กิจการ 18 เพื่อนร่วมงานจากพระเจ้า

เพื่อนร่วมรับใช้และทำงานหาเลี้ยงชีพ

พระเจ้าทรงบัญชาและประทานกำลังใจ

ผู้รับใช้หนุ่มจากแดนไกล

คำอธิบายเพิ่มเติม

เพื่อนร่วมรับใช้และทำงานหาเลี้ยงชีพ
กิจการ 18:1-4
จากเอเธนส์ เปาโลเดินทางไปเมืองโครินธ์ นี่เป็นการเดินทางในแถบเอเชียน้อย ที่นั่นได้พบพี่น้องสามีภรรยาซึ่งย้ายมาจากโรม และเป็นช่างทำงานเกี่ยวกับหนังเช่นกัน วันธรรมดาท่านเปาโลก็ทำงาน แต่วันสะบาโตจะไปที่ศาลาธรรมเพื่อประกาศพระนามพระเยซู
สามีภรรยาคู่นี้มาจากโรม เราจึงเห็นได้ว่า มีคริสเตียนยิวที่ย้ายไปโรม และถูกไล่ออกมา พวกเขาก็ยังกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่รอบ ๆ เมดิเตอร์เรเนียน การประกาศพระนามของพระเจ้าก่อนหน้าเปาโลนี้ได้ผลดี. มีพี่น้องที่เข้มแข็งแม้ว่าจะถูกพวกยิวคอยบั่นทอนอยู่ตลอดเวลา
เมืองโครินธ์แตกต่างจากเมืองเอเธนส์คู่แข่งทางการค้า ในขณะที่เอเธนส์สนใจความเชื่อ สนใจเรื่องเทพต่าง ๆ คนโครินธ์เชี่ยวในการมั่วสุมทางเพศ เรื่องประเภทนี้ และหากได้อ่านจดหมายฝากไปถึงพี่น้องชาวโครินธ์เราจะเห็นว่า พวกเขายังชอบคนเก่งพูดด้วย จะยกย่องและให้เกียรติคนที่มีวาจาคมคายอย่างสูง
เพื่อนใหม่ทั้งสองของเปาโลนี้ก็เป็นผู้ที่รับใช้พระเจ้าอย่างแข็งขัน เปาโลได้พูดถึงคนทั้งสองในจดหมายของท่านหลายครั้ง และทั้งสองได้กลับไปรับใช้พระเจ้าที่โรมอีกด้วย (โรม 16:3)
กิจการ 18:5-6
ที่เมืองโครินธ์นี้เอง เปาโลได้ทุ่มสุดตัวในการสอน ที่เราจะเห็นชัดคือ ไม่ว่าเขาจะไปในเมืองใด ก็มักจะไปยังศาลาธรรมก่อนเพื่อน ไปคุยกับยิวก่อน แต่สำหรับครั้งนี้ คนยิวก็มาระรานอีก เปาโลจึงประกาศชัดว่าจะไม่รับผิดชอบพวกเขา และจะมุ่งประกาศพระกิตติคุณแก่คนต่างชาติ
ในเมื่อยิวปฏิเสธที่จะฟังเรื่องของพระเยซู เปาโลก็ปฏิเสธพวกเขาเช่นกัน!
กิจการ 18:7-8
แล้วเราก็เห็นว่า มีชาวโครินธ์เป็นจำนวนมากกลับใจมาพบพระเจ้า ถึงแม้พวกเขาจะยังมีประสบการณ์
และมีความคิดเห็นเดิม ๆ แบบชาวโครินธ์อยู่ เปาโลก็ยังมั่นใจเชื่อว่าพวกเขาจะเติบโตได้
ในโครินธ์นี้ คนที่เชื่อไม่ได้เป็นชนชั้นสูงเท่าไร แต่เป็นชาวเมืองธรรมดาที่ไม่โดดเด่นอะไรเลย ที่เราทราบเพราะเปาโลเขียนไว้ใน 1 โครินธ์ 1:26
สำหรับทิทิอัส ยุสทัส เขาน่าจะเป็นคนเดียวกับกายอัสที่เปาโลกล่าวถึงใน 1 โครินธ์ 1:14

พระเจ้าทรงบัญชาและประทานกำลังใจ
กิจการ 18:9-11
ในระหว่างที่ประกาศกับชาวโครินธ์ พระเจ้าไม่ได้ทอดทิ้งเปาโล แต่ตรัสกับเขาในนิมิตว่า ไม่ให้กลัวสิ่งใดเพราะพระองค์ทรงอยู่ด้วย ..​นี่เป็นคำซึ่งพระเจ้าตรัสกับผู้ที่ติดตามพระองค์ในพระคัมภีร์เดิมให้เห็นบ่อย ๆ
ทรงย้ำด้วยพระองค์เองว่า มีคนมากมายของพระองค์ในเมืองนี้ ซึ่งทำให้เปาโลไม่ท้อใจ ถึงจะโดนต่อต้านเพียงไร แต่คริสตจักรก็เกิดแน่นอน เปาโลได้อาศัยในเมืองนี้นานถึงปีครึ่ง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานกว่าในเมืองใด ๆ ที่เข้าไปประกาศ. และในเมืองนี้เขาก็ไม่ได้ถูกทำร้ายรุนแรงเหมือนที่เจอในเมืองอื่น ๆ ด้วย
กิจการ 18:12-14
ยิวทำอะไรเปาโลไม่ได้ก็เลยไปฟ้องกัลลิโอซึ่งเป็นผู้ตรวจการ แต่กัลลิโอก็ไม่รับคำฟ้อง ถือเป็นเรื่องภายในของยิว จริง ๆ แล้วยิวต้องการขัดขวางเปาโลทุกวิถีทาง และความที่กลัวว่า เปาโลจะไปประกาศทั่วไปในแคว้นอาคายา พวกเขาถึงกับเข้าพบผู้ตรวจการแคว้นเลย แต่ดูเหมือนว่า คำกล่าวหาของเขาไม่ส่งผลอะไรกับการปกครอง กัลลิโอจึงไม่สนใจ
กิจการ 18:15-17
กัลลิโอเองยื่นคำขาดว่าไม่ตัดสินให้ในเรื่องของธรรมบัญญัติยิว ยิวจึงทำอะไรเปาโลไม่ได้ เราจะเห็นว่าพระเจ้าทรงทำให้กัลลิโอตัดสินใจอย่างถูกต้อง ในเมื่อไม่มีการทำผิดต่อโรม ก็ไม่ต้องไปสนใจทำคดีให้เสียเวลาพวกยิวโกรธนัก ก็เลยไปลากตัวโสสเธเนสซึ่งเป็นผู้ดูแลศาลาธรรม ที่ปล่อยให้เปาโลเข้าไปสอน มาเฆี่ยนให้กัลลิโอรับรู้ แต่กัลลิโอก็ไม่สนใจอยู่ดี
เราจะเห็นว่าความเกลียดชังที่ยิวมีต่อเรื่องของพระเยซูนั้น มันรุนแรงมาตั้งแต่สมัยคริสตจักรยุคแรก และยืดเยื้อมานาน จนในสมัยนี้พวกยิวออโธดอกซ์ในประเทศอิสราเอล ก็ยังเกลียดชังพระกิตติคุณอยู่ เป็นความเกลียดต่อเนื่องมาหลายศตวรรษ
กิจการ 18:18
นี่เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เปาโลมีกำลังใจ .. ต่อมาจึงเดินทางไปซีเรียพร้อมสามีภรรยาเพื่อนร่วมงาน
พิธีกล้อนผมเพราะ การสาบานตนนี้ น่าจะเป็นพวกที่เรียกว่า นาศีร์ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยของโมเสส คือชายชาวยิวที่จะเว้นจากเหล้า องุ่น รักษาตัวให้บริสุทธิ์ เข้าใกล้ชิดพระเจ้า และปล่อยให้ผมยาวไปเรื่อย ๆ โดยจัดเป็นช่วงเวลาที่จะอุทิศตนให้กับพระเจ้า(กันดารวิถี 6:1-21)
การที่เปาโลกล้อนผมหลังจากทำงานที่โครินธ์ก็อาจเป็นไปได้ที่ท่านอาจเคยสาบานตนไว้ก่อนหน้านี้
กิจการ 18:19-21a
จำได้ไหม เปาโลอยากไปเอเฟซัสก่อนหน้านี้ แต่พระเจ้าทรงห้ามไว้ ( 16: 6) พระวิญญาณทรงห้ามไม่ให้ไปทางนั้น โดยมีนิมิตจากชายชาวมาซิโดเนียให้เดินทางไปยุโรป. ครั้งนี้ พอถึงเอเฟซัส เปาโลก็ดีใจมาก เข้าไปศาลาธรรมทันที และหลังจากที่ได้สนทนาเรื่องของพระเจ้านาน ๆ ขนาดนั้น คนที่เอเฟซัสก็อยากให้ท่านอยู่ แต่ท่านมีภาระใจในที่อื่น
กิจการ 18:21b-23
การเดินทางครั้งนี้ เป็นความพยายามที่จะเยี่ยมพี่น้อง และเสริมสร้างความเชื่อ เปาโลเอาจริงเอาจังมาก ๆ และมีคนเชื่อไม่น้อย

