับองค์พระวิญญาณรู้จักพระวจนะของพระเจ้าอย่างทะลุปรุโปร่ง เป็นคนที่ได้รับสิ่งดี ๆ จากพระเจ้าอย่างเหลือล้น แต่แล้ว เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันคือ …..

ฮีบรู 6:6
เขาละทิ้งทางของพระเจ้าทั้งที่รู้ดีกว่าใครเหมือนกับคนที่พระธรรมโรม 1:28 กล่าวว่า “เขาไม่เห็นคุณค่าของการที่รู้จักพระเจ้า” ข้อความตอนนี้ยากที่จะเข้าใจ และยังน่ากลัวสำหรับชีวิตของคน ๆ นี้ด้วย การที่บอกว่าเขาตรึงพระเยซูอีกครั้งก็คือ เขากำลังทำอย่างเดียวกับคนที่ตรึงพระเยซูในอดีต… คือปฏิเสธเยาะเย้ย และดูหมิ่นพระองค์

ฮีบรู 6:7-8
นี่เป็นภาพเดียวกับที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น คนหนึ่งได้รับของดีจากพระเจ้ามาทั้งชีวิตแต่แล้วปฏิเสธพระองค์ ก็เหมือนกับแผ่นดินที่ได้รับน้ำฝนอย่างเพียงพอ แต่กลับเกิดต้นหนามทั้งเล็กใหญ่ ผืนดินนั้นก็เท่ากับไร้คุณค่า บางครั้งเราคิดว่า เราโอเคแล้ว เป็นลูกคริสเตียน หรือเป็นสมาชิกในโบสถ์ แต่หารู้ตัวไม่ว่าจริง ๆ เป็นคนที่ยังไม่ได้รู้จักพระเจ้า

ฮีบรู 6:9
หลังจากที่ผู้เขียนได้บอกเล่าถึงสิ่งน่ากลัวที่จะเกิดกับคนที่ปฏิเสธพระเจ้าไป ท่านก็พูดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความหวังใจในสิ่งดี ๆ ท่านเชื่อว่าพี่น้องที่อ่านจดหมายฉบับนี้ จะไม่อยู่ในกรณีนั้น ท่านกำลังบอกว่า “ข้าเชื่อว่าเจ้าทั้งหลายจะได้รับความรอด” นั่นเอง เราต้องดูต่อไปว่าทำไมท่านมีความหวังใจเช่นนี้

ฮีบรู 6:10
ที่ผู้เขียนฮีบรูมีความหวังใจกับพี่น้องเป็นเพราะพวกเขาได้ออกแรงทำงานรับใช้พี่น้องรับใช้พระเจ้าด้วยความรักที่มีต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าเอง ท่านให้กำลังใจว่า ทุกสิ่งที่ได้ทำนั้น พระเจ้าไม่ทรงลืม พระองค์ทรงยุติธรรมที่จะประทานพร รางวัลให้แก่พวกเขา สิ่งที่ทำให้ท่านรู้ว่า พวกเขาเป็นผู้เชื่อแท้ก็เพราะพวกเขารักพระเจ้า รับใช้อย่างไม่หยุดยั้ง

ฮีบรู 6:11-12
จากข้อความนี้ เราเห็นชัดว่า ผู้เขียนขอร้องให้พี่น้องเอาจริงเอาจังกับความเชื่อในพระเจ้า ไม่ใช่ทำตัวสบาย ๆ ใช้ชีวิตตามใจตัวเอง เรามีตัวอย่างของคนที่มีความเชื่อและความอดทนในพระคัมภีร์หลายคน และแน่นอน รอบตัวเรา ก็น่าจะมีคนที่เป็นแบบอย่างให้กับเราด้วย

ฮีบรู 6:13-14
น่าแปลกที่พระเจ้าทรงสัญญาต่ออับราฮัมว่าท่านจะได้มีลูกหลานจำนวนมากมายราวกับดวงดาวบนท้องฟ้า แต่แล้ววันหนึ่งพระองค์ก็ทรงสั่งให้เอาอิสอัคไปถวายเป็นเครื่องบูชา ซึ่งตัวอับราฮัมผู้ที่ได้คุ้นเคยกับพระเจ้า และมีความมั่นใจในพระองค์เต็มร้อย ก็ลงมือทำตามอย่างที่พระเจ้าทรงขอให้ทำ แต่ท่านยังเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงหาทางให้อิสอัคมีชีวิตอยู่ ถึงแม้ต้องตายไปก่อน

