โรม 7:1
พี่น้องทั้งหลาย ท่านทุกคนเข้าใจบทบัญญัติของโมเสสอยู่แล้ว ดังนั้น ท่านรู้ว่า บทบัญญัติมีสิทธิอำนาจเหนือคน ๆ หนึ่ง ตราบเท่าที่เขายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น

โรม 7:2-3
เช่น สตรีที่แต่งงานแล้วก็มีสัญญาผูกมัดกับสามีของเธอตราบเท่าที่เขามีชีวิต แต่หากเขาสิ้นชีวิตไป เธอก็จะพ้นจากกฎการสมรส หากเธอไปอยู่กับชายคนอื่นในขณะที่สามียังมีชีวิต บทบัญญัติแจ้งว่า เธอทำผิดประเวณี แต่หากสามีสิ้นชีวิตไป เธอก็เป็นอิสระจากกฎการสมรสนั้น หากไปสมรสกับชายอื่น เธอก็ไม่ได้ผิดประเวณี

โรม 7:4
เช่นเดียวกัน พี่น้องชายหญิงเอ๋ย ชีวิตเก่าของท่านได้ตาย(ต่ออำนาจบทบัญญัติ)แล้วเมื่อท่านตายกับพระคริสต์
และบัดนี้ท่านเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงคืนพระชนม์จากความตาย สิ่งที่ตามมาก็คือเพื่อเราจะได้เกิดผลเพื่อพระเจ้า

โรม 7:5
ก่อนหน้านี้ เราถูกควบคุมโดยธรรมชาติบาปในตัวเรา (เนื้อหนัง) ความปรารถนาที่จะทำบาปนั้น ถูกเร้าขึ้นมาเพราะบท
บัญญัติทำงานในกายของเรา เพื่อว่าสิ่งที่เราทำนั้น จะนำเราไปสู่ความตาย

โรม 7:6
แต่มาบัดนี้ เราเป็นอิสระจากบทบัญญัติเพราะเราได้ตายจากบทบัญญัติที่คอยควบคุมเรา เพื่อว่าเราจะรับใช้พระเจ้า
ด้วยหนทางใหม่พร้อมกับองค์พระวิญญาณไม่ใช่ตามทางเดิมซึ่งเป็นกฎที่เขียนบันทึกเอาไว้

โรม 7:7
ถ้าอย่างนั้น เราจะพูดอย่างไร? ว่าบทบัญญัติคือบาปอย่างนั้นหรือ? ไม่สิจะไม่เป็นเช่นนั้น! ถ้าไม่เป็นเพราะบทบัญญัติ ข้าคงไม่รู้จักบาป ข้าจะไม่รู้จักว่าความโลภคืออะไร หากบทบัญญัติไม่ได้กล่าวว่า “อย่าโลภ!”

โรม 7:8
แต่บาปฉวยโอกาสที่จะใช้คำสั่งนั้น และทำให้ข้าอยากได้สิ่งต่าง ๆ ที่ข้าไม่ควรจะอยากได้ หากไม่มีบทบัญญัติ บาปก็ไม่มีอำนาจเหนือเรา (บาปก็ตายไปแล้ว

โรม 7:9-10
แต่ก่อน ข้าใช้ชีวิตโดยไม่มีบทบัญญัติ แต่พอมีคำบัญชามา บาปก็เกิดขึ้นข้าก็ตาย (ทำให้ข้ารู้ว่าข้าเป็นคนบาปที่ต้องรับโทษ)คำบัญชาที่ควรนำมาซึ่งชีวิตแต่กลับนำความตายมาให้ข้า

โรม 7:11-12
บาปนั้น ใช้โอกาสที่จะหลอกลวงข้าโดยใช้คำสั่งของบทบัญญัติมาทำให้ข้าต้องตาย
ดังนั้น บทบัญญัติ (νόμος)บริสุทธิ์ และคำบัญชา (ἐντολὴ)
ก็บริสุทธิ์ และถูกต้อง และดี

