ฮีบรู 7 ครั้งเดียวเป็นพอ

ฮีบรู 7:1 เมลคีเซเดคท่านนี้ ทรงเป็นกษัตริย์แห่งเมืองซาเล็ม และเป็นปุโรหิตของพระเจ้าองค์สูงสุด ท่านพบอับราฮัมตอนที่กลับมาจากการต่อสู้กับกษัตริย์ทั้งหลายและได้อวยพรท่าน (ปฐมกาล 14:8-16)
ฮีบรู 7:2 และอับราฮัมได้มอบหนึ่งในสิบจาก ของที่ริบมาทั้งหมด ประการแรกนามของท่านหมายถึง “กษัตริย์แห่งความเที่ยงธรรม” ท่านยังเป็น “กษัตริย์แห่งเมืองซาเล็ม” ซึ่งหมายถึง “กษัตริย์แห่งสันติสุข”
ฮีบรู 7:3 ไม่มีบันทึกลำดับวงศ์วานของท่าน ไม่มีบิดามารดา ไม่มีบันทึกวันเริ่มต้นชีวิตหรือวันสิ้นสุดชีวิต แต่เป็นเหมือนกับพระบุตรของพระเจ้า ท่านดำรงตำแหน่ง ปุโรหิตเป็นนิตย์


ฮีบรู 7:4-5 ให้พิจารณาให้ดีว่า ท่านเมลคีเซเดคยิ่งใหญ่เพียงใด แม้แต่อับราฮัมต้นวงศ์วานของเรา ยังได้ถวายหนึ่งในสิบจากสิ่งที่ริบมาจากการสู้รบ บทบัญญัตินั้นสั่งให้วงศ์วานเลวีที่มีตำแหน่งปุโรหิตรับหนึ่งในสิบจากประชาชน นั่นคือ จากพี่น้องของพวกเขา แม้ว่า พี่น้องของเขาเองก็เป็นเชื้อสายของอับราฮัมเช่นกัน

ฮีบรู 7:6-7 แต่ท่านเมลคีเซเดค ท่านไม่ได้สืบเชื้อสายจากเลวี ก็ได้เก็บหนึ่งในสิบจากอับราฮัม และอวยพรให้เขาผู้ได้รับพระสัญญาการที่ผู้น้อยได้รับพรจากผู้ใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้
ฮีบรู 7:8 ในกรณีของเลวี คนที่รับหนึ่งในสิบเป็นมนุษย์ที่ตาย แต่กรณีของท่านเมลคีเซเดคท่านเป็นผู้ที่ได้รับการประกาศว่า ดำรงชีวิตอยู่ตลอดไป

ฮีบรู 7:9-10 กล่าวได้อีกอย่างคือเลวีที่รับหนึ่งในสิบ ได้ถวายหนึ่งในสิบผ่านอับราฮัมแล้วเพราะเมื่อท่านเมลคีเซเดคพบอับราฮัม เลวียังอยู่ในกายของอับราฮัมซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเขาฮีบรู 7:11 หากว่าระบบปุโรหิตเลวีซึ่งเป็นฐานของบทบัญญัติ สามารถทำให้ผู้คนมีความสมบูรณ์แบบอย่างที่พระเจ้าทรงประสงค์ เหตุใดพระองค์จึงทรงตั้งระบบปุโรหิตที่แตกต่างไป โดยมีปุโรหิตตามแบบอย่างท่านเมลคีเซเดค ไม่ใช่ตามแบบอย่างของอาโรน?

ฮีบรู 7:12-13 เพราะเมื่อระบบของปุโรหิตเปลี่ยนแปลงกฎบัญญัติก็ต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกันปุโรหิตผู้ที่เรากล่าวถึงเป็นผู้ที่มาจากเผ่าอื่น ซึ่งไม่เคยมีใครในเผ่านั้นรับใช้ต่อหน้าแท่นบูชาในฐานะปุโรหิตมาก่อน
ฮีบรู 7:14-15 เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรามาจากเชื้อสายเผ่ายูดาห์ โมเสสเองไม่เคยกล่าวว่ามีปุโรหิตมาจากเผ่านั้น และสิ่งที่เรากล่าวถึงจะชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีปุโรหิตอีกท่านที่เหมือนท่านเมลคีเซเดคปรากฏขึ้น 