ฮีบรู 6:15-16
อับราฮัมได้อย่างที่พระเจ้าทรงสัญญา ที่จริงคำมั่นสัญญาของพระเจ้านั้น ไม่จำเป็นต้องอ้างใครเพื่อให้เกิดการเชื่อถือ เราเชื่อพระสัญญาได้เพราะพระเจ้าทรงซื่อตรงต่อพระดำรัา ไม่เคยมีครั้งใดที่พระองค์ทรงเปลี่ยนคำของพระองค์ตามพระทัยตามอารมณ์หรือตามสถานการณ์ มนุษย์เราเวลาให้สัญญาก็มักจะต้องอ้างถึงผู้ที่ใหญ่กว่าตนเสมอ แต่พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าแห่งพันธสัญญาทรงใหญ่ที่สุดในเรื่องนี้

ฮีบรู 6:17
ที่พระเจ้าทรงยืนยันพระสัญญาด้วยคำปฏิญาณของพระองค์ ก็เพื่อเห็นแก่อับราฮัม เพื่อเขาจะเชื่ออย่างเต็มร้อย เพื่อเขาจะไม่ต้องสงสัยในพระสัญญา (อย่างที่พวกเรามักจะสงสัย ไม่เชื่อคิดว่าพระเจ้าทรงทำไม่ได้ คิดว่าพระเจ้าทรงลืมไปแล้ว) เราจะเห็นคำว่า ทายาทที่จะรับตามพระสัญญา นั่นก็คือ พวกเราที่เชื่อพระเยซูนั่นเอง(กาลาเทีย 3:29) พระคำตอนนี้จึงพูดกับเราโดยตรง

ฮีบรู 6:18
เวลาพระเจ้าตรัสสิ่งใดกับมนุษย์ คำไหนเป็นคำนั้นไม่เปลี่ยนไปมาอยู่แล้ว พระองค์ทรงเป็นผู้เริ่มภาษาให้กับเรา พระเยซูตรัสว่า ทรงเป็นทางนั้นเป็นความจริง และเป็นชีวิต จะเห็นว่า ความจริงคือพระลักษณะของพระองค์เอง เราเองต้องทบทวนตัวเองว่า เรามั่นใจในพระลักษณะ พระดำรัส และคำสัญญาของพระองค์ขนาดไหนถ้ายังมีไม่พอ ต้องอ่าน ฟังพระคำเยอะหน่อย!

ฮีบรู 6:19-20
สถานที่บริสุทธิ์ที่สุดนั้น ห้ามคนเข้าไปเด็ดขาดเป็นที่ ๆ บอกว่า พระเจ้าผู้บริสุทธิ์กับมนุษย์ไม่อาจพบปะกันได้ แต่พระเยซูคริสต์ ทรงเข้าไปก่อนแล้ว ทรงเป็นผู้กลางระหว่างพระเจ้ากับเราที่บอกว่า เราหวังจะได้เข้าที่บริสุทธิ์หลังม่านก็คือที่จะได้พบกับพระเจ้าต่อพระพักตร์พระองค์เราในปัจจุบันไม่ทราบกันว่า ในสมัยโบราณนั้นการเข้าหาพระเจ้าไม่ง่ายเหมือนเวลานี้เลย

พระคำเชื่อมโยง

1* ฮีบรู 5:12; 9:14
2* กิจการ 19:3-5; 8:17; 17:31;24:25
4* ยอห์น 4:10; กาลาเทีย 3:2,5
6* ฮีบรู 10:29
7* สดุดี 65:10
8* อิสยาห์ 5:6

10* โรม 3:4; 1 เธสะโลนิกา 1:3; โรม 15:25
11* โคโลสี 2:2
12* ฮีบรู 10:36
13* ปฐมกาล 22:16-17
14* ปฐมกาล 22:16-17

15* ปฐมกาล 12:4; 21:5
16* อพยพ 22:11
17* ฮีบรู 11:9; โรม 11:29
18* กันดารวิถี 23:19; โคโลสี 1:5
19* เลวีนิติ 16:2,15
20* ฮีบรู 4:14; 3:1;5:10-11



ฮีบรู 5 องค์มหาปุโรหิต..