ผู้รับใช้หนุ่มจากแดนไกล
กิจการ 18:24-25
ต่อมาผู้เขียนได้กล่าวถึงชายหนุ่มคนหนึ่งเป็นชาวยิว ที่มีคำพูดดี น่าฟัง และกล้าหาญ ทำให้ผู้คนชอบเข้ามาฟังเขาพูด เขามาที่เอเฟซัส และกลายเป็นคนที่ใคร ๆ นิยม
เขาที่เกิดในอัฟริกาเหนือ เมืองอเล็กซานเดรีย ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เป็นที่สองในอาณาจักรโรม เป็นเมืองท่าที่สร้างขึ้นโดยอเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษาและวัฒนธรรม เมืองนี้มีห้องสมุดใหญ่ด้วย แสดงว่าผู้คนในเมืองนี้เป็นนักคิด นักศึกษาค้นคว้า คนชาวกรีก โรม อียิปต์ และยิว อยู่กันอย่างคับคั่งรวมกันในเมืองนี้
สิ่งหนึ่งที่ท่านลูกาผู้เขียนได้สังเกตให้เราคือ อปอลโลผู้นี้ มีความรู้เรื่องพระคัมภีร์ดีมาก ..
อปอลโลมีความเข้าใจเรื่องบัพติศมาของยอห์น นั่นก็คือ บัพติศมาแห่งการกลับใจใหม่ ดูเหมือนว่าอปอลโลจะรู้จักพระคัมภีร์เดิมเป็นอย่างดี แต่ยังไม่รู้เรื่องของพระเยซู และการสิ้นพระชนม์ของพระองค์
กิจการ 18:26
ปริสสิลลา และอาควิลลาเห็นดังนั้น ก็เลยเชิญมาและเพิ่มเติมความเข้าใจให้เขา ซึ่งทำให้อปอลโลยิ่งลึกซึ้งในพระคัมภีร์ มากขึ้น เราเห็นเลยว่า อปอลโลเป็นคนมีปัญญาจริง ๆ ก็ตรงที่เขามีความถ่อมตนที่จะเรียนรู้ เป็นคนที่ยอมฟังผู้อื่น ไม่ใช่คนหนุ่มที่คิดว่าตัวเองเหนือใคร ๆ
งานของพระเจ้าจึงขยายไปด้วยผู้รับใช้ที่ร่วมมือกัน และยอมฟังกันและกัน
กิจการ 18:27-28
แล้วอปอลโลก็มีภาระใจที่แตกต่างขึ้นมา เขาพร้อมที่จะไปแคว้นอาคายา และได้ไปคุยกับยิวโดยไม่กลัว
ในขณะที่พี่น้องต่างชาติที่เชื่อพระเจ้าไม่รู้จะตอบยิวอย่างไร อปอลโลคนนี้เป็นหน้าทัพไปเผชิญหน้าต่อกรกับยิวด้วยตัวเอง



พระคำเชื่อมโยง

2* 1โครินธ์ 16:19
3* กิจการ 20:34
4* กิจการ 17:2
5* กิจการ 17:14, 15; 18:28
6* กิจการ 13:45; เนหะมีย์ 5:13; 2 ซามูเอล 1:16; เอเสเคียล 3:18-19 ; กิจการ 13:46-48; 28:28

8* 1โครินธ์ 1:14
9* กิจการ 23:11
10* เยเรมีย์1:18,19
15* กิจการ 23:29; 25:19
17* 1โครินธ์ 1:1
18* กิจการ 21:24; โรม 16:1

21* กิจการ 19:21; 20:16; 1โครินธ์ 4:19
22* กิจการ 8:40
23* กาลาเทีย 1:12; กิจการ 14:22; 15:32, 21
24* ทิตัส 3:13
25* โรม 12:11; กิจการ 19:3
27* 1โครินธ์ 3:6

มาระโก 4 อุปมาเรื่องดินและเมล็ดพันธุ์

(มัทธิว 13:1-9; ลูกา 8:4-8)
1 อีกครั้ง ที่พระเยซูทรงสอนริมทะเลสาบ  มีคนจำนวนมากห้อมล้อมพระองค์ ดังนั้น จึงทรงลงเรือและประทับนั่งในเรือ ส่วนประชาชนชุมนุมกันตามชายฝั่ง 2 พระองค์ทรงสอนพวกเขาเป็นคำอุปมาหลายเรื่อง ทรงสอนว่า
3 “จงฟังให้ดี มีผู้หว่านคนหนึ่งออกไปหว่านเมล็ดพันธุ์ 4 ระหว่างที่เขาหว่านนั้น บางเมล็ดพันธุ์ตกไปตามทาง แล้วก็มีนกมาจิกกินจนหมด 5 บางเมล็ดพันธุ์ตกลงบนพื้นหิน ไม่ค่อยมีเนื้อดิน จึงงอกขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะดินตื้น 6 แต่เมื่อแสงแดดส่อง เมล็ดก็ถูกความร้อนเผา มันจึงเหี่ยวแห้งไปเพราะไม่มีราก 7 ยังมีเมล็ดพันธุ์ที่ตกตามต้นไม้หนามที่เติบโต แย่งอาหารไป ทำให้เมล็ดพันธุ์นั้นไม่อาจเติบโตขึ้นมา 8 ยังมีเมล็ดพันธุ์ที่ตกลงบนดินดี ซึ่งมันงอกขึ้น เติบโต และเกิดผลสามสิบเท่า บ้างก็หกสิบเท่า บ้างก็ร้อยเท่า
9 แล้วพระองค์ตรัสว่า “คนที่มีหูฟังเป็นก็ให้เขาฟังเถิด”

จุดประสงค์ของเรื่องอุปมาเมล็ดพันธุ์
(อิสยาห์ 6:1-13; 13:10-17; ลูกา 8:9-10)
10 พอพระองค์ทรงอยู่ตามลำพังกับศิษย์ทั้งสิบสอง 
และคนอื่น ๆ ที่ล้อมอยู่ พวกเขาก็ถามเรื่องคำอุปมานั้น11 พระองค์ตรัสว่า “ความลี้ลับของแผ่นดินของพระเจ้านั้นได้มอบให้กับพวกท่าน แต่สำหรับคนนอกนั้นทุกอย่างจะได้รับฟังเป็นคำอุปมา 12 เพื่อว่า “พวกเขาจะมองดูไปเรื่อย แต่ไม่มีวันมองเห็นจริง พวกเขาจะฟังไปเรื่อย แต่ไม่มีวันเข้าใจ มิฉะนั้นแล้ว พวกเขาจะหันกลับมาหาพระเจ้า และได้รับการอภัย!”

คำอธิบายเรื่องอุปมาเมล็ดพันธุ์
(มัทธิว 13:18-23; ลูกา 8:11-15)
13 แล้วพระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “เจ้ายังไม่เข้าใจเรื่องอุปมานี้รึ? แล้วเจ้าจะเข้าใจเรื่องอุปมาอื่น ๆ ได้อย่างไร?” 14 ชาวนาเขาได้หว่านพระคำ 15 บางคนนั้นเป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่ตกตามทาง ที่พระคำถูกหว่านไป พอได้ยินพระคำ ซาตานก็มาและเอาพระคำที่หว่านให้พวกเขานั้นไปเสียทันที 16 บางคนเป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่ตกตามทางหินเขาได้ยินพระคำ และได้รับด้วยความยินดีอย่างรวดเร็ว 17 แต่เป็นเพราะไม่มีราก พวกเขาจึงอยู่เป็นต้นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเมื่อมีความยากลำบากหรือการข่มเหงเกิดขึ้นเนื่องจากพระคำนั้นพวกเขาก็เลิกเชื่อทันควัน 18 คนอื่น ๆ ก็เป็นเหมือนเมล็ดพันธ์ุที่หว่านลงกลางหมู่ต้นหนาม พวกเขาได้ยินพระคำ 19 แต่แล้วความกังวลเรื่องชีวิต ความอยากที่จะรวย และความต้องการสิ่งต่าง ๆเข้ามาถมทับพระคำนั้น จึงไม่เกิดผล 20 และคนอื่นก็เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่หว่านลงบนดินดี เมื่อได้ยินพระคำก็ตอบรับ และเกิดผล สามสิบเท่า หกสิบเท่า หรือร้อยเท่า

เรื่องราวจากตะเกียงใต้ตะกร้า 
(ลูกา 8:16-18)
21 แล้วพระองค์ ตรัสกับพวกเขาว่า
“มีใครบ้างที่นำเอาตะเกียงเข้ามาแล้ววางมันไว้ใต้ตะกร้าหรือใต้เตียง? 
เขาจะไม่วางมันไว้บนเชิงตะเกียงอย่างนั้นหรือ?
22 เพราะไม่มีสิ่งใดที่ถูกซ่อนไว้จะไม่ถูกเปิดเผย 
และไม่มีสิ่งใดที่ถูกปกปิดไว้จะไม่ถูกนำมาเผยในที่แจ้ง 23 ใครมีหูที่จะฟัง ก็ฟังเถิด”


การได้รับคืนจากการให้
24 แล้วพระองค์ตรัสต่อไปว่า “จงพิจารณาสิ่งที่เจ้าได้ยินให้ดี
เจ้าตวงให้คนอื่นด้วยทะนานขนาดใด
เจ้าจะได้รับเท่ากับทะนานขนาดนั้น
และอาจจะได้รับเพิ่มเติมขึ้น
25 เพราะคนที่มีอยู่แล้ว จะได้รับเพิ่มขึ้นอีก
แต่คนใดที่ไม่มี แม้ว่าที่เขามีอยู่น้อยนิดก็จะถูกเอาไปจากเขา” 

คำอุปมาเรื่องเมล็ดที่งอกเงียบ ๆ
26 พระองค์ยังตรัสอีกว่า “อาณาจักรของพระเจ้าเป็นเหมือนชายคนหนึ่งที่โปรยเมล็ดพันธุ์ลงไปบนดิน 27 ทั้งคืนและวัน เขาหลับและตื่น  ส่วนเมล็ดพันธุ์ก็งอกเติบโตไป ทั้งที่เขาไม่รู้ขบวนการงอก การเติบโตของมัน 28  และด้วยตัวของดิน ดินก็ทำให้เกิดผลเป็นต้นอ่อนและมีรวงจากนั้นก็มีเมล็ดข้าวสุกเต็มรวง29 เมื่อข้าวสุกแก่เต็มที่ เขาก็นำเคียวไปเกี่ยวเก็บเพราะได้เวลาเก็บเกี่ยวแล้ว

คำอุปมาเรื่องเมล็ดมัสตาร์ด
(มัทธิว 13:31-32; ลูกา 13:18-19)
30 ต่อมา พระองค์ตรัสถามว่า“เอ เราจะเปรียบอาณาจักรของพระเจ้ากับสิ่งใดดี? เราจะใช้คำอุปมาแบบใดมาอธิบาย?  31 อาณาจักรของพระเจ้าเป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์มัสตาร์ดซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์เล็กจิ๋วที่สุดในบรรดาเมล็ดพันธุ์ทั้งหลายที่เขาหว่านลงไปในดิน 32 แต่หลังจากที่มันงอกขึ้นแล้ว มันเติบโตกลายเป็นต้นใหญ่สุดในบรรดาพืชสวนทั้งหลาย มันขยายแผ่กิ่งก้านออกไป จนนกในอากาศก็มาทำรังใต้ร่มของมัน” 33 พระเยซูตรัสแก่พวกเขาเป็นคำอุปมาคล้ายคลึงกันแบบนี้อีกหลายเรื่อง เท่าที่พวกเขาจะเข้าใจได้ 34 พระองค์ไม่ตรัสแบบอื่นนอกจากการใช้คำอุปมาแต่พออยู่กันเป็นส่วนตัว พระองค์ก็ทรงอธิบายทุกสิ่งกับศิษย์ของพระองค์ 

ทรงยิ่งใหญ่กว่าพายุ!
(สดุดี 107:1–43; มัทธิว 8:23–27; ลูกา 8:22–25)
35 วันนั้น เมื่อถึงเวลาเย็น พระองค์ตรัสกับศิษย์ว่า “เราข้ามไปอีกฝั่งกันเถิด”36 หลังจากที่พวกเขาทิ้งฝูงชนไว้ พวกเขาก็ไปกับพระองค์ซึ่งประทับอยู่ในเรือแล้ว แต่ก็มีเรืออื่น ๆ ตามไปด้วย 

37 ไม่นาน ก็เกิดพายุรุนแรงขึ้น คลื่นโถมเข้ามาในเรือจนเรือเกือบจะจม 
38 แต่พระเยซูทรงอยู่ท้ายเรือ บรรทมหลับหนุนหมอนอยู่พวกเขาไปปลุกพระองค์ ร้องว่า “อาจารย์เจ้าข้าพระองค์ไม่ทรงสนใจหรือว่า พวกเรากำลังจะจมน้ำตายแล้ว?”


