1 เปโตร 3 ความสัมพันธ์ การทนทุกข์และพระพร

ความสัมพันธ์ในครอบครัว-ภรรยา

เช่นเดียวกัน ขอให้ภรรยาเชื่อฟังสามีของตนเพื่อว่า หากสามีคนใดไม่เชื่อพระคำของพระเจ้า แต่การกระทำของภรรยาอาจชนะใจเขาโดยไม่พูดอะไร เมื่อเขาเห็นชีวิตที่บริสุทธิ์ ความยำเกรงพระเจ้าในชีวิตของท่าน
1 เปโตร 3:1-2

โคโลสี 3:18, 1 โครินธ์ 11:3,7:16, 14:34, เอเฟซัส 5:33,ฟีลิปปี 1:27, ปฐมกาล 3:16,มัทธิว 18:15

ข้อนี้ ท่านเปโตรบอกภรรยาว่า พวกเธอควรทำอย่างไรเพื่ออาจจะชนะใจของสามี ในโลกความ เป็นจริงเราจะเห็นว่า บางครอบครัวภรรยาชนะใจได้จริง ๆ โดยไม่ต้องพูดอะไร แต่บางครอบครัว สามีก็ไม่เชื่อต่อไป ยังตกอยู่ในความบาปต่อไป ท่านเปโตรไม่ได้ยินยันว่าจะสำเร็จแต่สิ่งดีที่เกิดขึ้นคือ ตัวภรรยาเอง ได้ทำตามพระทัยของพระเจ้า

การประดับตัวของท่านไม่ควรจะเป็นแค่ภายนอกอย่างเช่น การถักผม การสวมอัญมณีทองคำ หรือเสื้อผ้าสวยล้ำแต่ให้เป็นการประดับด้วยตัวตนจริงที่อยู่ภายใน เป็นความงามที่ไม่มีวันสูญคือหัวใจที่อ่อนโยนและสงบสุภาพ ซึ่งพระเจ้าทรงเห็นว่ามีค่ายิ่งนัก
1 เปโตร 3:3-4

1 ทิโมธี 2:9-10, โรม 12:2, 2:29, 7:22, อิสยาห์ 3:18-24,โคโลสี 3:12,

ท่านเปโตรมีภรรยาด้วย สิ่งที่ท่านกล่าวถึงในตอนนี้ ไ่ม่ได้หมายความว่า แต่งตัวสวยไม่ได้ แต่ให้สิ่งนั้นมาเป็นรองความสวยงามที่เกิดขึ้นจากข้างใน เป็นความงามอย่างสงบ งามอย่างอ่อนโยนในการกระทำ เป็นความงามที่มีค่าในสายพระเนตร พระเจ้าซึ่งแตกต่างจากความงามในสายตาของ
มนุษย์อย่างสิ้นเชิง

สตรีผู้ที่หวังใจในพระเจ้าในอดีตได้ประดับตัวให้งดงามเช่นนี้โดยการที่พวกเธอยอมต่อสามี เหมือนอย่างที่ซาราห์ได้เชื่อฟังอับราฮัมและเรียกเขาว่า นายท่าน ท่านเองก็จะเป็นลูกหลานของเธอโดยการทำสิ่งดีและไม่หวั่นต่อสิ่งใด
1 เปโตร 3:5-6

ทิตัส 2:3-4 ,ปฐมกาล 18:12, โรม 9:7-9

ผู้หญิงคนหนึ่ง เลือกได้ว่าเธอจะชนะใจสามีด้วยวิธีของตัวเอง หรือทำตามอย่างที่พระเจ้าตรัสความสำเร็จที่ได้มาก็ขึ้นอยู่กับพระเจ้าท่านเปโตรขอให้สตรีหันกลับไปดูซาราห์ว่า เธอประดับชีวิตของเธอด้วยใจนิ่งสงบและเชื่อฟัง ให้เกียรติสามีของตน ยกเว้นมีครั้งหนึ่งที่เธอพลาดเรื่องฮาการ์ เมื่อเธอตัดสินใจด้วยตัวเอง (ปฐมกาล16)ผลที่เกิดขึ้นก็ร้ายแรง และยังส่งผลมาจนทุกวันนี้)




ความสัมพันธ์ในครอบครัว-สามี

ส่วนด้านของสามีก็เช่นกัน ให้ใช้ชีวิตกับภรรยาด้วยความเข้าใจว่าเธออ่อนแอกว่า และให้เกียรติเธอว่า เป็นผู้ร่วมทางชีวิตแห่งพระคุณ เพื่อว่าการอธิษฐานของท่านจะไม่มีอุปสรรคขัดขวาง
1 เปโตร 3:7

1 โครินธ์ 7:3, 12:23, เอเฟซัส 5:25, โคโลสี 3:19,

การใช้ชีวิตกับภรรยาอยู่กินด้วยกัน ทำมาหากินมีครอบครัวที่ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ใครก็รู้ ครอบครัวดี น่ารัก ความสุขก็มาก ครอบครัวพัง มีแต่การทะเลาะวิวาท ทุกข์ก็เยอะ ในสมัยก่อนนั้น การที่สามีจะให้เกียรติภรรยาเป็นเรื่องยากเพราะพวกเขามองผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชาย คำสอนของท่านเปโตรเรื่องนี้จึงฉีกไปจากสังคมคนนอกทั่วไป ความเข้าใจการให้เกียรติว่าภรรยาเป็นผู้ร่วมทางชีวิตนั้น ทำให้ตัวเขาเองเกิดผลในการอธิษฐานต่อพระเจ้า

เรียกมาให้เป็นพระพร

สุดท้ายนี้
ให้ท่านทั้งหลายอยู่ด้วยกัน
โดยมีใจเดียวกัน
ให้เห็นใจกัน รักกันอย่างพี่น้อง มีใจสงสารกันและถ่อมตนต่อกัน
1 เปโตร 3:8