ปุโรหิตมนุษย์ที่พลาดได้

5:1  มหาปุโรหิตทุกคน ถูกเลือกมาจากหมู่มนุษย์เพื่อทำหน้าที่แทนพวกเขาในเรื่องความสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้า
พวกเขานำของถวายและเครื่องบูชามาถวายเพื่อรับการอภัยบาป

5:2-3 เขาสามารถทำหน้าที่ของเขาได้ด้วยความเข้าใจคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และคนที่ถูกชักนำไปในทางผิด เป็นเพราะเขาเองก็อ่อนแอเช่นกัน ดังนั้นเขาจึงต้องถวายเครื่องบูชาเพื่อบาปของตนเองเช่นเดียวกับบาปของประชาชนด้วย

5:4 ไม่มีใครอาจรับเกียรติทำหน้าที่นี้ด้วยตัวเอง เขาต้องได้รับการทรงเรียก
จากพระเจ้าเหมือนอย่างที่อาโรน ได้รับการทรงเรียกนั้น

องค์ปุโรหิตนิรันดร์

5:5 เช่นเดียวกัน พระคริสต์มิได้ทรงถือเอาเกียรติแห่งการเป็นมหาปุโรหิตด้วยพระองค์เอง….. แต่ทรงได้รับการทรงเรียกโดยพระองค์ผู้ตรัสกับพระองค์ว่า “เจ้าเป็นบุตรชายของเรา วันนี้เราประกาศว่า เราเป็นบิดาของเจ้า”

5:6 และในอีกตอนหนึ่ง พระองค์ตรัสว่า “เจ้าเป็นปุโรหิตองค์นิรันดร์ ตามแบบอย่างของท่านเมลคีเซเดค”

5:7 ระหว่างที่พระเยซูทรงดำเนินชีวิตในโลกพระองค์ทรงทูลอธิษฐานอ้อนวอนด้วยสุรเสียงดังพร้อมน้ำตาพรั่งพรู ต่อพระองค์ผู้ทรงสามารถช่วยพระองค์จากความตาย และพระเจ้าก็ทรงรับฟังเพราะพระเยซูทรงนบนอบเชื่อฟัง

5:8-10 แม้ว่าทรงเป็นพระบุตร พระองค์ทรงเรียนรู้การเชื่อฟังจากความทุกข์ทรมานที่ทรงเผชิญและเมื่อทรงรับความสมบูรณ์เพียบพร้อมทุกประการแล้ว พระองค์จึงทรงเป็นแหล่งความรอดนิรันดร์แก่ทุกคนที่เชื่อฟังพระองค์และพระเจ้าทรงแต่งตั้งให้พระองค์ทรงเป็นมหาปุโรหิตตามแบบอย่างของท่านเมลคีเซเดค

จิตวิญญาณที่ไม่โต

5:11-12 เรายังมีประเด็นที่จะกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เป็นการยากที่จะอธิบายเพราะพวกท่านเรียนรู้ช้า ถึงแม้ว่าขณะนี้ ท่านควรเป็นครูสอนคนอื่นได้แล้ว ท่านกลับต้องให้มีคนมาสอนหลักการพื้นฐานของพระดำรัสซ้ำอีก ท่านต้องการน้ำนม ไม่ใช่อาหารแข็ง

5:13-14 เพราะทุกคนที่ยังกินนมอยู่คือเด็กทารก ไม่เข้าใจคำสอนเรื่องความเที่ยงธรรม แต่อาหารแข็งนั้นเป็นของผู้ที่เติบโตแล้ว เป็นคนที่ฝึกประสาทสัมผัสของตนเองให้รู้จักแยกความดีออกจากความชั่วถอด

อธิบายเพิ่มเติม

ฮีบรู 5:1 
หันกลับไปอ่านอพยพ 28 เป็นต้นไปเราจะพบว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้จัดระบบการเลือกว่าใครเหมาะสมจะเป็นปุโรหิตได้ในสมัยของโมเสสพวกเขาทำหน้าที่เกี่ยวกับการถวายเครื่องบูชาประจำวัน อย่างเช่นถวายลูกแกะเช้าตัวหนึ่งเย็นตัวหนึ่ง และยังมีการถวายเครื่องบูชาแบบอื่น ๆ ด้วย เราจะเห็นว่า ไม่ใช่ว่าเครื่องบูชาทุกอย่างเป็นการเสียเลือด แต่ยังมีของถวายที่แสดงการขอบพระคุณ และอื่น ๆ อีก