39 พระเยซูทรงลุกขึ้นและตรัสห้ามลมพายุ
ทรงกำชับทะเลว่า“จงเงียบสงบ!”
พระองค์ทรงสั่ง “จงสงบนิ่ง!”
ลมก็หยุดพัด และทะเลก็สงบนิ่ง

40 “ทำไมเจ้าจึงกลัวนัก” พระองค์ตรัสถาม
“เจ้ายังไม่มีความเชื่ออีกหรือนี่?”
41ด้วยความตกใจกลัว ศิษย์จึงถามกันว่า
“ท่านผู้นี้เป็นใครกันนะ?
ทำไมแม้กระทั่งพายุและทะเลยังเชื่อฟังคำของท่าน?”

คำอธิบายเพิ่มเติม

มาระโก 4:1-9 คำอุปมาเรื่องเมล็ดพันธุ์กับดินสี่แบบ
พระเยซูคริสต์ของเรา ทรงเป็นพระบุตรพระเจ้าที่มาเพื่อจะสำแดงพระเจ้าให้คนทั้งหลายได้รู้ว่า พระองค์ทรงเป็นอย่างไร และพระองค์ก็จะทรงช่วยบอกให้คนได้รู้ว่า จะมาหาพระเจ้าได้อย่างไร แต่หากพระเยซูทรงเทศนาด้วยคำที่ยาก ๆ  เช่นความรอดคืออะไร กลับใจแปลว่าอะไร ..  แบบนี้ คงยากที่คนจะฟังและรับรู้ได้  พระเยซูทรงอยู่กับชาวบ้านชาวเมืองที่ไม่ได้มีความรู้สูง บางคนใจเปิด บางคนแค่มาดูการอัศจรรย์ของพระเยซู แต่จะไม่ได้เข้าใจอะไรเลย..
พระเยซูจึงทรงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเขา เพื่ออธิบายความเป็นไปฝ่ายวิญญาณให้พวกเขาฟัง พระองค์ใช้การเล่าเรื่องเปรียบเทียบ เป็นเรื่องอุปมาที่พวกเขาได้ยินแล้วก็จะจำได้ แม้จะไม่เข้าใจดี ก็ยังจำได้เมื่อกลับไปบ้าน  มาระโกบทที่  4  นี้จึงมีเรื่องอุปมาหลายเรื่องที่ทรงสอนจากเรือลำเล็ก ๆ ที่อยู่ริมฝั่งทะเลกาลิลี 
ทรงเริ่มต้นด้วยคำว่า จงฟังให้ดี จบด้วยคำว่า คนที่หูฟังเป็นก็ให้เขาฟังเถิด
เราอาจจะรู้สึกว่า ทำไมพระเยซูตรัสเช่นนี้ เป็นเพราะ มีคนที่ฟัง และตั้งใจและอยากรู้ความหมาย และมีคนที่ฟังแล้วแค่ฟัง ไม่สนใจว่าเรื่องนี้จะมีประโยชน์อะไรต่อชีวิตตนเอง  ฟังแล้วจำได้ไม่นานก็ลืม ไม่ค้นหาความหมายของเรื่องราว  คำตรัสที่บอกว่า มีหูก็ให้ฟัง เป็นคำที่คนยิวใช้อยู่แล้ว มีความหมายว่า ให้ตั้งใจฟัง ถ้าไม่ตั้งใจก็จะไม่ได้อะไรกลับไป
เราจะเห็นดินสี่ชนิดที่พระเยซูกล่าวถึง พื้นที่ในปาเลสไตน์นั้นมีหินเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ท้องนาดำ ๆ เหมือนบ้านเรา หินเป็นสิ่งที่อยู่ทั่วผสมไปกับดิน จะทำไร่นาก็ต้องจัดการกับหินก่อนอื่นใด … อ่านดี ๆ เราจะพบ
1ทาง(ซึ่งเป็นทางคนเดิน ไม่อาจปลูกอะไรขึ้น ดินแข็ง)
2 พื้นหินที่มีดินน้อย
3 พื้นดินที่มีต้นหนามขึ้น
4 ดินดีที่พร้อมจะทำให้เมล็ดพันธุ์เติบโต 

มาระโก 4:10-12 จุดประสงค์ของเรื่องอุปมาเมล็ดพันธุ์
ดูเหมือนว่า ข้อ 10-20 เป็นเรื่องเล่าที่มาระโกบอกว่า เวลาอยู่ตามลำพัง พระเยซูทรงสอน อธิบายอะไร
โรม 16:25-26 อธิบายไว้ว่า มีความจริงที่ถูกปิดบังไว้หลายชั่วอายุคน แต่ตอนนี้ เปิดเผยแล้ว .. เปิดเผยเพื่อคนทุกชาติจะได้เชื่อและทำตามคำของพระเจ้า
อิสยาห์ 6:9-10 ว่า จะมีการฟังแล้วฟังอีกแต่ไม่เข้าใจ  ดูแล้วดูอีกแต่ก็ไม่เห็น
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า พระเยซูทรงประสงค์ให้คนไม่เข้าใจ พระองค์ได้บอกเคล็ดลับว่า ถ้าฟัง เข้าใจ มองเห็นก็จะเกิดการกลับใจ พระเจ้าจะทรงให้อภัยบาป พวกเขาจะได้รับพระพรยิ่งใหญ่ของพระเจ้า แต่จะมีคนที่ฟังเท่าไรก็ไม่เข้าใจเพราะใจของเขาปิดต่อพระคำของพระเจ้า ในสมัยพระเยซูเห็นชัดได้จากพวกธรรมาจารย์ ฟาริสีส่วนใหญ่ ที่เอาแต่ต่อต้าน ไม่ยอมฟัง   

มาระโก 4:13-20 คำอธิบายเรื่องอุปมาเมล็ดพันธุ์
คำอุปมาเรื่องนี้น่าจะง่ายสุด เพราะตรัสว่า ถ้าไม่เข้าใจอุปมาเรื่องนี้ จะเข้าใจเรื่องอื่นไม่ได้ จากนั้น พระเยซูก็ทรงอธิบายความหมายของอุปมานี้ให้ศิษย์เข้าใจว่ามีดินสี่แบบ ที่เมล็ดพันธ์ุจะไปตกอยู่… หมายถึงหัวใจของคนสี่แบบที่ฟังพระคำแล้วตอบสนองต่างกัน
แบบแรก
1 ทางเดิน (ซึ่งเป็นทางคนเดินดินแข็งมาก แถมมีนกมารอจิก) เป็นใจที่แข็ง ได้ยินพระคำก็เหมือนไม่ได้ยิน เพราะมารมาช่วยให้ลืม ให้ไม่สนใจ ไม่แคร์กับคำเหล่านั้น อาจจะดูถูกเยาะเย้ยเสียด้วยซ้ำ
2 พื้นหินที่มีดินน้อย  เป็นใจที่มีอารมณ์ตื่นเต้น  ชอบที่ได้ยินพระคำ  เกิดผลบ้างในใจ แต่ไม่นานก็ลืมพระคำนั้นไป ไม่สนใจ บางคนเจอความยากในการเชื่อพระเจ้าก็เลยจบ กลับไปมีชีวิตเดิม ๆ
3 พื้นดินที่มีต้นหนามขึ้น เป็นหัวใจที่ได้ยินพระคำของพระเจ้า  ก็ได้ยินชัด รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่สำหรับพวกเขา พระคำของพระเจ้า ไม่สำคัญเท่ากับเรื่องชีวิตส่วนตัว การใช้ชีวิตประจำวัน  การงาน เรื่องอื่น ๆ สำคัญยิ่งกว่า พวกเขาสนใจเรื่องเหล่านั้น พระคำจึงไม่เกิดผลในหัวใจนี้ 
4 ดินดีที่พร้อมจะทำให้เมล็ดพันธุ์เติบโต  เป็นดินดีที่พร้อมจะให้เมล็ดพันธุ์งอกเป็นต้น เป็นหัวใจที่ฟังพระคำแล้ว ตอบรับ เอาใจใส่ ติดตาม ตัดสินใจไปตามทางของพระเจ้า พวกเขาจึงมีชีวิตที่เกิดผล
จากดินสี่แบบเราเห็นว่า เกิดผลแค่ ยี่สิบห้าเปอร์เซนต์  แต่ในดินชนิดที่สี่ ในตัวของเขาเกิดผลหลายเท่าเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า … (ยอห์น 15:8)