โรม 12:10, 1 เปโตร 1:22, ยากอบ 3:17

ใจเดียวกันคืออย่างไร? ตอบไม่ยากเลย นั่นคือการมีใจของพระคริสต์ ถ้าทุกคนคิดได้อย่าง พระองค์ ความปรองดองก็เกิดขึ้น อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข สามารถปรับเข้าหากันได้ แม้นิสัยใจคเราไม่เหมือนกันเลย เพราะพระเจ้าทรงสร้างเรามาให้แต่ละคนมีเอกลักษณ์ของตนเองชัดเจนตั้งแต่เล็ก ๆ

อย่าทำร้ายตอบแทนการร้าย หรืออย่าดูหมิ่นตอบแทนการดูหมิ่นในทางตรงกันข้าม จงให้พรแก่เขาเสมอไป เพราะว่าท่านได้รับการเลือกมาให้ทำเช่นนี้ เพื่อว่าท่านจะได้รับพระพรเป็นมรดก
1 เปโตร 3:9

สุภาษิต 7:13, มัทธิว 5:44, มัทธิว 25:34, โรม 12:17,

เหตุใดเราจึงขอพรเพื่อคนที่ร้ายต่อเรา?เหตุใดพระเจ้าทรงให้เราขอพรเพื่อคนที่ดูหมิ่น?แล้วพระเจ้าจะทรงให้พรกับเขาตามที่เราขอตามที่พระองค์ทรงเห็นสมควร ซึ่งอาจไม่ตรงใจเรา เพราะเราเป็นผู้ถูกกระทำ แต่แล้วคำตอบคือ พระเจ้าทรงเลือกให้เราขอพรเพื่อคนที่ร้ายต่อเรา ก็เพื่อเราเองจะได้รับพร เป็นมรดก และถ้าศัตรูของเราได้พร ล้ำเลิศคือได้รู้จักพระเจ้าจริง ๆ ขึ้นมา เขาจะกลายเป็นมิตร ไม่เป็นศัตรูต่อไป

เพราะว่าคนใดรักชีวิตและอยากเห็นวันดี ๆ จะต้องรักษาลิ้นจากความชั่ว รักษาปากไม่ให้พูดด้วยอุบาย และเขาจะต้องหันจากความชั่วร้ายทำสิ่งที่ดี เขาจะต้องตามหาสันติและมุ่งมั่นต่อสู้เพื่อจะได้สันตินั้น
1 เปโตร 3:10-11

สดุดี 34:12-16, ยากอบ 1:26, สดุดี 37:27, โรม 12;18,

จากเหตุการณ์บ้านเมืองของเราในเวลานี้ ทำให้เรารู้ว่า สันติสุขในบ้านเมืองไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายเลย การจะมีสันติสุขในครอบครัว ในที่ทำงานเป็นเรื่องที่ต้องตั้งใจ ต้องมีความอดกลั้น และต้องมีความรักจริง ๆ จึงจะมีสันติได้ บางครั้งก็ต้องมองข้าม ให้อภัย ให้พรทั้ง ๆ ที่รู้สึกว่าไม่น่าจะให้สักนิด .. หากย้อนไปอ่านเปโตรบทที่ 3 ตั้งแต่ข้อแรกแล้วชีวิตเราเปลี่ยนจริง ๆ ตามนั้น มันจะเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มาก

เพราะว่าพระเนตรของพระเจ้า
เฝ้าดูผู้ที่เชื่อฟังพระองค์
ทรงฟังคำอธิษฐานของพวกเขา
แต่ทรงต่อต้านทุกคนที่ทำชั่ว
1 เปโตร 3:12

ยอห์น 9:31, สดุดี 34:15-16, สุภาษิต 15:29,

พระคำตอนนี้ตั้งแต่ข้อ 10-12 ท่านเปโตรอ้างอิงมาจากสดุดี 34:12-16 เรามั่นใจได้ว่า พระเจ้าทรงมองคนที่ติดตามและเชื่อฟังพระองค์ และทรงตอบคำอธิษฐาน และทรงต่อต้านคนชั่วแน่นอน เราอย่านึกว่าพระองค์ไม่ทรงเอาพระทัยใส่ ถ้าพระองค์ไม่ต่อต้านจัดการกับคนชั่วส่วนหนึ่ง ป่านนี้โลกคงเป็นจุณ แต่ถ้าพระองค์จะทรงกำจัดคนชั่วทุกคน โลกก็จะไม่เหลือใครเช่นกัน

ใครจะมาทำร้ายท่านได้ หากท่านมุ่งติดตามสิ่งที่ดี ?แต่หากท่านต้องทนทุกข์ เพื่อเห็นแก่ความเที่ยงตรง ท่านก็จะเป็นสุข อย่าไปกลัวการข่มขู่ของเขา หรืออย่ากังวลใจไป
1 เปโตร 3:13-14

สุภาษิต 16:7, โรม 8:28, 3 ยอห์น 1:11, ยากอบ 1:12, 1 เปโตร 2:19-20, อิสยาห์ 8:12-13

ที่จริงแล้ว เมื่อใครคนหนึ่งต้องการติดตามสิ่งที่ดี ถูกต้อง ก็ไม่น่าจะมีใครมาขัดขวาง แต่ในโลกความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่อย่างนั้น คนไม่น้อยที่ทำดีให้กับสังคม กลับถูกทำร้าย คนที่ต่อสู้เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนที่ยากลำบาก อาจจะต้องเสี่ยงชีวิตเพราะไปขัดผลประโยชน์ของบางคน พระเจ้าทรงให้คริสเตียนรู้ว่า ถ้า ตั้งใจติดตามพระองค์ ทำสิ่งที่ดีแล้ว พระองค์ทรงให้พรเขา ทรงให้เขาเป็นสุขได้แม้จะต้องทนทุกข์