ฮีบรู 5:2-3
ปุโรหิตที่รู้จักตัวเอง จะรู้ตัวดีว่า ตนเองก็เป็นมนุษย์และมีโอกาสทำความผิดเหมือนกับคนของพระเจ้าที่พวกเขากำลังปรนนิบัติรับใช้อยู่
แต่ก็มีปุโรหิตที่ทำไป ๆ ก็คิดว่าตนเองเป็นผู้ที่ดีเหนือผู้อื่น ตรงจุดนี้ สอนเราว่า เราเองต้องมองตนเองให้ถูก เรามีโอกาสพลาดเสมอ ที่เสื้อนอก
ปุโรหิตมีอัญมณี 12 ช่องเพื่อทำให้เขาระลึกถึงชนอิสราเอลทั้งหมดที่เขากำลังรับใช้อยู่ ปุโรหิตที่เข้าใจก็จะเห็นอกเห็นใจคนที่อ่อนแอ

ฮีบรู 5:4
งานอื่น ๆ ในโลก ล้วนเกิดจากความจำเป็น ความถนัด ความชอบ หรือโอกาสที่ได้รับของคนที่ทำงานนั้น แต่งานรับใช้ในพลับพลาหน้าที่ปุโรหิต
หรือเลวี ต้องได้รับการทรงเลือกจากพระเจ้าเพื่อประชากรของพระองค์ ไม่มีใครนึกอยากจะรับใช้ก็มาทำได้ สำหรับคนอิสราเอลแล้ว พวก
เขามาจากเผ่าเลวีซึ่งเป็นครอบครัวหนึ่งที่สืบเชื้อสายมาจากยาโคบ (ยาโคบมีลูกชาย 12 คนที่ออกลูกหลานกลายเป็น 12 ตระกูล)

ฮีบรู 5:5
สถานะการเป็นปุโรหิตของพระเยซูนั้น เหนือชั้นกว่าของปุโรหิตสมัยโมเสสมากนัก เพราะว่าพระองค์ทรงได้รับเลือกจากพระเจ้าโดยตรง และ
พระองค์ทรงทำหน้าที่มากกว่าเป็นผู้สื่อกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ พระองค์ทรงเป็นทั้งพระเจ้า และทรงเป็นมนุษย์ และทรงเป็นผู้มารับโทษบนไม้กางเขนแทนโทษที่มนุษย์สมควรจะรับเท่ากับทรงเป็นดั่งลูกแกะที่ถูกถวายเป็นเครื่องบูชาด้วย

ฮีบรู 5:6
ที่สำคัญ พระเยซูไม่ได้ทรงเป็นปุโรหิตตามแบบอย่างของปุโรหิตที่มาจากเผ่าเลวี แต่ทรงเป็นตามแบบของเมลคีเซเดคที่อยู่มาก่อนระบบปุโรหิต
ที่พระเจ้าทรงสถาปนาให้กับคนอิสราเอลในสมัยของโมเสส ชื่อของท่านเมลคีเซเดค ปรากฏเพียงสองครั้งในพระคัมภีร์เดิม แต่มาปรากฏอีกหลายครั้งในหนังสือฮีบรูนี้ ท่านเมลคีเซเดคนั้นเป็นมนุษย์จริง ๆ หรือไม่ หรือเป็นพระเยซูที่มาปรากฏในสมัยของอับราฮัมหรือเปล่านะ?

ฮีบรู 5:7
เรารู้ว่า ก่อนที่พระเยซูจะถูกตรึงนั้น ทรงเข้าไปในสวนเกทเสมนี ทรงเป็นทุกข์ยิ่งนักเพราะความตายที่รออยู่เบื้องหน้า ทั้งทารุณ ทั้งน่าอับอาย พระองค์จะถูกประหารเยี่ยงอาชญากรที่เลวร้ายที่สุด ทั้ง ๆ ที่พระองค์ไม่ได้ทำสิ่งใดผิดเลย แต่ที่ต้องเป็นเช่นนั้นเพื่อจะทรงรับโทษของคนทั้งโลก
ไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกของพระองค์ นอกจากองค์พระบิดาที่ทรงตอบคำอธิษฐานในคืนนั้น


ฮีบรู 5:8-10
สำหรับเราทั่วไปแล้ว การเชื่อฟังพระเจ้าไม่ใช่มาได้ง่าย ๆ แต่ต้องปฏิเสธตนเอง นิสัยเดิมของเราที่ไม่ตรงกับพระเจ้าต้องถูกกำจัดออกไป แต่พระเยซูคริสต์ไม่ได้มีปัญหาแบบเรา ทรงผ่านไม้กางเขน เป็นความทรมานที่ไม่สมควรจะได้รับ ทรงทนทุกข์พร้อมกับต้องเผชิญความอยุติธรรม แต่ก็ทรงผ่านเป็นที่มาของความรอดของเราทุกคน