มาระโก 4:21-23เรื่องราวจากตะเกียงใต้ตะกร้า
เรื่องราวนี้มีอยู่ในมัทธิว และลูกาด้วย  แต่สำหรับมาระโกแล้ว มีความพิเศษ เพราะมาระโกได้ ให้ความสำคัญกับคำว่า ตะเกียง ด้วยการบอกย้ำชัดในภาษาเดิมว่า ตะเกียงดวงนั้น คือ ὁ λύχνος โฮ ลุคโนส( หรือ the lamp ) ซึ่งทำให้เราเข้าใจทันทีว่า พระเยซูกำลังตรัสว่า  พระองค์คือผู้ทรงเป็นแสงสว่าง ไม่ได้อยู่เพื่อถูกปิดไว้เงียบ ๆ แต่ว่า จะเป็นที่ประกาศเปิดเผยให้คนทั้งหลายได้เห็น ได้รับแสงนั้น   พระองค์ที่พระเจ้าทรงซ่อนไว้สามสิบปีนั้น มาบัดนี้ เปิดเผยแล้วว่า พระองค์คือผู้ใด  คนที่มีหู จะเข้าใจความหมาย แต่ในเวลาที่พระองค์ตรัสนั้น ทุกคนอาจจะยังไม่เข้าใจ

มาระโก 4:24-25 การได้รับคืนจากการให้
เราอาจเคยเข้าใจว่า อุปมาเรื่องนี้ มีความหมายว่าถ้าเราให้ใครขนาดเท่าไร พระเจ้าจะทรงคืนให้อย่างนั้น และจะเพิ่มให้ด้วย แต่คำของพระเยซูในประโยคต่อมาที่ว่า “เพราะคนที่มีอยู่แล้ว จะได้รับเพิ่มขึ้นอีกแต่คนใดที่ไม่มี แม้ว่าที่เขามีอยู่น้อยนิดก็จะถูกเอาไปจากเขา” ทำให้เรารู้สึกประหลาดใจ เพราะว่าคนที่มีน้อย น่าจะได้เพิ่มมิใช่หรือ?
ถ้าเราฟังพระคำของพระเจ้า เราตอบสนองคำของพระองค์อย่างดี ก็เหมือนกับการตวงให้พระเจ้าด้วยความเอาใจใส่ เมื่อเรามอบใจให้กับพระคำ เราก็จะได้ความเข้าใจในเรื่องของพระเจ้ากลับคืนมา ไม่ใช่แค่ที่อ่าน เรียนไป หรือทำตามไป แต่พระเจ้าจะทรงเพิ่มเติมให้อีก ให้มีความเข้าใจมากขึ้น (เอเฟซัส 1:17) ส่วนคนที่มีอยู่น้อยนิดคือคนที่ไม่สนใจพระดำรัสของพระเจ้าเลย อาจจะปฏิเสธพระองค์ด้วยซ้ำ สิ่งดี ๆ จากพระคำของพระเจ้าที่เขาเคยมี ก็จะค่อย ๆ หายไปจากตัว และไม่หลงเหลือร่องรอยไว้

มาระโก 4:26-29 คำอุปมาเรื่องเมล็ดที่งอกเงียบ ๆ
พระเยซูทรงประสงค์ให้ผู้ฟังได้เข้าใจว่า อาณาจักรของพระเจ้า นั้นเป็นงานของพระเจ้าพร้อมกับที่มนุษย์ช่วยกันทำกับพระองค์ ผู้ที่เชื่อในพระเจ้าเป็นผู้หว่านพระคำออกไป หว่านไปทางนั้น ทางนี้ ไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ในที่ทำงาน ในโรงงาน ในสถานที่ส่วนตัวและในที่สาธารณะ  แต่แล้ว ผลที่ได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนหว่าน  หรือคนที่ปลูกและงานนี้มีหลายคนทำ ไม่ได้ทำอยู่คนเดียว  หน้าที่ของเราคือการหว่าน ไม่ใช่การทำให้เติบโตคนที่หว่านก็ใช้ชีวิตของตนไป และฝากการเกิดผลไว้กับพระเจ้า เราไม่ทราบหรอกว่า สิ่งที่หว่านไปนั้น จะไปเกิดผลในหัวใจของคนไหนบ้างจากนั้นคนที่หว่านจะไปเกี่ยว หรืออาจมีคนอื่นไปช่วยเกี่ยว พวกเขาคือคนงานในไร่นาของพระเจ้าทำงานในหน้าที่ต่อไป
1 โครินธ์ 3:6-7 ข้าเป็นคนปลูก ส่วนอปอลโลรดน้ำแต่พระเจ้าทรงเป็นผู้ทำให้เติบโต
ดังนั้น คนที่ปลูกและคนที่รดน้ำไม่สำคัญ แต่พระเจ้าผู้ทรงให้เติบโตนั้นต่างหากที่สำคัญ

มาระโก 4:30-34  คำอุปมาเรื่องเมล็ดมัสตาร์ด
พระเยซูตรัสว่า เมล็ดพันธุ์เล็กที่สุด คือเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เล็กสุดซึ่งพวกเขารู้จักกันในเวลานั้น เพราะในปัจจุบันเรายังพบเมล็ดที่เล็กกว่า แต่ตอนนี้เราต้องเข้าใจว่า นี่เป็นสิ่งที่ผู้คนในปาเลสโตน์ รู้จักและเข้าใจดี  นี่เป็นคำเปรียบเทียบของพระเยซู มันเล็กกว่าเมล็ดพันธุ์ของปาล์ม หรือมะเดื่อ หรือ องุ่น
เมื่อมีคนเอาเจ้าเมล็ดพันธุ์นี้ปลูกลงไปในดิน สิ่งที่เล็ก ๆ ดูไม่เหมือนสำคัญนี้ สามารถกลายเป็นต้นใหญ่โตได้ แถมยังใหญ่กว่าต้นอื่น ๆ ด้วย เมล็ดพันธุ์นี้คือพระคำของพระเจ้าที่จะเกิดผลในหัวใจของเรา  เราต้องเข้าใจว่า เมื่อเราทำการของพระเจ้าอยู่ เราไม่ได้เสียเปล่าในการรับใช้ เมื่อเราเรียนพระคำของพระองค์อยู่ แม้เมื่อเราลืมสิ่งที่เราเรียน แม้คนที่ฟังพระกิตติคุณจะต่อต้าน  แต่ขบวนการงอก การเติบโตของพระคำของพระเจ้ายังอยู่ในตัวและมันจะเกิดผลในเวลาที่พระเจ้าทรงพอพระทัย 

มาระโก 4:35-41 ทรงยิ่งใหญ่กว่าพายุ!
เมื่ออ่านมาถึงพระคำตอนที่บอกว่า พระเยซูทรงห้ามพายุ อาจจะมีการแปลความหมายไปหลายอย่างเช่น เมื่อเรามีพายุ ปัญหาหนักในชีวิต พระเจ้าจะทรงทำให้สงบ
 หรือ พระเยซูกำลังห้ามลม เหมือนกับที่ทรงห้ามผีสิงคน  และบางคนอาจรู้สึกว่า เรื่องแบบนี้ไม่เกิดในสมัยนี้หรอก 
หากเราจะมองอีกมุม มองในแง่ของคนยิว หรือศิษย์ที่อยู่กับพระองค์ในเวลาแห่งความน่าสะพรึงกลัวขนาดนั้น เราอาจจะได้พบอะไรที่แตกต่างไปจากนั้น
นั่นก็คือ คนยิวรู้จากพันธสัญญาเดิมที่พวกเขาอ่านว่า  พระเจ้าทรงเป็นผู้ควบคุมสภาพอากาศที่เกิดขึ้น ไม่มีใครทำได้อย่างพระองค์ 
สดุดี 65:7 พระเจ้าทรงระงับเสียงคลื่นทะเล เสียงครึกโครมของคลื่น ..
สดุดี 89:9 พระเจ้าทรงครองเหนือทะเลที่ปั่นป่วน เมื่อคลื่นกระหน่ำ ทรงทำให้สงบข้อ 11 ยืนยันว่า พระเจ้าทรงสร้างโลกและสรรพสิ่งในโลก ..
อิสยาห์ 50:2  เราสั่งคำเดียว ทะเลก็แห้ง..
สดุดี 107:23-30 เป็นภาพใกล้เคียงกับที่เกิดกับทุกคนในเรื่องนี้ 
โยบ 38 ทั้งบท ได้ยืนยันว่า พระเจ้าทรงอยู่เหนือทะเล ข้อ 8 ถามว่า ใครเป็นผู้ปิดประตูกั้นทะเล..​

ดังนั้น เมื่อศิษย์ของพระเยซูมาเรียกพระองค์ แถมยังตัดพ้อว่า พระองค์ไม่สนพระทัย  พระองค์ก็ตรัสให้พายุสงบและน้ำทะเลนิ่งได้อย่างเหนือคาด เหนือธรรมชาติเช่นนี้ จึงทำให้พวกเขาอึ้งไปทันควัน .. พวกเขาถามกันว่า พระองค์คือใคร  และยังเจอกับคำถามของพระเยซูด้วยว่า ทำไมจึงกลัว ไม่เชื่อหรือ?
การที่พระเยซูทรงสยบพายุครั้งนี้ เป็นการบอกให้ศิษย์ทุกคนรู้ว่าพระองค์ทรงมีอำนาจเหนือพายุเหมือนอย่างที่พระเจ้าทรงมีอำนาจเหนือพายุ และนี่ชี้ให้พวกเขาเข้าใจตั้งแต่ต้นเลยว่า พระองค์คือพระเจ้าที่ลงมาในโลก  พระเยซูสามารถทำการยิ่งใหญ่อย่างพระเจ้าได้!
ถ้าเราจะย้อนดูสิ่งที่มาระโกเล่าให้เรานั้น เราจะเห็นว่า การอัศจรรย์ทุกอย่างที่พระองค์ทรงทำ ยังไม่ถึงขนาดปราบธรรมชาติอย่างนี้ ทรงรักษาโรค ทรงยกโทษให้ ทรงสอนแผ่นดินของพระเจ้า ..
ความยำเกรงที่เกิดกับเหล่าศิษย์ไม่ได้เหมือนกลัวพายุ แต่เป็นความยำเกรงที่พระเยซูทรงยิ่งใหญ่เหลือเกิน ทรงเป็นพระเจ้าจริง ๆ และพวกเขารู้แล้วว่า พระองค์ทรงห่วง อย่าได้ถามพระองค์อีกว่า พระองค์ไม่สนพระทัยหรือ อย่าขาดความเชื่อต่อไป.. ให้วางใจพระเจ้าสุดใจ

พระคำเชื่อมโยง

มาระโก 4
1* ลูกา 8:4-10
2* มาระโก 12:38
10* ลูกา 8:9
11* 1 โครินธ์ 2:10-16; โคโลสี 4:5
12* อิสยาห์ 6:9, 10; 43:8
14* มัทธิว 13:18-23
19* ลูกา 21:34; 1 ทิโมธี 9,10,17
20* โรม 7:4