ขอให้ใจของท่านยกย่องว่า
พระคริสต์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า เตรียมตัวพร้อมที่จะตอบทุกคนที่ถามว่า เหตุใดท่านจึงมีความหวัง แต่ขอให้ตอบด้วยความสุภาพและนับถือ
1 เปโตร 3:15

สดุดี 119:46, ทิตัส 3:7, ลูกา 21:14-15, 2 ทิโมธี 2:25-26

แทนที่เราจะกลัว เรากลับมอบตัวเองให้กับพระเจ้าอีกครั้ง และมีคำตอบให้กับคนที่ถามว่า เหตุใดจึงเชื่อ เหตุใดจึงเป็นคริสเตียนเหตุใดจึงทำอย่างนั้น อย่างนี้ เราตอบทุกคนได้
อย่างกระจ่างแจ้งถ้าเตรียมพร้อม โดยตอบคำถามด้วยความสุภาพต่อคนที่ถามและความนับถือองค์พระผู้เป็นเจ้า
ดู กิจการ 2:14-39,3:11-26,4:8-12

รักษาจิตสำนึกให้ดีเพื่อว่า
เมื่อท่านถูกใครกล่าวร้ายทั้งที่ท่านทำดี คนนั้นจะอับอายที่เขากล่าวหาท่าน
หากว่านี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า ‘การทนทุกข์เพราะทำความดีนั้นก็ดีกว่าทนทุกข์เพราะทำชั่ว’
1 เปโตร 3:16-17

1 ทิโมธี 1:5, ฮีบรู 13:18, 1 เปโตร 3:21, 2:12,15,3:14,4:19, กิจการ 21:14, 2

สิ่งที่ท่านเปโตรได้เตือนพี่น้องนั้น เป็นสิ่งที่ท่าน ผ่านมาหลายต่อหลายครั้ง ตัวอย่างมีอยู่ในหนังสือกิจการ 5 ท่านประกาศพระนามพระเจ้า แต่พวกผู้ใหญ่ในศาสนายิวก็พยายามปิดปากให้ท่านและพี่น้องหยุดพูดพระนามพระเยซูแต่ท่านเปโตรก็ไม่ได้รู้สึกเสียใจอะไร กลับรู้สึกดีใจ ภูมิใจที่ถูกดูหมิ่นเพราะท่านทำสิ่งที่เป็นน้ำพระทัยของพระเจ้า

การทนทุกข์ของพระคริสต์ และของเรา

เพราะว่า พระคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อบาปครั้งเดียวก็พอแล้ว พระองค์ผู้ทรงธรรม ทำเช่นนี้แก่คนอธรรมเพื่อทำให้พวกเขาได้เข้ามาหาพระเจ้า พระกายของพระองค์สิ้นไปแต่ฝ่ายวิญญาณทรงมีชีวิตอยู่
1 เปโตร 3:18

ฮีบรู 9:26,28, 1 เปโตร 4:6

ครั้งเดียวพอ นั่นคือ การถวายชีวิตของพระเยซูเป็นเครื่องบูชานั้น ไม่ต้องทำซ้ำเหมือนกับเครื่องบูชาอื่น ๆ ไม่ต้องมีความดีของมนุษย์มาเสริมพระเยซูทรงใช้พระโลหิตของพระองค์ไถ่คนบาป ที่ทรงทำเช่นนี้ก็เพื่อคนบาปอย่างเราจะได้มาหาพระเจ้าได้ และพระองค์ได้ทรงคืนพระชนม์ มีพระกายใหม่ที่ไร้ความจำกัดในเวลา สถานที่ ไม่ทรงมีพระกายแบบมนุษย์อีกต่อไป. อ่าน 1 เปโตร 1:19

และโดยทางวิญญาณพระองค์ได้เสด็จไปประกาศแก่บรรดาวิญญาณที่ถูกจำจอง ซึ่งในอดีต ไม่เชื่อฟังพระเจ้า ครั้งที่พระองค์ทรงอดกลั้น รอคอยให้พวกเขากลับใจในสมัยโนอาห์ ขณะที่ท่านกำลังต่อเรือใหญ่ ในเรือนั้นมีไม่กี่คน แค่แปดคนที่ได้รับความช่วยเหลือให้รอดชีวิตจากน้ำ
1 เปโตร 3:19-20

1 เปโตร 4:6, อิสยาห์ 61:1, ฮีบรู 11:7,ปฐมกาล 6:3, 5, เอเฟซัส ​5:26

ภาพจาก wikimedia common. File:Bischheim Temple38.JPG

พระคัมภีร์ตอนนี้อาจเป็นข้อที่เข้าใจยากมาก มีความเห็นจากดร. ไมเคิล ไฮเซอร์ว่า พระวิญญาณของพระเยซูทรงลงไปบอกวิญญาณที่ติดคุกว่า พวกเขายังคงพ่ายแพ้ แม้ว่าพระองค์จะถูกตรึงบนไม้กางเขน แต่แผนการความรอดและการปกครองของพระเจ้านั้นไม่ได้หยุดชะงักไป ยังคงดำเนินต่อไป การสิ้นพระชนม์คือชัยชนะเหนือทุกวิญญาณชั่วที่ต่อต้านพระเจ้า และพระองค์ทรงเป็นคือมาจากความตายแล้ว
สถิตอยู่ขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า เหนืออำนาจ
ร้ายทั้งปวง (Heiser, The Unseen Realm, p. 339)

ความหมายบัพติศมาด้วยน้ำ

และน้ำซึ่งเป็นสัญลักษณ์หมายถึงบัพติศมา บัดนี้ช่วยให้ท่าน รอดเช่นกัน ไม่ใช่เป็นการล้างสิ่งสกปรกออกจากร่าง แต่เป็นการถวายปฏิญาณต่อพระเจ้าเพื่อเราจะมีจิตสำนึกที่ดีต่อพระองค์ ความรอดนั้นมาได้ ด้วยการคืนชีพของพระเยซูคริสต์
1 เปโตร 3:21