ฮีบรู 7:16-17 พระองค์เป็นปุโรหิตโดยไม่ได้ใช้กฎระเบียบการสืบทอดตามบรรพบุรษแต่เป็นโดยฤทธิ์เดชแห่งชีวิตซึ่งไม่อาจทำลายได้ ตามที่ได้มีคำยืนยันว่า
“ท่านเป็นปุโรหิตตลอดไปเป็นนิตย์ตามแบบอย่างของท่านเมลคีเซเดค”

ฮีบรู 7:18-19 กฎเกณฑ์ดั้งเดิม (ในระบบปุโรหิต)จึงถูกยกเลิกไป เพราะไม่ได้คุณภาพและไร้ประโยชน์ (เพราะบทบัญญัติไม่อาจทำให้สิ่งใดดีพร้อมได้เลย) มีการให้ความหวังที่ดีกว่า ความหวังนี้ทำให้เราเข้าใกล้พระเจ้าได้

ฮีบรู 7:20-21 และทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ก็ด้วยคำปฏิญาณจากพระเจ้า เพราะผู้อื่นที่มาเป็นปุโรหิตต่างมาโดยไม่ได้มีคำปฏิญาณใด ๆ แต่พระเยซูทรงมาเป็นปุโรหิตด้วยคำปฏิญาณ เมื่อพระเจ้าตรัสกับพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงปฏิญาณแล้วและจะไม่เปลี่ยนพระทัย คือว่า ท่านเป็นปุโรหิตตลอดไปเป็นนิตย์”

ฮีบรู 7:22-23เป็นเพราะคำปฏิญาณนี้เอง พระเยซูจึงทรงมาเป็นผู้ประกันของพันธสัญญาที่ดีกว่าเดิม มีปุโรหิตมากมายที่รับตำแหน่งสืบทอดต่อ ๆ กัน เพราะความตายนั้นกั้นไม่ให้พวกเขาทำงานในตำแหน่งนั้นตลอดไป

ฮีบรู 7:24-25 แต่เป็นเพราะพระเยซูทรงพระชนม์เป็นนิตย์ พระองค์จึงทรงเป็นปุโรหิตที่ดำรงตำแหน่งอย่างยั่งยืน
ดังนั้น พระองค์จึงทรงช่วยคนที่เข้ามาใกล้พระเจ้าโดยทางพระองค์ถึงที่สุดเพราะพระองค์ทรงพระชนม์อยู่เสมอ
เพื่อทูลวิงวอนเพื่อพวกเขา

ฮีบรู 7:26 มหาปุโรหิตเช่นนี้ สามารถช่วยเราจริง ๆ นั่นคือ
ท่านที่บริสุทธิ์ ปราศจากความผิดไร้ตำหนิ ถูกแยกออกจากคนบาปและเป็นที่ยกย่องเหนือฟ้าสวรรค์

ฮีบรู 7:27 พระเยซูไม่เหมือนมหาปุโรหิตอื่น เพราะพระองค์ไม่จำเป็นต้องถวายเครื่องบูชาประจำวันเพื่อบาปของพระองค์ก่อนและต่อมาเพื่อบาปของประชาชน ที่พระองค์ทรงสละชีวิตของพระองค์เอง เท่ากับเป็นเครื่องบูชาเพื่อบาปครั้งเดียวเป็นพอ
ฮีบรู 7:28 เพราะกฎบัญญัติแต่งตั้งคนที่มีข้อจำกัดเพราะเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอมาเป็นมหาปุโรหิต แต่คำปฏิญาณที่มาหลังกฎบัญญัตินั้นได้แต่งตั้งพระบุตรผู้ทรงถูกทำให้สมบูรณ์เพียบพร้อมตลอดไปเป็นนิตย์

อธิบายเพิ่มเติม

ฮีบรู 7:1
ครั้งแรกที่เราพบท่านเมลคีเซเดคนั้น คือครั้งที่อับราฮัมไปช่วยชีวิตโลทหลานชาย โดยการสู้รบกับกษัตริย์จากตะวันออกที่กวาดต้อนชาวโสโดม
ไป ชนะพวกเขาได้ราบคาบ และริบข้าวของมาอีกมากมาย เมื่อกลับมา ก็มาพบกับท่านเมลคีเซเดคโดยอับราฮัมได้มอบทรัพย์สินที่ได้มาหนึ่งในสิบให้กับท่านซึ่งเป็นทั้งกษัตริย์เมืองเยรูซาเล็ม และเป็นปุโรหิตคือคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ด้วย