21* มัทธิว 5:15
22* มัทธิว 10:26, 27
23* มัทธิว 11:15; 13:9, 43
24* มัทธิว 7:2
25* ลูกา 8:18; 19:26
26* มัทธิว 13:24-30, 36-43
27* 2 เปโตร 3:18
28* ยอห์น12:24
29* วิวรณ์ 14:15

30* มัทธิว 13:31, 32
33* มัทธิว 13:34, 35
34* ลูกา 24:27, 45
35* ลูกา 8:22, 2538* มัทธิว 23:8-10; สดุดี 44:23
39* ลูกา 4:39; สดุดี 65:7 89:9; 93:4; 104:6,7
40* มัทธิว 14:31,32


1 โครินธ์ 10 ตัวอย่างจากอดีต

1 โครินธ์ 10:1-2
พี่น้องทั้งหลาย ข้าอยากให้ท่านได้รู้ว่า บรรพบุรุษของเราได้อยู่ใต้เมฆ และต่างผ่านทะเลไป
ทุกคนรับบัพติศมาเข้าส่วนกับโมเสสในก้อนเมฆ และทะเล

1 โครินธ์ 10:3-4
ทุกคนได้รับประทานอาหารฝ่ายวิญญาณเดียวกัน
และทุกคนได้ดื่มจากศิลาฝ่ายวิญญาณ
ที่ติดตามพวกเขาไป และศิลานั้นคือพระคริสต์

1 โครินธ์ 10:5-6
แต่พระเจ้าไม่ทรงพอพระทัยคนส่วนมากและพวกเขาก็ได้ล้มตายกันในถิ่นกันดารสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่เรา เพื่อว่าเราจะไม่โหยหาสิ่งที่ชั่วเหมือนพวกเขา
1 โครินธ์ 10:7-8
ดังนั้น จงอย่ากราบไหว้รูปเคารพ เหมือนที่บางคนในพวกเขาทำ เพราะมีคำเขียนว่า“ประชาชนนั่งลงเพื่อกินและดื่ม แล้วลุกขึ้นเล่นมั่วสุมกัน” อย่าทำผิดทางเพศเหมือนที่พวกเขาทำ และล้มตายกันเกลื่อนถึง 23,000 คนภายในวันเดียว

1 โครินธ์ 10:9-10
อย่าให้เราลองดีกับองค์พระผู้เป็นเจ้าเหมือนอย่างที่บางคนทำ
แล้วถูกงูกัดตายไป และอย่าบ่น เหมือนกับบางคนทำแล้วถูกประหารด้วยทูตมรณะ
1 โครินธ์ 10:11-12
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับพวกเขาเพื่อเป็นตัวอย่าง และถูกบันทึกไว้เพื่อเตือนใจพวกเราที่จะเผชิญกับยุคสุดท้าย
ดังนั้น คนที่คิดว่าตัวเองยืนมั่นคงให้ระวังตัวว่า จะไม่ล้มลง

1 โครินธ์ 10:13
ไม่มีการทดสอบใด ๆ จะเกิดกับท่านโดยไม่ได้เกิดกับคนอื่นมาก่อน และพระเจ้าทรงซื่อตรง พระองค์จะไม่ทรงยอมให้ท่านถูกทดสอบเกินกว่าที่ท่านจะทนได้ และเมื่อถูกทดสอบอย่างยากเย็นนั้น พระองค์จะทรงให้มีทางออก ด้วย เพื่อว่าพวกท่านจะสามารถอดทนได้
1 โครินธ์ 10:14-15
ดังนั้น เพื่อนที่รักของข้า จงหนีจากการไหว้รูปเคารพ
ข้ากำลังพูดกับท่านอย่างที่พูดกับคนมีปัญญา​
ขอให้ท่านพิจารณาสิ่งที่ข้าพูดเถิด

1 โครินธ์ 10:16
ถ้วยแห่งพระพรที่เราได้กล่าวขอพรไม่ได้เป็นสิ่งที่เรามีส่วนร่วมกับพระโลหิตของพระคริสต์หรือ? ขนมปังที่เราฉีกออกไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำใหเ้รามีส่วนในพระกายของพระคริสต์หรือ?
1 โครินธ์ 10:17-18
เป็นเพราะมีขนมปังก้อนเดียวเราซึ่งมีหลายคนจึงเป็นหนึ่งในกายเดียวเพราะเราทุกคนต่างกินจากขนมปังก้อนเดียวกัน ดูประชาชนอิสราเอลสิคนที่กินอาหารไหว้รูปเคารพก็มีส่วนร่วมในแท่นบูชานั้นไม่ใช่หรือ?

1 โครินธ์ 10:19-20
ข้ากำลังกล่าวว่า รูปเคารพ หรืออาหารที่นำมาบูชาเคารพ มีความศักดิ์สิทธิ์อย่างนั้นหรือ? ไม่ใช่เช่นนั้น ข้ากำลังหมายความว่า สิ่งที่พวกเขาบูชารูปเคารพนั้น เป็นการบูชาผีมาร ไม่ใช่เป็นการ
ถวายพระเจ้า ดังนั้นข้าจึงไม่ต้องการให้ท่านมีส่วนร่วมกับพวกผีมาร
1 โครินธ์ 10:21-22
ท่านจะดื่มจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้าและถ้วยของมารไม่ได้
เราจะกระตุ้นความหวงแหนขององค์พระผู้เป็นเจ้าหรือ?

เรามีกำลังมากกว่าพระองค์อย่างนั้นหรือ?

1 โครินธ์ 10:23-24
เราทำทุกสิ่งได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งที่ทำนั้นจะเป็นประโยชน์
เราทำทุกสิ่งได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งที่ทำนั้นจะเสริมสร้างเราขึ้น
อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนคนเดียวแต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นด้วย
1 โครินธ์ 10:25-26
ทุกสิ่งที่เขาขายในตลาด เป็นเนื้อที่รับประทานได้ ไม่ต้องมัวซักถามรายละเอียดเพื่อเห็นแก่มโนธรรม เพราะว่า “ทั้งโลกและสารพัดสิ่งในโลกเป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า

1 โครินธ์ 10:27-28
ถ้าคนที่ไม่เชื่อพระเจ้า เชิญท่านไปในงานเลี้ยง และท่านอยากไป ทุกสิ่งที่เขาวางไว้ให้รับประทาน ก็รับประทานได้โดยไม่ต้องถามอะไรเพื่อเห็นแก่มโนธรรมแต่หากเกิดมีใครมาบอกว่า “อาหารนี้ใช้บูชารูปเคารพไปแล้ว” ก็อย่าแตะต้องเพื่อเห็นแก่คนที่บอก และเห็นแก่มโนธรรม
1 โครินธ์ 10:29-30
ข้าหมายถึงมโนธรรมของคนนั้น ไม่ได้หมายถึงของท่าน ทำไมอิสรภาพของข้าจะต้องถูกตัดสินด้วยมโนธรรมของผู้อื่น?
ถ้าข้ารับประทานด้วยใจขอบพระคุณแล้วเหตุใด จึงมีคนกล่าวร้าย ในเมื่อได้ขอบพระคุณไปแล้ว?

1 โครินธ์ 10:31-32
ดังนั้น ไม่ว่าท่านจะดื่ม จะกินสิ่งใดก็จงทำทุกอย่างเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า อย่าเป็นต้นเหตุทำให้พวกยิว กรีก หรือคริสตจักรของพระเจ้าหลงผิดสะดุดไป
1 โครินธ์ 10:33
แม้ข้าเอง ก็พยายามทำทุกสิ่งเพื่อให้ทุกคนพอใจ ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน แต่เห็นแก่คนจำนวนมากเพื่อพวกเขาจะได้รับความรอด

1 โครินธ์ 10:1-2
เรื่องต่อไปในบทนี้ เป็นเรื่องของการไหว้รูปเคารพซึ่งมีตัวอย่างเกิดขึ้นในสมัยของโมเสส ที่ได้นำคนอิสราเอลออกมาจากการเป็นทาสในอียิปต์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นต้นแบบบ่งถึงการที่เราทุกคนได้ออกจากชีวิตบาปเข้ามาสู่ชีวิตใหม่ในพระคริสต์ ท่านเปาโลกำลังบอกว่า ทุกคนที่ออกมาจากอียิปต์
ได้ผ่านประสบการณ์ในการเดินผ่านทะเลบนดินแห้งได้เข้าส่วนในการเกิดมาเป็นชนชาติใหม่ ได้ฝังอดีตในทะเลนั้น ได้ทำลายศัตรูราบคาบในทะเลนั้น

1 โครินธ์ 10:3-4
ทุกคนได้กินมานา และนกคุ่ม เป็นอาหารที่มีคุณค่าครบ ทำให้พวกเขายังไปต่อได้ แต่น่าสังเกตว่าคนสองล้านคนที่เดินทางไปด้วยกัน ที่ควรใช้เวลาเพียงประมาณ 7-8 วัน กลับต้องใช้เวลานานถึง 40 ปี ในช่วงเวลาเหล่านั้น พวกเขามีทั้งอาหารและน้ำให้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ยกเว้นมีบาง
โอกาสที่ทำให้พวกเขาบ่นว่า โมเสสอย่างไม่ไว้หน้าท่านเปาโลมีความเห็นว่า ศิลาที่น้ำไหลมาให้เขาดื่มนั้นคือพระคริสต์ ที่ไปกับพวกเขาตลอดทาง

1 โครินธ์ 10:5-6
และที่ท่านเปาโลได้เอาเรื่องของพวกเขามาเป็นตัวอย่างให้พี่น้องในโครินธ์ก็เพื่อพวกเขาจะไม่ทำบาปอย่างคนอิสราเอลในสมัยก่อนนั้น ในหมู่คนจำนวนมาก แม้จะมีคนที่เชื่อฟังอยู่บ้าง แต่คนส่วนใหญ่ก็เป็นคนประเภทบ่นไม่หยุด กร่างในเรื่องต่าง ๆ หาเรื่องได้ทุกวัน และแถมยังโวยวายกับโมเสสว่าอยากกลับไปกินอาหารในอียิปต์ เบื่ออาหารที่พระเจ้าประทานให้ในถิ่นกันดารจนแทบอาเจียน เรา ไม่เห็นความกตัญญูของคนพวกนี้