กิจการ 16:33, เอเฟซัส 5:26, ทิตัส 3:5, โรม 10:10

น้ำท่วมครั้งโนอาห์ ได้ชำระล้างบาปและความชั่วร้ายออกไป เป็นการเริ่มต้นใหม่ของโลกนี้ การรับบัพติศมาบอกถึงความหมายฝ่ายวิญญาณ ของการจุ่มน้ำ นั่นก็คือ ผู้รับบัพติศมาได้รับการชำระชีวิต จิตสำนึกของเขาได้รับการเปลี่ยนแปลง และเขาได้ประกาศให้รู้ว่าเขาเชื่อพระเยซูแล้ว เป็นหลักฐานที่บอกว่าเขาหันหลังให้กับชีวิตเดิม เขาได้รับความรอด เพราะการสิ้นชีพ-คืนชีพของพระเยซู เป็นการเริ่มต้นใหม่ของเขา

พระองค์เสด็จสู่สวรรค์ และประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้าโดยทั้งทูตสวรรค์ เหล่าผู้ที่มีสิทธิอำนาจ และเทพที่มีฤทธิ์ทั้งหลาย ถูกจัดไว้ให้อยู่ใต้อำนาจของพระองค์
1 เปโตร 3:22

สดุดี 110:1, โรม 3:38, ฮีบรู 1:6

ภาพวาดโดย John Singleton Copley 1775

ในที่สุด พระองค์เสด็จสู่สวรรค์ พระเจ้าทรงยกย่องพระเยซูสูงสุด ทรงอยู่เหนือวิญญาณทั้งสิ้นในจักรวาล ดังนั้นเราจะเห็นว่า แม้พระองค์ ทรงทนทุกข์จนสิ้นพระชนม์ แต่ชัยชนะสุดท้าย กลับเป็นของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว 

1 เปโตร 2 พระเกียรติ และหน้าที่ของคนของพระเจ้า

มาหาพระเจ้าโดยมาหาพระดำรัส

ดังนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายละทิ้งความชั่วทั้งปวง อุบายล่อลวงทั้งสิ้นความหน้าซื่อใจคด ความริษยา และการใส่ร้ายทุกรูปแบบ
1 เปโตร 2:1

ฮีบรู 12:1, เอเฟซัส 4:31, ยากอบ 1:21

เหตุผลที่ท่านเปโตรให้ละทิ้งสิ่งชั่วร้าย ต้องกลับไปอ่านจากบทที่ 1 เราได้เกิดใหม่ มีความหวังใหม่แล้ว พระเจ้าทรงเรียกให้เราเป็นคนบริสุทธิ์ พระเยซูทรง ไถ่เราด้วยพระโลหิตประเสริฐ เราได้เกิดจาก เมล็ดพันธุ์ที่มีชีวิต เราไม่ใช่คนที่ตายไปในบาป อีกต่อไป นี่ทำให้เรายิ่งต้องทิ้งความชั่วร้าย ไม่ให้มันมามีส่วนในชีวิตเราต่อไป

ให้ท่านมีความกระหายอยากได้น้ำนมฝ่ายวิญญาณที่บริสุทธิ์ เหมือนเด็กทารกแรกเกิดเพราะโดยน้ำนมนั้น จะทำให้พวกท่านเติบโตไปถึงความรอด ในเมื่อท่านได้ลิ้มรสแล้วว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงดีเลิศ
1 เปโตร 2:2-3

มัทธิว 18:3,19:14, มาระโก 10:15, ลูกา 18:17, 1 โครินธ์ 14:20, 3:2, ฮีบรู 5:12-13, สดุดี 34:8, 63:5, ทิตัส 3:4, ฮีบรู 6:5

น้ำนมฝ่ายวิญญาณที่บริสุทธิ์ ในบางเล่มใช้คำว่า น้ำนมแห่งพระคำบริสุทธิ์ ของพระเจ้า นั่นคือท่านเปโตรกำลังขอให้ผู้เชื่อใหม่ได้มีความ อยากที่จะรู้จักพระคำพื้นฐานที่ต้องรู้ เพื่อว่าชีวิตจะได้เติบโตไปถึงความรอด นี่เป็นการชี้ว่า เมื่อเข้ามาเชื่อแล้ว เราต้องร่วมมือกับพระองค์ ตามที่อัครทูตได้สอนไว้เพื่อเติบโต ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ

ศิลาที่ทรงเลือก และคนที่ทรงเลือก

จงมาหาพระองค์ผู้เป็นพระศิลาที่มีชีวิต แม้มนุษย์จะปฏิเสธพระองค์แต่กลับทรงเป็นพระศิลาที่พระเจ้าทรงเลือก และล้ำค่านักในสายพระเนตร
1 เปโตร 2:4

สดุดี 118:22, กิจการ 4:11-12,อิสยาห์ 28:16

พระเยซูทรงเป็นรากฐานที่มีชีวิต ซึ่งทำให้ผู้เชื่อมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ พระเจ้าทรงเลือกพระองค์ไว้
ในขณะที่คนของพระองค์ คือยิวทั้งหลายปฏิเสธ พระองค์ ทั้งยังได้ประหารพระองค์บนไม้กางเขนด้วย พระคำตอนนี้จนถึงข้อ 10 มาจากพันธสัญญาเดิม ประเด็นสำคัญในข้อนี้บอกว่า
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นรากฐานของคริสตจักร
สิ่งอื่นใดที่มนุษย์คิด ไม่ใช่รากฐานคริสตจักร

พวกท่านเองก็เป็นศิลาที่มีชีวิตกำลังถูกสร้างเป็นพระนิเวศฝ่ายวิญญาณเพื่อเป็นปุโรหิตบริสุทธิ์ เพื่อเป็นผู้ถวายเครื่องบูชาฝ่ายวิญญาณซึ่งเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้าผ่านพระเยซูคริสต์
1 เปโตร 2:5