ฮีบรู 7:2
ชื่อของท่านเมลคีเซเดกนั้น มีความหมายตรงไปยังองค์พระเยซูคริสต์ นั่นคือ คำว่า เมลคี หมายถึงกษัตริย์​และ เซเดค คือ ความเที่ยงธรรม
แปลชื่อท่านตรง ๆ คือ “กษัตริย์แห่งความเที่ยงธรรม” และยังทรงเป็นกษัตริย์แห่งสันติสุขซึ่งก็มีความหมายถึง องค์พระเยซูผู้ประทานสันติสุขให้ไม่เหมือนสันติสุขแบบของโลก อิสยาห์ 9:6 และ 11:14 ได้บอกล่วงหน้าว่าพระเยซูคือราชาแห่งสันติ

 ฮีบรู 7:3
อย่าเพิ่งถอดใจเรื่องของท่านเมลคีเซเดคผู้นี้ เราอาจคิดว่า ท่านเป็นใคร เกี่ยวข้องอะไรกับฉันคนนี้ ถ้าเรารู้จักท่าน เราจะเข้าใจอะไร ๆ ที่เกี่ยวกับพระเยซูในฐานะคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ มากขึ้น มีบันทึกเกี่ยวกับท่านในหนังสือโบราณอื่น ๆ แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้จากฮีบรูคือ ท่านเหมือนพระบุตรพระเจ้า และดำรงตำแหน่งนี้ตลอดไป

ฮีบรู 7:4-5
การที่อับราฮัมมอบสิบลดให้กับเมลคีเซเดค เท่ากับว่า เมลคีเซเดคเป็นผู้ที่ใหญ่กว่า อับราฮัมยอมรับว่า กษัตริย์-ปุโรหิตองค์นี้ ต้องได้รับการนับถือต้องได้รับของถวาย เมลคีเซเดคมาก่อนระบบปุโรหิต-เลวีในสมัยของโมเสส การมอบของถวายหนึ่งในสิบของอับราฮัมนี้ เป็นต้นแบบสำคัญที่อีกสี่ร้อยปีต่อมาที่พระเจ้าได้ทรงให้โมเสสตั้งระบบคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ด้วยเผ่าเลวี ซึ่งเป็นระบบที่จะหมดสิ้นในวันหนึ่ง

ฮีบรู 7:6-7
แม้ว่าอับราฮัมเป็นที่นับถือของผู้คนมากมาย ในฐานะที่เป็นบิดาของประชาชาติ แต่แล้วกลับมาพบว่า มีผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าเขา และยังอวยพรเขาด้วย ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะท่านเมลคีเซเดค รับของถวาย และให้พรแก่อับราฮัม เท่ากับอับราฮัม บิดาแห่งประชาชาติยังมีฐานะที่ต่ำกว่าท่านเมลคีเซเดค จากเหตุการณ์ตอนนี้เราพบว่า ระบบคนกลางระหว่างพระเจ้ามนุษย์มีมานานแล้ว ก่อนระบบปุโรหิตสมัยโมเสส

ฮีบรู 7:8
จากข้อสามกล่าวว่าลักษณะของท่านเมลคีเซเดคก็คือ ไม่มีบิดามารดา ไม่มีลำดับวงศ์ ไม่มีวันเกิดหรือวันสิ้นชีวิต เป็นเหมือนพระบุตรพระเจ้า และ
เป็นปุโรหิตตลอดไป สิ่งที่กำลังหมายถึงก็คือการที่เมลคีเซเดคมาปรากฏตัว มีความสำคัญมากกว่าระบบปุโรหิตของเผ่าเลวีที่โมเสสตั้งขึ้น 
มีความเหมือนกับหน้าที่ตำแหน่งของพระเยซูแบบเหมือนเป๊ะ ทุก ๆ อย่างตามที่บรรยายไว้

ฮีบรู 7:9-10
สิบลดที่อับราฮัมมอบให้กับเมลคีเซเดค มีความสำคัญมากเพราะเท่ากับว่า เลวีในสมัยสี่ร้อยปีต่อมา ก็ได้ให้สิบลดแก่เมลคีเซเดคล่วงหน้าแล้ว
ผ่านอับราฮัมซึ่งเป็นต้นตระกูลของพวกเขาที่ผู้เขียนได้พยายามอธิบายมาถึงตอนนี้ ก็เพื่อผู้อ่านซึ่งเป็นคนยิว ที่ยังยึดติดกับระบบปุโรหิต
จะได้เข้าใจว่า การที่พระเยซูทรงเป็นปุโรหิตหรือคนกลางของเรานั้นสำคัญอย่างยิ่ง