ฮีบรู 5:11-12
ผู้เขียนกำลังเล่าเรื่องของพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นปุโรหิตตามอย่างมัลคีเซเดค แต่แล้วเขากลับบอกว่า ยากที่จะอธิบายเรื่องนี้ให้กับผู้อ่าน เป็นเพราะพวกเขาเรียนรู้ช้า ..พวกเขาควรสอนคนอื่นได้แล้ว เป็นคนที่อยู่ในทางของพระเจ้ามานานแล้ว แต่กลับไม่รู้อะไรเอาแต่เรียนเรื่องพื้นฐานซ้ำ กลายเป็นคนที่ไม่อาจเรียนสิ่งที่ลึกกว่านี้ได้

ความจาก ฮีบรู 5:13-14
ในภาษากรีก มีคำชัดเจนว่า เอสเธทิเรียหมายถึง senses ประสาทรับรู้ คำ ๆ นี้หมายความถึงความสามารถในการรับรู้ด้วยจากประสาทสัมผัส สติสัมปัญชัญญะหรือเชาวน์ปัญญา ว่าอะไรดีอะไรชั่วในสายพระเนตรพระเจ้า ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องฝึกตัดสินใจว่าอะไรดีชั่ว หนังสือสุภาษิตก็เป็นหนึ่งที่ช่วยสอนเราในเรื่องนี้ 


พระคำเชื่อมโยง

1* ฮีบรู 2:17; 8:3
2* ฮีบรู 7:283* เลวีนิติ 9:7; 16:6
4* อพยพ 28:1
5* ยอห์น 8:54; สดุดี 2:7
6* สดุดี 110:4

7* มัทธิว 26:39, 42, 44; สดุดี 22:1; มัทธิว 26:53, 39
8* ฟีลิปปี 2:8
9* ฮีบรู 2:10
10* สดุดี 110:4

11* ยอห์น 16:12; มัทธิว 13:15
12* 1โครินธ์ 3:1-3
13* เอเฟซัส 4:14
14* อิสยาห์ 7:15

ฮีบรู 4 พระสัญญาแห่งการพัก

4:1 ดังนั้น ในขณะที่พระสัญญาเรื่องการเข้าสู่ที่พักของพระเจ้ายังคงใช้ได้อยู่
เราก็จงระวัง (จงเกรงกลัว) ที่จะไม่ให้มีใครสักคนพลาดไปจากการพักนี้
4:2 เพราะเราเองก็ได้รับข่าวประเสริฐเหมือนอย่างพวกเขา แต่เนื้อหาที่เขา
ได้ยินกลับไม่มีคุณค่าสำคัญแก่พวกเขา เพราะเขาได้ยินแต่ไม่เชื่อสิ่งที่พระเจ้า
ตรัสกับเขา
4:3 บัดนี้ เราที่เชื่อได้เข้าไปสู่การพักนั้น แต่สำหรับผู้อื่น พระเจ้าตรัสว่า
“เราจึงปฏิญาณด้วยความโกรธของเราว่า พวกเขาจะไม่มีวันได้เข้าสู่การพักของเรา” แม้ว่าราชกิจของพระองค์สำเร็จเสร็จสิ้นตั้งแต่การสร้างโลก
4:4-5 มีตอนหนึ่งพระองค์ได้ทรงกล่าวถึงวันที่เจ็ดว่า “ในวันที่เจ็ด พระเจ้าทรงหยุดพักจากราชกิจทั้งสิ้นของพระองค์”และอีกครั้งหนึ่งในข้อความข้างต้น
พระองค์ตรัสว่า “พวกเขาจะไม่มีวันได้เข้าสู่การพักของเรา”

4:6 ที่ยังคงเป็นอย่างนี้คือ บางคนจะได้เข้าสู่การพักของพระองค์ และเหล่าคนที่ได้ยินข่าวประเสริฐในครั้งก่อน ไม่ได้เข้าไป เพราะพวกเขาไม่เชื่อฟัง
4:7 พระเจ้าจึงทรงกำหนดอีกวันขึ้นมาอีกครั้งโดยเรียกว่า “วันนี้”หลังจากเวลาผ่านไปนานแล้ว พระองค์ได้ตรัสเรื่องนี้ผ่านดาวิดเหมือนที่ได้ตรัสไว้ก่อนว่า “วันนี้ หากท่านได้ยินเสียงของพระองค์ ก็อย่าทำใจแข็ง”
4:8-10 เพราะหากโยชูวาได้ให้พวกเขาเข้าพัก พระเจ้าก็คงจะไม่ได้ตรัสถึงวันอื่นอีกในภายหลัง จึงมีวันสะบาโตให้คนของพระเจ้าได้พัก เพราะว่าคนใดที่ได้เข้าสู่การพักของพระเจ้า ก็ได้พักจากงานของเขาเหมือนกับที่พระเจ้าทรงหยุดพักจากราชกิจของพระองค์