เอเฟซัส 2:20-22, 1 โครินธ์ 3:9

คำว่าศิลาในที่นี้มีความหมายถึงหินที่ถูกสกัดไว้เพื่อ รับน้ำหนักของอาคาร ท่านเปโตรมองว่าชุมชนผู้เชื่อคือพระนิเวศฝ่ายวิญญาณ มีชีวิต มีคนเชื่อใหม่เข้ามา ก็เหมือนมีศิลาเข้ามาสร้างเพิ่มเติมในพระนิเวศนี้ ผู้เชื่อจึง เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทั้งหมด พวกเขาทุกคน มีหน้าที่เป็นปุโรหิต มีความสัมพันธ์กับพระเจ้า พวกเขาเป็นทั้งพระนิเวศ เป็นทั้งผู้นมัสการ เป็นศิลาที่มีชีวิตตามพระเยซูเจ้าของเขา

เพราะพระคัมภีร์มีเขียนไว้ว่า
“ดูเถิด เรากำลังวางศิลาก้อนหนึ่งใน ศิโยน เป็นศิลาหัวมุมที่เลือกไว้ และมีค่ายิ่งและใครก็ตามที่เชื่อในพระองค์ จะไม่ต้องอับอาย สำหรับ คนที่เชื่อ ศิลานี้ มีค่าล้ำเลิศ
1 เปโตร 2:6-7a

อิสยาห์ 28:16, โรม 9:32-33, 10:11, 1 เปโตร 2:8

ท่านเปโตรได้ใช้คำเปรียบเรื่องศิลานี้ มาจากพระคัมภีร์เดิม ท่านบอกว่า พระเยซูทรงอยู่ในฐานะเหมือนกับศิลามุมเอก ส่วนที่สำคัญยิ่งสำหรับ อาคารที่ก่อด้วยหิน พระองค์รับการแต่งตั้งมาจากพระเจ้าเพื่อเป็นรากฐานที่แข็งแรงของอาคาร ฝ่ายวิญญาณของทุกชีวิต เราต้องเข้าใจว่า พระเยซูทรงเป็นรากฐานแห่งความเชื่อของเราไม่มีรากอื่นใดนอกจากพระองค์

สำหรับคนที่ไม่เชื่อฟัง .. “ศิลาซึ่งช่างก่อทิ้งแล้วนั้น ได้กลายเป็นศิลามุมเอก และ เป็นศิลาที่ทำให้คนสะดุด เป็นหินที่ทำให้พวกเขาต้องหกล้ม ที่เขาสะดุด เป็นเพราะเขาไม่เชื่อฟัง พระคำของพระเจ้า ตามที่ถูกกำหนดไว้อย่างนั้น
1 เปโตร 2:7b-8

สดุดี 118:22, มัทธิว 21:42, ลูกา 2:34, อิสยาห์ 8:14, 1 โครินธ์ 1:23, กาลาเทีย 5:11, โรม 9:22

เมื่อคนยิวไม่ยอมรับพระเยซู พระเจ้าได้ทรงหันมา สร้างคริสตจักรที่ประกอบด้วยชนทุกชาติ ผู้ที่เชื่อพระเยซูจะได้รับแบ่งเกียรติยศจากพระองค์ ในขณะที่ผู้ไม่เชื่อฟังกลับพบว่า พระเยซู เป็นหินที่ทำให้พวกเขาต้องล้มและพบความหายนะ พระเจ้าไม่ได้ทรงกำหนดให้เขาไม่เชื่อ แต่หากไม่เชื่อ เขาก็จะสะดุด เสียดายโอกาสหลายชั่วอายุคน ที่คนยิวจำนวนมากมายเลือก ไม่เชื่อพระเยซู แต่ขอบพระคุณที่คนยิวยุคนี้ เริ่มหันมาหาพระองค์มากขึ้น

แต่ ท่านทั้งหลาย เป็นชนชาติที่พระเจ้าทรงเลือกไว้ เป็นปุโรหิตหลวง เป็นชาติบริสุทธิ์ เป็นประชากรที่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์
1 เปโตร 2:9a

อิสยาห์ 9:2, 42:16,กิจการ 26:18, 2 โครินธ์ 4:6,

ไม่มีใครอวดได้ว่า เขามาอยู่ในพระเจ้าเพราะตัว เขาตัดสินใจ เขาเข้ามาเอง ทุกคนที่เข้ามา อยู่ในร่มพระเมตตาของพระเจ้านั้น ได้รับการเลือกจากพระองค์ทั้งสิ้น เมื่อเข้ามาแล้ว ก็มี หน้าที่ชัดเจน เป็นปุโรหิตที่ใกล้ชิดกับพระเจ้า ทูลขอพระเมตตาเพื่อคนอื่น ๆ เสียดายที่อิสราเอลได้ละทิ้งสิทธิพิเศษนี้ พระเจ้าได้เลือกคนอีกมากมายทั่วโลกมาเป็น กรรมสิทธิ์ของพระองค์​

เพื่อว่าท่านจะประกาศถึงความดีอันล้ำเลิศของพระองค์ผู้ทรงเรียกท่าน ออกจากความมืด เข้ามาสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์
1 เปโตร 2:9b

วิวรณ์ 1:6,5:10, มัทธิว 5:16, โคโลสี 1:13

ตามพระประสงค์ คริสตจักรจะต้องทำหน้าที่ซึ่งพระเจ้าทรงเรียกให้พวกเขาทำ นั่นคือ ประกาศพระนามพระเยซูคริสต์ออกไปทั่วโลก (มัทธิว 28:19-20) เขาจะต้องเป็นเครื่องมือที่พระเจ้าทรงใช้ให้ส่องสว่างไปยังหัวใจที่มืดมิดในโลกนี้ พวกเขาได้ผ่านกระบวนการที่พระเจ้าทรง เรียกเขาออกมาจากความมืด มาสู่ความสว่าง ของพระองค์ เขาจึงมีคำพยานที่ชัดเจนให้กับ ผู้ที่ไม่เคยได้ยินเรื่องของพระเจ้า