ฮีบรู 7:11
เราจะเห็นว่า พระเจ้าทรงต้องการระบบคนกลาง (ปุโรหิต) แบบอย่างของท่านเมลคีเซเดค ไม่ใช่แบบอาโรน ตรัสกับพระเยซูในในฮีบรู 5:5-6 ว่า “เจ้าเป็นบุตรชายของเรา.. เจ้าเป็นปุโรหิตนิรันดร์ตามแบบอย่างของท่านเมลคีเซเดค” ระบบของอาโรนทำให้เรารู้ว่าเราบาปอย่างไร และมีมนุษย์เป็นคนกลาง แต่ระบบของเมลคีเซเดค มีพระเยซูผู้เดียวเป็นคนกลางระหว่างเรากับพระเจ้า

ฮีบรู 7:12-13
ระบบปุโรหิตเปลี่ยน แทนที่ปุโรหิตจะเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอ และทำผิดบาป กลับกลายเป็นพระเยซูทรงมาเป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์แทน
ดังนั้น กฎบัญญัติจึงไม่เหมือนเดิมในหลาย ๆ กรณี อย่างเช่นสมัยก่อนเรายึดกฎบัญญัติเป็นหลักในการที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย แต่มาบัดนี้
การเชื่อวางใจ และติดตามพระเยซูต่างหากที่ทำให้พระเจ้าทรงพอพระทัย

ฮีบรู 7:14-15
ย้อนกลับไปที่เรื่องของปุโรหิตหรือคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ สมัยโมเสสผู้ที่จะเป็นปุโรหิตได้ก็ต้องมาจากเผ่าเลวีเท่านั้น ทั้งหมดที่ผ่านมา
ระบบต่าง ๆ ที่เราเห็น เป็นเพียงการบอกเราว่าเราซึ่งเป็นมนุษย์ต้องได้รับการช่วยเหลือจากพระเจ้าด้วยวิธีของพระองค์ และสิ่งที่ดีกว่าระบบ
ปุโรหิตของโมเสสก็คือ ความบริสุทธิ์ขององค์ผู้เป็นปุโรหิต และศักดิ์ศรีความเป็นกษัตริย์

 ฮีบรู 7:16-17
พระเยซูทรงเป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์โดยที่พระองค์ไม่ได้รับตำแหน่งนี้มาด้วยการสืบทอดทางสายเลือดเหมือนอย่างเลวี แต่พระองค์
ทรงเป็นคนกลางหรือปุโรหิตแบบเดียวกับท่านเมลคีเซเดคซึ่งท่านมีตำแหน่งปุโรหิตนี้ก่อนที่จะมีระบบปุโรหิตในสมัยโมเสส และตำแหน่งหน้าที่ของพระองค์ก็ไม่ได้อยู่ชั่วคราว แต่ยั่งยืนเป็นนิตย์ไม่มีใครทำลายได้ ไม่หายไป ไม่มีวันสูญสิ้น

ฮีบรู 7:18-19
เราเป็นคนต่างชาติ ระบบปุโรหิตเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ ผู้เขียนกำลังบอกเราว่า กฎในระบบคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ซึ่งเป็นของเดิมที่พระเจ้าทรงตั้งในสมัยโมเสสนั้น ได้บอกชัดว่า ไม่สมบูรณ์แบบ ช่วยให้คนรอดไม่ได้จริง ๆ พระเจ้าไม่ทรงต้องการให้มนุษย์ติดกับดักของบัญญัติที่เพียงชี้ให้เห็นเราว่า เราเป็นคนแบบใด เราทำผิดอย่างไรไปบ้าง แต่เราต้องมาหาพระผู้ช่วยแท้

ฮีบรู 7:20-21
คำว่า คำปฏิญาณนั้น คือคำสัญญาอันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ อิสราเอลสมัยก่อนจะขอให้พระเจ้าทรงเป็นพยานคำปฏิญาณคำปฏิญาณบ่งบอกความตั้งใจที่จะทำให้สิ่งที่กล่าวไว้สำเร็จตามที่พูดอย่างแน่นอน ปุโรหิตหรือคนกลางทั้งหลายสมัยโมเสสเป็นต้นมาถูกตั้งโดยระบบต่อเนื่อง แต่พระเยซูทรงถูกตั้งโดยคำปฏิญาณของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์