1 โครินธ์ 10:7-8
ชายอิสราเอลได้ทำผิดทางเพศกับหญิงชาวโมอับที่มาชวนให้พวกเขาเซ่นไหว้พระ โดยพีธีกรรมคือการมั่วเพศนั่นเอง และวันนั้น พระเจ้าทรงพิโรธจัดมาก ท่านเปาโลไม่ต้องการให้พี่น้องโครินธ์ทำผิดต่อพระเจ้าแล้วเจอกับภัยพิบัติที่น่ากลัวในกันดารวิถี 25:9 บันทึกว่า ตายทั้งหมดถึง 24000 คน นั่นคือคนที่ตายจากวิบัติครั้งนั้น แต่อาจรวมถึงวันต่อ ๆ มาด้วย แต่สมัยนี้แปลกผู้เชื่อจำนวนมากไม่ได้กลัวพระเจ้าเลย

1 โครินธ์ 10:9-10
คนอิสราเอลโบราณ พี่น้องชาวโครินธ์ และเราทุกคนที่ได้เข้ามาอยู่ในร่มพระคุณของพระเจ้า มีประสบการณ์เดียวกัน ได้รับการไถ่สู่ชีวิตใหม่เช่นกัน สิ่งที่ท่านเปาโลกำลังบอกเราก็คือ อย่าไปทำตัวอวดดีต่อพระเจ้า บ่นว่า ไม่พอใจโดยไม่ได้ดูว่าตนเองไม่มีดีจะอวด ไม่ได้ทำประโยชน์ให้ใครมีแต่จะเอาข้างเดียวเท่านั้น คนที่บ่น คนที่ชอบลองดีทั้งหลาย มักเป็นคนที่ไม่เป็นโล้เป็นพายทั้งสิ้น

1 โครินธ์ 10:11-12
การที่รู้ว่าตัวเองใกล้ชิดพระเจ้า และยังอยู่ในการป้องกันของพระองค์นั้น ปลอดภัยแน่ แต่คนที่คิดว่าตัวเองมั่นคง เป็นความคิดที่กลายเป็นพึ่งพาความเก่งกาจของตนเอง เป็นคนที่คิดว่า ตนเองเก่ง ไม่มีทางหลงไปจากพระเจ้า นี่เป็นความทะนงที่กำลังพาไปหาความพินาศ ดังนั้น ไม่ว่าเราจะ
อยู่อย่างใกล้่ชิดพระเจ้าขนาดไหนก็ตาม อย่าลืมว่าเราอาจจะพลาดพลั้ง เผลอไป ชั่ววินาทีเดียวก็อาจหมายถึงความพินาศนิรันดร์

1 โครินธ์ 10:13
เพราะการทดสอบความเชื่อจำเป็น เพราะทำให้ทุกคนต้องพิสูจน์ตนเอง ต้องถูกเผา ผู้เชื่อต้องผ่านการทดสอบด้วยวิธีต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงเห็นว่า
เหมาะกับเขา และหลังจากนั้น เมื่อเขาสอบผ่านเขาจะได้รับรางวัลจากพระเจ้า (ยากอบ 1 1 เปโตร………..ดังนั้น เมื่อเราเจอปัญหาใด ๆ ก็ตามให้นึกถึงข้อนี้
ว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ที่จะให้ทางออก และการทดสอบทำให้เรารู้ว่า เนื้อแท้จริงของเราเป็นคนอย่างไร

1 โครินธ์ 10:14-15
ท่านเปาโลพยายามให้พี่น้องได้มีความเข้าใจว่าถึงจะกินเนื้อที่มาจากการไหว้รูปเคารพ ก็ไม่ได้ผิดอะไรถ้าเข้าใจว่า รูปเหล่านั้น ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีค่า แต่การไหว้รูปเคารพที่ท่านกำลังกล่าวต่อไปคือการที่พี่น้องคริสเตียน เข้าไปในวิหารของพระเหล่านั้น และเข้าร่วมในพิธีต่าง ๆ ซึ่งเป็นการผิดต่อพระเจ้าโดยตรง เพราะพระเจ้าทรงห้ามการไหว้รูปเคารพใด ๆ มาตั้งแต่ต้น ท่านขอให้เขาหลีกหนีจากการกระทำนั้น

1 โครินธ์ 10:16
เมื่อเราเข้ามาร่วมพิธี ศีลมหาสนิท เป็นสัญลักษณ์บอกว่า เราผู้เชื่อจะมีส่วนในการทนทุกข์ของพระคริสต์ ถ้วยแห่งพระพรที่มีในพิธีศีลมหาสนิทนั้น เป็น
ถ้วยที่พระเยซูทรงอวยพระพรไว้ในอาหารครั้งสุดท้ายของพระองค์ เป็นพันธสัญญาใหม่ด้วยพระโลหิตของพระองค์เอง เมื่อไรที่เราได้มีส่วนร่วมในการดื่ม เราก็ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์

1 โครินธ์ 10:17-18
ขนมปังที่แต่ละคนกินเป็นส่วนของขนมปังก้อนเดียวกัน สัญลักษณ์ที่สื่อคือ ทุกคนต่างมีส่วนในขนมปังก้อนนั้น ทุกคนมีขนมปังก้อนนั้นอยู่ในตัวเองเหมือนกัน เราจึงเป็นกายเดียว ดังนั้น ท่านเปาโลย้อนกลับไปเพื่ออธิบายความว่าการที่กินอาหารที่ไหว้รูปเคารพ เท่ากับมีส่วนร่วมในรูปเคารพ ในพิธีกรรม ในความเชื่อ ในแท่นบูชานั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นการเข้าไปมีส่วนในความเชื่อที่ผิดต่อพระเจ้า

1 โครินธ์ 10:19-20
รูปเคารพเป็นสิ่งที่มองเห็น เป็นพระที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยมือของตัวเอง แต่หาได้มีอำนาจใด ๆมองไม่เห็น ไม่ได้ยิน พูดไม่ได้… แต่เราต้องเข้าใจว่า เบื้องหลังของความเชื่อในศาสนาใด ๆ มีอิทธิพลของมาร ที่ต้องการให้มนุษย์แสวงหาทางรอดด้วยตัวเอง ไม่ยอมมาตามทางของพระคริสต์มันต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของมนุษย์ไปในเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชีวิตนิรันดร์ ท่านเปาโลเตือนไม่ให้ผู้เชื่อเข้าไปมีส่วนใด ๆ กับรูปเคารพ ผีมาร

1 โครินธ์ 10:21-22
ดังนั้น สิ่งที่เราต้องระวังคือ การไม่เข้าไปมีส่วนในพิธีใด ๆ ของความเชื่ออื่น ๆ ที่ไม่ใช่ความเชื่อตามพระคำของพระเจ้า เราจะไปมีส่วนใด ๆ ไม่ได้เลย
การกินดื่ม การทำพิธีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเชื่อที่แตกต่างจึงเป็นสิ่งที่คริสเตียนมีความชัดเจนและนี่เองอาจเป็นเหตุให้เกิดความบาดหมางใจกันระหว่างคนในครอบครัวที่มีความเชื่ออื่น และมันเป็นส่วนหนึ่งที่พิสูจน์ว่า เราติดตามพระเจ้าจริงไหม

1 โครินธ์ 10:23-24
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายอย่างที่เราทำได้โดยไม่ผิดต่อพระเจ้า บางอย่างเราก็รู้สึกว่า ไม่ผิดอะไรหญิงชายบางคู่อาจเช่าบ้านแบ่งกันจ่ายแล้วบอกว่า
ไม่มีอะไรกัน แต่การทำเช่นนั้นมันหมิ่นเหม่ต่อการทำบาปแถมยังทำให้พี่น้องสะดุดได้ บางคนบอกว่า การดื่ม ไม่น่าจะผิดบัญญัตินะ แต่พี่น้องที่ยังอ่อนในความเชื่อ อาจเห็นว่าเป็นสิ่งผิดมาก ๆดังนั้น แม้สิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่หากมันทำ ให้เพื่อนในความเชื่องุนงง สงสัย สะดุดก็ละดีกว่า

1 โครินธ์ 10:25-26
ในเมื่อทุกสิ่งเป็นของพระเจ้า ดังนั้น เราอาจกินเนื้อที่ถูกบูชามาแล้วโดยไม่รู้หรือรู้ก็ตาม โดยที่เราเชื่อว่า รูปเคารพนั้น ไม่ได้มีฤทธิ์อำนาจใด (แต่เราจะไม่เข้าไปร่วมในพิธีที่แสดงถึงการจำนนต่ออำนาจนั้น) ท่านเปาโลพยายามให้พี่น้องได้แยกออกระหว่างการแสดงความภักดีต่อรูปเคารพ กับการที่เข้าใจว่า มันไม่มีอำนาจ

1 โครินธ์ 10:27-28
ท่านเปาโลบอกหลักการกว้าง ๆ ไว้ว่า อะไรควรและอะไรไม่ควร แต่แล้วก็ยังมีปัญหาเพิ่มเติมมาให้ฉุกคิดอีก ถ้าฉันกินสิ่งที่บูชาไปแล้ว แต่มีคนหวังดี
มาบอกว่า นี่มันเนื้อบูชา เพื่อเห็นแก่คนที่มาบอกเราก็ต้องหยุดกินเลยการที่ท่านเปาโลบอกเช่นนี้ ทำให้เรารู้ว่า การใส่ใจผู้อื่นนั้น ช่างละเอียดอ่อน และเป็นการปฏิเสธตัวเองเกือบทุกสถานการณ์

1 โครินธ์ 10:29-30
การที่ท่านเปาโลให้เรายอมก็เพื่อเห็นแก่ความรักที่เรามีต่อคนที่ห่วงใย เราอาจขอบคุณพระเจ้าเราอาจโอเคต่อสิ่งที่ทำ และรู้ด้วยว่า มันไม่ผิดอะไรแต่เมื่อพี่น้องที่ยังคงไม่เข้าใจเต็มร้อยมาเตือนเราก็น่าจะฟังและช่วยให้เขาได้เติบโต ไม่ใช่อ้างสิทธิ์ของตนเองและทำให้เขาสะดุด ซึ่งบางทีมันไม่คุ้มเลย ชีวิตฝ่ายวิญญาณของคน ๆ หนึ่งอาจพินาศไปเพราะเราไม่ใส่ใจหรือไม่แคร์ก็เป็นได้