แต่ก่อนท่านไม่ใช่ประชากร
แต่บัดนี้ท่านเป็นประชากรของพระเจ้า
แต่ก่อนท่านไม่ได้รับพระเมตตา
แต่บัดนี้ท่านได้รับพระเมตตาแล้ว
1 เปโตร 2:10

โฮเชยา 1;9-10, 2:23, โรม 9:25, 10:19, 1 ทิโมธี 1:13

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พระเจ้าตรัสว่าจะไม่เอาอิสราเอลที่ดื้อดึงอีกต่อไป แต่ต่อมาพระองค์ก็ยังทรงเรียกเขากลับมาหาพระองค์ คริสตจักรได้รับพระเมตตาของพระเจ้าเหมือนกับอิสราเอลได้รับ (อ่านโฮเชยา 1:6,9,10,2:23) พวกเราต้องเข้าใจและกตัญญูต่อพระเมตตานี้

เมื่อมาหาพระเยซู ..ต้องหลบหลีกอะไร?

พี่น้องที่รัก ข้าขอร้องท่านในฐานะที่อยู่ในโลกอย่างคนจร และคนแปลกถิ่น
1 เปโตร 2:11 a

โรม 8:13, กาลาเทีย 5:17, ยากอบ 4:1

ในขณะที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ท่านเปโตรเตือน ให้มองตัวเองดี ๆ ว่า จริงแล้ว เราคือใคร ท่านบอกว่า เราคือ คนจร เข้ามาในโลก หรือเหมือนคนแปลกหน้าของโลกนี้ เป็นคนที่กำลังเดินทางมุ่งไปบ้านจริง ตอนนี้แค่มาแวะเฉย ๆ นี่เป็นตัวจริงของผู้ที่เชื่อพระเยซูคริสต์! เราเป็นเหมือนคนนอกโลก ท่านยอห์นจึงบอกเราว่า อย่ารักโลกหรือสิ่ง ของในโลก 1 ยอห์น 2:15

ให้ละเว้นจากความเร่าร้อนของเนื้อหนัง ซึ่งต่อสู้กับวิญญาณจิตของท่านอยู่
1 เปโตร 2:11b

1 ยอห์น 2:15-17, 1 เปโตร 4:2, ฮีบรู 11:13

ในเมื่อเราเป็นประชากรของอาณาจักรพระเจ้า เป็นแค่คนจร กำลังเดินทางต่อไปยังบ้านเมืองแท้จริงของตนเอง ผู้เชื่อจึงต้องกล่าวปฏิเสธความเร่าร้อนของเนื้อหน้าที่ผิดต่อตัวเอง และผู้อื่นอย่างจริงจัง คำว่าต่อสู้ในที่นี้มีความหมายคือทำสงครามเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อตลอดชีวิตของผู้เชื่อ เท่ากับเราเดินทางอยู่ในเขตสงครามฝ่ายวิญญาณตลอดเวลา

ให้ประพฤติดีท่ามกลางคนไม่เชื่อเพื่อว่าเมื่อเขากล่าวหาว่า ท่านทำชั่ว เขาจะได้เห็นการดีที่ทำและจะได้สรรเสริญพระเจ้าเมื่อพระองค์เสด็จมาเยือน
1 เปโตร 2:12

มัทธิว 5:16, 9:8, 2 โครินธ์ 8:21, ฟีลิปปี 2:15, ทิตัส 2:8, 1 เปโตร 2:15, 3:16,ยอห์น 13:31, 1 เปโตร 4:11,16

ในเมื่ออยู่ในสงครามตลอดเวลา ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า คนที่ไม่ได้เชื่อพระเจ้ากำลังมองชีวิตการกระทำ น้ำใจ การทำงาน ทัศนคติของผู้เชื่ออยู่ โลกสมัยท่านเปโตรนั้น คริสเตียนมีน้อย และถูกจับจ้องตลอดเวลา
ส่วนโลกทุกวันนี้ คนชั่วสามารถกลายเป็นคนดูดีส่วนคนดีก็ถูกกล่าวหาให้กลายเป็นคนร้าย ได้อย่างง่ายดาย การเยี่ยมของพระเจ้านั้น ในพระคัมภีร์มีสองอย่าง มาเยี่ยมแล้วชม หรือมาเยี่ยมแล้วต้องลงโทษ!

นับถือผู้ปกครองตามที่เหมาะสม

เพื่อเห็นแก่องค์พระผู้เป็นเจ้า จงยอมอยู่ใต้อำนาจการปกครองที่มีอยู่ในบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ที่ถือว่าสูงสุด หรือเป็นเจ้าเมืองที่ได้รับบัญชามาเพื่อลงโทษคนที่ทำชั่ว และยกย่องคนที่ทำดี
1 เปโตร 2:13-14

มัทธิว 22:21, ทิตัส 3:1, โรม 13:1-7, 1 ทิโมธี 2:1-2, ลูกา 20:25, มาระโก 12:17


ในช่วงที่ท่านเขียนจดหมายนั้น อาณาจักรโรมกำลังรุ่งเรือง จักรพรรดิไม่ถูกกับคริสเตียนเลย แต่ท่านเปโตรกลับให้พวกเขาเชื่อฟัง พวกเขาก็ยอมเชื่อฟังเสมอ แต่หากจักรพรรดิสั่งในสิ่งที่ผิดต่อพระเจ้า พวกเขาไม่ยอมทันที อย่างเช่น จักรพรรดิสั่งให้พวกเขาเรียกจักรพรรดิว่าเป็นพระเจ้า พวกเขากลับกล่าวว่าท่านไม่ใช่พระเจ้า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเจ้า พวกเขาจึงถูกเผาทั้งเป็น ถูกโยนให้สิงโตกิน