เห็นตนเองจากพระคำของพระเจ้า

4:11 ดังนั้นให้เราพยายามทุกวิถีทางที่จะเข้าสู่การพักดังกล่าวเพื่อจะไม่มีใครพลาดไปเพราะทำตามอย่างการไม่เชื่อฟังของพวกเขา
4:12 เพราะพระคำของพระเจ้านั้นมีชีวิตและมีอานุภาพ คมยิ่งกว่าดาบสองคม สามารถแทงลึกลงไปในจิตและวิญญาณ ทั้งข้อต่อและไขกระดูก สามารถวินิจฉัยทั้งความคิดและความมุ่งหมายในใจ 
4:13 ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าทรงสร้างจะหลบซ่อนจากพระเนตรของพระเจ้าได้เลย ทุกอย่างถูกเปิดเผย ถูกตีแผ่ต่อพระเนตรของพระองค์ผู้ที่เราต้องถวาย
คำรายงาน

องค์มหาปุโรหิตผู้ทรงเมตตา

4:14 ดังนั้น ในเมื่อเรามีองค์มหาปุโรหิตผู้ทรงผ่านสวรรค์มาแล้ว คือพระเยซูพระบุตรของพระเจ้า ก็ให้เรายึดมั่นในคำที่เรายอมรับด้วยปาก
4:15 เพราะเรามิได้มีองค์มหาปุโรหิตที่ไม่อาจเห็นใจในความอ่อนแอของเรา แต่เรามีพระองค์ผู้ทรงถูกลองใจ เหมือนพวกเราทุกอย่าง ถึงอย่างนั้น
พระองค์ก็ทรงไร้บาป
4:16 ให้เราเข้ามาใกล้บัลลังก์แห่งพระคุณด้วยความมั่นใจ เพื่อว่าเราจะได้รับ
พระเมตตาและพบพระคุณที่จะช่วยเราในยามที่จำเป็น

อธิบายเพิ่มเติม

ฮีบรู 4:1
น่าแปลกที่เราได้ยินเรื่องของการที่คนอิสราเอลใจแข็ง และการที่พวกเขาไม่ได้เข้าไปยังดินแดนแห่งการพักของพระเจ้า แต่พระเจ้าไม่ได้ทรงล้มเลิกการพักดังกล่าว “ยังคงใช้ได้อยู่” เท่ากับว่าใช้ได้กับคริสเตียนยิวที่อ่านหนังสือฮีบรู และยังใช้ได้กับพวกเราที่เชื่อด้วย การพักดังกล่าวไม่ได้หมายถึงการพักผ่อนธรรมดาหรือแผ่นดินแต่หมายถึงการที่ผู้เชื่อจะได้มีส่วนในชีวิตนิรันดร์กับพระองค์เป็นการพักตลอดไป

ฮีบรู 4:2
การได้ยินข่าวประเสริฐส่งผลสองทาง คือทางหนึ่งไปอยู่กับพระเจ้าเป็นนิตย์ อีกทางคือการแยกออกจากพระองค์ตลอดไป ขึ้นอยู่กับคนที่ได้ยินนั้นเชื่อหรือไม่เหมือนกับที่ท่านเปาโลได้กล่าวว่าข่าวประเสริฐเป็นกลิ่นอันหอมหวานสำหรับคนที่เชื่อ แต่เป็นกลิ่นแห่งความตายสำหรับคนที่ไม่รับ2 โครินธ์ 2:15-17 เราจะเห็นว่ามนุษย์ทุกคนได้รับผลจากการตัดสินใจของตนว่า จะรับหนทางของพระเจ้าหรือไม่รับ

ฮีบรู 4:3 (สดุดี 95:11)
ชัดเจนว่า มีคนสองพวกที่ผู้เขียนจะพูดถึงบ่อย ๆคือคนที่พระเจ้าทรงให้เข้าสู่การพัก กับคนที่พระเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้เข้าสู่การพักนั้นทำไมพระเจ้าทรงโกรธ? มันก็น่าอยู่หรอก เพราะว่าพระองค์ทรงทำราชกิจของพระองค์เพื่อมนุษย์ให้พวกเขาทั้งมีความสุขและได้ประโยชน์กับสรรพสิ่งที่ทรงสร้าง และยังทรงยื่นความสัมพันธ์สนิทให้กับเขา แต่พวกเขากลับเมินพระองค์ รับแต่เพียงความสุขแต่ไม่ได้รับพระองค์ผู้ประทานความสุขนั้น