โรม 7:13
นี่หมายความว่า สิ่งที่ดีนำความตายมาให้ข้าอย่างนั้นหรือ?
จะไม่เป็นเช่นนั้น! บาปได้ใช้สิ่งดี(บัญญัติ)นำความตายมาให้ข้า ที่เกิดขึ้นอย่างนี้ก็เพื่อข้าจะได้รู้ว่าบาปแท้เป็นอย่างไร คำบัญชา ถูกใช้เพื่อแสดงให้เห็นว่า บาปนั้นชั่วร้ายสุดขั้วขนาดไหน

โรม 7:14-15
เพราะเรารู้ว่า บทบัญญัติเป็นเรื่องฝ่ายวิญญาณ แต่ข้าเป็นฝ่ายธรรมชาติบาป(เนื้อหนัง) เพราะบาปได้ควบคุมข้าดั่งว่าข้าเป็นทาสของมัน ข้าไม่เข้าใจสิ่งที่ข้าทำลงไป เพราะข้าไม่ได้ทำสิ่งที่ข้าต้องการทำ กลับลงมือทำสิ่งที่ข้าชัง

โรม 7:16-18
และหากข้าทำสิ่งที่ข้าเองไม่ต้องการทำเท่ากับข้าเห็นด้วยว่า บทบัญญัตินั้นดีดังนั้น ข้าจึงไม่ได้เป็นผู้ที่ทำสิ่งที่น่ารังเกียจนี้ แต่เป็นบาปที่อยู่ในตัวข้าต่างหากที่ลงมือทำเพราะข้ารู้ว่าไม่มีสิ่งดี
อาศัยอยู่ในธรรมชาติบาป(เนื้อหนัง)ของข้าเพราะข้าต้องการทำดี แต่กลับทำไม่ได้

โรม 7:19-20
เพราะข้าไม่ทำสิ่งดีที่ข้าต้องการทำ แต่ข้ากลับเฝ้ากระทำสิ่งชั่ว
ที่ข้าไม่ต้องการทำ ดังนั้น หากข้าทำสิ่งที่ข้าไม่ต้องการทำ
แสดงว่า ตัวข้าไม่ได้เป็นผู้กระทำแต่ธรรมชาติบาปในตัวข้าต่างหากที่ทำสิ่งนั้น

โรม 7:21-23
ดังนั้นข้าได้เรียนรู้กฎนี้คือ เมื่อข้าต้องการทำดี ความชั่วก็อยู่ในตัวข้า เพราะในส่วนลึกข้ายินดีกับบทบัญญัติของพระเจ้า แต่ข้าเห็นอำนาจอื่นที่ทำงานในตัวข้าซึ่งต่อสู้บทบัญญัติที่ข้ายอมรับ และยังจับกุมข้าเป็นเชลยของกฎแห่งบาปที่อยู่ในตัวของข้า

โรม 7:24-25
ข้าเป็นคนที่น่าสมเพชอะไรเช่นนี้ ใครจะช่วยข้าให้พ้นจากร่างแห่งความตายได้?
ขอบคุณพระเจ้าที่ทรงช่วยข้าให้รอดผ่านองค์พระเยซูคริสต์เจ้า ในความคิดจิตใจ ข้าเป็นทาสกฎของพระเจ้า แต่..
ธรรมชาติบาปในตัว กลับเป็นทาสกฎแห่งบาป