เพราะพระเจ้าทรงประสงค์ที่จะให้ท่าน
ปิดปากที่ไม่รู้อะไรของคนชั่วด้วยการทำสิ่งที่ดี
ถอดความจาก 1 เปโตร 2:15

1 เปโตร 3:17, 2:12, ทิตัส 2:8

ความดีที่กล่าวถึงนี้ จะต้องเป็นความดีที่ตั้งอยู่บน รากฐานของน้ำพระทัยพระเจ้า มีความดีหลายอย่าง
ที่ไม่ใช่ดีจริง แค่ดูเหมือนดี ดูเหมือนโอเค แต่มันเป็นการกดขี่ เบียดเบียนคนอื่น บางคนทำดีกลบเกลื่อนความชั่วของตนความดีบางอย่างเป็นแค่ทำหลอกลวงฉาบฉวยความดีของผู้เชื่อขึ้นอยู่กับคำของพระเยซูที่ตรัสว่า ท่านทั้งหลายเป็นความสว่าง และเป็นเกลือแห่งแผ่นดินโลก

จงใช้ชีวิตอย่างคนมีเสรีภาพ แต่อย่าใช้เสรีภาพเพื่อปกปิดความผิดจงใช้ชีวิตในฐานะทาสของพระเจ้า
1 เปโตร 2:16

โรม 6:14,20,22, 1 โครินธ์ 7:22, กาลาเทีย. 5:1,5:13

เสรีภาพ เสรีชน อิสระภาพนั้น คืออะไร
ในพจนานุกรมไทยให้คำจำกัดความว่า เป็นความสามารถที่จะกระทำการใด ๆ ได้ตามที่ตนปรารถนาโดยไม่มีอุปสรรคขัดขวาง เช่น เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการนับถือศาสนา, ความมีสิทธิที่จะทำจะพูดได้โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
แต่ทำไมท่านเปโตรชวนให้เรามีอิสรชนพร้อมกับเป็นทาสของพระเยซูพร้อม ๆ กัน เพราะนั่นหมายถึงเราทั้งมีเสรี และพร้อมที่จะรับใช้ผู้อื่นดั่งที่พระเยซูทรงรับสภาพทาสมาแล้วนั่นเอง

จงให้เกียรติแก่ทุกคน
จงรักพี่น้องในพระคริสต์
จงยำเกรงพระเจ้า
จงให้เกียรติแด่องค์กษัตริย์
1 เปโตร 2:17

โรม 12:10, สุภาษิต 24:21, โรม 13:7, 1 เปโตร 5:5,

การให้เกียรติกันนั้น โดยทั่วไปต้องเรียนรู้มาจากครอบครัว เริ่มต้นจากการที่สามีภรรยา
พ่อ แม่ ลูก ปู่ย่า ตายาย ให้เกียรติกันและกัน
ข้อความตอนนี้ พูดถึงการรักกัน จะเห็นว่าท่านได้กล่าวรวมไปถึงบุคคลทุกคนที่มีส่วนชีวิตของเรา ไม่เว้นใครเลย พระคำข้อนี้ อาจไม่เป็นที่ถูกใจของคนสมัยใหม่เท่าไร แต่หากเราทุกคนใช้คำพูดดีต่อกัน โลกก็จะสวยขึ้นมากเลย

ผู้ที่เป็นลูกน้อง ให้เคารพเชื่อฟังนาย ไม่ใช่แค่นายใจดีอ่อนโยนเท่านั้น แต่กับนายที่ร้ายด้วยเพราะคนที่ยอมทนทุกข์อย่างไม่เป็นธรรมเพื่อเห็นแก่พระเจ้านั้น สมควรได้รับการยกย่อง
1 เปโตร 2:18-19

ทิตัส 2:9-10, 1 ทิโมธี 6:1-3, โคโลสี 3:22-25,มัทธิว 5:10-12, ลูกา 6:32, 1 เปโตร 3:14-17

ในมัทธิว 5:11 พระเยซูก็ตรัสเรื่องอย่างนี้เช่นกัน
คือการที่ถูกป้ายสี ทำร้ายเพราะพระนามของพระเจ้ากลับจะมีบำเหน็จในสวรรค์ จะเห็นได้ว่า เมื่อเป็นผู้เชื่อ วิธีการที่จะจัดการกับความไม่เป็นธรรมที่ตนโดนนั้น แตกต่างไป ในขณะเดียวกัน ถ้าเราเห็นคนที่ถูกทำร้าย และไม่มีปากเสียง เรา กลับต้องช่วยเขาเหล่านั้น อ่าน สุภาษิต 31:8-9 ให้ออกกฎที่เป็นธรรมแก่ผู้ยากไร้ขัดสน

หากว่าท่านถูกลงโทษเพราะทำผิด ถึงยอมทน จะถือว่าเป็นความดีความชอบได้อย่างไร แต่หากท่านทุกข์ยากเพราะทำดีและท่านอดทน นี่ถือเป็น
สิ่งที่น่ายกย่องในสายพระเนตรพระเจ้า
1 เปโตร 2:20

1 เปโตร 3:17, 4:14-16, 3:14, ฟีลิปปี 4:18,

แปลกที่พระเจ้าทรงพอพระทัยเมื่อคนของพระองค์ไม่โวยวาย กระทืบเท้า ขัดขืน หาทางเอาคึนเมื่อเขา ถูกกระทำ แต่กลับฝากเรื่องนี้ไว้ให้กับพระองค์ เป็นผู้ตัดสินว่าจะทำอย่างไร เมื่อไร ซึ่งตรงนี้เท่ากับคน ๆ นั้น ได้วางใจว่าพระเจ้าจะทรงเอาคืนให้เอง และวิธีของพระองค์ก็ดีกว่า ถาวรกว่าวิธีของเขา เรื่องนี้ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่เบี้ยวบูด ไม่ถูกต้องซึ่งเกิดขึ้นอยู่ทุกวันในโลกที่แสนวุ่นวายนี้