ฮีบรู 4:4-5
พระเจ้าทรงกล่าวถึงการพัก ซึ่งมีความหมายถึงราชอาณาจักรของพระองค์ การที่พระเจ้าทรงปกครองอยู่เหนือชีวิตของผู้ที่เชื่อ พระเจ้าทรงทำการของพระองค์ตลอดเวลาก็จริง แต่พระองค์ทรงสงวนวันหนึ่งไว้ที่คนของพระองค์จะไดัพักจากงานประจำ และเข้ามาติดสนิทกับพระองค์ ข้อนี้พูดถึงวันที่เจ็ด .. เป็นการพักสะบาโต คนยิวเข้าใจทันทีว่า คำ ๆ นี้มีความหมายถึงอะไรบ้าง

ฮีบรู 4:6
การพักดีที่สุดคือการมีความสัมพันธ์สนิทกับพระเยซู ศาสนาต่าง ๆ พยายามให้คนมีการพัก ทำสมาธิ เขาฌาณ เป็นการทำให้พ้นทุกข์ ให้พักใจ แต่ในการทำอย่างนั้น ไม่ได้มีใครเข้ามาแบ่งปันสุขทุกข์ที่กำลังเผชิญ การพักในพระเจ้านั้นแตกต่าง เพราะพระเยซูเป็นผู้ประทานสันติสุขในการพักนั้น ยอห์น 14:27

ฮีบรู 4:7
พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับคำว่า วันนี้ หลายครั้ง ในครั้งนี้ พระเจ้าตรัสกับคนยิวว่า อย่าดื้อดึง อย่ากบฏต่อพระเจ้า พระคำตอนนี้มาจากสดุดี 95 ซึ่งกษัตริย์ ดาวิดเองได้เผชิญกับการช่วยเหลือและการลงโทษของพระเจ้าด้วยตัวท่านเอง เมื่อท่านไม่เชื่อฟังพระเจ้า พระเจ้าทรงตักเตือนด้วยชีวิตของลูกชายของท่าน ดาวิดจึงเข้าใจดีว่า การใจแข็งนั้น ส่งผลร้ายอะไรให้กับ
ชีวิตบ้าง ท่านเตือนแล้ว ก็ฟังเถอะ

ฮีบรู 4:8-10
เรื่องการพักดังกล่าว เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เขียนฮีบรูย้ำนักหนาว่า คนที่เชื่อในพระเจ้าจริง ๆ จะได้มีโอกาสพัก การเชื่อและเชื่อฟังพระเจ้า ทำให้คนหนึ่ง ๆ ได้พักสงบกับพระเจ้า แม้ว่าเขาจะต้องต่อสู้อะไรต่าง ๆ มากมาย การพักผ่อนในพระเจ้าไม่ได้มีเฉพาะวันที่พระเจ้าพักจากราชกิจ แต่เป็นการพักที่คนของพระเจ้าได้ทำต่อสืบเนื่องกันมาจนปัจจุบัน การพักวันสะบาโต เป็นพักที่มีนัยสำคัญคือเราได้พัก พร้อมกับมีสัมพันธ์สนิทกับพระเจ้า

ฮีบรู 4:11
เรื่องของการพักที่พระเจ้าเตรียมไว้ให้เรานั้นเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยคิดกันเท่าไร ยิ่งโลกทุกวันนี้ทำให้เราไม่ได้มีโอกาสพักเลย สมอง สายตาหูของเราทำงานตลอดเวลาเพราะจอดำที่อยู่ข้างตัว สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนไม่ใช่ปัญหา แต่จริงแล้วเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะมันทำให้เราไม่ขยัน ไม่มีความพยายามที่จะพักกับพระเจ้า ไม่ใช่แค่ไม่เชื่อหรือไม่เชื่อฟังเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการที่เราไม่สนใจคำเตือนของพระเจ้าเลย

ฮีบรู 4:12
พระดำรัสของพระเจ้านั้น ไม่เหมือนคำของคนทั่วไป เพราะเป็นพระดำรัสที่มีชีวิต นั่นคือเมื่อเรามาอ่านพระคัมภีร์ เท่ากับเรากำลังฟังสิ่งที่พระเจ้ากำลังตรัสกับเราโดยตรง พระคำเป็นดั่งบุคคล ไม่ใช่แค่ตัวหนังสือ และยังมีอานุภาพเหนือเรา
ด้วย บางครั้งอ่านแล้วเจ็บแปลบปลาบเข้าไปลึกมากเพราะพระคำมองเห็นใจของเราทะลุปรุโปร่ง เราไม่อาจปิดบังความคิดของเราไว้จากพระคำของพระเจ้าเลย ล้อมเราไว้หมด..