โรม 7:1
ก่อนหน้านี้ท่านเปาโลพูดถึงว่า เราจะเป็นทาสของใคร? ทาสของบาปและความตายหรือเป็นทาสของความเที่ยงธรรมและชีวิต แต่มาตอนนี้ ท่านกำลังจะอธิบายว่า บทบัญญัติมีอำนาจเหนือคน ๆ หนึ่งอย่างจำกัด เฉพาะตอนที่เขายังมีชีวิตในเนื้อหนังเท่านั้น นั่นคือ บทบัญญัติมีผลเฉพาะกับคนที่อยู่
ใต้บัญญัติ (คนบาป)เท่านั้นการตายจากบทบัญญัติ เป็นเงื่อนไขเดียวที่ทำให้บัญญัตินั้นเป็นโมฆะกับบุคคลนั้น
โรม 7:2-3
เช่นเดียวกับที่กฎการสมรสผูกพันชายหญิงที่ต่างยังมีชีวิตด้วยกัน แต่ถ้าคนหนึ่งตายไป อีกคนที่เหลือก็หลุดจากกฎแห่งการสมรส เขาจะมีสถานภาพเป็นม่ายหรือเหมือนคนโสดอีกครั้งทีนี้ เขาก็อาจจะไปมีครอบครัวใหม่ได้ โดยไม่ได้ติดว่ายังมีสามีหรือภรรยาที่มีชีวิตอยู่ ท่านเปาโลนำเรื่องนี้มาพูดก็เพื่อให้เข้าใจชัดเจนว่ามีบางอย่างที่จะช่วยให้เราพ้นจากผลของบาปในชีวิตเรา ….
โรม 7:4
เราอ่านช้า ๆ ให้เข้าใจว่า จากนี้ไปเราไม่เป็นทาสไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของบทบัญญัติอีกต่อไปแล้วเพราะ เราได้ตายไปกับพระเยซู ฟื้นไปกับพระองค์
เรียบร้อยแล้ว จากชนชาติที่อยู่ใต้บทบัญญัติมาเป็นชนชาติแห่งชีวิตในพระเยซูคริสต์ มาเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ เมื่อก่อน ความดีที่ทำก็เป็นแค่ความดี เป็นแค่ผ้าขี้ริ้วที่เราเอามาอวดกันมาบัดนี้ ความดีเป็นความดีของพระเจ้าเพื่อพระเจ้า
โรม 7:5
เวลาที่ไม่ได้อยู่ในพระเจ้า แต่อยู่ด้วยตัวเอง ด้วยการอยู่ใต้ข้อห้ามต่าง ๆ เรายิ่งอยากทำฝืนกฎต่าง ๆ เหล่านั้น สังเกตไหมว่า ศีล กฎ บทบัญญัติ
ต่างสอนให้เราทำในสิ่งที่ดูดี แต่ฝืนความอยากในตัวตนของเรา ความอยากของร่างกาย ทุกสังคมที่อยู่ใต้ศีลธรรม ข้อห้ามต่าง ๆ ล้วนแต่มีปัญหา
ของผู้คนที่ต้องบังคับตนเองด้วยกำลังของตนเองส่วนใหญ่ก็ไม่บังคับตัวเองเลย แต่ทำทุกอย่างตามใจ แล้วในที่สุด พวกเขาก็ลงไปสู่ความตาย
โรม 7:6
ตรงนี้เองแตกต่างมากจากความเชื่ออื่น ๆ ที่ทุกคนต้องพยายามทำความดี และก็มักเป็นเรื่องที่เพื่อนที่ไม่เชื่อของเรามักเอามาพูดว่า ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี ความแตกต่างนั้นชัดเจนเพราะเราไม่ได้พยายามทำสิ่งที่ดีด้วยความสามารถของตนเองอีกต่อไป แต่พระวิญญาณทรงช่วยให้เราทำสิ่งดีตามน้ำพระทัยของพระเจ้าได้ การที่เราต้องพยายามด้วยตัวเองเดี่ยว ๆ นั้น ไม่เหมือนกับ ที่เราได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าเลย!
โรม 7:7