ฮีบรู 7:22-23
ที่ทรงเป็นปุโรหิตที่ดีกว่าด้วยเหตุผลหลายประการเป็นเพราะพระเจ้าปฏิญาณจะประทานปุโรหิตนิรันดร์ ไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุไหน ปีไหนในประวัติ-
ศาสตร์ เราก็มีพระเยซูเป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับเรา -พระเยซูทรงพระชนม์อยู่เป็นนิตย์ -การเป็นคนกลางของพระองค์ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ต้องเปลี่ยนตัว มีการนับว่าจากสมัยโมเสสถึงค.ศ. 70 มีการเปลี่ยนตัวปุโรหิตถึง 83 คน !

ฮีบรู 7:24-25
ที่พระเยซูทรงช่วยได้เพราะทรงเป็นพระเจ้าเป็นมนุษย์ในพระองค์เดียวกัน พระเยซูทรงพระชนม์อยู่เพื่อวิงวอนเพื่อคนที่มาใกล้พระองค์ ทรงชำระให้บริสุทธิ์ ทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาการที่ทรงช่วยจนถึงที่สุดหมายถึงได้ทั้งการช่วยอย่างสมบูรณ์แบบ และ เสมอไป การช่วยให้รอดของพระองค์เพื่อเราจึงสมบูรณ์แบบรอบด้านและเป็นการช่วยเสมอ ตลอดไป 

ฮีบรู 7:26
ความเหมาะสมเช่นนี้ ไม่มีใครทำให้ได้นอกจากพระเจ้าจะทรงกำหนดให้ เวลาเรามีอาจารย์หรือครูสอนที่เราชอบ วันหนึ่งเราอาจผิดหวังเพราะเขาเป็นแค่มนุษย์มีโอกาสทำพลาดได้ แต่พระเยซูทรงอยู่เหนือมนุษย์คนใด เหนือฟ้าสวรรค์ ทรงไร้ที่ติหน้าที่คนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์จึงเหมาะสมที่จะเป็นของพระองค์ผู้เดียว

ฮีบรู 7:27
พระองค์ทรงแตกต่างจากปุโรหิตที่เป็นมนุษย์ที่อ่อนแอ เดี๋ยวพลาด เดี๋ยวกลับใจ เดี๋ยวดี พระองค์ได้ทรงสละชีวิตของพระองค์บนไม้กางเขน
เพียงครั้งเดียว และการสละครั้งนั้น เพียงพอแล้วและบัดนี้ทรงนั่งข้างขวาพระบิดาในสวรรค์ทรงรับการยกย่องเหนือผู้ใดในเอกภพ (ปุโรหิต
ทั่วไปต้องถวายเครื่องบูชาในวันลบบาปปีละครั้งแถมยังต้องถวายเครื่องบูชาทุกวันด้วย)

ฮีบรู 7:28 เราต้องแยกระหว่างกฎบัญญัติ กับคำปฏิญาณของพระเจ้า กฎ ทำไว้เพื่อให้ทำตามกฎกันต่อไปเรื่อย ๆ และมนุษย์ก็มีความจำกัด เพราะแพ้บาปได้เสมอ เราเองเป็นคนบาปที่ถูกแยกออกจากพระเจ้า ไม่มีระบบใดในโลก วิธีการใดที่จะเป็นสะพานระหว่างพระเจ้ากับเรา ดังนั้นเราจึงต้องการพระบุตรของพระเจ้าองค์นี้ มาเป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ ให้เราคืนดีกับพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง

พระคำเชื่อมโยง

1* ปฐมกาล 14:18-20
5* กันดารวิถี 18:21-26
6* ปฐมกาล 14:19-20; โรม 4:13
8* ฮีบรู 5:6; 6:20
11* ฮีบรู 7:18; 8:7

14* อิสยาห์ 1:1; มัทธิว 1:217* สดุดี 110:4
18* โรม 8:3
19* กิจการ 13:39; ฮีบรู 6
:18-19; โรม 5:2
21* สดุดี 110:4

22* ฮีบรู 8:6
25* ยูดา 24; โรม 8:34
26* ฮีบรู 4:15; เอเฟซัส 1:20
27* เลวีนิติ 9:7; 16:6