ตัวอย่างจากพระคริสต์

พระเจ้าทรงเรียกท่านมาเพราะเหตุนี้ เพราะว่าพระคริสต์ได้ทรงทนทุกข์เพื่อท่าน เป็นตัวอย่างให้ท่านดำเนินตามรอยพระบาท พระองค์ไม่ได้ทรงทำบาปใดๆ และไม่พบคำหลอกลวงออกมาจาก พระโอษฐ์ของพระองค์
1 เปโตร 2:21-22

1 ยอห์น 2:6, ยอห์น 13:15, มัทธิว 16:24, อิสยาห์ 53:9, 2 โครินธ์ 5:21, ฮีบรู 4:15, 1 ยอห์น 3:5

ภาพวาดโดย ​Mihaly Munkacsy 1884-1900

ใช่แล้ว ไม่อยากจะคิดอย่างนี้ แต่พระคำกลับ
บอกเช่นนั้น พระเจ้าทรงเรียกเรามาเพื่อให้เรา
ทรหดอดทน เมื่อเรามาเชื่อพระเยซูคริสต์
เราจะได้พบเจอกับการกระทำที่ไม่ยุติธรรมกับเราพระเจ้าทรงประสงค์ให้เราไม่โวยวาย แต่ให้อดทนพระเยซูทรงเป็นตัวอย่างของการไม่ตอบโต้ทรงดูเหมือนพ่ายแพ้ ถูกตรึงบนกางเขน แต่แล้วพระองค์กลับคืนพระชนม์ ตามแผนการของพระเจ้า ทำให้คิดอย่างหนึ่งว่า ในทุกเหตุการณ์ที่เราต้องเผชิญ มันมีเป้าหมายชัดเจน คือชัยชนะอันมีเกียรติ

เมื่อพระองค์ถูกคนดูหมิ่น พระองค์ไม่ทรงดูหมิ่นตอบ เมื่อทรงทนทุกข์พระองค์ก็ไม่ข่มขู่ใคร แต่ทรงมอบพระองค์เองไว้กับพระองค์ผู้ทรงพิพากษาอย่างยุติธรรม
1 เปโตร 2:23

อิสยาห์ 53:7, 1 เปโตร 4:19, ฮีบรู 12:3,

ภาพวาดโดย ​Mihaly Munkacsy 1884-1900

ท่านเปโตรให้พี่น้องคริสเตียนเดินตามแบบอย่างของพระเยซู ชัดเจนมาก ว่าเป็นแบบไหน
พระเยซูทรงกล่าวความจริงตรงๆ ถามอย่างไร
ก็ตอบไปตามความจริงที่พระองค์ทรงยืนยัน
แต่ไหนแต่ไรมา ให้คิดถึงวันที่เหล่าปุโรหิต และ ผู้ใหญ่ของยิวพร้อมใจเต็มด้วยความเกลียดชัง และยืนกรานหัวชนฝาว่า ต้องกำจัดพระเยซูให้สำเร็จ พวกเขาเต็มด้วยอารมณ์โกรธเกรี้ยว หยาบคาย เกลียดชัง ดูหมิ่น ไม่ยอมแพ้
แต่พระเยซูกลับทรงสงบนิ่งเพราะทรงวางพระทัยในพระบิดาเพียงผู้เดียว

พระองค์ทรงแบกบาปของเราไว้บน พระกายบนต้นไม้นั้น เพื่อว่า เราจะตายต่อบาป และมีชีวิตในความเที่ยงธรรม
ท่านทั้งหลายได้รับการบำบัดรักษาด้วยรอยแผลของพระองค์
1 เปโตร 2:24

อิสยาห์ 53:4-6, มัทธิว 8:17, วิวรณ์ 22:2

พระเยซูทรงเอาบาปของเราไป ความตายของ
พระองค์ทำให้เราถูกแยกจากบาปของเรา บาปไปอยู่ที่พระองค์บนกางเขนแล้ว ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้เรามีชีวิตที่เที่ยงธรรม ไม่ติดตามทางบาปเหมือนเดิมอีกต่อไป การบำบัดรักษาในที่นี้ มีความหมายถึงบำบัดรักษาชีวิตฝ่ายวิญญาณที่จะได้รับผลอันร้ายกาจของบาปนั่นคือความตาย อาจฟังยากแต่ความหมายของเปโตรคือแบบนี้

ภาพวาดโดย กุสตาฟ ดอเร (1832/1883)

เพราะพวกท่าน
เป็นเหมือนแกะที่หลงหาย
แต่บัดนี้ได้กลับมาหาพระผู้เลี้ยง
และผู้ปกป้องวิญญาณของท่าน
1 เปโตร 2:25

อิสยาห์ 53:6, 40:11, เอเสเคียล 34:6, ลูกา 15:4-6, มัทธิว 9:36

ภาพวาดโดย TG cooper 1836-1901)

อิสยาห์ 53:6 กล่าวว่าเราเป็นเหมือนแกะที่หลงทางไปจากพระเจ้า คิดดูว่า ในการหลงทางนั้นมันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เราจะพบสิ่งน่าตื่นเต้นเร้าใจ เราจะพบกับหมาป่า พบอันตราย พบสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ปลอดภัยเหมือนอยู่ในสายตาของผู้เลี้ยง และปลายทางของแกะที่หลงก็คืออยู่ในท้องสัตว์ป่าที่หิวโหย ปลายทางคือความตาย!
แต่หากแกะได้กลับมาหาผู้เลี้ยง มันจะปลอดภัย
เพราะผู้เลี้ยงจะดูแลให้อาหารและปกป้อง
และท่านได้ปกป้องแกะด้วยชีวิตของท่านเอง!