คำถามต่อมาคือ บทบัญญัติเป็นบาปใช่ไหม? ท่านได้ใช้ตัวอย่างจากตัวเองมาอธิบายเรื่องนี้ท่านต้องการให้รู้ว่า แม้ผู้เชื่อในพระเจ้าจะไม่ได้เป็นคนที่อยู่ใต้บทบัญญัติเหมือนอย่างอิสราเอลสมัยโบราณ แต่บทบัญญัติก็เป็นสิ่งดีที่แจกแจงให้รู้ชัดเจนว่า บาปนั้นคือการกระทำ ความคิดแบบไหน เรามาหาพระเยซู รับการยกโทษบาปที่บทบัญญัติแจ้งให้ทราบว่า คืออะไรบ้าง ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นมาตรฐาน เราอาจจะอ้างได้ว่า ฉันไม่บาป
โรม 7:8
คนเรานี่เป็นเหมือนกันตั้งแต่โบราณจนทุกวันนี้คือเราอยากได้สิ่งที่เราไม่มี เหมือนอาดัมที่คิดว่าอยากได้ปัญญาแบบพระเจ้า พอเราถูกห้ามเราก็ทำสิ่งนั้น บางทีจนกลายเป็นนิสัยไม่รู้สึกผิดถูกต่อไป บทบัญญัติได้ช่วยทำให้เห็นว่า เราล้มเหลวเรามีธรรมชาติบาปในตัวที่จะต่อต้านพระเจ้าเสมอ บทบัญญัติมีประโยชน์คือ ทำให้เรารู้ตัวว่าเป็นคนบาปแน่นอน เพราะไม่มีใครสักคนในพวกเราที่จะผ่านมาตรฐานของบทบัญญัติได้
โรม 7:9-10
ก่อนหน้านี้ ท่านเปาโลใช้ชีวิตโดยไม่ตระหนักรู้ถึงความหมายแท้จริงของบทบัญญัติและ คำบัญชา(แจ้งบาป) ดังนั้นท่านจึงรู้สึกเป็นคนเที่ยงธรรมโดยตนเอง เคร่งศาสนาเป็นคนไม่มีที่ติเลย(ฟีลิปปี 3:6) แต่เมื่อท่านเริ่มตระหนักถึงบทบัญญัติคำบัญชาของพระเจ้าจริง ๆ ทำให้ท่านรู้ตัวว่า ท่านเป็นคนตายแล้ว เพราะบาปมากล้น จิตวิญญาณไม่มีชีวิต(ท่านเปาโลใช้สองคำคู่กันคือ บทบัญญัติ νόμος โนมอส และคำบัญชา ἐντολή เอนโทเล)
โรม 7:11-12
บาปหลอกลวงเราอย่างไร? หลอกเหมือนกับที่มารหลอกเอวาเลย หลอกให้เราทำตรงข้ามกับน้ำพระทัยของพระเจ้า ปัญหาจึงไม่ใช่อยู่ที่บทบัญญัติหรือคำบัญชาของพระเจ้า แต่อยู่ที่ตัวเราเองว่าจะตัดสินใจฟังเสียงร่ำร้องของใจตัวเองและของมาร ของความสนุกสนานที่ดูสนุกจริง ๆ ไหมสรุปว่า บทบัญญัติและคำบัญชาบริสุทธิ์ถูกต้องดีบอกถึงสิ่งที่มนุษย์ควรทำ สิ่งที่ห้าม และไม่ให้ทำบาป เป้าหมายคือนำมาซึ่งชีวิตและพระพร
โรม 7:13
ในข้อที่สิบสามนี้ ท่านกำลังบอกเราว่า บัญญัติคำบัญชาของพระเจ้า ได้แจ้งให้เราทราบว่า บาปคือความคิด พฤติกรรมประเภทไหน ในบัญญัติสิบประการบอกภาพรวม ส่วนรายละเอียดบาปซึ่งท่านอธิบายไว้ในกาลาเทีย 5:19-21 ว่า บาปนำความตายมาให้นั้นก็คือ เราได้ตระหนักแล้วว่าเราเองนั่นแหละเป็นคนบาป และสิ่งนั้นทำให้รู้ว่าเราพินาศแน่ เราต้องการพระผู้ช่วยให้รอดจริง ๆ
โรม 7:14-15
ที่ว่าบทบัญญัติเป็นเรื่องฝ่ายวิญญาณนั้นคือมาจากพระวิญญาณ เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์ แต่คนเราถูกบาปควบคุมมาตั้งแต่สมัยอาดัม เราจึงเป็นทาสบาปมาแต่นั้น ท่านเปาโลเองแม้จะเชื่อฟังพระเจ้า รับใช้พระองค์ แต่ก็ยังไปไม่ถึงมาตรฐานของพระเจ้าในบทบัญญัติ ท่านไม่เข้าใจตัวเองเพราะมักจะทำสิ่งที่ไม่ต้องการทำเสมอ ท่านจึงเข้าใจแล้วว่า แม้จะเชื่อพระเจ้าแต่ธรรมชาติบาปหรือเนื้อหนังก็ยังทำการในชีวิตอยู่