1 โครินธ์ 10:31-32
การใช้ชีวิตคริสเตียนไม่ใช่เป็นการใช้ชีวิตตามแบบของโลก แต่เป็นการใช้ชีวิตเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าในทุกอย่างที่ทำทุกอย่างที่คิด คอยระวังไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ในที่สุดแล้วก็คือ การตายต่อตนเองเพื่อให้ร่างกายของพระคริสต์ได้เติบโต ยอมตายต่อความพอใจส่วนตัวเพื่อคนอื่นจะได้รอด

1 โครินธ์ 10:33
การที่ทำให้ทุกคนพอใจ ไม่ได้หมายความว่าปฏิเสธความจริงของพระเจ้าเพื่อให้คนพอใจแต่เป็นการเข้าใจว่า แต่ละคนต่างมีความคิดการเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง ท่านเปาโลจึงปฏิบัติตนในแบบที่จะทำให้ท่านเป็นเพื่อนของคนเหล่านั้น เพื่อจะมีโอกาสเป็นพยานเรื่องความรอดของพระเจ้าให้ทุกคนที่ท่านพบได้พระเจ้าทรงพอพระทัยให้เราเป็นผู้ที่มีความเข้าใจคนอื่น ๆ อ่านโรม 14:1-9

พระคำเชื่อมโยง


1 โครินธ์ 9 คนงานของพระเจ้า

1 โครินธ์ 9:1-2
ข้าไม่มีเสรีหรือ? ข้าไม่ใช่อัครทูตหรือ?
ข้าไม่เคยเห็นพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราหรือ?
พวกท่านเป็นผลงานของข้าในองค์พระผู้เป็นเจ้ามิใช่หรือ?
แม้คนอื่นจะไม่มองข้าเป็นอัครทูต แต่ท่านก็มองข้าเป็นอัครทูต เพราะพวกท่านคือตราแห่งอัครทูตของข้าในองค์พระผู้เป็นเจ้า

1 โครินธ์ 9:3-5
กรณีที่มีคนตรวจสอบข้า ข้าขอแก้ต่างว่าเราไม่มีสิทธิ์ที่จะกินและดื่มหรือ? เราไม่มีสิทธิ์ที่จะพาพี่น้องซึ่งเป็นภรรยาที่เชื่อในพระเจ้าออกไปด้วยกันเหมือนเหล่าอัครทูตท่านอื่น และพี่น้องของพระเยซูเจ้า และเคฟาสหรือ?

1 โครินธ์ 9:6-7
มีแค่ข้าและบารนาบัสเท่านั้นหรือที่ต้อง
ทำงานหาเลี้ยงชีพโดยไม่มีสิทธิ์เลิก?
ใครบ้างที่เป็นทหารโดยเลี้ยงตัวเอง? 
ใครบ้างที่ทำสวนองุ่น แล้วไม่ได้กินผลจากสวนนั้น?
ใครบ้างที่ดูแลฝูงแกะโดยไม่ดื่มนมจากฝูงแกะนั้น?

1 โครินธ์ 9:8-9
ข้าพูดอย่างนี้ ตามความคิดของมนุษย์
เท่านั้นหรือ? ธรรมบัญญัติก็เขียนไว้อย่างนี้ด้วยไม่ใช่หรือ?
ในบัญญัติของโมเสส มีบันทึกไว้ว่า “อย่าเอาตะกร้อ ครอบปากวัวขณะที่มันกำลังนวดข้าวอยู่” (ฉธบ 25:4)
พระเจ้าทรงเป็นห่วงวัวหรือ?

1 โครินธ์ 9:10
พระองค์ตรัสอย่างนี้ ก็เพื่อพวกเรามิใช่หรือ? ข้อความนั้นบันทึกไว้สำหรับเรา ใช่แล้ว! แสดงว่าคนที่ไถนาก็ควรที่จะไถด้วยความหวัง และคนที่นวดข้าวก็ควรทำโดยหวังว่า เขาจะได้รับส่วนแบ่ง

1 โครินธ์ 9:11-12
ดังนั้น ถ้าเราหว่านเมล็ดฝ่ายวิญญาณให้แก่พวกท่าน แล้วมากไปหรือที่เราจะเกี่ยวเก็บฝ่ายเนื้อหนังร่างกายจากท่าน?
ถ้าคนอื่นมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากท่าน เราไม่มีสิทธิ์นี้มากกว่าหรือ?

1 โครินธ์ 9:13-14 ท่านรู้ไม่ใช่หรือว่า คนที่ทำงานในพระวิหารก็กินอาหารจากพระวิหาร และคนที่รับใช้ที่แท่นบูชาก็รับส่วนแบ่งจากแท่นบูชานั้น? เช่นกัน องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาว่า คนที่ประกาศข่าวประเสริฐควรได้รับการเลี้ยงชีพจากข่าวประเสริฐนั้น

1 โครินธ์ 9:15-16
แต่ว่าข้ายังไม่ได้ใช้สิทธิ์เหล่านี้เลย และข้าไม่ได้เขียนมาเพื่อจะให้เขาทำอย่างนั้นแก่ข้า เพราะว่าข้ายอมตายดีกว่าที่จะให้ใครมาทำลายเหตุผลที่ข้าอวดอยู่นี้ เพราะว่าถ้าข้าประกาศข่าวประเสริฐ ข้าก็ไม่มีเหตุที่จะโอ้อวดได้ เพราะข้าจำต้องประกาศ และถ้าข้าไม่ประกาศ วิบัติจงเกิดกับข้า

1 โครินธ์ 9:17-18
ถ้าข้าประกาศด้วยความเต็มใจ ข้าจะได้บำเหน็จรางวัล แต่หากไม่เต็มใจ พันธกิจนี้ ก็ยังเป็นความรับผิดชอบของข้า
แล้วอะไรจะมาเป็นรางวัลของข้า? รางวัลคือ ในการประกาศข่าวประเสริฐนั้นข้าทำโดยไม่คิดค่าจ้าง เพื่อจะไม่ต้องใช้สิทธิ์ที่ควรได้จากข่าวประเสริฐอย่างเต็มที่

1 โครินธ์ 9:19-20 ในเมื่อข้าเป็นอิสระ ไม่ได้ขึ้นกับใคร ข้าก็ยังยอมเป็นทาสของทุกคน เพื่อว่าจะได้ชนะใจคนมากยิ่งขึ้น ต่อคนยิว
ข้าก็เป็นเหมือนยิว เพื่อจะได้คนยิวมา ต่อคนที่อยู่ใต้บัญญัติ ข้าก็ทำตัวเหมือนพวกเขา เพื่อจะได้พวกที่อยู่ใต้บัญญัตินั้นมา
(ทั้งที่ข้าไม่ได้อยู่ใต้บัญญัติ)

1 โครินธ์ 9:21ต่อคนที่ไม่มีบัญญัติ ข้าก็เป็นเหมือนคนไม่มีบัญญัติ เพื่อที่จะได้พวกที่ไม่มีบัญญัตินั้นมา (ทั้งที่ข้าไม่ได้ไร้บัญญัติของพระเจ้า แต่อยู่ใต้บัญญัติของพระคริสต์)

1 โครินธ์ 9:22-23
ต่อคนที่อ่อนแอ ข้าก็เป็นเหมือนคนอ่อนแอเพื่อจะชนะใจคนอ่อนแอ ข้ายอมเป็นคนทุกแบบต่อทุกคน เพื่อช่วยบางคนให้รอดเท่าที่จะทำได้ที่ข้าทำอย่างนี้ เพื่อเห็นแก่ข่าวประเสริฐ เพื่อข้าจะได้มีส่วนในข่าวประเสริฐนั้น

1 โครินธ์ 9:24-25
ท่านไม่รู้หรือว่า คนที่วิ่งแข่งก็วิ่งกันทุกคน แต่คนที่ได้รางวัลมีเพียงคนเดียว? ดังนั้นจงวิ่งเพื่อชิงรางวัลให้ได้
ผู้ที่เข้าแข่งทุกคน ต่างผ่านการควบคุมตนเองในทุกเรื่องเพื่อจะได้มงกุฎที่ร่วงโรย แต่เราวิ่งเพื่อมงกุฏที่ยั่งยืน

คำอธิบายเพิ่มเติม

1 โครินธ์ 9:1-2
บทที่เก้านี้ แตกต่างออกไปจากบทก่อนหน้าที่พูดเรื่องของบูชา และความมุ่งมั่นที่จะไม่ให้พี่น้องสะดุดด้วยเสรีภาพส่วนตัวต่อจากนี้ไปท่านเปาโลกล่าวถึงวิธีการในการรับใช้พระเจ้าของท่าน ท่านยืนยันว่าท่านคืออัครทูตคนหนึ่ง (ซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 12 ท่านแรก แต่ท่านคือผู้ที่พบพระเยซูบนถนนเข้าเมืองดามัสกัส (กิจการ 9:15 ท่านเป็นผู้ที่พระเยซูทรงส่งออกไปประกาศพระกิตติคุณแก่คนต่างชาติ)

1 โครินธ์ 9:3-5
กรณีที่มีคนมาตรวจสอบ.. ข้ากล่าวแก้ต่าง เป็นคำเชิงกฎหมายที่ท่านนำมาใช้ ท่านกำลังถามว่าในฐานะที่ท่านเป็นอัครทูต ท่านไม่มีสิทธิ์ที่จะกินดื่ม
หรือนำภรรยาไปรับใช้ด้วยกัน โดยใช้ปัจจัยของพี่น้องในคริสตจักรอย่างนั้นหรือ?ส่วนใหญ่ผู้รับใช้มีครอบครัว ดังนั้น จึงมักนำภรรยาไปด้วย แต่ดูเหมือนว่า พี่น้องในคริสตจักรโครินธ์ ไม่ต้องการสนับสนุนท่าน ไม่ต้องการที่จะช่วยในการรับใช้ของท่านเลย

1 โครินธ์ 9:6-7
ผู้รับใช้ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากคริสตจักรมีแต่เปาโลและบารนาบัสที่หาเลี้ยงชีพเอง และยังรับใช้พระเจ้าโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากใคร
ท่านนำเรื่องทหาร เกษตรกร มาเป็นตัวอย่างว่าใครทำงานอะไร ก็ควรจะได้รับค่าจ้างจากงานที่ทำอ่านถึงตรงนี้ เราอาจคิดว่า ท่านเปาโลต้องการ
เงินสนับสนุนจากคริสตจักร ท่านพูดแรงเหลือเกิน ต้องอ่านต่อไปว่า จริง ๆ ท่านคิดอย่างไร