ฮีบรู 4:13
แม้ความคิดของเราเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่พระเจ้าทรงรู้ว่าเราคิดอะไรอยู่ ถ้าคิดนั้นบาป พระคำของพระเจ้าสามารถเข้าไปและรักษาความคิดบาปนั้นได้ เมื่อเรายอม และขอความช่วยเหลือจากพระองค์การที่เราต้องถวายรายงานต่อพระเจ้านั้น เป็นสิ่งน่ากลัวหากเรายังมีบาปอยู่ในชีวิต การสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนจึงจำเป็นต่อชีวิตในภายภาคหน้าของเรา เราต้องมาหาพระองค์ขอทรงลบบาปทั้งสิ้นที่เราไม่ต้องการตีแผ่ให้ใครได้รับรู้!

ฮีบรู 4:14
พระคำข้อนี้ และข้อต่ำ ๆ ไปจะกล่าวถึงพระเยซูในฐานะที่ทรงเป็นปุโรหิตของผู้เชื่อ พระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นหลายอย่างในชีวิตของเรา ทรงเป็นพระผู้เลี้ยงที่สละชีวิตของพระองค์ ทรงเป็นพระผู้ไถ่บาป ทรงเป็นแสงสว่างที่นำทางไปยังเป้าหมายคือชีวิตนิรันดร์ ได้อยู่กับพระเจ้าตลอดไปและที่สำคัญ ทรงเป็นผู้ติดต่อกับพระเจ้าเพื่อเราเราไม่ต้องไปสารภาพบาปกับมนุษย์คนใด แต่เรามาหาพระเยซู แล้วเราจะได้เข้าถึงองค์พระบิดา

ฮีบรู 4:15
ทุกคนที่เป็นมนุษย์ แม้ว่าคนๆ นั้น มีหน้าที่ปุโรหิตหรือในสมัยนี้ เป็นอาจารย์ ศิษยาภิบาล ผู้รับใช้ต่างมีความอ่อนแอ และแข็งแรงในแต่ละเวลาไม่เท่ากัน และมีโอกาสที่จะชนะหรือแพ้การทดลองที่ผ่านเข้ามาแต่ละชั่วโมงไม่เท่ากันด้วย พระเยซู
องค์เดียวเท่านั้นที่ทรงเป็นมนุษย์เต็มร้อย ที่ไม่แพ้การทดลองอย่างมนุษย์ทั่วไป พระองค์นี้ที่ทรงเป็นผู้กลางระหว่างพระเจ้ากับเรา เราจึงมีความมั่นใจว่า เราจะผ่านไปสู่ชีวิตนิรันดร์โดยพระองค์

ฮีบรู 4:16
เราจึงเข้ามาเฝ้าพระเจ้าด้วยตัวเองอย่างมั่นใจไม่ต้องหวังพึ่งคนกลางที่เป็นมนุษย์ เมื่อสารภาพบาป เราก็สารภาพกับพระเจ้าโดยตรง ณ ที่นั้นเราจะได้รับพระเมตตา และพระคุณของพระเจ้าที่มนุษย์คนใดไม่อาจให้ได้ ในเวลาเดียวกัน เราอย่าลืมว่า พระเจ้าทรงเป็นองค์ผู้พิพากษาอย่างยุติธรรมด้วย เราเป็นคนบาปตกอยู่ในบาป ถ้าหากเราไม่ได้มารับ มาพบ
พระบัลลังก์แห่งพระคุณ เราจะไหวหรือ??

พระคำเชื่อมโยง

1* ฮีบรู 12:15
3* สดุดี 95:11
4* ปฐมกาล 2:2
5* สดุดี 95:11
7* สดุดี 95:7-8

8* โยชูวา 22:4
11* 2 เปโตร 1:10
12* สดุดี 147:15; อิสยาห์ 49:2; เอเฟซัส 6:17; 1 โครินธ์ 14:24-25

13* สดุดี 33:13-15; 90:8; โยบ 26:6
14* ฮีบรู 2:17; 7:26; ฮีบรู 10:23
15* อิสยาห์ 53:3-5; ลูกา 22:28
16* เอเฟซัส 2:18