โรม 7:16-18
ท่านเปาโลเห็นว่า ตัวปัญหาคือ เนื้อหนังซึ่งเป็นธรรมชาติบาปในตัว! ท่านมองว่าท่านยังเป็นคนทุจริตผิดศีลธรรมอยู่ (โรม 3:10-18) ทั้งที่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร แต่ก็ยังทำสิ่งที่ไม่ควรอยู่ท่านกำลังบอกเราถึงความจริงที่ว่า บาปยังคงมีผลกระทบ มีอิทธิพลต่อทุกด้านของตัวตนของเรา เราอาจเป็นคนดีในระดับที่มีดีมากกว่าเลว หรืออาจเป็นคนที่เลวมากกว่าดี ทั้งนี้เป็นผลของบาป
โรม 7:19-20
และแล้ว ท่านเปาโลก็สรุปว่า ที่ท่านยังคงทำบาปทั้ง ๆที่ไม่อยากทำ เป็นเพราะบาปในตัวของท่านนี่เป็นการเน้น ย้ำ สิ่งที่กล่าวมาแล้วในข้อสิบห้า คือทำสิ่งที่ตัวเองเกลียดชังและข้อสิบเจ็ดที่ผ่านมาคือบาปนั่นแหละเป็นผู้กระทำ ที่สำคัญคือ เมื่อเราเป็นคนใหม่ในพระเจ้า เราจะเห็นบาปที่เราทำอย่างชัดเจน เพราะเป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับความเป็นคนใหม่ ถ้าเรายังไม่เกิดใหม่ เราจะไม่รู้สึกรู้สาอย่างที่ท่านเปาโลกำลังรู้สึกเลย
โรม 7:21-23
ส่วนลึกตรงนี้คือความคิด จิตใจที่ยินดีในพระเจ้าในการที่จะอยู่ใกล้ชิดกับพระเจ้า (เอเฟซัส 3:16) แต่แล้ว ยังมีอำนาจหนึ่งที่ทำงานในตัว เป็นอำนาจที่จับตัวของท่านเปาโลให้เป็นเชลย อะไรกันนี่? ท่านเปาโลพยายามจะบอกอะไร? ท่านชี้ให้เราเห็นถึงกฎแห่งบาป นี้คือการที่มนุษย์มีแนวโน้มที่จะดื้อต่อสิ่งที่รู้ว่าถูกต้อง รู้ดี รู้ชั่วทั้งหมด เราต่างถูกบาปจับกุมตัวไปเป็นเชลย… นี่เป็นสภาพของมนุษย์ทุกคน
โรม 7:24-25
ถึงแม้ว่าเราจะเชื่อวางใจพระเจ้า แต่เราก็ยังมีธรรมชาติบาปที่กระตุ้นให้เราทำสิ่งที่นำไปสู่ความตายเสมอ ท่านเปาโลเตือนให้เราไม่ปล่อยตัวไปตามนิสัยบาป (กาลาเทีย 5:13) เราจึงต้องคอยอธิษฐานเผื่อกันและกันไม่ให้ตกหลุมพรางของบาปถ้าพระเยซูคริสต์ไม่ได้มาเพื่อช่วยเราแล้ว เราก็จะตกในหลุมนี้ไปตลอด ศาสนาใด ๆ จึงช่วยเราไม่ได้เราต้องการฤทธิ์เดชแห่งการคืนพระชนม์ให้เราพ้นจากกฎแห่งบาปนี้
พระคำเชื่อมโยง
โรม 7
2* 1โครินธ์ 7:39
3* มัทธิว 5:32
4* กาลาเทีย 2:19; 5:18, 22
5* โรม 6:13; ยากอบ 1:15
6* โรม 2:29
7* โรม 3:20; อพยพ 20:17; เฉลยธรรมบัญญัติ 5:21; กิจการ 20:33
8* โรม 4:15
10* เลวีนิติ 18:5
12* สดุดี 19:8
14* 2 พงศ์กษัตริย์ 17:17
15* กาลาเทีย 5:17
18* ปฐมกาล 6:5; 8:21
22* สดุดี 1:2; 2 โครินธ์ 4:16
23* กาลาเทีย 5:17; โรม 6:13,19
24* 1 โครินธ์ 15:51-52
25* 1 โครินธ์ 15:57