1 โครินธ์ 9:8-9
ท่านไม่ได้พูดเรื่องนี้ตามใจตัวเอง แต่พระคำของพระเจ้าได้สอนมานานแล้วว่า ขณะที่วัวกำลังนวดข้าว ก็อย่าเอาตะกร้อปิดปากไม่ให้มันกินข้าวตกที่
กำลังนวดอยู่ สงสัยจริงว่า มีคำบัญญัติไว้เพราะบางทีเจ้าของนา เจ้าของวัวก็ตระหนี่ และเอาเปรียบคนที่ทำงานให้ และเอาเปรียบแม้กระทั่งวัวของตัว
เอง บัญญัติข้อนี้มีไว้ให้เพื่อเจ้าของงานจะไม่ทำตัวน่าเกลียด และขูดรีดขูดเนื้อคนที่ทำงานให้ตน

1 โครินธ์ 9:10
อย่างที่กล่าวมาว่า พระเจ้าทรงบัญชาไว้ล่วงหน้าเพื่อเจ้าของงาน และเพื่อคนที่ทำงานให้จะได้รับพระพรกันถ้วนหน้า ได้รับส่วนแบ่งจากงานที่ทำการที่ไม่ยอมให้ผู้ร่วมงานได้มีกินมีใช้นั้น นอกจากโหดร้ายแล้ว ยังเป็นการคดโกง ร้ายที่สุดคือกระชากความหวังที่จะมีกินของคนที่ทำงาน ความหวังในชีวิตของทุกคนทำให้สู้ต่อไปได้ การฆ่าความหวังจึงเป็นการทำลายทั้งชีวิต

1 โครินธ์ 9:11-12
เอาล่ะ มาถึงคำถามที่พี่น้องชาวโครินธ์ต้องตอบแล้ว ในเมื่อผู้รับใช้ของพระเจ้าได้เตรียมตัวอย่างดีสอนเพื่อให้ชีวิตฝ่ายวิญญาณได้เติบโตกับพระเจ้าการที่จะได้รับตอบเป็นปัจจัยฝ่ายเนื้อหนัง มันไม่สมควรอย่างนั้นหรือ แล้วคนอื่นยังได้ ทำไมท่านเปาโลกับบารนาบัสเองไม่ได้. อ่านจากข้อความนี้ เราอาจประเมินได้ว่า เป็นเพราะพี่น้องชาวโครินธ์เอง ปฏิเสธ ไม่ยอมสนับสนุนการรับใช้ของท่านเปาโล

1 โครินธ์ 9:13-14
แม้แต่พระเยซูก็ยังตรัสไว้ชัดเจนในเรื่องนี้ ดูจากมัทธิว 10:10 และลูกา 10:7 “คนงานควรได้รับค่าจ้างของตน” และในสังคมโครินธ์ คนที่ทำงาน
ในวิหารใดก็ตาม ก็ยังได้ส่วนแบ่งจากแท่นบูชาพวกเขารู้ ชิน เข้าใจอยู่แล้ว ท่านเปาโลเขียนมาอย่างนี้ ก็ช่วยให้คริสตจักรทั่วโลกได้เข้าใจว่า พวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบต่อผู้รับใช้อย่างไร ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีผู้รับใช้พระเจ้าอีกมากมายที่ต้องทำงานเลี้ยงตัวเอง และรับใช้พระเจ้าอย่างท่านเปาโล

1 โครินธ์ 9:15-16
พบแล้ว ตอนนี้เราเห็นเป้าหมายชัดเจนของท่านเปาโลที่เขียนมาทั้งหมด ท่านแค่ชี้แจงให้เห็นว่า ทัศนคติของพี่น้องชาวโครินธ์เป็นอย่างไร ท่าน
ไม่ได้ต้องการเงินสนับสนุน แถมยังประชดด้วยว่า“ข้าไม่ได้รับเงินจากพวกนาย ที่ข้าประกาศข่าวประเสริฐ ข้ามีเหตุผลของข้าเอง” พี่น้องในโครินธ์ไม่ได้สนับสนุนท่านเปาโล และยังคิดดูหมิ่นท่านด้วยที่ทำงานมือ ความคิดนี้เป็นความคิดแบบกรีกชัดเจนมาก

1 โครินธ์ 9:17-18
ท่านเปาโลกำลังบอกว่า ที่ท่านประกาศ ไม่ใช่เพราะต้องการให้พี่น้องสนับสนุนท่าน เมื่อท่านทำอย่างเต็มใจ พระเจ้าจะทรงให้รางวัลแก่ท่าน หรือถ้าฝืน
ใจทำ อย่างไร ๆ งานนี้ยังเป็นความรับผิดชอบที่พระเจ้าประทานให้ท่านอยู่ดีชีวิตของท่านเปาโลไม่ได้อยู่เพื่อตัวเองต่อไปการที่ท่านทนทุกข์ ทำงานหนักเพื่อคริสตจักรท่านทำโดยไม่ได้รับปัจจัยใด ๆ จากพี่น้องโครินธ์และไม่ใช้สิทธิ์ซึ่งควรได้จากการทำงานเลย

1 โครินธ์ 9:19-20
การยอมเป็นทาสของท่านนั้น คือการยอมต่อความเชื่อที่ยังอ่อนแอของพี่น้องที่ยังไม่เข้าใจ ท่านขอให้มาระโกเข้าสุหนัตเพื่อเห็นแก่คนยิวในเมืองที่มองว่า มาระโกเป็นลูกเขาเป็นลูกครึ่งกรีก (กิจการ 16:3) ท่านทำเพราะรักพี่น้องเพื่อไม่ให้ทำให้เขาสะดุด แต่ท่านก็ไม่ทำสิ่งใดที่ผิดต่อบัญญัติของพระเจ้า ในกาลาเทีย 2:3 มีบางคนพยายามให้คริสเตียนใหม่เข้าสุหนัต เพื่อลดความสำคัญของไม้กางเขน ท่านก็ไม่ยอมให้กับความคิดนั้น และไม่ให้ทิตัสชาวกรีกเข้าสุหนัต

1 โครินธ์ 9:21
นี่ไม่ได้หมายความว่า ท่านเปาโลยอมลดมาตรฐานบัญญัติของพระเจ้า แต่ท่านสอน ใช้ชีวิตกับคนเหล่านั้น ด้วยภาษา วิธีการที่พวกเขาเข้าใจได้ คำว่าคนที่ไม่มีบัญญัตินี้ หมายถึงคนต่างชาติที่ไม่ใช่เป็นคนยิว มีความเชื่อ วัฒนธรรมที่แตกต่างหลายอย่างเช่นการกิน คนต่างชาติก็ไม่มีกฎการกินมากอย่างคนยิว ท่านเปาโลก็จะกินอาหารอย่างที่คนต่างชาติกิน เป็นต้น สำหรับท่าน ท่านยึดบัญญัติแห่งรักของพระคริสต์ ไม่ใช่บัญญัติโมเสส

1 โครินธ์ 9:22-23
คนอ่อนแอในที่นี้ หมายถึงคนที่ยังจุกจิกในบทบัญญัติ อย่างเช่นคนที่ยังมีปัญหาเรื่องว่ากินเนื้อในวิหารได้หรือไม่ ท่านเปาโลก็จะยอมไม่เอาเสรีภาพของท่านที่คิดว่า กินได้ ไปทำให้พี่น้องเหล่านี้สะดุด เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้ปัญญาอย่างมาก โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่มีการบังคับให้ทุกคนคิดแบบเดียวกัน ถ้าไม่คิดแบบฉัน ฉันก็จะเทเธอเสียเป็นต้น เราจะทำอย่างไรกับคนที่เลือกข้างเด็ดขาด ไม่ยอมกับความคิดอื่นเลย?

1 โครินธ์ 9:24-25
ท่านเปาโลเน้นการมีวินัยในการฝึกฝนชีวิตเน้นวิสัยทัศน์ของผู้เข้าแข่งเพื่อได้รางวัล ลงแข่งเพื่อที่จะได้ชัยชนะมา ไม่ใช่แค่เพื่อเอาไว้คุยว่าเคยแข่ง
นักกีฬาทั่วไปได้เหรียญทอง ชื่อเสียง และความชื่นชมยินดีที่มีอยู่ชั่วครู่ ในช่วงเวลาที่ยังมีกำลังแข่ง แต่การแข่งในชีวิตคริสเตียนนั้นแตกต่าง
และชัยชนะที่ท่านกล่าวถึงก็ไม่ใช่รางวัลธรรมดา แต่เป็นมงกุฎที่ยั่งยืนนิรันดร์จากพระเจ้า เป็นรางวัลที่ถาวรเป็นนิรันดร์

พระคำเชื่อมโยง

1* กิจการ 9:15;
1 โครินธ์ 15:8; 3:6; 4:15
2* 2 โครินธ์ 12:12
4* 1 เธสะโลนิกา 2:6,9
5* มัทธิว 13:55; 8:14
6. กิจการ 4:36 7 2 โครินธ์ 10:4; เฉลยธรรมบัญญัติ 20:6; ยอห์น 21:15
9* เฉลยธรรมบัญญัติ 25:4
10* 2 ทิโมธี 2:6

11* โรม 15:27
12* กิจการ 18:3; 20:33; 2 โครินธ์ 11:12
13* เลวีนิติ 6:16,26; 7:6, 31
14* มัทธิว 10:10; โรม 10:15
15* กิจการ 18:3; 20:33; 2 โครินธ์ 11:10
16* โรม 1:14
17* 1 โครินธ์ 3:8, 14;9:18; กาลาเทีย 2:7 18 1 โครินธ์ 10:33
18* 1โครินธ์ 10:33; 7:31; 9:12
19* 1โครินธ์ 9:1; กาลาเทีย 5;13; มัทธิว 18:15

20* กิจการ 16:3; 21:23-26
21* กาลาเทีย 2:3; 3:2; โรม 2:12,14; 1โครินธ์ 7:22
22* โรม 14:1; 15:1; 1โครินธ์ 10:33; โรม 11:14
24* กาลาเทีย 2:2
25* ยากอบ 1:12
26* 2 ทิโมธี 2:5
27* โรม 8:13; 6:18; เยเรมีย์ 6:30